วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ธ.ก.ส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ขับเคลื่อนภารกิจแก้หนี้นอกระบบตามวาระแห่งชาติ ผ่านโครงการหนี้นอกบอก ธ.ก.ส.

  


     ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนภารกิจแก้หนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาลผ่านโครงการ “หนี้นอกบอก ธ.ก.ส.” โดยเปิดช่องทางให้เกษตรกรลูกค้าและคนในครอบครัวที่มีหนี้นอกระบบและต้องการก้าวพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน แจ้งความประสงค์ผ่าน ธ.ก.ส. ทุกสาขา หรือลงทะเบียนด้วยตนเองผ่าน www.baac.or.th

 หรือ Line BAAC Family เพื่อนัดหมายให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้ รวมถึงสนับสนุนเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสินเชื่อเพื่อชำระหนี้สินนอกระบบวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท และสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและลงทุนสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนสงวนที่ดินไม่ให้ตกไปเป็นของผู้อื่น

     นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้คนไทย โดยภาครัฐจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินนโยบายดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ผ่านโครงการ “หนี้นอกบอก ธ.ก.ส.” พร้อมเสริมองค์ความรู้และศักยภาพในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและยืนได้อย่างมั่นคง และสงวนที่ดินไว้ไม่ให้ตกไปเป็นของผู้อื่น เพียงลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน www.baac.or.th

 และ Line Official Account: BAAC Family ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พร้อมกรอกข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็น ภาระหนี้สิน และช่องทางติดต่อกลับในระบบ 

     สำหรับเงื่อนไข ผู้ที่ลงทะเบียนต้องเป็นเกษตรกรหรือบุคคลในครัวเรือน โดยหนี้ที่มีต้องเป็นหนี้สินที่เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน และเป็นผู้ที่สามารถสร้างหรือมีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ กรณีผู้ขอกู้อายุมากกว่า 60 ปี ต้องมีทายาทหรือบุคคลในครัวเรือนอย่างน้อย 1 คน เป็นลูกหนี้ร่วม และหลังจากลงทะเบียนแล้วธนาคารจะติดต่อกลับตามช่องทางการติดต่อที่ได้ให้ไว้ เพื่อนัดหมายวันเวลาในการเข้าพบพูดคุยและให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงการเตรียมวงเงินสินเชื่อเบื้องต้นกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใต้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบด้วยสินเชื่อเพื่อชำระหนี้สินนอกระบบ วงเงินสูงสุด   ไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR + 3 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 10 ปี พิเศษไม่เกิน  12 ปี 

     นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) สนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน เพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกันหนี้และพัฒนาอาชีพ วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี หากผู้กู้ชำระหนี้ดีอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี อัตราดอกเบี้ยจะลดเหลือร้อยละ 4 ร้อยละ 3 และร้อยละ 2 ต่อปี ตามลำดับ ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี 

     ในการขับเคลื่อนภารกิจครั้งนี้ ธ.ก.ส. มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ควบคู่กับการเสริมสร้างอาชีพและรายได้ เพื่อให้หลุดพ้นกับดักหนี้นอกระบบจนสามารถสร้างรายได้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เกษตรกรลูกค้าและบุคคลในครัวเรือนให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบของ ธ.ก.ส. ไปแล้วกว่า 712,413 ราย เป็นเงินกว่า 60,274.34 ล้านบาท ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศและ Call Center 02 555 0555

กระทรวงเกษตรฯสร้างเสถียรภาพยางเพิ่มการใช้ประเทศ เสนอครม.ไฟเขียวหน่วยงานราชการใช้ล้อยางกยท.



“ธรรมนัส” เดินหน้าออกมาตรการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ เร่งหน่วยงานภาครัฐขับเคลื่อนการทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ พร้อมเตรียมขอไฟเขียว ครม. ให้รถยนต์ราชการใช้ล้อยาง กยท.เดินเครื่องสวนยางพาราเกษตรแปลงใหญ่ ประกาศสงครามกับยางพาราเถื่อน 

 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯมุ่งเน้นที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับยางพาราด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐจะต้องกำหนดเป็นนโยบายไม่ว่าจะเป็นการใช้ยางพาราในการทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ของหน่วยภาครัฐที่จะต้องทำถนน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางได้ในปริมาณที่มากแล้ว ถนนยังมีความทนทานมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น สามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี ลดการเกิดฝุ่นอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้หารือเบื้องต้นกับนายเศรษฐาทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับให้รถยนต์ของหน่วยราชการใช้ล้อยางที่การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ผลิต โดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีผลบังคับใช้

           สำหรับการผลิตล้อยางของกยท.นั้นล่าสุดได้เจรจากับโรงงานผลิตล้อยางของจีนรายใหญ่ในประเทศไทยที่มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดระยอง ถึงแนวทางการร่วมลงนาม MOU ในการผลิตล้อยางให้กับ กยท.โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่ เพื่อมีความพร้อมที่จะผลิตล้อยางให้กับ กยท.ได้ทันทีรองรับการใช้ล้อยางรถยนต์ของหน่วยงานราชการทั้งในส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และทหาร ซึ่งรถยนต์แต่ละคันมีอายุใช้ล้อยางประมาณ 2-3 ปีก็จะต้องเปลี่ยนใหม่  ซึ่งหากดำเนินการได้เป็นรูปธรรมจะทำให้การใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนรวมถึงได้สั่งการให้ กยท.ดำเนินการปรับสมดุลปริมาณยางในประเทศ  โดยเร่งตรวจสอบสต๊อกยาง ตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน พื้นที่สวนยาง และปริมาณผลผลิตยาง เพื่อจัดทำฐานข้อมูลยางที่ครอบคลุมทั้งประเทศ (Big Data)  ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการยาง กำหนดนโยบาย มาตรการต่างๆ ด้านยางได้อย่างสอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์  สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของยางพาราไทยอีกด้วย

