วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2567

ปลัด มท. นำคณะตรวจเยี่ยมแปลงโคก หนอง นาจังหวัดมุกดาหาร



ปลัด มท. นำคณะตรวจเยี่ยมแปลงโคก หนอง นา นายทองปุ่น คลังวงษ์ ตำบลบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เน้นย้ำ ร่วมกันน้อมนำพระราชดำริสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยการพึ่งพาตนเอง ทำทุกตารางนิ้วในบริเวณบ้านให้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน 

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567   เวลา 10.00 น. ที่แปลงโคก หนอง นา นายทองปุ่น คลังวงษ์ หมู่ 3 บ้านเหล่า ตำบลบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา และร่วมเวทีเสวนา โคก หนอง นา มุกดาหาร สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีนายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมลงพื้นที่ โดยได้รับเมตตาจาก พระครูปลัดอธิป ปฏิภาโณ (ครูบาอ้อน) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านซ่ง ร่วมต้อนรับ โอกาสนี้ นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยคณะกรรมการชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมุกดาหาร คณะกรรมการชมรมแม่บ้านตำรวจจังหวัดมุกดาหาร และภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา กว่า 300 คน ร่วมกิจกรรม



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พวกเราทุกคนเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดี และน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาประยุกต์ใช้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอรรถาธิบายว่า เป็น "อารยเกษตร" อารยะ แปลว่า เจริญ เกษตร แปลว่า แผ่นดิน แผ่นดินเป็นที่มาของอาหารของทุกอย่าง ดังนั้น แผ่นดินที่เจริญรุ่งเรืองก็จะมีความสวยงาม มีคลองไส้ไก่ที่คดเคี้ยวเลี้ยวลด มีที่ดินสูงกลางต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เป็นเนิน เป็นโคก เป็นที่ราบ ที่ลุ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเรา ด้วยการปรับปรุงพื้นที่ ปรับปรุงดิน ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยน้ำ ต้นไม้ 5 ระดับ หรือพืช 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ทำให้พวกเราทุกคน เป็นเหมือนพี่ทองปุ่น คลังวงษ์ เพราะเมื่อเราเข้ามานั่งอยู่ในพื้นที่โคก หนอง นา นี้ เราก็ร่มเย็นเป็นสุข เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นต้น พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น พอกิน คือ มีพืช ผัก กบ ปลา ไว้รับประทาน พอใช้ คือ จำพวกไม้ฟืน ไม้ไผ่ ไม้ต่าง ๆ เอามาทำข้าวของเครื่องใช้ได้ พออยู่ คือ เอาไม้มาสร้างบ้านได้ ตามแนวทาง Quick Win คือการปลูกไม้โตเร็ว เมื่อเราปลูกสักระยะหนึ่งเราก็สร้างบ้านได้ แต่ถ้าเราต้องการบ้านที่มั่นคงแข็งแรง ก็ใช้ไม้จำพวกไม้แดง ไม้สัก ไม้ประดู่ ช่วยหนุนเสริมความมั่นคงด้วยการช่วยกันปรับปรุงพื้นที่ของเราให้เป็นพื้นที่แห่งความมั่นคงของชีวิตและครอบครัว ใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้เป็นประโยชน์ในการทำให้เป็นแหล่งอาหาร แหล่งยาสมุนไพร ยารักษาโรค หรือเป็นพิ้นที่ที่สร้างความร่มเย็นให้กับโลกใบเดียวนี้ของเรา 



"สิ่งที่พวกเราทำอยู่นี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" คำว่า สืบสาน รักษา และต่อยอด คือ การสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานหลักทฤษฎีใหม่มากกว่า 40 ทฤษฎี ซึ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหนึ่งในนั้น เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่อยากเห็น "ประชาชนมีความสุข" ดังพระราชดํารัส "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้เชิญไปประดิษฐานสถานที่ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อเตือนใจ เตือนสติสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้ให้ มุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ พระราชดำรัสองค์ที่ 2 เป็นการขยายความพระปฐมบรมราชโองการ เพราะ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" มีความหมายที่เกื้อกูลกัน ผู้คนมีน้ำจิตน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จะยกบ้านสร้างบ้านก็มีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาช่วยกันตอกตะปู มาช่วยกันต่อไม้ ต่อหลังคา พระองค์จึงพระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน เพื่อให้คนไทยได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้ที่มุ่งมั่นทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ช่วยเหลือดูแลสมาชิกในชุมชน/หมู่บ้าน มีงานมีการที่วัดวาอาราม ในหมู่บ้านก็มาร่วมกันลงขัน เอามื้อสามัคคี ช่วยกันเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ช่วยกันเก็บเกี่ยว โดยไม่ต้องมีค่าจ้างค่าแรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตของบรรพบุรุษตั้งแต่ดั้งเดิม แต่มันสูญหายไปในวิถีชีวิตคนไทยปัจจุบัน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งดี ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ให้พวกเราได้น้อมนำมาใช้ ซึ่งทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ พวกเราทำจริงอยู่แล้ว จึงเป็นที่มาของการเดินทางมาในวันนี้ เพื่อมาให้กำลังใจ และตอกย้ำว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ทำอยู่ถูกต้องและตรงตามพระราชปณิธานของทั้ง 2 พระองค์ และขอให้พวกเราได้ช่วยกันเผยแพร่ขยายผลต่อไป นอกจากนี้ ขอให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินทุกตารางนิ้วให้เต็มที่ เราต้องอย่าหยุดคิด อย่าหยุดพัฒนา ทำให้ความดีมีเพิ่มขึ้น เพราะเราทำดีแล้ว เพราะเรามีภูมิความรู้ดีอยู่แล้ว ด้วยการเพิ่มพูนระบบธนาคารน้ำใต้ดิน เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ในชีวิต โดยน้อมนำพระราชดำริการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" มีพืชอาหาร พืชยาสมุนไพรจำนวนมาก และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพิ่มจำนวนพันธุ์ไม้ในพื้นที่ จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตให้มากที่สุด เพราะพืชเขาเกื้อกูลกัน ใบไม้แต่ละชนิดให้สารอาหารแตกต่างกัน ป่าที่อุดมสมบูรณ์จะมีไม้เบญจพรรณ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวชี้วัดในการขับเคลื่อน "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพราะคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ "คน" ที่ต้องช่วยกันสร้างความรัก ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทำให้ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน เพื่อทำให้ตัวเรามีความสุข ชุมชนก็จะมีความสุข และในท้ายที่สุด "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" อย่างยั่งยืน



นายวินัย โคตรพันธ์ ประธานเครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า นับตั้งแต่กระทรวงมหาดไทยได้มีโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ทำให้เข้าถึงเกษตรกรอย่างแท้จริง ตั้งแต่ปี 2563 โดยพวกเราได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยเฉพาะเรื่องน้ำที่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จุดไหนไม่มีน้ำ ชีวิตจะไม่เกิดขึ้น เพราะปกติเราใช้แต่น้ำจากฟ้า แต่โคก หนอง นา ทำให้เรามีน้ำใช้อยู่ทุกที่ ใช้ในการทำกิจกรรมทางการเกษตร การประมง ทำให้เกิดเครือข่ายการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน และสามารถเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ชาวบ้านในชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้ศึกษาและนำมาใช้ ปัจจุบันจังหวัดมุกดาหาร มีสมาชิกโคก หนอง นา 630 แปลง โดยมีการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ ติดตามความก้าวหน้า แลกเปลี่ยนพันธุ์พืช เพื่อให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะน้ำเลี้ยงดิน ดินเลี้ยงพืช พืชเลี้ยงชีวิต และเราจะเดินหน้ากันอย่างไม่หยุดยั้งและขยายเครือข่ายพอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น มีเก็บในยามขาดแคลน และจะสร้างเครือข่ายให้ก้าวหน้าต่อไป

นายทองปุ่น คลังวงษ์ กล่าวว่า โครงการนี้สามารถพลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือได้ เริ่มแรกที่นาของตนเป็นที่ดอน ทำนาไม่ได้ผลเท่าที่ควร  ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง เมื่อมีโครงการโคก หนอง นา จึงรีบสมัครเลย และเริ่มทำมาตั้งแต่นั้น เริ่มแรกปลูกไม้ 5 ระดับ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย เรี่ยดิน ไม้ใต้ดิน จนปัจจุบันนี้มีมากกว่า 40 อย่าง ทำให้อยู่ได้โดยไม่ต้องออกไปไหน อยู่ได้นานถึง 3 เดือน ทำแบบก้าวทีละก้าว ปลูกผักทีละอย่าง เริ่มจากศูนย์ จนทุกวันนี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งการพึ่งพาตนเองจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่ตัวเรา ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย


#WorldSoilDay #วันดินโลก 

#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI 

#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข

#SoilandWaterasourceoflife 

#SustainableSoilandWaterforbetterlife

#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน  

#SDGsforAll #ChangeforGood

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...