วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561

"วัฒนา เมืองสุข"มอง"อนาคตใหม่ภายใต้เผด็จการ"



วันที่ 16 มีนาคม 2561 นายวัฒนา เมืองสุข ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า "อนาคตใหม่ภายใต้เผด็จการ"

ผมขอแสดงความยินดีกับพรรคอนาคตใหม่ที่ได้ยื่นคำขอจดแจ้งพรรคต่อ กกต. การเกิดของพรรคใหม่ยังทำให้ประชาชนได้เห็นความเลวของเผด็จการมากขึ้น ตั้งแต่การพยายามหาเรื่องเตะสกัดไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อจำกัดหยุมหยิม เช่น ห้ามนำเสนอนโยบาย เป็นต้น ไม่นับรวมการใส่ร้ายป้ายสีของบรรดาลิ่วล้อทั้งหลายด้วยข้อหาอมตะนิยมคือล้มเจ้า ผมจึงขอให้กำลังใจน้องๆ จากพรรคอนาคตใหม่ที่จะมาช่วยกันทำการเมืองให้เป็นของประชาชน ยกเลิกสิ่งที่เผด็จการทำไว้และเอาตัวคนที่ละเมิดสิทธิประชาชนมาลงโทษ

วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งนี้นอกจากจะทำให้คนไทยตาสว่างแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมได้เข้าสู่การเมือง ทั้งยังทำให้ประชาชนได้เห็นถึงวุฒิภาวะของเผด็จการ ตัวอย่างที่ดีคือการที่หัวหน้า คสช. ตอบคำถามของน้องๆ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เรียกร้องให้ยุบ คสช. เหลือแต่รัฐบาลรักษาการและจัดให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด เพราะมีหลายพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อให้พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกสืบทอดอำนาจต่อโดยเจ้าตัวไม่เคยปฏิเสธจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้ง แต่พลเอกประยุทธ์กลับอ้างว่าถ้ายุบ คสช. แล้วใครจะรักษาความสงบและอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ที่เขียนกันขึ้นมาเอง ส่วนข้อเสนอที่ให้ลาออกจากตำแหน่งก็อ้างว่าก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยมีรัฐบาลที่ต้องลาออกก่อนการเลือกตั้ง

ผมเคยแปลกใจว่าเหตุใดท่านรองนายกวิษณุ เครืองาม ที่เคยตอบสื่อถึงความเหมาะสมที่ กกต. ท่านหนึ่งลงสมัครเป็นเลขาธิการ กกต. ว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ” แปลว่าอันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน คนอื่นหาควรไม่รู้แทนไม่ จึงไม่เอาคำพระดังกล่าวไปอบรมหัวหน้ารัฐบาลบ้าง มีผู้รู้ตอบผมว่าท่านรองนายกเป็นราชบัณฑิตจึงไม่ยอมเสียเวลากับสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เพราะคำว่า “วิญญูชน” หมายถึง “บุคคลผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปกติ” ซึ่งไม่ได้แปลว่าคนทุกคนจะเป็นวิญญูชน ราชบัณฑิตอย่างท่านจึงไม่เสียเวลาไปเล่นดนตรีไทยให้สิ่งมีชีวิตที่ไม่เข้าใจความไพเราะฟัง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...