          ขณะที่การเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมายก็ต้องทำคู่ขนาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทีมปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช”จะสอดส่องและเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายางผิดกฎหมายหากพบเบาะแสผู้กระทำผิดให้แจ้งหน่วยงานผู้มีอำนาจดำเนินการจับกุมทันทีพร้อมทั้งให้กยท.บูรณาการร่วมทำงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งจุดตรวจสินค้าเกษตร ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในเส้นทางที่มีการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดนประเทศเมียนมาร์ หากเป็นยางพาราที่ขอใช้เส้นทางในประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่ 3 จะต้องมีเอกสารที่ถูกต้องและชัดเจนตรงกับปริมาณยางที่ขอผ่าน

            ด้านนายณกรณ์  ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า  กยท. มุ่งเน้นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ โดยจะผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะการยกระดับสินค้าเกษตร “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูล ค่าสูง” โดยกำหนดเป้าหมายนำร่อง จำนวน 120 แห่งทั่วประเทศ ผ่านโครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ (Smart Farm) ภายใต้แผนสร้างความเข้มแข็งให้สอดคล้องกับการพัฒนายางพาราทั้งระบบ ประกอบด้วย การอบรมพัฒนาความรู้ด้านยางพาราครบวงจร ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน การบริหารจัดการ และการจัดการด้านการตลาด ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อก้าวไปสู่ Smart Farm 

          “สถานการณ์ราคายางขณะนี้มีแนวโน้มที่ีดีขึ้นนอกจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่งผลให้ผลผลิตทั่วโลกลดลงขณะที่ความต้องการมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าแล้ว นโยบายด้านยางพาราของรัฐบาลที่ชัดเจน และที่สำคัญการประกาศสงครามกับยางพาราเถื่อน โดยสั่งปราบปรามอย่างจริงจังของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ล้วนแต่เป็นปัจจัยบวกสนับสนุนให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุด ราคายางแผ่นรมควันชั้น3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับราคา 55.23 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นดิบ 52.60 บาทต่อกิโลกรัม และน้ำยางสดราคา 52.30 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 15 เดือน”นายณกรณ์กล่าว

รายงานพิเศษ : “มจร” ในวันวานกับวันนี้!!

 

“มจร” หรือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์สังกัดฝ่าย “มหานิกาย” ที่เพิ่งได้รับการจัดอันดับจากองค์กรต่างประเทศให้อยู่ในอันดับที่ 29 จาก 123 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย กำลังจะมีงานประสาทปริญญาขึ้นระหว่างวันที่ 9 -10 ธันวาคม 2566 นี้

ทุกปีเทศกาลสำคัญแบบนี้  “มจร” บรรยากาศจะคึกคักเป็นพิเศษเพื่อจัดเตรียมงานสำคัญแบบนี้ตั้งแต่อธิการบดี รองอธิการบดี คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ลงมือช่วยกันเต็มที่ เพื่อรองรับงานการจัดงาน และทุกปีจะมีพระสงฆ์ทั้งไทยและนานาชาติรวมทั้งประชาชน มาร่วมงาน 1-2 หมื่น รูป/คน

สำหรับนิสิตผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2566  นี้ รวมทั้งสิ้น  4,628 รูป/คน จำแนกเป็นปริญญาตรี  3,177 รูป/คน ปริญญาโท  990  รูป/คน และปริญญาเอก 461รูป /คน ใน 4,628 รูป/คนนี้ มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับประทานปริญญาบัตรทิ้งสิ้น 3,108 รูป/คน แยกเป็นบรรพชิต 1,671 รูป และคฤหัสถ์ 1,437 คน


อันนี้ไม่นับรวมผู้มีชื่อเสียงทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ที่สภา “มจร” อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เข็มเกียรติคุณ ซึ่งมาจากทั่วโลกอีก 117 รูป/คน โดยแบ่งเป็นปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 74 รูป/คน และเข็มเกียรติคุณ 43 รูป/คน

“ผู้เขียน” เพิ่งทราบครั้งแรกว่าประเภท “เข็มเกียรติคุณ” ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมอบให้กับผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม มันคือ “ทองคำแท้” และเป็นหนึ่งเดียวในมหาวิทยาลัยไทยที่ให้เกียรติมอบให้แบบนี้

ทุกปี “มจร” จะจัดงาน 3 วันเป็นอย่างน้อย คือ วันซ้อม 1 วันและวันรับจริง 2 วัน คือ แบ่งออกเฉพาะปริญญาตรี 1 วัน และอีกวันเป็นจำพวกปริญญาโท-ปริญญาเอก และสถาบันสมทบ สำหรับปีนี้ลดเหลือ 2 วัน คือ วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 เป็นวันซ้อมใหญ่ทั้งภาคเช้าและบ่าย ส่วนวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ภาคเช้าผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโทและอภิธรรมบัณฑิต จะรับจากผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช คือ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์”  ส่วนภาคบ่าย “สมเด็จพระสังฆราช” จะเสด็จมาประทานปริญญาบัตรให้แก่กลุ่มผู้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เข็มเกียรติคุณ ปริญญาเอก และสถาบันสมทบ


สถานที่จัดงานคาดว่า “พรึบ” เหมือนเดิมทั้งจาก มจร ส่วนกลาง ภูมิภาค สถาบันสมทบ และรวมทั้ง “ซุ้มสีสัน” ของพระนิสิตนานาชาติ ซึ่งบางชาติพันธุ์นำนักร้อง เครื่องดนตรีประจำชาติมา “จัดเต็ม” สีสันสนุกสนานยิ่งกว่าหน่วยงาน “ภาครัฐ” บางแห่งจัด เพราะหากจะว่าไปแล้วสิ่งเหล่านี้คือ “Soft Power” ที่มาจากแก่นแท้ของหัวใจ ทั้งการประดับซุ้ม ทั้งการแต่งกายของชาติพันธุ์ที่มาร่วมงานรับปริญญา หรือแม้กระทั้งการร้องรำทำเพลง ตามซุ้มชาติพันธุ์ต่าง ๆ  ซึ่งคิดว่ามหาวิทยาลัยอื่น นอกจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแล้ว..คงไม่มี

