วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561

"EdPEx-TQR"สำคัุญอย่างไรกับการจัดการศึกษาม.สงฆ์



วันที่ 20 มี.ค.2561 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Hansa Dhammahaso" ความว่า ปลายทางของส่วนงานอยู่ที่ #EdPEx ปลายทางของหลักสูตรอยู่ที่ #TQR

เพราะเหตุใด?!?!  จึงต้องกล่าวเช่นนี้ เพราะ EdPEx และ TQR นับวันจะมีอิทธิพลสำคัญต่อการการันตีมาตรฐานการผลิตและการบริการด้านการจัดการศึกษา และการผลิตหลักสูตรออกไปนำเสนอแก่ชาวโลกที่ตัดสินเลือก และเข้ามาศึกษาบริการเพื่อฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพของตนเอง ดังจะชี้ให้เห็นความสำคัญของ EdPEx และ TQR ดังต่อไปนี้

(1) กระบวนการในการพัฒนาแบบ EdPEx หรือเกณฑ์การพัฒนาไปสู่องค์กรที่เป็นเลิศนั้น ถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการบริหารจัดการองค์กร เพราะ EdPEx ไม่ใช่เครื่องมือบริหารจัดการองค์กรแบบธรรมดา หากแต่มุ่งพัฒนาไปสู่การเป็นอบค์กรที่เป็นเลิศ ด้วยเหตุที่ EdPEx มีเครื่องมือในการบริหารองค์กรที่หลากหลาย เปิดพื้นที่ให้องค์กรมีอิสระในการเลือกใช่เครื่องมือในการบริหารที่เหมาะสมและสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของแต่ละองค์กร




มหาจุฬาฯ มีสมรรถนะหลัก (Core Competency) ที่เน้นจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม ซึ่งเป็นสมรรถนะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ในโลกนี้ไม่มี และยากที่จะทำได้เหมือนมหาจุฬาฯ เพราะมีมหาจุฬาฯ มีต้นทุนและองค์ความรู้ด้านพระพุทธศาสนามากว่า 2,600 ปี ต้นทุนดังกล่าว ทำให้มหาจุฬาฯ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้เปรียบ เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยทางโลกแห่งใดที่จะมีจุดยืนที่เข้มแข็งเช่นนี้

ในขณะเดียวกัน มหาจุฬาฯ มีคัมภีร์พระไตรปิฏกภาษาบาลี ภาษาไทย และอรรถกถา รวมถึงพระไตรปิฏกฉบับสากล (Common Buddhist Text)  ทั้งไทยและอังกฤษ ที่ผ่านการศึกษา พัฒนาแบะปรับปรุงภาษาให้สอดคล้องกับยุคสมัย รวมถึงการระดมนักวิชาการจากทั่วโลก ทั้งสามนิกาย คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน มาพัฒนาคัมภีร์พระไตรปิฏกฉบับสากล ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้กุมความความได้เปรียบในการจัดการศึกษาด้านนี้

ยิ่งกว่านั้น มหาจุฬาฯ ยังเป็นสถาบันที่สามารถนำหลักพระพุทธศาสนาไปบูรณาการกับศาสตร์ต่างๆ ได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับยุคสมัย โดยไม่ทำให้สูญเสียคุณค่าของความเป็นพระพุทธศาสนา อีกทั้งนำพุทธศาสตร์ไปตอบคำถามใหม่ๆ ของโลกทางวิทยาศาสตร์ และเติมเต็มให้กับวิทยาการใหม่ๆ มีแง่มุมที่สมบูรณ์และแหลมคมมากยิ่งขึ้น  การบูรณาการดังกล่าว ยิ่งทำให้นำจุดเด่นขอวพระพุทธศาสนาไปช่วยตอบโจทย์ชุมชนและสังคมโลกได้อย่าางสมสมัยมากยิ่งขึ้น

