วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2567

ที่ประชุมใหญ่กก.หมู่บ้านรักษาศีล 5 ขันรับ “มส.” ต่อยอดหมู่บ้านรักษาศีล 5 สู่ “หมู่บ้านยั่งยืน”



เมื่อวันที่ 22  มีนาคม 2567  เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมพุทธมณฑล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีการประชุมขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล5” และพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบประจำปี พ.ศ. 2566  ตามโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ของมหาเถรสมาคม โดยภาคเช้า พระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม รองประธานอำนวยการโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล 5” เป็นประธานพิธีพร้อมกับกล่าวสัมโมทนียกถาทิศทางการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5  โดยมี พระธรรมวชิรานุวัตร ประธานคณะกรรมการบริหารกลาง คณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ทั้งระดับหน ระดับจังหวัด ทุกระดับชั้น พร้อมด้วย ตัวแทนกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ถวายการต้อนรับ  

พระพรหมเสนาบดี ได้กล่าวสัมโมทนียกถาตอนหนึ่งว่า หมู่บ้านรักษาศีล 5 เป้าหมายที่แท้จริงคือ การสร้างสันติสุขให้สังคใม โดยใช้ศีล 5 เป็นฐานการในขับเคลื่อน เพื่อให้ประชาชนคนไทยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สอนโยมให้มีสัมมาชีพ  ทำไม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง จึงเลือกเอาศีล 5 เป็นตัวขับเคลื่อน เพราะศีล 5 คือหัวใจสำคัญ ในการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ เราต้องเข้าใจให้ตรงกันตรงนี้ ไม่อย่างนั้นทำงานจะไร้ทิศทาง การดำเนินการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ริเริ่มโดยสมเด็จช่วง วัดปากน้ำ ท่านเป็นผู้ออกแบบ วางแผน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้รู้ว่าชาวพุทธเรามีเท่าไร จะทำงานกันอย่างไร เริ่มต้นที่จังหวัดลพบุรี โดยพระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี และท่านธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ในสมัยนั้นเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญ แล้วพวกเราก็ไปดำเนินการนำร่องที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน แล้วจึงกระจายไปทั่วประเทศ

“ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้องขอขอบใจสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุกจังหวัด เพราะทำงานหนักกันมาก ล่าสุดหมู่บ้านรักษาศีล 5 จะต่อยอดสู่หมู่บ้านศีลธรรม หรือหมู่บ้านยั่งยืน โดยจะทำร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และภาคีส่วนอื่น ๆ ซึ่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเห็นชอบรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแล้ว มตินี้เดียวทางสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ คงแจกจ่ายไปทุกจังหวัด ซึ่งก็ต้องขอฝากให้คณะสงฆ์ต้องช่วยกัน เป้าหมายก็เพื่อความสุขของประชาชน ความสงบสุขของสังคม ทั้งขอฝากคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ ให้สอดคล้องกับมติของมหาเถรสมาคม รวมถึงอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ คือ หลักธรรมนาวา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้กับคณะสงฆ์ และประชาชนชาวไทย เป็นหลักที่มีจุดประสงค์ให้ประชาชนเข้าถึงพระรัตนตรัย เข้าถึงอริยสัจ 4 อย่างอย่างแท้จริง ตรงนี้เป็นพระประสงค์ที่คณะสงฆ์และชาวไทยต้องร่วมกันสนอง เพื่อให้เกิดความสุขของบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง..”

พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการบริหารกลางหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้กล่าวตอนหนึ่ง ในการชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในปี 2567 นี้ โดยสรุปว่า “การประชุมในวันนี้คงได้ข้อยุติ และทุกท่านเพื่อกลับไปยังจังหวัดของตนเอง คงจะต้องรู้ว่าต้องทำอย่างไร ทั้งเรื่องการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน ทั้งเรื่องยุทธศาสตร์แบบแผน การดำเนินการในจังหวัดของตนเอง กล่าวโดยสรุปก็คือว่า เดือนเมษายน ต้องจบเรื่องการเขียนโครงการ ทำแบบแผนงาน การตั้งคณะกรรมการ เดือนพฤษภาคมต้องได้เรื่องจำนวนหมู่บ้าน หมู่บ้านที่จะเข้าร่วม เดือนมิถุนายน ทุกจังหวัดต้องเตรียมพร้อมต้อนรับคณะกรรมการกลางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินผลงาน ซึ่งตรงนี้คณะกรรมการระดับจังหวัดต้องประสานทุกภาคส่วนทั้งราชการ เอกชน ประชาชน บูรณาการทำงาน เดือนสิงหาคม สรุปผลงาน ทำเล่ม ถวายผลการดำเนินงานให้มหาเถรสมาคม ซึ่งต่อไปนี้เราต้องทำงานให้ไวกว่าปกติ ต้องทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น”

ต่อจากนั้นมีการเปิดคำถามหลักเกณฑ์การประเมิน การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดหลายจังหวัดตั้งคำถาม โดยเฉพาะผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดในชายแดนใต้ ซึ่งคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้ร่วมกันตอบจนหายข้อสงสัย สำหรับช่วงบ่าย สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ในฐานะประธานอำนวยการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เดินทางมาเป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณหมู่บ้านรักษาศีล 5 ทั้งเพื่อยกย่อง และเชิดชูเกียรติเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระดับจังหวัด จำนวน 77  หมู่บ้าน ระดับภาค จำนวน 14 หมู่บ้าน และระดับหน จำนวน 4 หมู่บ้าน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...