ส่วน “โรงทานฟรี” ตลอดงาน เหมือนเดิม เจ้าภาพยืนพื้น คือ มี มูลนิธิร่วมกตัญญู แม่ชีทศพร วชิรบำเพ็ญ  มูลนิธิโพธิวัณณา รับประทานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“มจร” หรือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2430  เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุ สามเณรและคฤหัสถ์  ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2540  ได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม


ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มี พระพรหมวชิราธิบดี ดำรงตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัย พระพรหมบัณฑิต ดำรงตำแหน่ง อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และมี  “พระธรรมวัชรบัณฑิต” ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จัดการศึกษาแบ่งออกเป็น 5 คณะ ประกอบด้วย บัณฑิตวิทยาลัย คณะพุทธศาสตร์ ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ มี 11 วิทยาเขต 30 วิทยาลัย 1 โครงการขยายห้องเรียน และ 1 หน่วยวิทยบริการ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันสมทบในต่างประเทศ 5 แห่ง  มีจำนวนทั้งหมด 293 หลักสูตร โดยจำแนกเป็น ปริญญาตรี 170 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 หลักสูตร ปริญญาโท 78 หลักสูตร ปริญญาเอก 43 หลักสูตร มีอาจารย์ทั้งหมด  1,351 รูป/คน จำแนกเป็นปริญญาโท 493 รูป/คน ปริญญาเอก 805 รูป/คน  และมีตำแหน่งทางวิชาการ จำนวน 473 รูป/คน จำแนกเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ 348 รูป/คน  รองศาสตราจารย์  117  รูป/คน และศาสตราจารย์ 8 รูป/คน ผลิตผลงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ 1,276  เรื่อง มีนิสิตทั้งสิ้น  19,704  รูป/คน จำแนกเป็น ปริญญาตรี 14,246 รูป/คน ปริญญาโท  3,427  รูป/คน  ปริญญาเอก 2,031 รูป/คน ในจำนวนนิสิตทั้งสิ้นมีนิสิตชาวต่างประเทศ   1,383 รูป/คน จาก 28  ประเทศ และใน 28 ประเทศนี้

โดยเฉพาะจากนิสิตจาก  “ประเทศเมียนมา” มีชนชาติพันธุ์อีกหลายสิบชาติพันธุ์ที่มาเรียนที่ มจร เฉพาะชาติพันธุ์ “ไทใหญ่” มีผู้มาศึกษาที่ มจร มากกว่า 300 รูป/คน ส่วนชาติพันธุ์มอญของ “ผู้เขียน”  รวมทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์มีแค่ 59 รูป/คน

บทบาท “มจร” ยุคนี้ “เนื้อหอม” บันไดไม่แห้ง โดยเฉพาะ พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ ต้อนรับแขกนานาชาติทั้งพระสงฆ์ คฤหัสถ์ มีการจัดจัดงานทั้งงานของ มจร และภาคีข้างนอก โดยเฉพาะงานของ “มหาเถรสมาคม”   รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศเดินสายไปต่างประเทศตามคำเชิญของคณะสงฆ์ ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ นานาชาติ ยิ่งกว่า “รัฐมนตรีต่างประเทศ” ของไทยเสียอีก

เมื่อเรามองพัฒนาการของ  “มจร”  มีการแบ่งช่วงเวลา ตั้งแต่ พ.ศ. 2430 ซึ่งเป็น ยุคก่อตั้งมหาวิทยาลัย จนถึงปัจจุบันผ่านมาแล้วอย่างน้อย 7 ยุคสมัย คือ ยุคก่อตั้งมหาวิทยาลัย  ยุคริเริ่มการจัดการศึกษา  ยุคปรับปรุงและขยายการศึกษา  ยุครับสถานะมหาวิทยาลัยและปริญญาบัตร   ยุคมี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย  ยุคเข้าสู่ศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ ยุคพัฒนาความรุ่งเรืองของการเป็นศูนย์กลางมหาวิทยาลัย  และปัจจุบันภายใต้การนำของ “พระธรรมวัชรบัณฑิต” กำลังเข้าสู่ยุค “มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม”

“ผู้เขียน” เข้าเรียนและจบจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในยุคที่คนในสังคมบางคนอาจจะตีตราว่า “มหาวิทยาลัยเถื่อน” ก็ว่าได้ เพราะเข้าเรียนในปี 2539 ตอนนั้นเรายังไม่มี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยและหลักสูตรที่เรียนคือ “สาขารัฐศาสตร์” หน่วยงานภาครัฐอย่าง ก.พ. ก็ยังไม่รับรอง แต่เรียนเพราะ “ใจรัก”  การเมือง ยุคก่อนฆราวาสมาเรียน “มจร” น้อยมากหรือแทบไม่มี ไม่เหมือนยุคนี้ จากสถิติรับปริญญาปี 2566 นี้เกือบเท่าเพศบรรพชิต  แต่ยุคหลัง “มจร” มี พ.ร.บ.เป็นของตนเอง ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีญาติโยมอุปถัมภ์ค้ำชูโดยเฉพาะ  "นพ.รัศมี -คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร" มอบที่ดินให้กับ “มจร” ที่วังน้อยแล้ว “มจร” ก็เหมือน “พยัคฆ์ติดปีก” พุ่งแบบก้าวกระโดด ยิ่งตอน “พระพรหมบัณฑิต” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จับงาน “วิสาขบูชาโลก” แล้วมาจัดกิจกรรมที่ประเทศไทยทุกปี นอกจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโด่งดังกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาโลกแล้ว ประเทศไทยก็ถูกยกให้เป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” ด้วย หมายความว่าคณะสงฆ์นานาชาติ ทั้งเถรวาท มหายาน กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน  ยกให้ประเทศไทย “ยืนหนึ่ง” ในการเป็นผู้นำชาวพุทธโลก

ทุกวันนี้จึงไม่แปลกที่ คณะสงฆ์นานาชาติ ผู้นำประเทศอีกหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา หรือแม้แต่ผู้นำศาสนาคริสต์ อิสลาม ประมุขสงฆ์บ้าง เอกอัครราชทูตบ้าง ทูต อุปทูตบ้าง มาเยี่ยมมาเยียนมาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กับ “มจร” แทบไม่ขาดสาย..


