วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561

"มจร"ระดมสมองปรับหลักสูตรสันติศึกษาตามมาตรฐาน"TQR"



"มจร"จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนกลยุทธ์ ปรับปรุงหลักสูตรสันติศึกษา  มุ่งพัฒนาทำแผนให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน "TQR" สร้างความเชื่อมั่นกับผู้เรียน



เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2561 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ได้ร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนกลยุทธ์หลักสูตรสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มจร เพื่อมุ่งพัฒนาหลักสูตรด้วยการทำแผนการพัฒนาตามมาตรฐาน TQR  โดยมีพระศรีศาสนบัณฑิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพ มจร และพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา คณาอาจารย์ และนิสิตร่วมเสนอความเห็น ระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค.2561 



ในการนี้นางศิริวิช ดโนทัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้บรรยายเรื่อง "กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์" โดยวิเคราะห์ศักยภาพองค์กร (Swot Analysisป ด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด และจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy map) ซึ่งการทำแผนการพัฒนาทำให้หลักสูตรมีความเป็นมาตรฐาน ผู้เรียนมีความเชื่อมั่น เพราะหลักสูตรพัฒนาตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทำแผนนั้นเพื่อมุ่งพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครูอาจารย์ พัฒนานิสิต พัฒนาวิชาการให้มีมาตรฐานคุณภาพ โดยการทำแผนนั้นมีเหตุ 3  ประการ คือ เป็นปัญหา เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเป็นนโยบายของผู้บริหารและปฏิบัติตามมาตรฐานของ สกอ. 


พระมหาหรรษา กล่าวว่า มหาจุฬาฯ สำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า ภายใต้ MOU ได้ผนึกกำลังกันจัดทำแผนกลยุทธ์กลยุทธ์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา ทั้งหลักสูตรภาษาไทยและอินเตอร์  โดยมีอาจารย์ศิริวิช ดโนทัย เป็นผู้นำกระบวนการจัดทำแผนกลยุทธ์ โดยนายปรัชญา อยู่ประเสริฐ เป็นผู้แทนของสำนักงานศาลยุติธรรม และอาจารย์ศุภณัฐ  เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง เป็นผู้แทนสถาบันพระปกเกล้า 




"ทั้งนี้ การดำเนินดังกล่าวเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรสันติศึกษาให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาหลักสูตรสันติศึกษาระดับนานาชาติ อีกทั้งจะนำไปสู่การนำหลักสูตรสันติศึกษาขึ้นทะเบียนอยู่ในฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาต่อไป ขั้นตอนจากนี้ 20-23 เมษายน 2561 คณะทำงานจะนำแผนกลยุทธ์ที่ผ่านการยกร่างไปสู่การวิพากษ์ โดยจะมีการเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม เช่น นิสิต ผู้ใช้บริการนิสิต บัณฑิตที่จบการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติศึกษาจากมหาวิทยาลัย องค์กรภาครัฐ  และหน่วยงานเอกชนต่างๆ เพื่อให้ได้แผนกลยุทธ์ที่สมบูรณ์ และประกาศใช้ต่อไปฯ" ผอ.หลักสูตร สันติศึกษา กล่าว



อย่างไรก็ตามพระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. อธิการบดี มหาจุฬาฯ เคยบรรยายเรื่อง "แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาบัณฑิตวิทยาลัย"  ไว้ว่า การทำแผนบัณฑิตวิทยาลัยต้องดูพันธกิจเป็นหลัก ซึ่งมีการจัดการศึกษาศึกษาต่างจากคณะต่างๆ ในมหาจุฬาฯ ในมหาวิทยาลัยต่างๆนั้น เขาให้บัณฑิตวิทยาลัยควบคุมมาตรฐานของคณะต่างๆ แต่มหาจุฬาฯของเราจัดศึกษาการเอง ซึ่งจริงๆ แล้วบัณฑิตวิทยาลัยต้องทำหน้าที่กำกับคุณภาพการศึกษาของบัณฑิตวิทยาลัยแต่ละคณะ แต่ปัจจุบันบัณฑิตวิทยากำกับเฉพาะคณะพุทธศาสตร์เท่านั้น บัณฑิตวิทยาลัยควรมีนโยบายอย่างไร? ในการเปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษานั้นควรจัดการศึกษาตนเองด้วยและควบคุมกำกับด้วย สิ่งที่อยากเห็นในแผน ๕ ปี คือ "ความร่วมมือในการเปิดการศึกษาระดับบัณฑิตของคณะต่างๆ " เราต้องทำแผนร่วมกับคณะต่างๆ บัณฑิตวิทยาลัยจะต้องไปสัมพันธ์กับทุกคณะและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติด้วย

