วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561

"ทองย้อย แสงสินชัย"ติง!เรียนบาลีในไทย"หลงทาง"



วันที่ ๓ มี.ค.2561 เฟซบุ๊ก "ทองย้อย แสงสินชัย"ได้โพสต์ข้อความว่า  หลงทาง



วันนี้ (๓ มีนาคม ๒๕๖๑) ตามที่กำหนดไว้ คณะสงฆ์จะเริ่มตรวจข้อสอบประโยคบาลีสนามหลวงประจำปี ๒๕๖๑ ณ ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยา กรุงเทพฯ

เมื่อวันก่อนมีการแชร์ข่าวที่ออกมาจากสำนักข่าวแห่งหนึ่งว่า สุภาพสตรีผู้หนึ่งซึ่งเข้าสอบบาลีปีนี้สอบ บ.ศ.๙ ได้

ต่อมา สุภาพสตรีท่านนั้นก็ออกมาชี้แจงว่าข่าวนั้นเป็นความเท็จ

วิธีจับเท็จง่ายๆ ก็คือ วันนี้คณะสงฆ์เพิ่งจะลงมือตรวจข้อสอบ
และตามกำหนดก็จะประกาศผลวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๑

แต่สำนักข่าวแห่งนั้นบอกตั้งแต่วันวานว่า สุภาพสตรีท่านนั้นสอบได้ไปเรียบร้อยแล้ว

กรุณาอย่าถามหาความรับผิดชอบของสำนักข่าวทั้งหลาย
เพราะทุกสำนักข่าวในเมืองไทยเรานี้ถือคติเหมือนๆ กันว่า “ข้าต้องไม่ผิด”

ผมขออนุญาตยกเรื่องนี้ขึ้นมาปรารภเพื่อจะพูดเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนบาลี

-------------------

เวลานี้การเรียนบาลีในเมืองไทยตกอยู่ในอาการที่ผมเรียกว่า หลงทาง

สรุปอาการหลงทางก็คือ -

เมื่อก่อนท่านเรียนบาลีเพื่อเอาความรู้
เดี๋ยวนี้ท่านเรียนบาลีเพื่อเอาสอบได้

จดจ่อจดจ้องอยู่กับการสอบได้
สังคมก็ถูกเป่าถูกปั่นให้จดจ่อจดจ้องอยู่กับผลของการสอบ

คอยดูวันที่ ๗ มีนาคมที่จะถึงนี้ก็แล้วกัน
บรรดาสื่อทั้งหลายจะอึกทึกครึกโครมไปด้วยผลการสอบ

ที่จดจ้องกันมากที่สุดก็คือสามเณรที่เข้าสอบประโยค ๙ ถ้าสอบได้ก็จะได้เป็น “นาคหลวง” เป็นที่ชื่นชมยินดีกันทั่วหน้า

ระยะหลังๆ มานี่ ผมสังเกตว่าคำว่า “นาคหลวง” ถูกหยิบยกขึ้นมาเชิดชูกันเป็นอย่างยิ่ง เหมือนกับเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

ขอเรียนให้ทราบว่า การสอบได้เป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง
สามเณรสอบประโยค ๙ ได้ ได้เป็น “นาคหลวง” เป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง เป็นเกียรติยศสูงส่งแก่วงศ์ตระกูล

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ควรแก่การอนุโมทนาและควรแก่การสนับสนุนอย่างยิ่ง-ผมขอยืนยัน

แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องต่อไปด้วยว่า นี่เป็นเพียงต้นทางเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต

และที่สำคัญที่สุด-ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของการเรียนบาลี

ต้องถอยไปตั้งหลักคิดกันตรงที่ว่า เราเรียนบาลีกันไปทำไม

ตีโจทย์ตรงนี้ให้แตกก่อน มิเช่นนั้นจะหลงทาง-เหมือนกับที่กำลังหลงกันอยู่ในเวลานี้

แม้แต่คำว่า “บศ.๙” ที่เอ่ยถึงข้างต้น-ที่เอาไปพูดอ้างกันในข่าวเท็จ-มีใครสักกี่คนที่รู้ว่ามันคืออะไร

