วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ยามภัยมา!จะดูแลพระพุทธศาสนาอย่างไร?




 วันที่ 9 มิถุนายน 2561 เฟซบุ๊ก Ñāṇasaṃvara Centre for Buddhist Studies-ศูนย์พุทธศาสนศึกษาญาณสังวร ได้โพสต์ข้อความว่า 

จะดูแลพระพุทธศาสนาอย่างไร?

หลังจากรัฐบาลคสช.ประกาศยึดอำนาจได้ไม่นาน ศูนย์พุทธศาสนศึกษาญาณสังวรก็ถือกำเนิดและจัดประชุมเสวนากันทุกปีว่าจะปฏิรูปพระพุทธศาสนาอย่างไร หาทางออกให้พระพุทธศาสนาอย่างไร ปัญหาของพระพุทธศาสนาทั้งภายภายในและภายนอกคืออะไร หลายเรื่องก็ตกผลึกกันแล้ว คนที่มาร่วมงานประจำก็จะรู้

เช้านี้ นึกถึงคำพูดของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพว่าชาวพุทธมีหน้าที่ 5 อย่าง ชาวพุทธน่าจะสำรวจดูตัวเองว่าอยู่ระดับไหน คำพูดท่านอธิบายยาว แต่ท่านพระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ) เอามาผูกเป็นคำคล้องจองกันเพื่อให้ท่องจำกันง่ายๆ ดังนี้ครับ:-


1.ศึกษา ศึกษาให้แตกฉานหรือรู้จักพระพุทธศาสนาดี สามารถอธิบายหรือโต้แย้งคนอื่นในหลักพระพุทธศาสนาได้ ต้องถามตนเองว่ารู้จักพระพุทธศาสนาดีแค่ไหนแล้วตอนนี้?

2.ปฏิบัติ หมายถึงนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันจนเกิดประโยชน์ เช่น นำหลักพระพุทธศาสนาไปใช้ในทางธุรกิจ นำวิธีฝึกสมาธิมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และต้องสามารถสอนลูก หลาน ญาติพี่น้องให้รู้จักพระพุทธศาสนามากขึ้นได้ด้วย

3.สัมผัสผล หมายถึงได้รับผลดีจากการปฏิบัติ เช่น ครอบครัวมั่งมีตามหลักพุทธ จิตใจเข้มแข็งขึ้นจากการอบรมสมาธิภาวนา ญาติพี่น้องสามัคคีกันดีและอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักพุทธ มั่นคงทางเศรษฐกิจและมั่นคงในพระพุทธศาสนา พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่น

4.เผยแผ่ เผยแผ่คือพยายามนำคำสอนพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องไปเผย โดยเฉพาะคำสอนที่สอดคล้องพระไตรปิฎกโดยตรง ทุกวันนี้ มีเกจิอาจารย์ที่สร้างภาพว่าอธิบายธรรมะพระพุทธเจ้าดีแต่บิดเบือนไปเยอะ เช่น สำนักธรรมกาย สำนักสันติอโศก รวมทั้งพระคึกฤทธิ์ โสตฺถิพโลที่กำลังเป็นข่าวด้วย

อันไหนที่ไ่ม่ดีก็ไม่นำไปเผยแพร่ต่อ อันไหนดีก็นำไปแนะนำคนอื่นได้ แต่คนจะแนะนำคนอื่น ควรจะตรวจสอบกับผู้รู้ที่น่าเชื่อได้เสียก่อน ปัจจุบันก็มีมากอยู่

5.แก้ปัญหา ระดับที่ 5 นี้เป็นระดับที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ต้องใช้ความรู้พื้นฐานแน่นทั้งทางโลกทางธรรม ต้องใช้การวิจัยนำ ต้องรู้จักบริบทโลกและบริบทสังคมไทยดี ต้องมีความรู้พื้นฐานการวิจัยดี ต้องเป็นระดับคนมีมันสมอง

ปัจจุบันนี้ การทำงานแก้ปัญหาให้พระพุทธศาสนามีอุปสรรคมากเพราะขาดการวิจัยสนับสนุน เวลาชาวพุทธเผยแพร่ข่าวทางเนต ทางไลน์ ฯลฯ มีหลายครั้งที่ข้อมูลคลาดเคลื่อน

ทางที่ดี ชาวพุทธควรจะหันมาสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยกันให้มาก ลดเงินบริจาคสร้างตึก สร้างศาลาการเปรียญใหญ่ๆ กันน้อยลง ลดเอาเงินทองไปปรนเปรอสร้างตึกถวายพระป่าจนวัดป่ากลายเป็นวัดบ้านให้น้อยลง เพราะหนึ่งในจุดอ่อนของชาวพุทธขณะนี้คืองานวิจัย

คนที่จะมาทำงานให้พระพุทธศาสนาระดับที่ 5 นี้ ต้องรู้จักบริบทโลกและรู้จักบริบทพระพุทธศาสนาดี และส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักวิชาการสายพระพุทธศาสนาเท่านั้นแหละครับ สายอื่นถึงจะรู้ก็แค่ฉาบฉวย งูๆ ปลาๆ แถมจิตสำนึกที่จะดูแลคุ้มครองพระพุทธศาสนาก็ไม่ค่อยจะมี

ข้อสำคัญก็คือ 1.ดูว่าทั้ง 5 ระดับนี้ ตนเองอยู่ระดับไหน ตั้งใจจะพัฒนาไปถึงระดับไหน และจะหยุดพักทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาอยู่ระดับไหน 2.องค์กรพุทธที่เน้นเนื้องานคล้ายกันควรจะทำงานกันเป็นภาคีเครือข่าย อย่างไรก็ดี จิ๋วแต่แจ๋วย่อมจะดีกว่าองค์กรใหญ่โตแต่เลอะเทอะ 3.องค์กรพุทธต่างๆ ไม่ควรทำงานซ้ำซ้อนกัน เห็นคนอื่นทำโน่นแล้วมีชื่อเสียง ตนก็จะอยากทำตาม เหมือนคนไทยปลูกผลฝรั่งแล้วขายได้ดี คนอื่นๆ ก็พากันแห่มาปลูกจนไม่มีตลาดจะขาย แย่งตลาดกันจนเจ๊งกันถ้วนหน้า

การดูแลพระพุทธศาสนาควรจะคำนึงถึงความถนัดของตนเอง แม้สิ่งที่ทำจะไม่ค่อยมีคนรู้ก็ควรจะทำเพราะจะได้ทั่วถึงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‌‌“จิตตลดาวรรค”‌ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 26 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 18 ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ

  วิเคราะห์ ‌‌“จิตตลดาวรรค”‌ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 26 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 18 ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ บทนํา จิตตลดาวรรค (Chittaladavagga) เป็...