วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

"ผอ.ป.โทสันติศึกษา มจร" สันติสนทนากับรองมุขนายกสังฆมณฑลนครสวรรค์



วันที่ ๒๐ มีนาคม  ๒๕๖๗ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ร่วมมือกับผู้นำศาสนาคริสต์โดยร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างศาสนา กับ หลวงพ่อบาทหลวง ดร.รังสิพลเปลี่ยนพันธุ์  รองมุขนายกสังฆมณฑลนครสวรรค์  ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า รุ่น ๑๓  ณ วัดคาทอลิก แม่พระรับสาร  อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์  

หนึ่งงานที่สำคัญของหลวงพ่อบาทหลวง ดร.รังสิพล เปลี่ยนพันธุ์  รองมุขนายกสังฆมณฑลนครสวรรค์ ในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมคือ การดูแลผู้พิการ ซึ่งเป็นผู้เปราะบางทางสังคม ถือว่าเป็นงานสงเคราะห์ผู้คนในชุมชน โดยสอดรับกับหลักการในทางพระพุทธศาสนามิติการสงเคราะห์ผู้คนตามหลักพุทธสันติวิธีคือ สังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ จึงขอโอกาสร่วมบุญกับหลวงพ่อบาทหลวงจำนวน ๕,๐๐๐ บาท ถือว่าเป็นจุดร่วมระหว่างศาสนาพุทธคริสต์ คือการ สงเคราะห์คนในสังคม นำพาศาสนิกชนออกจากทุกข์ซึ่งวันนี้ขออนุโมทนากับหลวงพ่อบาทหลวงและคณะได้ถวายภัตตาหารเช้า กาแฟ ยังได้สันติสนทนามิติของศาสนา พร้อมมอบเสื้อจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด สหรัฐอเมริกา ให้กับหลวงพ่อ  

โดยจุดยืนของทุกศาสนาคือเพื่อสันติภาพ โดยศาสนาทุกศาสนามีทั้งจุดเหมือนกันและจุดแตกต่างกัน การช่วยเหลือมนุษย์ ให้พ้นทุกข์มีสุขและสัมพันธ์กันฉันพี่น้องเป็นคำสอนสำคัญของทุกศาสนาและเป็นจุดเริ่มต้นและจุดพบของศาสนาต่างๆ การสนใจรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันของศาสนาแต่อย่างเดียว จะทำให้มองข้ามจุดร่วมนี้และนำจุดแตกต่างกันทางศาสนาไปแบ่งแยกมนุษย์ออกจากกันเป็น #พวกเรา #พวกเขา ในทางตรงข้ามการมองเห็นจุดร่วมกันของศาสนาจะนำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างศาสนิกชนต่างๆ ในการรักษาภราดรภาพของมนุษย์และสันติภาพของโลกให้คงอยู่ตลอดไป 

หนทางไปสู่สันติภาพเป็นหนทางที่ยาวและเต็มไปด้วยขวากหนามต่างๆ สันติภาพของโลกไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นความหวังของมนุษย์ที่มีทางเป็นไปได้ การยึดถือจุดร่วมกันของศาสนาและการทำจิตใจ ให้เปิดกว้างมีความสัมพันธ์แนบแน่นดับมวลมนุษย์เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการเดินบนถนนสู่สันติภาพ ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของสันติภาพคือ มนุษย์ จิตใจที่คับแคบมีอคติและมองไม่เห็นกำเนิดและชะตากรรมร่วมกันของมนุษย์เป็นขวากหนามแหลมคมบนเส้นทางนี้ 

ถ้าหากศาสนิกชนไม่ร่วมมือกันสร้างภราดรภาพให้เกิดขึ้นในสังคมและใช้จุดแตกต่างทางศาสนาแบ่งแยกมนุษย์ออกจากกันและสร้างความขัดแย้งทางศาสนาให้เกิดขึ้น สันติภาพของโลกจะเป็นเพียงความฝัน อันสูงสุดของมนุษย์เท่านั้น ถ้าหากไม่มีสันติภาพในศาสนาต่างๆ สันติภาพในโลกจะเกิดขึ้นไม่ได้  สอดรับกับท่านศรีเยาวหราลเนรูห์ อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวปราศรัยในการประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก เมื่อพ.ศ.๒๕๐๓ ตอนหนึ่งว่า " ถ้าประชาชนชาวโลกได้ปฏิบัติตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า : The Great Son of India : แล้ว โลกจะมีแต่ความสงบสุขสันติตลอดไปโดยแท้"

ท่ามกลางความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมในสังคมไทยและสังคมโลก การอยู่ร่วมบนความแตกต่างทางศาสนา จึงมอง ๔ มิติ ประกอบด้วย  