สื่อทั้งหลายเคยให้ความรู้เรื่องนี้แก่สังคมหรือไม่

หรือว่าตั้งหน้าตั้งตาขายความตื่นเต้นไปวันๆ โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าสิ่งที่เป็นสินค้าของตนนั่นคืออะไร รู้แต่เพียงว่าถ้าขายเรื่องนี้คนจะตื่นเต้น-เท่านั้นพอ

-------------------

ตั้งหลักกันตรงนี้ก่อน

คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทที่เรียกกันว่า “พระไตรปิฎก” บันทึกไว้เป็นภาษาบาลี

คัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฎกต่อๆ มาก็เป็นภาษาบาลี

ถ้าประสงค์จะรู้คำสอนในพระพุทธศาสนาจากต้นฉบับ ก็ต้องรู้ภาษาบาลี

นี่คือเหตุผลที่ทำให้มีการเรียนบาลี

คือเรียนบาลีเพื่อเอาความรู้ภาษาบาลีไปอ่าน ไปศึกษา ไปค้นคว้าพระธรรมวินัยอันเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาจากคัมภีร์ต้นฉบับ

รู้พระธรรมวินัยที่ถูกต้องแล้ว จะได้เอามาปรับใช้กับตัวเองให้ถูกต้อง แล้วแนะนำสั่งสอนผู้อื่นต่อไป

และเมื่อมีคำสอนหรือการกระทำที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเบือนบิดไปจากคำสอนที่ถูกต้องก็สามารถทักท้วง ชี้แจง แก้ไขให้ถูกต้องได้

พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่และดำเนินต่อไปได้ด้วยอาการเช่นนี้

เป้าหมายของการเรียนบาลีอยู่ที่นั่น

ปัจจุบันคณะสงฆ์ไทยจัดให้มีการเรียนบาลี มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เรียกว่า “กองบาลีสนามหลวง” ผู้บริหารใหญ่เรียกว่า “แม่กองบาลีสนามหลวง”

ที่ค่อนข้างประหลาดอยู่สักหน่อยก็คือหน่วยงานนี้รับผิดชอบเฉพาะการจัดการสอบ คือ การออกข้อสอบ ดำเนินการจัดสอบ ตรวจข้อสอบ และประกาศผลสอบเท่านั้น

ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบการเรียนการสอน

การเรียนการสอนนั้นสำนักเรียนคือวัดต่างๆ รับผิดชอบกันเอง

จะมีนักเรียนหรือไม่
จะมีครูสอนหรือไม่
ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนการสอนบาลี จะมีหรือไม่ จะได้มาจากไหน

ไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบ

สำนักเรียนคือวัดต่างๆ รับผิดชอบกันเอง

เป็นการบริหารการศึกษาที่อนาถาอย่างยิ่ง

อาจจะมีงบประมาณอะไรของทางราชการอยู่ที่ไหนบ้าง ผมไม่แน่ใจ
ท่านผู้ใดรู้รายละเอียด ขอความรู้ด้วยนะครับ

หลักสูตรบาลีท่านแบ่งเป็น ๙ ประโยค คือ ๑ ถึง ๙ แต่ละประโยคใช้คัมภีร์ต่างๆ เป็นแบบเรียนแตกต่างกันไปจากง่ายไปหายาก

สมัยก่อนเริ่มสอบกันที่เปรียญธรรม ๓ ประโยค เรื่อยไปจนถึงสูงสุดที่เปรียญธรรม ๙ ประโยค

ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.” ตามด้วยตัวเลขประโยค เช่น

“ป.ธ.๓” อ่านว่า “เปรียญธรรมสามประโยค”
“ป.ธ.๙” อ่านว่า “เปรียญธรรมเก้าประโยค”

แต่มักพูดเป็นภาษาปากว่า สามประโยค เก้าประโยค หรือ ประโยคสาม ประโยคเก้า

ต่อมาท่านแยก ป.ธ.๓ ออกมาเป็นประโยค ๑ ประโยค ๒ โดยให้เริ่มต้นเรียนและสอบประโยค ๑-๒ ก่อน

และเรียกควบกันว่า “ประโยค ๑-๒”
ไม่เรียกว่า “เปรียญธรรม ๑ ประโยค” หรือ “เปรียญธรรม ๒ ประโยค”

