วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567

อำเภอบ้านแฮดจับมือภาคีเครือข่าย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “บ้านพอเพียงโมเดล 30 ตารางวา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”



มุ่งมั่นเสริมสร้างความรู้การบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชุมชน วัด และโรงเรียน เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ขยายผลสู่หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ในทุกพื้นที่ 

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 นายปิตานนท์ ปัญญา นายอำเภอบ้านแฮด เปิดเผยว่า อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “บ้านพอเพียงโมเดล 30 ตารางวา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อขับเคลื่อนขยายผลโครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และโครงการสนับสนุนการบูรณาการและการขับเคลื่อนนโยบายในระดับอำเภอ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยการจัดอบรมให้ความรู้การบริหารจัดการพื้นที่โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ พร้อมร่วมทำกิจกรรมการปลูกผักสวนครัว การทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุใบไม้ และมูลสัตว์ ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่าการอำเภอบ้านแฮด อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับเมตตาจาก พระครูวิริยะคุณสาร เจ้าอาวาสวัดพิมลธรรมาราม เจ้าคณะอำเภอบ้านแฮด พร้อมด้วยพระสงฆ์วัดพิมลธรรมาราม ร่วมการอบรม โดยมีผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้นำหมู่บ้าน ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอบ้านแฮด รวม 92 คน ร่วมกิจกรรม



นายปิตานนท์ ปัญญา นายอำเภอบ้านแฮด กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “บ้านพอเพียงโมเดล 30 ตารางวา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ได้รับเกียรติจาก ดร.สุวัฒน์ ชำนาญกิจ ผู้คิดค้นนวัตกรรม บ้านพอเพียงโมเดล 30 ตารางวา นายสมบูรณ์ เศรษฐสุวรรณ หัวหน้าฝ่ายเกษตรและอาหารธรรมชาติ มูลนิธิ MOA และนายสุรพล ท้าวพรหม อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดสระบุรี เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งในการอบรมได้บรรยายถึงแนวทางการขับเคลื่อนตามกลไกระดับพื้นที่ โดยใช้หลัก “บวร” บ้าน วัด ราชการ ตามแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบริหารจัดการและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนาและสร้างชุมชนให้เข้มแข็งด้วยหลักการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ตามแนวทางความสำเร็จอย่างยั่งยืนตาม 4 กระบวนการสำคัญ คือ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” ที่คนในชุมชนมีความมั่นคงและมีความสุขอย่างยั่งยืน นำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา



“ในการฝึกอบรมในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับความรู้ในการบริหารจัดการพื้นที่โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้แล้ว ยังมีการอบรมให้ความรู้และการสาธิตแนวทางการพัฒนาความมั่นคงในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร น้อมนำแนวพระราชดำริ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” การปลูกพืชผักสวนครัว ผักปลอดสารพิษ โดยวิธีเกษตรธรรมชาติ โดยใช้พื้นที่ตามโครงการ "บ้านพอเพียงโมเดล 30 ตารางวา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างการพึ่งพาตนเองได้ ครัวเรือนมีผักบริโภคอย่างเพียงพอ สามารถลดรายจ่ายครัวเรือน สร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง เกิดการแบ่งปันเสริมสร้างความรักและสามัคคี มีแหล่งอาหารที่ยั่งยืน รวมถึงการบริหารจัดการขยะ ด้วยการคัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนจากขยะครัวเรือน เศษใบไม้วัชพืชหรือมูลสัตว์ เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์จากธรรมชาติ สามารถใช้ประโยชน์กับแปลงผักและการเกษตร อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเสียสู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยลดการเกิดโลกร้อน โดยหลังจากฝึกอบรมแล้วทางวิทยากรได้นำผู้เข้ารับการอบรมลงมือปฏิบัติ ณ แปลงสาธิต ตามแนวทางผู้นำต้องทำก่อน เพื่อสร้างความมั่นคงและขยายผลไปสู่ชุมชน วัด และโรงเรียนในพื้นที่อำเภอบ้านแฮดต่อไป” นายปิตานนท์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายปิตานนท์ ปัญญา นายอำเภอบ้านแฮด กล่าวในช่วงท้ายว่า อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น มุ่งมั่นสร้างต้นแบบที่ดีให้กับคนในพื้นที่ สามารถต่อยอดขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน ทำให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีบนหลักการพึ่งพาตนเอง เกิดความเข้มแข็งของคนในชุมชน ประชาชนทุกคนมีความสุข นำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งเรามุ่งมั่นขยายสิ่งที่ดีไปทุกพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรมพัฒน์ ร่วม NECTEC ดันแผนพัฒนาแรงงานด้าน AI เป้า 3 ปี 10,000 คน

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ดันแผนพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ เป้าหมาย 10,000 คน ในระยะ...