วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
ภารกิจวันแรกทีมหมูป่า!ญาติพาทำบุญสืบชะตาอุทิศส่วนกุศลให้"จ่าแซม"
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 19 ก.ค.61 ที่วัดพระธาตุดอยเวา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ญาติพี่น้อง 13 ทีมหมูป่า ได้นำนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ไปทำบุญทำพิธีสืบชะตาเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับเยาวชนและโค้ชฟุตบอลทั้ง 13 คน และทอดผ้าไตร 12 ผืนรวมทั้งสิ่งของ ถวายแด่พระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้จ่าแซม น.ต.สมาน กุนัน อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ หน่วยซีล กองทัพเรือ โดยมีครูบาแสงหล้า เป็นประธานในพิธีทำบุญ พร้อมได้พรมน้ำมนต์
นายธนาวุธ วิบูลรุ่งเรือง บิดาของ ด.ช. ชนินท์ วิบูลรุ่งเรือง หรือ “น้องไตตั้น” 1 ใน 13 ทีมฟุตบอลหมูป่า กล่าวว่า เมนูแรกที่ทำให้น้องไตตั้นทานหลังจากที่กลับถึงบ้านวานนี้(18ก.ค.) คือ “ข้าวไข่เจียวธรรมดา” โดยเป็นเมนูง่ายๆ ในช่วงแรกที่น้องกลับมาอยู่บ้าน หมอได้แนะนำให้ดูแลน้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ สภาพจิตใจต้องมีการประเมินต่อเนื่อง ส่วนการบวชเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้กับ นาวาตรี สมาน กุนัน หรือ “จ่าแซม” นั้น ทางผู้ปกครองยังไม่ได้กำหนดวัน แต่ตั้งใจจะบวชพร้อมกันภายในเดือนนี้ (ก.ค.)
หมอจิตเวชขอสื่อคำนึงถึงใจทีมหมูป่า
นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต(ด้านจิตเวชเด็ก) กล่าวถึงการแผนการติดตามดูแลทีมหมูป่าอะเคเดมี่ กล่าวหลังจากที่ต้องกลับไปอยู่บ้านและใช้ชีวิตตามปกติว่า ทีมแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ได้มีการจัดเตรียมแผนการดูแลด้านสุขภาพและสภาพจิตในอยู่แล้ว โดยจะมีการจัดทีมไปตรวจเยี่ยมบ้านและเตรียมครอบครัว สำหรับพูดคุย ครู และเพื่อนที่โรงเรียน ตลอดจนวัดที่น้องๆจะไปบวชด้วย โดยในช่วงแรกๆจะไปเยี่ยมถี่ แล้วค่อยเว้นระยะทาง โดยจะติดตามไปจนครบ 1 ปี
"ส่วนสื่อมวลชน ทั้งสื่อหลัก และโชเชียลมีเดีย ควรให้ความร่วมมือและคำนึงถึงจิตใจของเด็กๆมากว่าที่จะต้องการเพียงข้อมูลอย่างเดียว ซึ่งการจะเชิญไปสัมภาษณ์หรืออกรายการอะไรนั้น ควรต้องขออนุญาติจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครอบครัวเด็ก ผู้ที่เกี่ยวข้องและองค์กรที่ดูแลเด็กๆ ด้านงานสาธารณสุขที่ดูแลเรื่องของสุขภาพจิต เพราะต้องมีการติดตามระยะยาว" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและว่า
สำหรับการแถลงข่าวเปิดใจน้องๆครั้งแรกผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทยวานนี้( 18 ก.ค.) มองว่าเป็นการผ่อนคลายมากขึ้นเพราะหลายคนอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อีกทั้งมองว่าก่อนแถลงมีการส่งคำถามก่อนและถามเป็นหมู่คณะและคำถามมากหลายๆสำนัก มีนักวิชาการคอยกลั่นกรองคำถาม เป็นเรื่องที่ดีที่จะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกในทางที่ไม่ดีต่อเด็ก ทั้งนี้ มองว่าควรปล่อยให้น้องๆได้มีเวลา ค่อยๆคิดและแก้ไขปัญหาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้บางอย่างจะอยากรู้แต่ก็ต้องคิดถึงใจของเด็กๆด้วย