และผู้ที่สอบประโยค ๑-๒ ได้ ก็ยังไม่ใช้คำนำหน้า “พระมหา”

แต่เดิม การเรียนบาลีมีเฉพาะพระเณรเรียนกัน

ต่อมา คณะสงฆ์อนุญาตให้ “ผู้ที่มิใช่พระภิกษุสามเณร” เรียนบาลีตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ได้ด้วย โดยเรียกชื่อว่า “บาลีศึกษา”

เหมือนกับหลักสูตรนักธรรมของคณะสงฆ์ ที่พระภิกษุสามเณรเรียนเรียกชื่อว่า “นักธรรม” แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ

นักธรรมชั้นตรี ใช้คำย่อว่า “น.ธ.ตรี”
นักธรรมชั้นโท ใช้คำย่อว่า “น.ธ.โท”
นักธรรมชั้นเอก ใช้คำย่อว่า “น.ธ.เอก”

ต่อมาคณะสงฆ์อนุญาตให้ “ผู้ที่มิใช่พระภิกษุสามเณร” เรียนนักธรรมได้ด้วย เรียกชื่อว่า “ธรรมศึกษา” ใช้คำย่อว่า “ธ.ศ.”

ธรรมศึกษาชั้นตรี ใช้คำย่อว่า “ธ.ศ.ตรี”
ธรรมศึกษาชั้นโท ใช้คำย่อว่า “ธ.ศ.โท”
ธรรมศึกษาชั้นเอก ใช้คำย่อว่า “ธ.ศ.เอก”

บาลีก็อนุโลมตามนั้น คืออนุญาตให้ฆราวาสญาติโยมชาวบ้านทั่วไปเรียนได้ด้วย ใช้หลักสูตรเดียวกับที่พระภิกษุสามเณรท่านเรียนกัน

พระภิกษุสามเณรเรียน เรียกว่า “ป.ธ.” (เปรียญธรรม)
ผู้ที่มิใช่พระภิกษุสามเณรเรียน เรียกว่า “บ.ศ.” (บาลีศึกษา)

นี่คือความหมายของคำว่า “บ.ศ.๙” ที่เอ่ยอ้างในข่าวที่ผมปรารภถึงข้างต้น

-------------------

สมัยที่เมืองไทยยังมีทาส ผู้ชายคนไหนบวชเรียนบาลีสอบได้เป็นมหาเปรียญ มีกฎหมายว่า “ถ้าแลพ่อแม่เป็นทาสอยู่ไซร้ ท่านให้ยกเสียจากความเป็นทาสนั้น”

ทำไมท่านผู้ปกครองบ้านเมืองจึงยกย่องให้เกียรติแก่ผู้เรียนบาลีถึงเพียงนี้?

ก็เพราะท่านเล็งเห็นถึงประโยชน์ของพระพุทธศาสนาที่จะพึงมี ทั้งแก่ตัวผู้เรียนโดยตรง ทั้งแก่บ้านเมือง

ตัวผู้เรียนก็จะมีความรู้ดี ประพฤติดี รักษาตัวให้รอดปลอดภัย

แล้วยังจะได้ใช้ความรู้นั้นศึกษาค้นคว้าเผยแผ่พระธรรมวินัยให้ผู้คนมีความรู้ดีประพฤติดีต่อไปอีก

บ้านเมืองก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข

...............

ตรงนี้แหละที่นักวิชาการรัฐศาสตร์สมัยใหม่เขาบอกว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองไทยใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือมอมเมาประชาชนให้ยอมสยบอยู่ใต้อำนาจ เอาสวรรค์วิมานเข้าล่อให้ประชาชนหวังสุขในชาติหน้า ตัวผู้ปกครองเองได้เสวยสุขในชาตินี้

...............