๑)มิติ ศาสนาสร้างสามัคคีเป็นฐานสร้างสันติสุขในสังคม  โดยมองว่าศาสนาในสังคมไทยมี ๒ รูปแบบ ประกอบด้วย ศาสนาลอยตัวมุ่งเชิงรับ และศาสนาพัวพันมุ่งเชิงรุก เพื่อไปช่วยเหลือสังคมรวมถึงเผยแพร่คำสอนที่ทันสมัยเข้าถึงสามารถนำไปปฏิบัติได้ เป็นศาสนาเพื่อสังคม ศาสนายุคใหม่จึงต้องมองความเป็นมนุษย์เป็นศาสนาที่สร้างความสามัคคีผ่านคำว่า "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" จะต้องเรียนรู้ เคารพ ยอมรับ อดทนในความแตกต่าง  ซึ่งพลังของศาสนาจึงเป็นฐานอยู่การอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ  ทุกศาสนาจึงควรสันติสนทนาสื่อสารกันผ่าน "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พร้อมแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง" จึงย้ำว่าถ้าเราหาสันติภาพไม่ได้ในศาสนา ไม่มีทางจะหาสันติภาพจากที่อื่นได้ เพราะการก่อตั้งของศาสนาคือสันติสุข ศาสนาจึงต้องมุ่งสร้างความสามัคคี ในฐานะศาสนิกของศาสนาต้องระวังการเสียดสีในทางศาสนา 

๒)มิติ เข้าใจศาสนาของตนอย่างลึกซึ้งและเรียนรู้ศาสนาอื่น  โดยนักวิชาการทางศาสนากล่าวว่า บุคคลที่ป่วยทางจิตมาจากการศึกษาศาสนาที่ไม่ครบสมบูรณ์ ซึ่งการเรียนรู้ศาสนาไม่ได้ศึกษาเพื่อถกเถียงเอาชนะแต่เพื่อศึกษาสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนา หลวงปู่ติชนัทฮันห์เคยกล่าวว่า "จงอย่าบ้าคลั่งหลักการและทฤษฎีทางศาสนา" เพราะแท้จริงแล้วโลกต้องมีศาสนาครบทุกชนิด มีศาสนาเดียวไม่ได้ ทำให้หลวงพ่อพุทธทาสมีปณิธานอันแน่วแน่ ๓ ประการหนึ่งในนั้นคือ  "ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา" โดยผู้นำและศาสนิกสันติสนทนากันบ่อยๆ แต่ถ้าจะมองกันจริงๆ แล้วเราไม่มีศาสนาเป็นการก้าวข้ามสมมุติบัญญัติ ทำให้มองมิติหลากหลาย เช่น ศาสนาเชิงปริยัติคัมภีร์  เชิงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน  เชิงสังคมช่วยเหลือสังคม  เชิงพิธีกรรมประเพณีวัฒนธรรม และปัจจุบันไม่ขอนับถือศาสนาใดๆ เลย ซึ่งแม้ในพระพุทธศาสนาแยกออกเป็น ๓ นิกาย คือ นิกายเถรวาท นิกายมหายาน และนิกายวัชรยาน แต่หัวใจของพระพุทธศาสนาคือ การรักษาศีล การให้ทาน และเจริญสติพัฒนาจิตใจ ในทางพระพุทธศาสนามีสันติวัฒนธรรมถือว่าเป็นเครื่องมือป้องกันความขัดแย้งประกอบด้วย ๑)สามีจิกรรม  เป็นการขอขมาขอโทษ  ๒)ปวารณา เป็นการการวัฒนธรรมเตือนกันได้ วัฒนธรรมเตือนกันได้ ๓)แสดงอาบัติ เป็นการยอมรับในความผิดพลาดเล็กน้อยมีสติแล้วสัญญาว่าจะไม่กระทำอีก ๔)ระบบอาวุโส เป็นการเคารพกันตามลำดับบวชก่อนหลัง เคารพให้เกียรติกัน   

