วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2567

กมธ.ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาฯ เคาะเส้นทางวัฒนธรรมไทยสู่มรดกโลก



เมื่อวันที่ 11  มีนาคม 2567เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ นางเทียบจุฑา ขาวขำ ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาเรื่อง "เส้นทางมรดกทางวัฒนธรรมไทย สู่มรดกโลก" ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยมีผู้แทนจากคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ส่วนราชการ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วน ท้องถิ่น และผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนากว่า 150 คนเข้าร่วมงาน  



การสัมมนาครั้งนี้มุ่งหวังให้มีการศึกษาแนวทางการปฏิรูปขั้นตอนและกลไกการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และแนวทางการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกของไทย ให้มีความยั่งยืนและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ทุกภาคส่วน ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริม Soft Power ของรัฐบาล เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน รวมทั้งมีชื่อเสียงในฐานะแหล่ง ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก อยู่เพียงจำนวน 7 แห่งเท่านั้น ซึ่งแบ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 4 แห่ง และแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ จำนวน 3 แห่ง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศแล้ว ประเทศไทยยังนับว่ามีจำนวนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติน้อยกว่าที่ควรจะเป็น



ดังนั้น คณะกรรมาธิการจึงได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาศึกษา ร่วมกับส่วนราชการ และภาคเอกชนเพื่อดำเนินการต่อยอด พร้อมทั้งผลักดันให้สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น แหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี แหล่งวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งอนุสรณ์สถานและภูมิทัศน์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ศูนย์กลางแห่งล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีโอกาสนำเสนอให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ควรได้รับการส่งเสริมและผลักดันเพิ่มเติมเช่น แหล่งพระธาตุพนม อาคารประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวเนื่อง จังหวัดนครพนม แหล่งสงขลาและ ชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา แหล่งพระราชวังจันทร์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัด พิษณุโลก และแหล่งพระธาตุภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร ดังนั้น คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร จึงเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้มีการต่อยอด พัฒนา สามารถสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในภาพรวม เพื่อเป็นแหล่ง ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป



นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ในฐานะประธานในพิธี กล่าวความตอนหนึ่งว่า การที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อ ปี 2566 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความตื่นตัวสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคาดหวังว่าประเทศไทยจะมีแหล่งมรดกโลกที่ 8 , 9 , 10 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งขึ้นไป เพราะประเทศไทย อุดมด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีวัฒนธรรมที่งดงาม ซึ่งคุณค่าและมูลค่าของการเป็นแหล่งมรดกโลก คือ การส่งต่อสมบัติของชาติสู่คนรุ่นหลังสืบไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วราวุธ" เผย พม.จับมือ พศ.- กรมการศาสนา ตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กและสามเณร สร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนหากถูกละเมิด

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมยุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็ก ...