EdPEx จึงเปิดโอกาสให้ส่วนงานจัดการศึกษาต่างๆ รวมถึงสถาบันส่วนกลาง สามารถนำเสนอจุดเด่นของตัวเองแก่สังคมโลกได้อย่างชัดแจ้ง  และไม่ใช่การประเมินแบบเดิมที่เน้น One for All อันหมายถึงการที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาได้ออกแบบแนวทางการประเมินในลักษณะตัดเสื้อโหลที่เสื้อตัวเดียว ขนาดเดียว สามารถนำไปให้สถาบันต่างๆ เอาไปใช้ในการประเมินส่วนงานจัดการศึกษาทั้งนะดับคณะและสถาบัน จะเห็นว่า ยิ่งประเมิน ยิ่งต้องสร้างเอกสารมากขึ้น เพื่อเอาเอกสารมายืนยันในสิ่งที่ตัวเองทำ แม้จะพยายามเน้นการประเมินแบบพิชญพิจารณ์ (Peer Review) แต่แนวทางดังกล่าวก็ยากที่จะขับเคลื่อนส่วนจัดการศึกษาต่างๆ ให้สามารถขับพลังแฝงและศักยภาพของตัวเองออกมารับใช้ชุมชน และสังคม

ด้วยเหตุนี้ EdPEx จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมแก่ยุคสมัยที่โลกเต็มไปด้วยการแข็งขัน การแข็งขันจะไม่ยุ่งยาก ลำบาก และสูญเสียทรัพย์กรทางการเงิน บุคคล และอื่นๆ หากแต่ละมหาวิทยาลัย และส่วนงานจัดการศึกษาพยายามที่จะนำเสนอความต่าง และความถนัดที่ตัวเองมีจุดเด่น และสะสมศักยภาพมาอย่างยาวนาน เมื่อแต่ละคนเน้นจุดเด่นของตัวเองแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปทุ่มเทสรรพกำลังในการแข็งขันกับใคร แต่กลับให้ความสำคัญกับการนำเสนอในสิ่งที่ตังเองมีและเป็น 

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือพัฒนาองค์กรที่เป็นเลิศแบบ EdPEx จึงต้องเริ่มต้นจากตัวผู้นำ (Leader) ที่ต้องใช้ภาวะการนำ (Leadership) เข้ามาช่วยตัดสินใจพาองคาพยพต่างๆ พัฒนาและขับเคลื่อนไปสู่ผลลัพธ์ที่ได้วางกรอบเอาไว้ โดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพและหลากหลาย แต่ถ้าผู้นำมองเห็นแต่วิกฤตที่นำมาซึ่งความยุ่งยาก และภาระที่เพิ่มมากขึ้น มากกว่าโอกาสในการพัฒนาองค์กร ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพัฒนาองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศได้

(2) กระบวนการในการพัฒนาหลักสูตรมีเป้าหมายอยู่ที่การขึ้นทะเบียนในฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (Thai Qualification Register: TQR) เพื่อป่าวประกาศให้ชาวโลกได้ทราบว่า หลักสูตรของเรามีมาตรฐาน และได้คุณภาพ อันจะนำมาซึ่งความมั่นใจของผู้ที่กำลังตัดสินใจเข้าไปรับบริการในการฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้น TQR จึงเป็นการชี้นำให้ผู้คนได้เกิดความมั่นใจคุณภาพที่ได้มาตรฐานและการบริการที่ดีจากหลักสูตรต่างๆ

คำถามมีว่า จำเป็นไหม?!? ที่จะต้องนำหลักสูตรเข้าสู่ TQR เพราะไม่เข้าสู่ TQR ก็ยังมีผู้คนเข้ามารับบริการอยู่แล้ว การจะตอบว่า จำเป็นหรือไม่ขึ้นกับเจ้าของหลักสูตรประสงค์จะให้ใครสักคนที่กำกับมาตรฐานเข้ามาให้การรับรองหรือไม่??!?  ผลที่จะเกิดตามมาคือ ความมั่นใจที่จะเกิดแก่ผู้รับบริการซึ่งนับวันจะมีทางเลือกที่หลากหลายในการใช้สินค้าและบริการที่มีมากมายในท้องตลาด สินค้าชนิดเดียว แต่อีกที่หนึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน แต่อีกที่หนึ่งมิได้รับการรับรองมาตรฐาน ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว คำถามที่จะตามมาคือ หลักสูตรที่ได้รับการรับรองจะอยู่รอดได้อย่างไร!? และจะกล้าประกาศตนให้สังคมโลกได้รู้ถึงคุณภาพของสินค้าและการบริการอย่างไร