และปัจจุบัน “คณาจารย์” มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีหลายคณะ หลายรูปหลายคน จะสังเกตเห็นว่า เริ่มเป็น “นักการตลาด” มิใช่สอนหนังสืออยู่ในห้องอย่างเดียวเท่านั้น เดินสายแนะแนวคณะ แนะแนวหลักสูตร แนะนำ “มจร” ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น IBSC วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มีนักศึกษาหลายร้อยคนทั้งจากเวียดนามและเมียนมา หรือแม้แต่คณะมนุษยศาสตร์ ก็เริ่มตีตลาดประเทศเมียนมา และประเทศจีน อันนี้ “ผู้เขียน” ต้องขอชื่นชมว่าคณาจารย์เหล่านี้มี “วิสัยทัศน์” หาญกล้าที่ออกจากกรอบวิ่งหาลูกค้า คือ นักศึกษา

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม “มจร” ตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งเรื่องสถานที่ ทั้งเรื่องงบประมาณ เงินเดือน หลักสูตรการศึกษา  การเป็นอยู่ของคณาจารย์ และรวมทั้งพระนิสิต นิสิต ที่มีหอพักหลายหลัง รวมทั้งหอพักสำหรับอาจารย์ด้วย

สมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ หากจำไม่ผิดจ่ายค่าเทอมเพียงเทอมละประมาณ 1,700 บาท พวกเราไม่มี “รถเมล์ฟรี” บริการดังทุกวันนี้ หรือโอกาสนั่งรถเมล์เหมือนคนทั่วไป  เพราะธรรมชาติรถเมล์เวลาเจอพระไม่ค่อยรับและยิ่งรถเมล์ที่มีแอร์ยิ่งไม่อยากรับ พระนิสิตรุ่นผู้เขียนสมัยนั้นต้องนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปลงที่ท่ารถไฟข้าง ๆ โรงพยาบาลศิริราช มีรถเมล์เก่า ๆ สีเหลืองอยู่ 2 คัน จะมาค่อยรับส่งพระนิสิตที่ท่าเรือแห่งนี้ ไปเรียน ณ  “ศูนย์วัดศรีสุดาราม”  เมื่อถึงเวลาค่ำ ๆ ก็นั่งรถกระเป๊าะคันเล็ก ๆ กลับมายังท่าเรือแห่งนี้และอาศัย “เรือด่วนเจ้าพระยาฟรี” เพื่อกลับวัด

ยุคสมัยนั้น “หลักสูตรรัฐศาสตร์” ของ มจร ยังไม่ถูกรับรองจากรัฐบาล มักมีรุ่นพี่มาเล่าประสบการณ์ไปทะเลาะกับคนสำนักงาน ก.พ.ประจำ เพราะบางคนสึกออกไปแล้วไปสอบปลัดอำเภอบ้าง สอบเข้าราชการบ้าง “สาขารัฐศาสตร์” บางคนสอบติดแต่เวลาตรวจสอบวุฒิการศึกษาปรากฎว่า “หลักสูตร กพ.ไม่รับรอง” หน่วยงานรัฐก็ไม่สามารถรับเข้าทำงานได้ ถึงจะเก่งและมีความรู้ก็ตาม

หรือแม้กระทั้งพระอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของเราที่จบมาจาก ประเทศอินเดียหรือศรีลังกา ก็มักจะโดนดูถูกดูแคลนจากหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานว่า “ด้อยคุณภาพ” ไม่รับรองวุฒิให้ จะเข้าสมัครมหาวิทยาลัยที่พอมีเงินเดือนดีบ้างก็เปรียบเสมือนชีวิตพระภิกษุ-สามเณรจากต่างจังหวัดเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน จะหาวัดอยู่เรียนหนังสือในกรุงเทพ “ห้องว่างแต่เจ้าอาวาสไม่ให้อยู่” ประมาณนั้น


สถาบันการศึกษาอันทรงเกียรตินี้ผ่านการอุทิศและการเสียสละของพระเถระผู้ใหญ่มาแล้วรุ่นต่อรุ่น รวมทั้งคณาจารย์ยุคที่ไม่มีเงินเดือน บางท่านไม่มีเงินเดือนไม่พอ ยังต้องหาเงินจากภายนอกมาช่วยสนับสนุนด้วย  ตอนนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว 136 ปี แกร่งขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น และถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย

"ผู้เขียน" ในฐานะศิษย์เก่าขอแสดงความยินดีและขอขอบคุณผู้บริหารทุกท่านที่ “ผลิตพวกเราออกมา” จนกล้าประกาศเลยว่า “พวกเรามีดีและมีองค์ความรู้ไม่แพ้สถาบันใด ๆ ” ในประเทศนี้ รวมทั้งขอแสดงความยินดีกับศิษย์รุ่นน้องที่จะเข้ารับปริญญาในวันที่ 9-10 ธันวาคมนี้ทุกรูป ทุกท่าน ส่วนหลังจบแล้วจะรับใช้พระพุทธศาสนาหรือจะลาสิกขาก็ไม่มีใครว่า  เพราะในโลกข้างนอก “ความรู้และคุณธรรม” บวกกับความอดทน มีความรับผิดชอบ สู้งาน ที่เราได้รับมาจากสถาบันแห่งนี้ “คุ้มกะลาหัว” ได้เป็นอย่างดี!!

