วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2567

เปิดประวัตินาคหลวงอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ พระมหาเด็กกำพร้าชาวเมียนมาสอบได้ ป.ธ. 9 "เณรออกัส" ไม่พลาดสอบป.ธ. 4 ได้



"เณรนนท์" อายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ และ  "พระมหาโดนี่" จากเด็กกำพร้าชาวเมียนมา  สอบป.ธ. 9 ได้  "เณรออกัส" ไม่พลาดสอบป.ธ. 4 ได้

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567   จากผลมีการประกาศผลการสอบบาลีสนาม ประจำปี 2567 ซึ่งปีนี้มีพระภิกษุ -สามเณรสอบผ่านประโยค ป.ธ.9 จำนวน 76 รูป ,ประโยค ป.ธ.8 สอบผ่าน 165 รูป,ประโยค ป.ธ.7 สอบผ่าน 226 รูป,ประโยค ป.ธ.6 สอบผ่าน 326 รูป , ประโยค ป.ธ.5 สอบผ่าน 216 รูป สอบซ่อม 221 รูป,ประโยค ป.ธ.4 สอบผ่าน 345 รูป สอบซ่อม 375 รูป,ประโยค ป.ธ.3 สอบผ่าน 573 รูป สอบซ่อม 928 รูป และ ประโยค 1-2 สอบผ่าน 686 รูป สอบซ่อม 2074 รูปนั้น

เปิดประวัติ "เณรนนท์" วัดโมลีฯอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์สอบป.ธ. 9ได้

เป็นที่สนใจก็คือมีสามเณร 14 รูป ที่สอบป.ธ. 9 ได้ และหนึ่งในจำนวนนั้นคือสามเณรภานุวัฒน์ กองทุ่งมน หรือ “สามเณรนนท์” อายุ 17 ปี สังกัดวัดโมลีโลกยาราม รวมอยู่ด้วย ถือว่าเป็นสามเณรที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยที่สามารถสอบได้ ป.ธ.9  สำหรับประวัติสามเณรภานุวัฒน์ เป็นชาวอ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา สังกัดสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม กรุงเทพฯ บวชตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ที่สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม อายุ 10 ปี สอบไล่ได้ประโยค 1-2 อายุ 11 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 3 อายุ 12 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 4 อายุ 13 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 5 อายุ 14 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 6 พ.ศ. 2565 ก็สอบไล่ได้ป.ธ. 7 พ.ศ. 2566 อายุ 16 ปี สอบไล่ได้ป.ธ.8

ด้านพระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ ปิยสีโล) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง ที่สำนักเรียนได้สร้างประวัติศาสตร์ของวัดเป็นครั้งแรกที่พระภิกษุ-สามเณร สามารถสอบได้ ป.ธ.9 เป็นจำนวนถึง 25 รูป ถือว่ามากที่สุด ในประวัติศาสตร์การสอบของวัดโมลีฯ อีกทั้งมีสามเณรสอบได้ ป.ธ.9 ถึง 9 รูป โดยเฉพาะสามเณรภานุวัฒน์ ที่มีอายุเพียง 17 ปี ถือว่ามีอายุน้อยที่สุด ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง 

"พระมหาโดนี่ จันทร์ดี" ชาวเมียนมาสอบป.ธ. 9 ได้สมใจ 

นอกจากนี้ในจำนวนผู้ที่สอบ ป.ธ. 9 ได้ 76 รูปนั้นปรากฏว่า พระมหาโดนี่ จันทร์ดี  วัดโคกเปี้ยว จ.สงขลา ก็สามารถสอบได้เช่นเดียวกัน พระมหาโดนี่ได้เคยเล่าถึงประวัติของตัวเองว่า เป็นเด็กกำพร้า แต่ในวัยเด็กจำความได้ว่าอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา อาศัยอยู่รวมกันหลายคนในพื้นที่ชนบท แล้วพากันอพยพเดินทางมาทำงานรับจ้างอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2547 อายุได้ประมาณ 5 ขวบ และตามพี่สาวไปอยู่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา   จึงได้ตัดสินใจบวชเรียนที่วัดพุทธาธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา และย้ายมาอยู่ที่วัดหาดใหญ่สิตาราม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ศึกษาเล่าเรียนจนสามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรม 1-2 ในอายุเพียง 10 ขวบ พร้อมกับการศึกษาภาษาไทยไปด้วย กระทั่งสอบไล่ได้เปรียญธรรม 8 ในอายุ 18 ปี เมื่อปี  2566  แม้ว่าในช่วงอายุ 12 กับ 14 ปี ได้ลาสิกขาไปพักหนึ่ง 

พระมหาโดนี่นั้นได้ตัดสินใจเข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566  โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานผ้าไตร 

พระมหาโดนี่เคยบอกเคล็ดลับในการสอบไล่เปรียญธรรมคือ การพยายามอ่านทำความเข้าใจทั้งภาษาไทยและบาลีควบคู่กันไป ตรงไหนไม่เข้าใจสอบถามอาจารย์ทันที โดยเฉพาะในช่วงก่อนการสอบเปรียญธรรม 8 นั้น ได้มีโอกาสเดินทางไปหาความรู้เพิ่มเติมจาก พ.อ.ชรินทร์ จุลคประดิษฐ์ ซึ่งสอบได้เปรียญธรรม 9 และเป็นนาคหลวงคนที่ 11 ของไทยที่ จ.นครราชสีมา ได้สั่งสอนและแนะนำให้รู้จัก “การกะล่อน” หรือพลิกแพลงบาลี ที่มาจากความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่แค่จำข้อสอบเก่าๆ มาสอบ จนนำมาสู่ความสำเร็จ และมุ่งหน้าสู่เป้าหมายต่อไปคือเปรียญธรรม 9 ในต้นปีหน้า

ทุกวันนี้พระมหาโดนี่ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนทั้งพระและเณรที่วัดโคกเปี้ยว ปัจจุบันมีอยู่ 60 รูป โดยต้องสอนพระปริยัติธรรมทั้ง 2 แผนกธรรม หรือนักธรรมตรี โท เอก โดยบอกว่า ที่อาตมาสำเร็จถึงขั้นนักธรรมเอกแล้ว และแผนกบาลีหรือเปรียญที่สอนตั้งแต่ 1-7 พร้อมกับสร้างห้องสมุดเล็กๆ และจัดทำแบบเรียนขึ้นมาเอง โดยใช้เงินส่วนตัวที่ได้รับจากค่าสอนหนังสือ ค่าเสี่ยงภัย และเงินรางวัลจากการสอบมาใช้ทำหนังสือและแบบเรียนสอนพระ-เณรทั้งหมดด้วย ได้ปฏิบัติมานานหลายปีแล้ว เพราะอยากให้พระ-เณรมีอนาคตที่ดี และไม่อยากให้ลำบากเหมือนกับอาตมาในวัยเด็ก หากจบเปรียญธรรม 9 ก็อยากที่จะศึกษาต่อเกี่ยวกับภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พร้อมกันนี้สามเณรจารุวัฒน์ เอี่ยมศรี (ออกัส) อายุ 11  ปี ที่เป็นข่าวโด่งดังช่วงสอง ป.ธ. 3 ได้ ก็สามารถสอบผ่านเปรียญธรรม 4 ประโยค เป็นสามเณรที่อายุน้อยที่สุดในประเทศ

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...