วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567

กยท. แท็กทีม อบก. ลงนาม MOU บริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยาง เพิ่มรายได้เสริมแก่เกษตรกร ลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศเป็นศูนย์



เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 67 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "การพัฒนาโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต" โดยมีนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมลงนามในพิธีครั้งนี้ ณ ห้องราชไมตรี อาคาร 50 ปี กยท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ มุ่งขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ พร้อมสร้างรายได้เสริมชาวสวนยาง

​นายณกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งดำเนินงานสนับสนุนให้เกิดการสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา นอกเหนือจากการผลิตยางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา โดยสร้างแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกร ผ่านกระบวนการซื้อ - ขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นฐานการการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร เพื่อบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065

​นายณกรณ์ กล่าวถึงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ว่า ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) กยท. จึงได้ดำเนินการให้เกิดรูปธรรม โดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ครั้งนี้ กับ อบก. เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เปิดโอกาสในการสร้างรายเพิ่มให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ให้สามารถนำต้นยางพาราที่อยู่ในพื้นที่สวนยางนำมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและยื่นขึ้นทะเบียนโครงการนำร่องกับ อบก. มีชาวสวนยางในพื้นที่ จ.จันทบุรี จ.เลย และ จ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมจำนวน 2,299 ราย โดยมีพื้นที่สวนยางที่เข้าร่วมแล้วกว่า 50,000 ไร่ โดยคาดว่าการดำเนินโครงการนำร่องในช่วง 7 ปี จะสามารถสะสมปริมาณคาร์บอนเครดิตได้กว่า 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) คิดเป็นมูลค่ากว่า 390 ล้านบาท ซึ่งหากเกษตรกรมีสวนยาง 1 ไร่ จะสามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 4 ตัน สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย 1,200 บาท/ไร่ ถือเป็นรายได้เสริมที่เกษตรกรจะได้รับจากพื้นที่สวนยาง นอกเหนือจากการขายผลผลิตยางเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ กยท. พร้อมที่จะผลักดันสวนยางให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติมและให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลกำหนดต่อไป

​นายณกรณ์ กล่าวถึงการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปว่า กยท. จะร่วมกับ อบก. แลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักวิจัยและนักวิชาการเกษตรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูงมาใช้ในการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในสวนยาง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด เช่น เทคโนโลยี LiDAR อากาศยานไร้คนขับ และดาวเทียม ตลอดจนกำหนดแนวทางและกิจกรรมเพื่อยกระดับการจัดการสวนยางให้ดียิ่งขึ้น โดยการยืดอายุสวนยางด้วยวิธีการกรีดยางหน้าสูง การใช้แก๊สเอทธิลีนเร่งน้ำยาง และการกรีดยาง

ด้วยระบบกรีดความถี่ต่ำ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการโค่นได้อีก 5-10 ปี และเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในสวนยางมากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดทุน ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ระดับราคายางมีการปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการส่งเสริมให้เกษตรกรนำสวนยางมาซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว กยท. ยังได้วางแนวทางในการหาตลาดรองรับจากภาคเอกชนที่มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต รวมถึงสร้างความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาแพลตฟอร์มกระดานซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต รองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต 

​"การดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่งให้แก่เกษตรกร นอกเหนือจากการขายวัตถุดิบยางพารา อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร โดยยกระดับการแก้ไขปัญหาทางภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้กับประเทศไทยต่อไป" ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา - การยางแห่งประเทศไทยRAOT

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ลูกศิษย์ส่งหลวงปู่ธัมมาพิทักษาพระมหาเถระผู้มีพระคุณยิ่งเป็นครั้งสุดท้าย

วันที่ ๒๗ เมษายน  ๒๕๖๗  พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,  ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิท...