วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2567

อภัยภูเบศร ร่วมงาน ททท. จำลองวังจุฑาธุช จัดเต็มสมุนไพร พกติดกระเป๋า เที่ยวสงกรานต์


 

อภัยภูเบศร ร่วมงาน ททท. จำลองวังจุฑาธุช จัดเต็มสมุนไพร พกติดกระเป๋า เที่ยวสงกรานต์ พร้อมชมสวนหญ้ายาใกล้ตัว พลาดไม่ได้ 28 มีนาคม -1 เมษายน นี้ ที่ศูนย์สิริกิติ์

มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมจัดงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2567 ครั้งที่ 42  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปีนี้พิเศษภายในโซน 2 ภาคตะวันออก  ได้ยกแลนด์มาร์คสำคัญ คือ พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง มาให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ถ่ายภาพ พร้อมด้วย กิจกรรมอภัยภูเบศร ที่เน้นไฮไลต์สมุนไพรที่ควรพกติดตัวไว้ใช้ยามฉุกเฉิน รวมถึง สมุนไพรที่ช่วยให้การท่องเที่ยวในหน้าร้อนนี้สนุกขึ้น 



พญ.ชนิดา สยุมภูรุจินันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะ ประธานมูลนิธิ รพ.อภัยภูเบศรฯ กล่าวว่า “ในปีนี้เทรนด์การท่องเที่ยวยังคงได้รับความนิยม รวมถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีแนวโน้มจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องระวังปัญหาสุขภาพ ทั้งฮีทสโตรก ลมแดด หวัด  ไข้เลือดออก  ทำให้ทางมูลนิธิได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมานำเสนอต่อสาธารณะ  เพราะสมุนไพรเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่คนไทยใช้มาอย่างยาวนาน  ทั้ง ยา อาหาร เครื่องดื่ม โดยเฉพาะเรื่องของการใช้สมุนไพร หรือยาใกล้ตัวก็มีความสำคัญมากสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว ในครั้งนี้เราจึงได้นำกิจกรรมพิเศษมาให้ความรู้กับประชาชน นักท่องเที่ยว ที่จะได้เตรียมพร้อมดูแลสุขภาพไปด้วยกัน โดยเฉพาะในยามฉุกเฉิน หรือฤดูร้อนนี้ อย่างเช่น  “รางจืด” ราชายาแก้พิษ ซึ่งเป็น Thai Detoxify Herb 



โดยทางมูลนิธิฯ ได้คิดค้นตำรับสเปรย์ที่มีส่วนผสมของรางจืดและสมุนไพรที่ช่วยลดความร้อน  ลดการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพกติดตัวไว้ ไปไหนไปกัน ใช้ได้ทั้งฉีดพ่นลดการระคายเคืองผิวจากแสงแดด สิ่งสกปรก อาการผดผื่นระคายเคืองจากการบุกป่าฝ่าดง “ฟ้าทะลายโจร” แก้เจ็บคอ บรรเทาหวัด ทางมูลนิธิได้พัฒนาเป็นสเปรย์พ่นคอ ผ่านการวิจัยว่าบรรเทาอาการเจ็บคอได้ดี  นอกจากนั้นยังนำมาพัฒนาเป็นสเปรย์พ่นกันยุง  ที่ผ่านการทดสอบประสิทธิผลในการกันยุง ที่ควรต้องมีติดตัว เพราะในระยะหลังมานี้โรคไข้เลือดออก สูงขึ้นมากและเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่  “ขมิ้นชัน” บรรเทาอาการจุกเสียดท้องอืดอาหารไม่ย่อย และที่สำคัญหากจำเป็นไม่มีอุปกรณ์ทำแผลเมื่อเดินทาง สามารถแกะแคปซูลขมิ้นชันโรยแผลได้ช่วยบรรเทายามบาดเจ็บ  “กระดูกไก่ดำ” พัฒนาขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์พ่นแก้ปวดกล้ามเนื้อ  ลดการฟกช้ำ เอาใจสายแคมป์ปิ้ง ไฮกิ้ง เทรคกิ้ง และ “ยาดมสมุนไพร” ช่วยให้สดชื่น แก้วิงเวียน ตัวช่วยคู่ใจนักเดินทาง



ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิฯ เผยถึงกิจกรรมว่า “นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีกิจกรรมแจกสูตรยา อาหาร และเครื่องดื่มเพื่อการพึ่งตนเอง  ผลิตภัณฑ์ที่เราทำจำหน่าย ผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้ว  เราก็จะนำสูตรมาแจกให้ประชาชนไปทำเองได้ รวมถึงเครื่องดื่มสมุนไพรสูตรพิเศษ อย่าง น้ำเถาวัลย์เปรียงตำยาน สมุนไพรพื้นบ้าน มีฤทธิ์ต้านอักเสบ บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย  “ฟ้าอภัยโทนิค” เครื่องดื่มที่คล้ายกับการบำรุงร่างกายของตะวันตกกลุ่ม bitter tonic บำรุงน้ำดี ช่วยย่อย ลดความร้อนในร่างกายได้  “คอมบูชาตรีผลา” ชาหมักผสมตรีผลาทำจากสมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม เป็นซุปเปอร์ฟู๊ดที่ดีตัวหนึ่ง กินเป็นเครื่องดื่มปรับสมดุลเกลือแร่ ลำไส้และภูมิคุ้มกัน และ “น้ำเสน่ห์จันทน์ขาว” ต้านอักเสบ แก้ปวดเมื่อย และยังมีความหมายด้านเสริมเมตตามหานิยม จะสาธิตวันละ 2 ครั้งคือ 11.30 น. และ 16.30น. และมีให้ชิมฟรีตลอดงาน มาชมสวนสมุนไพรหญ้ายาใกล้ตัว ที่เปิดให้คนกรุงมาถ่ายภาพ และสัมผัสต้นไม้ พร้อมเรียนรู้วิธีการใช้ ที่สามารถนำไปปลูกที่บ้านได้  รวมถึงเซ็ตผลิตภัณฑ์สมุนไพร คู่ใจนักเดินทางในราคา 300 บาท และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในราคาพิเศษ และ กิจกรรมนวดไทยโดยภาคีเครือข่าย มาให้บริการอีกด้วย” 



พิเศษสุดๆในปีนี้เรายังมีเสวนาพิเศษในวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จะพาทุกท่านเรียนรู้การใช้หญ้าเป็นยา First aids ทันใจ “ท่องเที่ยวแบบอุ่นใจ สมุนไพรไทยช่วยได้” ท่านที่สนใจลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้าได้ทางเฟซบุ๊กสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมรับของต้นเสน่ห์จันทร์ขาว ส่งตรงถึงบ้าน จำกัด 100 ท่าน หรือ ลงทะเบียนที่ https://forms.gle/qsZXbUAFfrQMCzEF8


พบกันได้ที่ บูธ “สมุนไพรอภัยภูเบศร” ตั้งอยู่ภายอาคารจำลองพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน  Zone 2 ภาคตะวันออก ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น G ฮอลล์ 1-4 กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 037-211289 (วันเวลาราชการ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรมพัฒน์ ร่วม NECTEC ดันแผนพัฒนาแรงงานด้าน AI เป้า 3 ปี 10,000 คน

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ดันแผนพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ เป้าหมาย 10,000 คน ในระยะ...