วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2567



ผู้ว่าฯ มุกดาหาร นำคณะผู้บริหารกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมอิ่มบุญ อิ่มใจ กับกิจกรรม "ผ้าไทยใส่บาตร ปูสาดริมโขง" พร้อมเชิญชวนประชาชน-นักท่องเที่ยว ร่วมสัมผัสมนต์เสน่ห์เส้นทางแห่งศรัทธา รับแสงแรกยามเช้า ตักบาตรรับรุ่งอรุณ บริเวณถนนเลียบริมแม่น้ำโขงหน้าวัดศรีบุญเรือง

เมื่อวันที่ 11  มีนาคม 2567   เวลา 06.30 น. บริเวณถนนเลียบริมแม่น้ำโขง หน้าวัดศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วยนางอัญชลี กัลมาพิจิตร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมุกดาหาร นำคณะผู้บริหารกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ สมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทย ภาคเอกชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว จำนวนกว่า 100 คน ร่วมกิจกรรม "ผ้าไทยใส่บาตร ปูสาดริมโขง @มุกดาหาร" ตักบาตรพระสงฆ์ตามแนวริมแม่น้ำโขง โดยทุกคนต่างพร้อมใจกันสวมเสื้อสีเหลือง เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567



นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า กิจกรรม "ผ้าไทยใส่บาตร ปูสาดริมโขง" เป็นกิจกรรมที่จังหวัดมุกดาหาร ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ริเริ่มจัดขึ้น โดยกำหนดให้มีกิจกรรมในทุกเช้า เวลา 6.30 น. ของทุกวัน เริ่มกิจกรรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา โดยพุทธศาสนิกชนตลอดจนนักท่องเที่ยวจะสวมใส่ชุดผ้าไทย เสื้อผ้าไทย มาร่วมกันตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง อันเป็นการร่วมรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับสังคมไทยและได้รับการสืบสาน รักษา โดยเด็กและเยาวชนคนรุ่นหลัง ซึ่งสิ่งของที่พุทธศาสนิกชนได้ตักบาตรนั้น พระสงฆ์ก็จะได้นำไปใช้ในการสาธารณสงเคราะห์ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส หรือมอบแก่โรงเรียน วัดวาอาราม ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในทางพระพุทธศาสนา และในทางโลก คือ ทำให้ผู้ที่ได้รับนั้นมีความอิ่มเอิบใจ มีความอบอุ่นใจ อิ่มท้อง อิ่มกาย อิ่มใจ ยังผลให้เกิดความสุขทั้งต่อตนเอง และต่อผู้อื่นโดยรวม



"สำหรับอานิสงส์ของการใส่บาตร ตามความเชื่อของพวกเราพุทธศาสนิกชน คือ 1) ผู้ที่ใส่บาตรย่อมได้รับอานิสงส์ให้เป็นที่รักของทุกคน ส่งผลให้มีสติปัญญาที่ดี เมื่อสิ้นแล้วย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ 2) ทำให้จิตใจจดจ่ออยู่กับความดี 3) เป็นการบรรเทาความเห็นแก่ตัว สร้างใจให้เป็นสุข และสร้างสังคมให้ร่มเย็น 4) เป็นการต่อบุญต่อลาภให้แก่ตนเอง 5) เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลอันเป็นที่รักที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ 6) เป็นการรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม อันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติ 7) เป็นแบบอย่างการส่งต่อความดีจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ลูกหลานมีแบบอย่างในการทำความดีสืบต่อไป 8 ) เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์สามเณรต้องอยู่ด้วยการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา และ 9) เป็นการเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคี สร้างความกลมเกลียว ความปรองดอง ความรักใคร่เป็นหนึ่งเดียว ให้กับพวกเราชาวพุทธ และชาวไทยทุกคน อันจะยังผลให้ร่วมกันขับเคลื่อนสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบสุข ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า "สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี :  ความสามัคคีพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทำให้เกิดสุข" จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว ที่มีโอกาสเดินทางมาพักผ่อนที่จังหวัดมุกดาหาร ได้ร่วมกิจกรรม ผ้าไทยใส่บาตร ปูสาดริมโขง @มุกดาหาร ในทุกเช้า เวลา 6.30 น. ร่วมสัมผัสมนต์เสน่ห์เส้นทางแห่งศรัทธา รับแสงแรกยามเช้า ตักบาตรรับรุ่งอรุณ บริเวณถนนเลียบริมแม่น้ำโขงหน้าวัดศรีบุญเรือง" นายวรญาณฯ กล่าวเพิ่มเติม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...