วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

ส่งเสด็จ! พระบรมสารีริกธาตุตุและพระอรหันตธาตุ กลับสู่แดนพุทธภูมิ


"เสริมศักดิ์" ปลื้ม ศาสนิกชนชาวไทย ร่วมพิธีส่งเสด็จพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ สู่กรุงเดลี สาธารณรัฐอินเดีย 

เมื่อวันอังคารที่ 19 มีนาคม 2567 เวลา 11.30 น. รัฐบาลจัดพิธีส่งพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ สู่กรุงเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม Mr. Tashi Gyalson ประธานคณะมนตรีบริหาร LAHDC  Dr. B. R. Mani  อธิบดีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นิวเดลี  Dr. Baidya Nath Labh รองที่ปรึกษามหาวิทยาลัยสาญจี Mr. Nagesh Singh เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย  พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา และนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่  ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา และสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธี ณ ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ 



นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย โดยกระทรวงวัฒนธรรมอินเดีย สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมกันอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 สักการบูชา ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2567 เวลา 08.00 – 20.00 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และให้ประชาชนได้เข้าสักการบูชาในส่วนภูมิภาค ระหว่างวันที่ 5-18 มีนาคม 2567 เวลา 07.00 - 21.00 น. ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ 



รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้รวมพลังแห่งศรัทธาจากทั่วสารทิศ หล่อหลอมพลังแห่งศรัทธาทำให้มีศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวพุทธในประเทศเพื่อนบ้าน  เช่น กัมพูชา  สปป.ลาว  เวียดนาม  เมียนมาร์  รวมทั้งชาวพุทธในประเทศไทยเข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ กันอย่างเนืองแน่น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี  และวัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 18 มีนาคม 2567 ยอดผู้เข้ากราบสักการะฯ ทะลุกว่า 4 ล้านคน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 2,085,360 คน จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 511,189 คน จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 810,374 คน และจังหวัดกระบี่ จำนวน 720,667 คน รวมทั้งสิ้น  4,127,590 คน รวมพลังศรัทธา สร้างสามัคคีธรรมของศาสนิกชนจนเป็นที่ประจักษ์ในผืนแผ่นดินไทย 



รมว.วธ. กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร จิตอาสา 904 พระราชทาน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทุกท่าน ที่ทุ่มเทตามสรรพกำลังดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด รวมถึงสื่อมวลชนทุกสาขาที่ช่วยเผยแพร่ข่าวสารที่หลากหลายทุกช่องทางทำให้มีศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมสักการะเป็นจำนวนมาก ซึ่งในวันนี้ จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุจากห้องมั่นคง ไปยังท่าอากาศยานกระบี่ และอัญเชิญขึ้นสู่เครื่องบินกองทัพอากาศอินเดีย ออกจากท่าอากาศยานกระบี่ สู่กรุงเดลี สาธารณรัฐอินเดีย 



รมว.วธ. กล่าวเพิ่มเติม การจัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย ภายใต้โครงการธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุจากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง เป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกสำคัญสร้างคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิต พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ของประเทศชาติในภาพรวม และยกระดับประเทศไทยให้เป็นสถานที่สำคัญในการจัดเทศกาลงานในมิติทางศาสนาที่สำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตลอดจนเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ และสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นศตวรรษแห่งธรรม (Dharma Centuries) ด้วยการนำหลักธรรม ความเชื่อของศาสนาเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านศาสนาและส่งเสริมคุณธรรมของประชาคมโลกเพื่อสร้างความสงบสุขแก่มวลมนุษยชาติสืบไปจากพลังแห่งศรัทธานี้  จะเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมพระพุทธศาสนา ทั้งในประเทศไทยและประเทศที่มีศาสนิกชนนับถือพระพุทธศาสนา  เป็นโอกาสแห่งการขับเคลื่อนและส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในรูปแบบ “การปฏิบัติบูชา” โดยมีพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ เป็นจุดศูนย์รวมแห่งศรัทธา มุ่งสู่การปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา ไม่พยาบาทมุ่งร้ายต่อกัน ทั้งต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ  ก้าวเข้าสู่ความหลุดพ้นทางแห่งความทุกข์ทั้งปวง  อันจะก่อให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...