"อนุสรณ์" ชี้ "เศรษฐา" มาเป็นแพ็ค "ควิกวิน" ควบคู่แก้โครงสร้าง



เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี รัฐบาลทยอยออกนโยบายและมาตรการเร่งด่วนเป็นแพ็คเกจเพื่อช่วยเหลือลดค่าครองชีพของประชาชน แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.68 บาท/หน่วย ทำให้นายกฯถึงกับประกาศยอมรับไม่ได้ เพราะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เตรียมเรียกประชุมบอร์ด กกพ.ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นนายกรัฐมนตรีที่ขยันทำงาน ทุ่มเททุกสรรพกำลังอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ตัวเลขที่กกพ.เสนอมา น่าจะยังสามารถประชุมหาทางออกร่วมกันได้ เพราะถ้าขึ้นเยอะเกินไป ประชาชนก็เดือดร้อน ต้องจัดสมดุลย์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ 

รัฐบาลพยายามดำเนินการตามแนวทางนโยบาย ลดค่าครองชีพ เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ให้ประชาชนเป็นแพ็คเกจ ทั้งนโยบายเรือธงดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท แก้หนี้นอกระบบ–ในระบบ ปลดพันธนาการประชาชนไม่ให้เป็นทาสยุคใหม่ โครงการปั้น 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์  ยกระดับสินค้าโอทอป เสริมเรื่องการตลาดเพื่อนำสินค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไปสู่สายตาชาวโลก ยกระดับสตาร์ตอัพสู่ธุรกิจมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปั้นยูนิคอร์นไทยให้มากขึ้น ใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ลดราคาน้ำมัน รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เคาะปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ 18,000 บาทต่อเดือน ปรับฐานเงินเดือนข้าราชการเก่า และเตรียมปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เติมเงินเข้ากระเป๋าประชาชนอย่างเป็นระบบ

“รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการแค่เรื่องเฉพาะหน้า แต่ภารกิจเร่งด่วน “ควิกวิน”ต้องแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว ส่วนการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษฯ ก้าวข้ามความขัดแย้ง รัฐบาลก็ให้ความสำคัญและสามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้” นายอนุสรณ์ กล่าว


‘พายัพ’ ชี้วาระแห่งชาติเร่งแก้หนี้นอกระบบ ทำลายระบบทาสยุคใหม่ ‘นายกฯเศรษฐา’ สั่งลุยช่วยชาวบ้าน



เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นายพายัพ ปั้นเกตุ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวืสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเรื่องหนี้สินนอกระบบมาก เพราะความยากจนจากวิกฤตเศรษฐกิจ บางรายแม้กระทั่งข้าวสารก็ไม่มีจะกิน ต้องกู้หนี้ยืมสินหาเงินจ่ายดอกเบี้ยรายวัน บางรายร้อยละ10-20 บาท วันไหนไม่มีก็ถูกเจ้าหนี้ข่มขู่บังคับ มีแก๊งหมวกกันน็อกเดินสายเก็บรายวันรายเดือน รังแกทำร้ายร่างกายยึดข้าวยึดของ สร้างระบบทาสยุคใหม่เป็นเครือข่ายอันตรายต่อพี่น้องประชาชนและสังคม  

นายพายัพกล่าวว่า อีกประเภทคือพวกบริษัทไฟแนนซ์มาเอาเปรียบทั้งต้นทั้งดอก ซึ่งเป็นปัญหาจะต้อแก้ไข รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจึงประกาศให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นวาระแห่งชาติ ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ผู้การตำรวจทุกจังหวัด จะต้องทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบอย่างจริงจัง ต้องมีบัญชีรายชื่อ คนปล่อยกู้ มีหน่วยงานเข้ามาดูแลให้ความเป็นธรรมทั้งคนกู้และคนให้กู้ จัดชุดเจรจาไกล่เกลี่ยอย่างจริงจังให้เป็นรูปธรรม หาหนทางเอาหนี้นอกระบบเข้าสู้ระบบเงินกู้ของธนาคารรัฐ ทั้งธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาประชาชน 

กมธ.ศาสนาฯสภาฯลงพื้นที่เชียงใหม่ ถกการขอออกโฉนดที่ดินวัดพระธาตุดอยคำ-สัญญาเช่าที่ธรณีสงฆ์วัดดาวดึงษ์



เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายวีระพล กิจสัมฤทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ หนึ่ง ทำหน้าที่แทนประธานคณะกรรมการ และคณะประกอบด้วยนายสมศักดิ์  บุญประชมกรรมาธิการ นางสาวสกุณา  สาระนันท์ กรรมาธิการ ดร.เพชรวรรต  วัฒนพงศศิริกุล ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการธิการ  นายปกรณ์เกียรติ  ญาณหาร นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประจำคณะกรรมาธิการ เดินทาง ลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงาน ด้านการอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ณ จังหวัดเชียงใหม่

เวลา 14:00 น ประชุม ติดตามความคืบหน้าเรื่อง การขอออกโฉนดที่ดินของวัดพระธาตุดอยคำ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 16 เชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย และผู้แทนวัดพระธาตุดอยคำ โดยมีหลวงพ่อพระครูสุนทรเจติยารักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยคำ และคณะกรรมการวัด นางอารีย์  พันธุ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ นายพิชิต  ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยาน แห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย นายเดชา  จันทร์ลาย ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงาน จากหัวหน้า อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย (นายภูพิชิต  ช่วยบำรุง) ว่าเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลการตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานสารบบที่ดิน และการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในรายของวัดพระธาตุดอยคำที่ขอออกโฉนด ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ แจ้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย ไปดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยเห็นชอบให้ออกโฉนดที่ดินให้กับวัดพระธาตุดอยคำ จำนวน 7 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ซึ่งขั้นตอนต่อไป หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ - ปุย จะได้แจ้งมติดังกล่าว ไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการออกโฉนดที่ดิน ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) แก้ไขเพิ่มเติม ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 59 (พ.ศ. 2566) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ต่อไป 