ผมถือว่าเป็นการดูถูกพระพุทธศาสนาอย่างแรง

มีใครเจ็บร้อนกันบ้าง-โดยเฉพาะท่านผู้ที่เรียนพระพุทธศาสนาจบประโยคสูงๆ

เพราะฉะนั้น เป้าหมายของการเรียนบาลีจึงไม่ใช่แค่สอบได้
ไม่ใช่แค่ได้เป็นนาคหลวง

สอบได้ ดี
เป็นนาคหลวง ดี อนุโมทนาสาธุ

แต่ต้องก้าวต่อไปอีก ไม่ใช่หลงติดอยู่ตรงนี้

ตรงที่ต้องก้าวต่อไปอีกนี่แหละครับที่แทบจะไม่มีใครสนใจ

เหมือนกับว่า เรามีหน้าที่แค่ช่วยกันทำให้สอบได้เท่านั้น
ใครสอบได้ก็ช่วยกันดีใจ ช่วยกันประโคมข่าว แล้วก็เข้าใจว่าหมดหน้าที่เพียงแค่นั้น ทั้งๆ ที่งานสำคัญที่เป็นเนื้อเป็นตัวจริงๆ ยังไม่ได้ทำเลย

ตัวผู้เรียนเองก็เข้าใจว่าสอบได้ ป.ธ.๙ หรือ บ.ศ.๙ แล้วก็เป็นอันบรรลุเป้าหมายสูงสุด

สังคมก็พากันยกย่องชื่นชมยินดีอยู่แค่นั้น

ไม่ได้ตามไปดูว่า สอบได้แล้วเอาวิชาความรู้ไปศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ให้แตกฉานต่อไปอีกหรือเปล่า

เอาหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องออกมาประกาศเผยแผ่หรือเปล่า

เมื่อมีคำสอนผิด ความประพฤติผิดปฏิบัติผิด ความเข้าใจผิดบิดเบือนเกิดขึ้น ได้ออกมาช่วยกันปกป้องพระศาสนา ช่วยกันแก้ไขให้เกิดความเข้าใจถูกต้องตามธรรมตามวินัยหรือเปล่า

ไม่มีใครสนใจตรงนี้เลย

-------------------

เคยมีผู้แก้แทนให้ว่า ผู้เรียนบาลี เมื่อเรียนไปก็ได้ความรู้ความเข้าใจ มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น สามารถรู้ดีปฏิบัติชอบด้วยตัวเอง ก็เป็นประโยชน์อยู่แล้ว จะเอาอะไรกันอีก

นอกจากนั้น ผู้ที่สอบได้ก็มีหน้ามีตาในสังคม เปลี่ยนสภาพจากลูกชาวนาชาวไร่ ยกฐานะทางสังคมให้สูงขึ้น ก็ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นเห็นๆ กันอยู่ ยังไม่ดีอีกหรือ

ถ้าให้ผมตอบ ผมก็จะบอกว่า ถ้าหวังแค่รู้ดีปฏิบัติชอบ ไม่ต้องเรียนบาลีให้เสียเวลาเลย แค่นักธรรมชั้นตรีก็สามารถรู้ดีปฏิบัติชอบได้เต็มที่แล้ว

ส่วนฐานะทางสังคม เป็นเพียงผลพลอยได้ ไม่ใช่ผลที่เป็นแก่นสารแท้จริง

การเรียนบาลีต้องไปไกลกว่านี้อีกมาก

คือต้องไปถึงขั้น-รู้ดีปฏิบัติดีด้วยตัวเอง เป็นเบื้องต้น

ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยออกมาเผยแผ่ เป็นเบื้องกลาง

และสามารถตอบโต้แก้ไขปรัปวาท (ปรัปวาท: คำกล่าวโทษคัดค้านโต้แย้ง, คำสอนที่คลาดเคลื่อนหรือวิปริตผิดเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น) ได้อย่างงดงามถูกต้องเรียบร้อย เป็นเบื้องปลาย

เส้นทางของการเรียนบาลีควรเป็นเช่นว่านี้

คือเรียนเพื่อปฏิบัติพระศาสนา
เพื่อเผยแผ่พระศาสนา
และเพื่อปกป้องรักษาพระศาสนา

ถ้าหยุดอยู่แค่สอบได้
พอใจแค่สถานะทางสังคม

เราก็ยังคงหลงทางกันต่อไป

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓ มีนาคม ๒๕๖๑
๑๔:๑๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.แจงขั้นตอนสมัครรับเลือกเป็น สว. พร้อมขอรับใบสมัครได้ตั้งแต่ 10 พ.ค.นี้

  เมื่อวันที่  8 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งว่าผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา สามารถขอรับใบสมัครได้ตั้งแต่ว...