TQR จึงไม่ใช่ทางเลือกให้แก่เจ้าของหลักสูตรที่บอกว่า จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ TQR คือป้ายรับรองมาตรฐานที่หลักสูตรต่างๆ จะต้องนำมาประดับ และติดฉลากไว้ในหลักสูตรต่างๆ ที่เจ้าของผลิตแล้วนำออกมาขายให้ผู้บริโภคได้เกิดความมั่นใจ และวางใจเมื่อตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการนั้นไปใช้งานแล้ว  เฉกเช่นเดียวกับมาตรฐานของ อย. ที่การันตีเครื่องอุปโภคและบริโภคชนิดต่างๆ ในสังคมไทยปัจจุบันนี้

อย่าางไรก็ตาม TQR จะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากอย่างแน่นอนต่อหลักสูตรที่ผูกกันมาเป็นพวง กล่าวคือ หลักสูตรของคณะใดที่มีวิทยาลัย หรือส่วนจัดการศึกษานอกที่ตั้งนำไปเปิดการเรียนการสอนในหลายพื้นที่ เพราะจะส่งผลต่อการจัดทำแผนพัฒนาหลักสูตรที่ไม่มีความเป็นเอกภาพและอัตลักษณะเฉพาะตัวที่ชัดเจน รวมไปถึงการบริหารจัดการหลักสูตรในมิติอื่นๆ เพราะหลากหลายส่วนจัดการศึกษาก็จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาทำให้ไม่มีความคล่องตัวในการบริหารและพัฒนาได้อย่างรอบคอบและรัดกุม ทางออกในประเด็นนี้ คือ การแยก มคอ.2 และแยกระหัสของแต่ละหลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนในแห่งต่างๆ แต่ปัญหาที่จะตามมาคือ ส่วนงานจัดการศึกษานอกที่ตั้งที่ยังต้องขึ้นตรงกับวิทยาลัย วิทยาเขต และคณะในส่วนกลาง ที่ไม่สามารถแยกรหัสและแยก มคอ.2 ได้

กล่าวโดยสรุปแล้ว ส่วนงานจัดการศึกษาในระดับคณะนั้น และระดับสถาบันนั้น  ในที่สุดแล้ว ในสถานการณ์ของโลกการศึกษาที่กำลังแข็งขันกันอย่างรุนแรง และตลาดเป็นของผู้บริโภคที่มีทางเลือกที่หลากหลาย ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงแนวทางในการบริหารแบบ EdPEx เพราะเครื่องมือนี้ จะสามารถทำให้ส่วนงานจัดการศึกษาสามารถนำไปขับเคลื่อนสมรรถนะหลักของตัวเองออกมานำเสนอแก่สังคมโลกได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับธรรมชาติและอัตลักษณ์ของตัวเอง

ในขณะที่ TQR นั้น เป็นเครื่องมือสำคัญในการวัดคุณภาพหลักสูตรว่าได้มาตรฐานเพียงพอ อันจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการตัดสินใจเข้ามาเลือกใช้สินค้าและบริการ อีกทั้งเกิดความวางใจและเชื่อมั่นในยี่ห้อของสินค้าอันหมายถึงหลักสูตรต่างๆ  TQR จะทำให้เกิดความมั่นใจว่า เจ้าของสินค้าและผลิตภัณฑ์จะไม่เอาเปรียบผู้บริโภคในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง ทั้งการเสนอขายสินค้าเกินความเป็นจริง และไม่รับผิดชอบหากผู้รับบริการไม่สมประสงค์ในสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้น ด้วยเหตุนี้ TQR จึงเป็นเครื่องหมายทางการค้าที่ทรงพลังอันจะทำให้หลักสูตรต่างๆ สามารถประกาศและท้าทายต่อชาวโลกเกี่ยวมาตรฐานและคุณภาพของหลักสูตรตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บิ๊กเนมเพียบทั้ง "อดีต รมต. - สว." สนใจสมัครหลักสูตรดับทุกข์ผู้บริหาร

มูลนิธิสุญญตาวิหารเผยหลักสูตรการดับทุกข์สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นแรก มีผู้สนใจในช่วงสองอย่างล้นหลาม รองประธานมูลนิธิฯเผยมีทั้งอดีตรัฐมนตรี...