จากนั้นเวลา 15:30 น เดินทางไปร่วมประชุม เพื่อรับทราบแนวทางในการแก้ไขปัญหา การทำสัญญาเช่าที่ธรณีสงฆ์ของวัดดาวดึงษ์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดย ได้รับความเมตตาจาก พระครูวิทิตศาสนาธร รองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรวิหาร เจ้าคณะ ตำบล หายยา และเจ้าอาวาสวัด ดาวดึงส์ ให้การ ต้อนรับ ดังนี้ ได้มีไวยาวัจกรวัดดาวดึงษ์ ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนผู้เช่าที่ธรณีสงฆ์ของวัดเข้าร่วมประชุม กับคณะกรรมาธิการ ณ วิหารวัดดาวดึงษ์ 

คณะกรรมาธิการได้รับทราบ ข้อเท็จจริงจาก เจ้าอาวาสวัดดาวดึงษ์ ว่าได้มีการทำสัญญาเจ้าหน้าที่ธรณีสงฆ์กับราษฎร ผู้เช่า จำนวนกว่า 70 ราย ซึ่งเป็นการทำสัญญาเช่าใหม่รายปี ตามระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด แม้นจะมีผู้เช่าที่เห็นว่าเป็นการขึ้นค่าเช่าโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งทางวัดยืนยันว่าได้มีการดำเนินการปรับอัตราค่าเช่าและทำสัญญาเช่าโดยเรียกเก็บอัตราค่าเช่า ตามระเบียบที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด เป็นอัตราค่าเช่าที่ดินศาสนสมบัติกลาง และวัดรางเพื่อผู้เช่าใช้อยู่อาศัย ทั้งนี้ หากผู้เช่ารายได้เห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ พร้อมที่จะเจรจา เพื่อให้ได้ข้อยุติ  

อย่างไรก็ตามทคณะกรรมาธิการ โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้ได้รับการตรวจสอบ สัญญาเช่า ในรายที่มีการร้องเรียนขอให้ทางวัดทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดการเช่า สัญญาเช่า และอัตราค่าเช่า ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ตรวจสอบหากพบเป็นไปตามระเบียบ หรือชอบด้วยกฎหมายแล้ว ให้แจ้งผลการพิจารณานั้นให้คณะกรรมาธิการทราบ เพื่อพิจารณาแจ้งให้ผู้ร้องทราบ และกำหนดแนวทางการทำสัญญาเช่าที่วัด ทั่วประเทศต่อไป 

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กรณีที่วัดเรียกเก็บค่าบำรุง หรือค่าใช้จ่ายอื่นนอกจาก ค่าเช่าที่ดังกล่าวนั้นว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งจะนำกลับไปหารือ กับส่วนกลางต่อไป


 


"หลักสูตรสันติศึกษา มจร" จัดพิธีแสดงมุทิตาจิต ต่อมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่จะเข้ารับปริญญาบัตรประจำปี 2566



เมื่อวันที่ ๓๐  พฤศจิกายน  ๒๕๖๖  พระปราโมทย์  วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)    เปิดเผยว่า หลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา ระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอก ภายใต้บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ความร่วมมือ สภาบันพระปกเกล้า และสำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ขอแสดงมุทิตาจิตและแสดงความยินดีกับมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ซึ่งสำเร็จการศึกษา จำนวน ๖๒ รูปคน ซึ่งหลักสูตรสันติศึกษา มจร เตรียมจัดมุทิตาจิตในวันเสาร์ที่ ๙ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๖ ณ ห้องพุทธเมตตา อาคารเรียนรวม (ฝั่งคณะพุทธศาสตร์) ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา จึงขอเชิญศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันและผู้มีเกียรติร่วมแสดงความยินดีในโอกาสนี้  

โดยการเป็นบัณฑิตย่อมฝึกตนใครฝึกตนจึงชื่อว่ามหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ถือว่าเป็นการจบอย่างเป็นทางการ เส้นทางย่อมมีการฝึกการทดสอบ จนเป็นสัตบุรุษด้วยการรู้รู้จักเหตุรู้จักผล  สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งที่เกิดมาจากอะไร เรามาที่นี่เรามาฝึกตนเพราะคนฝึกตนจะเป็นประเสริฐให้เห็นตนเอง รู้ตนเองชัด เรียนรู้เพื่อเข้าใจตนเอง เรียนรู้เพื่อรู้จักประมาณตนเอง  รู้จักกาลเวลา รู้จักชุมชน และรู้จักบุคคล รู้ว่าใครเป็นใครมีนิสัยอย่างไร ถือว่าเป็นภาพรวมของบัณฑิตมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตในทางพระพุทธศาสนา 

พระเมธีวัชรบัณฑิต ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ในระดับปริญญาเอก มจร เคยกล่าวไว้ว่า หลักสูตรสันติศึกษา คาดหวัง ๔ คำ โดยถอดมาจากโอวาทปาติโมกข์ประกอบด้วย  #สติ ขันติ #สันติ ปัญญา  เป็นการศึกษาให้เป็นลมหายใจ มิใช่เเค่ท่องจำเท่านั้น สันติศึกษาจึงเป็นวิชาชีวิต ชีวิตของเราไม่ใช่ชีวิตของคนอื่น เพราะเราเข้าใจชีวิตตนเองทำให้เราเข้าใจคนอื่น เราต้องไม่ลืมสติ #สติเป็นความจำ จำว่าตนเองเป็นใครเมื่อมีสิ่งใดมากระทบ กระเทือน กระแทก จำตนเองให้ได้ว่าหน้าตาเราเป็นคนอย่างไร สติจึงต้องใช้ในห้องเรียน เราต้องจำตนเองให้ได้แม้เรากำลังโกรธ เกลียด ไม่พอใจ สติทำให้เราเย็น เราปล่อยวางได้ง่ายขึ้น เราเบามากขึ้น แสดงว่าเรามีสติ ซึ่งสติเป็นเครื่องกั้นความโกรธ ความเกลียด #สติเป็นเครื่องตื่นรู้ ทำอะไรตื่นตัวตลอดทำงาน ทำงานแล้วไม่หลุด 