บทเรียนจากถ้ำหลวง''สื่อ-รัฐ"ในเหตุการณ์วิกฤติ
ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า-NIDA) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสื่อสารมวลชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและ สร้างสรรค์ กล่าวในงานเสวนา "ถอดบทเรียนการทำข่าวถ้ำหลวง" ณ สมาคม นักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อธิบายปรากฏการณ์ครั้งนี้ ที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ไว้ 5 ข้อ คือ
1.ขาดความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของ ผู้บริโภค จริงอยู่ที่ในสถานการณ์วิกฤติผู้บริโภคต้องการข่าวที่รวดเร็วและ ชอบเรื่องประเภท "ดรามา"(Drama) สะเทือนความรู้สึก แต่ขณะเดียวกัน "ผู้บริโภคสื่อออนไลน์มีความอ่อนไหวทางจริยธรรมสูงมาก" ประกอบกับ "ผู้ใช้สื่อออนไลน์ส่วนหนึ่งต้องการโชว์ผลงาน" ใครจับผิดสื่อได้คือดี "ถ้ามีช่องโหว่ ก็มีประเด็น" มีการแชร์กันถล่มกัน ยิ่งกรณีนี้แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา เพราะมีทั้ง "เด็ก-ผู้ประสบภัย-ผู้ป่วย" 3 สถานะรวมกัน ความอ่อนไหวของสังคม จึงมากเป็นพิเศษ
2.ขาดความใส่ใจจริยธรรม ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ทำให้เข้าใจว่าเรื่องนั้น เรื่องนี้ทำได้ 3.ขาดความสร้างสรรค์ เรื่องนี้ถูกพูดถึงมาก เห็นได้จาก "เมื่อมี การจัดระเบียบพื้นที่หน้าถ้ำ สื่อไทยก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ" ต่างจากสื่อต่างชาติที่ทำข่าวแตกประเด็นอื่นไปได้อีกมากมาย 4.ขาดการยอมรับผิด สื่อบางสำนักยังคงเชื่อว่าตนเองไม่ผิดแล้วก็ก่อประเด็นตอบโต้ต่อไป และ 5.ขาดการควบคุมกันเองสมาคมวิชาชีพมีการทำอะไรมากกว่าการออกประกาศบ้างหรือไม่
ขณะที่ในมุมของคนทำงานสื่อ ไล่ตั้งแต่ ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการ สำนักข่าว ThaiPBS ที่ลงไปยังพื้นที่เกิดเหตุด้วย ยอมรับว่า "เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง.. ความคาดหวังของสังคมคือ ต้องการเห็นความสำเร็จและรับรู้ข่าวดี" ต่างไปจาก เหตุการณ์อื่นๆ ที่คนทำสื่อเคยชินว่าสังคมต้องการข่าวที่ดีที่สุด เร็วที่สุด ลึกที่สุด และครอบคลุมที่สุด ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เข้าไปรบกวนความคาดหวังนั้นก็จะถูก ต่อต้านอย่างเต็มที่
ดังนั้นในการทำข่าวหน้างานมีหลักอยู่ 1.เข้าไปรบกวนหรือกีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องทำงานแข่งกับเวลาหรือไม่ 2.หากรายงานข่าวไปแล้วจะเกิดผลกระทบหรือไม่ โดยยืนยันว่า "ผู้สื่อข่าวภาคสนามให้ความร่วมมือกับ เจ้าหน้าที่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์" เว้นแต่บางเรื่องที่สื่อมีความเห็นไม่สอดคล้องกับข้อห้ามที่ออกมา เช่น การห้ามบันทึกภาพทั้งที่ไม่มีลักษณะเป็นการขัดขวาง เจ้าหน้าที่ ซึ่งข้อห้ามนั้นบางครั้งไม่ถูกอธิบายว่าเพราะอะไร
"เวลามีกรณีแบบนี้นักข่าวเราทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ แล้วเรื่องใหญ่ๆ ที่ผ่านมา เช่น การบุกยึดสถานทูตพม่า การบุกยึดโรงพยาบาลราชบุรี มันก็มีความสับสนอลหม่านวุ่นวายกัน แต่การพูดคุยกับระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสื่อ อะไรได้อะไรไม่ได้ ที่ไม่ได้เพราะอะไร ถ้ามีตรงนี้เกิดขึ้น จะทำให้การทำงานถ้าเกิดมีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต จะลดความสับสนวุ่นวาย ลดความไม่พอใจซึ่งกันและกันมากขึ้น" ผอ.สำนักข่าว ThaiPBS กล่าวเช่นเดียวกับ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ แห่งชาติ กล่าวว่า บางเรื่องคนทำสื่อเองก็ไม่ทราบมาก่อนว่าทำไม่ได้ อาทิ "การห้าม เปิดเผยใบหน้าของหน่วยซีล (SEAL)" เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองทัพเรือ "กว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแจ้งขอความร่วมมือกับสื่อก็ผ่านไปแล้ว 1-2 วัน" อีกทั้งไม่ได้ทำกันเฉพาะสื่อไทย สื่อต่างประเทศเองก็ไม่ได้ปกปิดใบหน้าเจ้าหน้าที่หน่วยซีลเช่นกันในช่วงวันแรกๆ ของปฏิบัติการที่ถ้ำหลวง
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า "ระยะหลังๆ ผู้บริโภคกำกับสื่อได้อยู่หมัด"เห็นได้จากเรื่องไหนที่มีเสียงท้วงติงมา หลังจากนั้นสื่อก็จะหยุดทำเรื่องนั้นทันที และ กล่าวอีกว่า การนำเสนอข่าวแบบหนึ่งที่ในอดีตเคยทำได้ ปัจจุบันอาจกลายเป็นปัญหา เพราะผู้บริโภคอ่อนไหวกับเรื่องจริยธรรมมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ถึงกระนั้น
"มันมีแง่มุมในเรื่องของความถูกผิด ความก้ำกึ่งค่อนข้างเยอะ ยิ่งระดับหัวหน้าข่าวมาถกเถียงกัน มันมีรายละเอียดประเด็นปัญหาเรื่องจริยธรรมค่อนข้างมาก คือเขาก็เชื่อว่าผู้บริโภคอยากดูอยากเห็น ขณะที่ผู้บริโภคอีกกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริโภคออนไลน์บอกว่า ไม่อยากเห็น ก็เป็นปัญหาของคนทำงานที่ต้องชั่งน้ำหนัก หนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อโบราณที่สุด มีเวลาพิจารณาถูกผิดมากที่สุดก็ยังมีปัญหา เวลานำเสนออาจเป็นประเด็นอ่อนไหว เพราะคนที่ซื้อหนังสือพิมพ์จริงๆ กับคนที่คอยจับจ้องว่าหนังสือพิมพ์เสนออะไรมันคนละกลุ่มกัน"ชวรงค์ ระบุ
ด้านนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา อุปนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ให้มุมมองว่า เหตุการณ์ถ้ำหลวงพบว่าสื่อออนไลน์มาแรงมาก ทั้งการถ่ายทอดสดผ่าน "เฟซบุ๊ค ไลฟ์" (Facebook Live) หรือรายงาน ข้อความสั้นๆ ผ่าน "ทวิตเตอร์" (Twitter) ไม่ว่าสื่อดั้งเดิมที่เพิ่มเติมช่องทางนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ หรือสำนักข่าวออนไลน์ที่ตั้งขึ้นใหม่ แต่ท่ามกลางความนิยมนี้เอง "ข่าวปลอม" (Fake News) เป็นปัญหาที่สื่อออนไลน์พบบ่อยๆ ประเภทเอาภาพเหตุการณ์ที่หนึ่งมาเขียนบรรยายเรื่องราวอีกเรื่องหนึ่งให้เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน
นอกจากนี้ "สื่อออนไลน์เองก็มี 2 กลุ่ม" กลุ่มหนึ่งมีการส่ง นักข่าวลงไปทำงานในพื้นที่จริง กลุ่มนี้จะมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนรายงาน กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำแต่เพียงรวบรวมข่าวอยู่กับที่อย่างเดียว โดยกลุ่มนี้อาจเกิดข้อผิดพลาดได้หรือไม่? ก็ต้องหา วิธีตรวจสอบด้วย อย่างไรก็ตาม หากต้นทางของข่าวผิด การส่งต่อก็จะกลายเป็นการส่งข้อมูลผิดๆ ไปยาวๆ เพราะสื่อออนไลน์สามารถกระจายข้อมูลได้รวดเร็ว
บทเรียนจากกรณีถ้ำหลวง สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การทำข่าวทีมฟุตบอลหมูป่า 13 คนติดอยู่ในวนอุทยาน ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งอาจจะมีสื่อบางส่วนล้ำเส้นไปบ้าง เช่น การใช้โดรนบินถ่ายภาพ เรื่องนี้เข้าใจว่าที่ผ่านมายังมีความสับสนกันอยู่
ดังนั้นหากเป็นสื่อโทรทัศน์ องค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ควรเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างศูนย์อำนวยการร่วม (ศอร.) หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กำชับกับสถานีโทรทัศน์ทุกช่องแต่แรกว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ เพื่อช่วยให้สื่อโทรทัศน์ทำงานอยู่ในกรอบกฎหมายมากขึ้น ส่วนด้านจริยธรรมที่กำกับดูแลกันเองอยากเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ถึงกระนั้นก็ยังได้เห็นสื่อหลายสำนักทำข่าวอย่างระมัดระวังเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งครั้งนี้เป็นเหตุการณ์พิเศษ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีทั้งเด็ก ทั้งผู้ป่วย มีกฎหมายทั้งระหว่างประเทศและกฎหมายไทยเกี่ยวข้อง
"กติกาพื้นฐานอย่างจะใช้โดรนได้หรือไม่ได้ จะถ่ายทอดสดได้หรือไม่ได้ จะใช้วิทยุสื่อสารได้หรือไม่ได้ ก็เกี่ยวกับกฎกติกามารยาท ซึ่งก็เกี่ยวกับ กสทช. ก็น่าจะออกมาเชิงรุกมากกว่านี้ บอกให้ทุกช่องทำเหมือนกันหมด อาจจะไล่ตั้งแต่แรก กสทช. ก็เงียบไปนิด ในเรื่องที่ควรจะออกก็หายไป ไม่ได้ให้แบนหรือห้ามแต่ให้ช่วยวางกรอบว่าอะไรที่มันไม่ขัดกฎกติกามารยาท เป็นตัวกลาง เพราะถ้าให้รัฐบาล สังคมอาจจะเรียกร้องให้รัฐบาล ให้ทหารหรือหน่วยงานรัฐ มาควบคุมเอง สื่ออาจจะกังวลกว่านี้ มี กสทช. เป็นคนกลางดีกว่า เข้าใจ ทั้ง 2 ฝ่าย" น.ส.สุภิญญา กล่าว
...........
(หมายเหตุ : ที่มา http://www.banmuang.co.th/news/region/118659)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รัฐบาลจัดใหญ่เตรียม 24 ขบวน อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ “พระเขี้ยวแก้ว” จากจีน คาดผู้เข้าร่วมกว่า 2,700 คน
พระเขี้ยวแก้วจีนเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างสูงในพระพุทธศาสนา การอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐานในประเทศไทยสะท้อนถึงความร...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น