นโยบายของมหาจุฬาฯในการพัฒนาบัณฑิตวิทยาลัยถือว่ามีความสำคัญมาก มหาวิทยาลัยจึงมี 3 ประเภท คือ "ด้านวิจัย ด้านบริการ ด้านท้องถิ่น" ส่วนมหาวิทยาลัยด้านการวิจัย จะมีการผลิตนิสิตปริญญาโทและเอกเป็นหลักเน้นวิจัย เช่น นิด้า เป็นต้น มหาวิทยาลัยทั่วไป เช่นราชภัฎมีจัดการศึกษาตามความเป็นท้องถิ่นนั้นๆ "การวิจัย การบริการ การท้องถิ่น" มหาจุฬาฯมีครบทั้ง ๓ ด้าน บัณฑิตวิทยาลัยจะต้องเชื่อมไปถึงความเป็นท้องถิ่นนั้นๆ การวิจัย การบริการ เรามีวิทยาลัยเขตทั่วประเทศ จึงต้องจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับท้องถิ่น มหาจุฬาฯพยายามไม่จัดการศึกษาที่ส่วนกลางเท่านั้น แต่ส่งเสริมด้านภูมิภาค เพื่อไม่ให้พระสงฆ์เข้ามาส่วนกลางมาก เพราะไม่อยากให้ระดับเจ้าอาวาสออกมาจากวัด อยากให้อยู่กับชุมชน มหาจุฬาฯจึงส่งเสริมการศึกษางานคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน

มหาจุฬาฯส่วนกลางเราเน้นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัย เราเน้นระดับบัณฑิตวิทยาลัย เป็นการผลิตบัณฑิตทั่วโลกมาเรียนที่นี่ คือ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ห้องสมุดจึงสร้างในส่วนนานาชาติ บัณฑิตวิทยาลัยต้องร่วมมือกับสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ เราต้องพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยวิจัย ปริญญาเอกจริงๆ ไม่อยากเปิดในวิทยาเขตเลย ต้องการมีปริญญาเอกในส่วนกลางเพื่อการควบคุมคุณภาพ ปริญญาเอกต้องมาเรียนส่วนกลางเท่านั้น บัณฑิตวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ ต่อไปบุคลากรบัณฑิตต้องจบระดับปริญญาเอก อยากจะเห็นบัณฑิตวิทยาลัยผลิตงานวิจัย อยากให้มีวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพ ต้องคุมคุณภาพวิทยานิพนธ์ ชื่อเรื่องต้องผ่านบัณฑิตวิทยาลัยก่อน เพราะการป้องการซ้ำซ้อนเรื่องเดิมๆ เราต้องมีคุณภาพด้านการวิจัย บัณฑิตวิทยาลัยเป็นส่วนด้านวิจัย หน้าที่หลักของบัณฑิตวิทยาลัย คือ การวิจัยของนิสิต จะต้องเชื่อมกับวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาตินำหน้าเราไปไกลแล้ว 

งานวิจัยเราจะต้องสอดรับกับยุคไทยแลนด์ 4.0  คือ มีนวัตกรรม งานวิจัยนิสิตบัณฑิตวิทยาลัยเรามีนวัตกรรมใหม่ๆ งานวิจัยนิสิตเรามีแนวซ้ำๆ เราต้องมีอะไรบุกเบิกใหม่ๆ ในการพัฒนานวัตกรรม มหาจุฬาฯเราทำงานบริการด้านสังคมมาก เช่น บวชเณรภาคฤดูร้อน พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ทำมานานแล้ว ขอให้มีอะไรใหม่ๆ ช่วยกันคิด สินค้าต้องมีอะไรใหม่ๆ ถึงจะน่าสนใจและติดตาม เช่น โทรศัพท์มือถือมีนวัตกรรมใหม่ ผู้คนจึงต้องเปลี่ยนตามนวัตกรรมแต่ละรุ่น พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เรามีนวัตกรรมอะไรบ้าง ? หรือทำแบบเดิมๆ การเรียนอภิธรรมมีนวัตกรรม เช่น มีการเรียนทางไกล วิชากรรมฐานต้องมีนวัตกรรม เรามีงานวิจัยอะไรบ้างที่มีนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัยต้องทำให้เกิดขึ้น รวมถึงการจัดการบริหารจะใช้เทคโนโลยีอะไรจะช่วยให้สื่อสารกันง่ายขึ้น เข้าใจกัน เราจะทำวิจัยอย่างไรถึงจะได้นวัตกรรมเพื่อการมีการเรียนภาษาอังกฤษภาษาบาลีให้เกิดความสนใจอยากจะเรียนรู้ "บัณฑิตวิทยาลัยต้องกำกับควบคุมคุณภาพการศึกษามหาจุฬาฯ"ในระดับบัณฑิตวิทยาลัย กำกับควบคุมการศึกษาตามแบบมาตรฐาน ทุกคณะต้องให้ความร่วมมือกัน เราอย่าเปิดสาขาเพราะคนอยากเรียนแต่เราต้องมีคุณภาพของหลักสูตร อาจารย์ ด้วย 