เห็นการพัฒนาทุกอย่างคือการฝึกฝน เพราะถ้าดีแล้วไม่ต้องมา ถ้าคิดว่าตนเองต้องพัฒนาต้องมาฝึก แต่ช่วงท้ายเรามาพัฒนาด้านวิจัย ทำให้เกิดความวุ่นวาย เราจึงต้องมีสันติภายใน แต่การจบในครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต ถ้าคิดว่าตนเองยังไม่พอต้องหาครูบาอาจารย์เพื่อพัฒนาตนเองต่อไปเพราะกว่าจะจบต้องผ่านการทดสอบทุกกระบวนการ ผ่านการพิสูจน์มากขนาดนี้ เป็นกระบวนการฝึกขันติ เราเจอสถานการณ์ที่บีบสุดชีวิต ขอบคุณท่านสุดท้ายที่ฝึกขันติธรรมให้พวกเรา สันติศึกษาจึงเป็นวิชาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า #พึงศึกษาสันติเท่านั้น และ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี  คำตรัสเหล่านี้จึงมีการพัฒนาสู่หลักสูตรสันติศึกษา สันติจึงมีพลังอย่างยิ่ง 

ผู้มาเรียนสันติศึกษาเป็นคนสำคัญของบ้านเมือง จะส่งผลต่อสังคม จึงอยากให้ทุกคนกลับไปพัฒนาสังคม  เรามาที่นี่ไม่ใช่มาเอาเพียงปริญญานอก แต่เรามาเอามาปริญญาใน ปริญญาในคือสันติภายใน ปริญญานอกทำให้เรามีความสุข มีความภาคภูมิใจ เพราะมันคือความสำเร็จ แต่ต้องคำนึงปริญญาในคือปริญญาชีวิต ปริญญาที่พาเรามีความสุขที่แท้จริงคือ ปริญญาใน เราจึงต้องไปสร้างบารมี สันติบารมีจึงเป็นที่รวมบารมีต่างๆ เมื่อบารมีเต็มเปี่ยมจะได้ทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ 

ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวย้ำว่า ขอให้วิศวกรสันติอย่าลืมสันติปณิธาน ยามที่เราเหนื่อยท้อแท้  เพราะทำงานกับกิเลสของคนอย่าหวังผลอะไรมาก ไม่มีใครสามารถทำให้เราเจ็บปวดหรือทุกข์ได้เท่ากับตัวเราเอง เพราะข้างในไม่พออย่าไปสานต่อให้คนอื่น เราต้องเติมพลังภายในให้ตนเอง สุดท้ายจะเกิดคำว่า คนอื่นสำคัญที่สุดเราไม่สำคัญเลย  จึงขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับ มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของหลักสูตรสันติศึกษาทุกรูปท่าน


"บิ๊กต่อ"สุดปลื้ม! รับมอบรถพยาบาลมูลค่าเก้าล้านกว่า ช่วยกิจการงานรพ.ตำรวจจาก "หลวงปู่ทุย ฉันทกโร"



เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566   เฟซบุ๊กพระปัญญาวชิรโมลี นพพร เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า  "เมตตาธรรมค้ำจุนโลก พ่อแม่ครูอาจารย์ “หลวงปู่ทุย ฉันทกโร เมตตาบริจาครถพยาบาลมูลค่าเก้าล้านกว่าบาท ช่วยกิจการงานโรงพยาบาลตำรวจ

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ตร. ) พ.ต.อ.หญิง ฉันฉาย รัตนพานิช รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร. ) เป็นประธานพิธีมอบรถยนต์พยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตชั้นสูง (มาตรฐานความปลอดภัย ๑๐G ) ณ ห้องพรมนอก อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีต ผบ.ตร., พล.ต.ท.โสภณรัตน์ สิงหจารุ ผู้ช่วย ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ร่วมด้วย



ทั้งนี้ หลวงปู่ปรีดา หรือ หลวงปู่ทุย  ฉันทกโร วัดป่าดานวิเวก อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ  ได้มีเมตตาบริจาครถยนต์พยาบาล พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตชั้นสูง ( มาตรฐานความปลอดภัย ๑๐G ) จำนวน ๔ คัน รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น ๙,๐๔๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  โดยแบ่งมอบให้หน่วยต่างๆ ในสังกัดโรงพยาบาลตำรวจ ได้แก่ กลุ่มงานศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ จำนวน ๒ คัน , โรงพยาบาลดารารัศมี จำนวน ๑ คัน และโรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์ จำนวน ๑ คัน เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลพี่น้องประชาชนต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวันนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีต ผบ.ตร. เป็นผู้แทนหลวงปู่ปรีดา ส่งมอบรถยนต์พยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตชั้นสูง ให้กับ ผบ.ตร.