๓)มิติ ศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรม เป็นการสะท้อนว่ายุคหลังสงครามเย็นจะยุติความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง แต่จะเริ่มขัดแย้งทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นคำเตือนของฮันติงตันระวังความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ระหว่างแต่ละศาสนาขัดแย้งกัน ในอดีตใช้ศรัทธาเพื่อศึกษาศาสนาแต่ปัจจุบันมีกระบวนการเรียนศาสนาเพื่อลดความขัดแย้งในศาสนา เพราะอุดมการณ์ทางศาสนาฝังรากลึก โดยศาสนาเป็นรากฐานแห่งวัฒนธรรม ความขัดแย้งมาจากวัฒนธรรมต่างกัน ทำให้สหประชาชาติย้ำว่า "ไม่ให้นำศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง" เพราะศาสนาเป็นต้นตอสันติภาพและศาสนาเป็นต้นเหตุสงคราม ซึ่งอดีตที่ผ่านมาศาสนาเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง จึงประกาศประโยคที่ว่า  No more wars in the name of religion  แปลว่า ไม่ยอมให้มีสงครามในนามของศาสนาอีกต่อไป ซึ่งที่ผ่านศาสนาถูกอ้างเป็นเครื่องมือ " สงครามกับศาสนาเป็นของคู่กัน" ศาสนาจึงเป็นต้นเหตุ เครื่องมือ นำมาแทนที่ และอ้างอย่างผิดๆ ในการสร้างความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรง แต่แท้จริงแล้วความแตกต่างคือมรดกโลกจงอย่างทำลาย เช่น ศาสนา วัฒนธรรม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิว ชาติพันธุ์ การเมือง ความเชื่อ  ภาษา และ  Gen  เป็นต้น โดยความแตกต่างทางศาสนาเป็นเสน่ห์อย่าให้ปากกาหักแต่จงสันติสนทนาก่อนบ่อยๆ "จงเลือกหนึ่งแต่จงเคารพที่หลากหลาย" 

๔)มิติ มองความเป็นสากลในฐานะมนุษย์-สิทธิมนุษยชน โดยมนุษย์ทุกศาสนาล้วนมีความทุกข์เหมือนกันมีภาวะแห่งความเปราะบาง เช่น หิว โกรธ เหงา เหนื่อย กลัว ขัดแย้ง เป็นต้น แต่ถ้ามองลึกๆ แล้ว ทุกคนในโลกแม้ต่างชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม แต่ทุกคนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีที่มีมาตั้งแต่กำเนิดและศักดิ์ศรีนี้มาพร้อมกับสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีใครจะเอาไปจากตัวเราได้  แต่สิ่งที่น่ากลัวคือเราไปติดกับชาว จึงมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ เช่น ชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวอิสลาม ชาวซิกส์ และชาวฮินดู  ทำให้เราเกลียดชาวอื่นที่ไม่ใช่ชาวเราทำให้เกิดการล่วงเกิดขึ้น เช่น ล่วงละเมิด ล่วงเลย ล่วงล้ำ ล่วงเกิน รวมถึงการล่วงลับ แท้จริงแล้วเรามีความสากลประกอบด้วย มนุษย์สากล เมตตากรุณาสากล ปัญญาสากล  และสันติภาพสากล  จึงต้องเรื่องสิทธิมนุษยชนย้ำว่า "จะไม่ทำให้ผู้ใดเสียชีวิตแม้ตนเองจะต้องตาย"  

โดยพื้นฐานของมวลมนุษย์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติจะต้องเคารพกัน ๕ ประการคือ ๑)เคารพในชีวิต ๒)เคารพในทรัพย์สิน ๓)เคารพในครอบครัว ๔)เคารพในสังคมและการสื่อสาร ๕)เคารพในสุขภาพ  โดยการเป็นนักสันติวัฒนธรรมจะต้องมีความหนักแน่นทั้งอายตนะคือ ตาหนัก หูหนัก จมูกหนัก ลิ้นหนัก กายหนัก และใจหนัก หนักในสิ่งที่มีความแตกต่างกันซึ่งความแตกต่างทำให้โลกสวยงามแต่การไม่ยอมรับความแตกต่างนำไปสู่ความรุนแรง ในอดีตจึงมีวิธีการจัดการกับผู้เห็นต่าง เช่น ใช้กฎหมายจัดการ ใส่ร้าย ควบคุม รวมถึงใช้ความรุนแรง ทำลายล้าง ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นต้น ทำให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาขันติวาที ซึ่งองค์ประกอบของขันติธรรมทางศาสนาประกอบด้วย ๑)การอนญาตในความแตกต่าง ๒)การอยู่ร่วมในความแตกต่าง ๓)การเคารพในความแตกต่าง ๔)การยอมรับในความแตกต่าง โดยชาวพุทธจึงวัดกันที่การมีขันติธรรม ซึ่งการประเมินขันติธรรมทางศาสนาจึงประเมินความอดกลั้น และประเมินความใจกว้าง ทำให้พหุศาสนาหรือพหุวัฒนธรรมมอง ๓ มิติประกอบด้วย ๑)พหุนิยม มองความเป็นพหุวัฒนธรรม ๒)การยอมรับ มองขันติธรรมทางศาสนา ๓)ความเป็นอื่น มองถึงความแตกต่างหลากหลาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...