การจัดการศึกษาในบัณฑิตวิทยาลัยนั้น ในใจจริงอยากให้กำกับควบคุมมาตรฐานการศึกษา ประสานสัมพันธ์หน่วยงานอื่นให้จัดการศึกษา " บัณฑิตวิทยาลัย คณะพุทธศาสตร์ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ " ต้องจับมือทำงานร่วมกัน แต่ปัจจุบันเรายังไม่สามารถร่วมกันได้ ถ้า 3 ส่วนงานนี้ไม่คุยกันได้จะไม่มีพลัง เพราะต่างคนต่างทำ เพราะเราไม่มีแผนงานร่วมกัน ถือว่าเป็นจุดอ่อนในการจัดการศึกษา ทำอย่างไรจะให้หมุนเวียนไปช่วยกันได้ เรามีวิทยาลัยเขตเยอะแต่ไม่การเคลื่อนย้ายไปช่วยกัน แต่ถ้าดีจริง ต้อง "เราต้องมีการเคลื่อนย้ายไปช่วยกัน" ปัจจุบันเรากลุ่มใครกลุ่มมันเพราะขาดแผนร่วมกัน บัณฑิตวิทยาต้องดูแล ต้องมีการเชื่อมประสานภาพรวมทั้งหมด ถ้าเกี่ยวกับปริญญาโท-เอกแล้ว บัณฑิตวิทยาลัยต้องทราบ รวมถึงการทำ Mou กับต่างประเทศ เราต้องประสานงานกันจริงๆ เช่น จีนมาทำ Mou กับมหาจุฬาฯ เพราะจีนเขาไม่มีการรับรองปริญญาด้านศาสนาในจีน จีนยินดีมาร่วมกับเรา แต่เราเองยังไม่มีความเอกภาพด้านการศึกษา จีนมีทรัพยากรเยอะจะสนับสนุนทางการศึกษา 

มหาจุฬาฯเราอาศัยทุนทางสังคม นั้นคือ ศรัทธามาตลอดยาวนาน บุคคลต่างๆ มาช่วยกันสอนที่มหาจุฬาฯ พอเรามี พรบ. เราก็พึ่งแต่งบประมาณ โดยงบประมาณมีจำกัดมาก เราต้องให้ทุนทางสังคมเข้ามาช่วย บัณฑิตวิทยาลัยต้องมีทุนทางสังคม มีหน้าที่ในการจัดสรร เรามีทุนวิจัยให้นิสิตในระดับปริญญาโท เอก เราต้องมีทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการวิจัย ถ้าทำวิจัยด้านนวัตกรรม เรามีทุนวิจัยให้ เรื่องทุนไม่ใช่เรื่องยาก เราระดมทุนทางสังคมมาสร้างบัณฑิตวิทยาลัย เราสร้างวัตถุมามาก แต่เรายังไปไม่ถึงงานวิจัยหรือการพัฒนาอาจารย์นิสิต คณบดีบัณฑิตที่มีคุณภาพต้องไม่รองบประมาณจากแผ่นดินเท่านั้น แต่เขามีกองทุนเพื่อการพัฒนานิสิต งานวิจัย และอาจารย์ที่มีคุณภาพ เช่น ในมหาวิทยาลัยของโลกอย่างอ๊อกฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกาเขามุ่งสร้างด้านการศึกษา แต่เรามุ่งสร้างวัตถุ ฉะนั้นจะต้อง "ลงทุนและระดมทุน" ให้เป็น ในต่างประเทศไม่รองบประมาณแต่จะระดมทุนเพื่อการพัฒนา มหาจุฬาฯสร้างตึกสร้างอาคารมากแล้ว ต่อไปเราสร้างคนสร้างงานวิจัยเพื่อความเจริญของมหาวิทยาลัย การทำแผนเราจะติดงบประมาณจึงหยุดเท่านั้นงบประมาณ มี ๒ ส่วนคือ งบประมาณจากรัฐสนับสนุน และงบจากการระดมทุนจากส่วนต่าง แต่การระดมทุนที่เข้ามาครอบงำเรา ให้พึงระวัง เราจะต้องบริหารเป็นกลางในเชิงวิชาการ การบริหารต้องมีธรรมาภิบาล ในฐานะมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในปัจจุบันนี้บัณฑิตวิทยาลัยได้พัฒนาตามแนวทางของท่านอธิการบดีเสนอแนะได้สุดยอด

ดังนั้น หลักสูตรสันติศึกษา ภายใต้บัณฑิตวิทยาลัย ของมหาจุฬาฯ จึงมุ่งพัฒนาหลักสูตรด้วยการทำแผนการพัฒนาหลักสูตรตามมาตรฐาน TQR ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของมหาจุฬาฯ ในการผลักดันให้เกิดคุณภาพซึ่งมีพระศรีศาสนบัณฑิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพ มจร และพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และคณาอาจารย์ นิสิตร่วมเสนอทำแผนพัฒนาสู่มาตรฐานต่อไป

.....

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊กPramote OD Pantapat และHansa Dhammahaso )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...