ผบ.ตร.พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ฯ กล่าวว่า ในนามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอกราบนมัสการหลวงปู่ ด้วยความเคารพ และขอขอบคุณ  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นผู้กราบนมัสการเรียนหลวงปู่ปรีดา ว่าโรงพยาบาลตำรวจยังขาดแคลน และมีความต้องการรถยนต์พยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตชั้นสูง จึงทำให้พระเดชพระคุณหลวงปู่  พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ มีเมตตาบริจาครถยนต์พยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตชั้นสูง ตลอดจนขอขอบคุณคณะศรัทธาสามัคคี มา ณ โอกาสนี้ ขอคณะศรัทธาสาธุชนผู้มีบุญมีพระคุณทั้งหลายจงอนุโมทนาสาธุการโดยทั่วกัน"


ประธานสภาเกษตรกรสกลนครขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม "จากท้องนา สู่ทำเนียบ"



เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เพจสภาเกษตรกร จังหวัดสกลนคร ได้โพสต์ข้อความว่า  "ผลักดันนโยบาย “Give and Take to Government for Farmers" วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09:00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทศพล สมพงษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร ในฐานะสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พร้อมด้วยนายภูผา บัวบุญ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการจัดทำและขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 

โดยการประชุมในครั้งนี้มีวาระเพื่อพิจารณาที่สำคัญ อาทิ การพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติงาน 4 ปี (2567 - 2570) และแผนปฏิบัติงานประจำปี 2567 ของคณะกรรมการจัดทำและขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม การเตรียมการประสานนโยบายจากนายกรัฐมนตรีและการประชุมวิชาการ “การบูรณาการเสริมพลัง ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตร ด้วยแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม” การวางรูปแบบและกำหนดการรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาคณะกรรมการและแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดทำและขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม

โดยมีเป้าหมายนำแผนแม่บท เพื่อพัฒนาเกษตรกรรม เพื่อนำไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ ตามแนวคิด “จากท้องนา สู่ทำเนียบ”


วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ผู้บริหารคณะสังคมศาสตร์บัณฑิตวิทยาลัย "มจร" บินดูงานม.กัมพูชา เปิดโมเดลพุทธมณฑลโลกเสียมเรียบ



 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เฟซบุ๊ก "ธัชชนันท์ อิศรเดช" นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2566 ศึกษาดูงานด้านการศึกษา ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม  ที่มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสีหนุราชประเทศกัมพูชา  และเข้ากราบนมัสการสมเด็จพระสังฆราชกัมพูชา




ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566  เฟซบุ๊ก Sak Prasandee ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า  นี้เป็นโมเดล ที่กำลังจะถูกสร้างเป็นพุทธมณฑลโลก ที่เมืองเสียมเรียบ กัมพูชา โดยประธาน ดร.พิน สุวันนา Phd BOU จะเป็นแลนด์มารคแห่งใหม่ของเมืองเสียมเรียบ คนสร้างเขาตั้งใจจะมี โพธิศาสตร์ ยู ในที่เดียวกันนี้ด้วย โปรดติดตามชม

"IBSC MCU" Showcase EdPEx200 บนเวที EdPEx ระดับชาติ ต่อผู้บริหาร108มหาวิทยาลัยชั้นนำ



IBSC MCU Showcase EdPEx200 ต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำ 108 แห่งบนเวทีประชุม EdPEx ระดับชาติ   

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 โรงแรมเซนจูรี พารค์ กรุงเทพฯ ได้กลายหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบโอกาสครั้งสำคัญให้วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ(IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (MCU)  โดยพระเมธีวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยวิทยาศาสตร์นานาชาติ มจร ได้นำเสนอ และถอดบทเรียนว่า EdPEx หรือเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศได้ช่วยยกระดับหรือพลิกโฉมการบริหารเพื่อตอบโจทย์สังคมโลกอย่างไร? โดยมี 108 มหาวิทยาลัยชั้นนำเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ความว่า  



ผศ.เสาวลักษณ์ สุดประเสริฐ อนุกรรมการ EdPEx ที่คร่ำหวอดงานพัฒนาคุณภาพกว่า 20 ปี กล่าวว่า ในแต่ละปีมีการถอดบทเรียนสถาบันการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นบนเวทีในปีนี้ คือสายศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เพื่อย้ำเตือนว่า EdPEx เป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมและสอดรับกับธรรมชาติของแต่ละสถาบันการศึกษา 

หัวข้อที่คณะอนุ กก. EdPEx ได้กรุณาให้ IBSC นำเสนอ บนเวที คือ EdpEx: Shedding Light on Excellence in Higher Education อันเป็นตอกย้ำว่า EdPEx  ได้ช่วยยกระดับการบริหารจัดการ MCU IBSC มุ่งไปสู่การพัฒนาองค์กรเพื่อความเป็นเลิศในการจัดการศึกษาเพื่อนำหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนา สติ ปัญญา และคุณธรรมที่เป็นสมรรถนะหลัก (Core Competency) ไปตอบโจทย์ชุมชน และสังคมโลก โดยเฉพาะ Key Learners กลุ่มผู้เรียนสำคัญที่เป็นเถรวาท มหายาน และวัชรยานอย่างไร??

1:ค้นหาตัวตน และส่งมอบที่ที่มีและเป็นสู่สังคมโลก

แม้ว่า MCU IBSC จะเป็นสถาบันการจัดการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาเล็กๆ ที่เพิ่งสร้างตัว  แต่ก็สามารถนำ EdPEx มาปรับใช้ให้เหมาะกับวิถีทางของตนเอง โดยการนำสมรรถนะที่ตัวเองมีและเป็นออกไปตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและสังคมโลก การมุ่งนำวิทยาลัยสู่ประชาคมระดับนานาชาติจึงต้องศัยเครื่องมือการบริหารที่ได้มาตรฐานและเป็นสากล

2:บูรณาการคุณค่าหลัก EdPEx กับแก่นธรรม

ถึงกระนั้น มองในเชิงลึกที่เป็นแก่น หรือค่านิยมหลัก 11 ประการของ EdPEx ก็มีนัยหลายประการที่ไม่ต่างจากหลักการในพระพุทธศาสนา เช่น Management by fact ไม่ใช่ by Fake การใช้ความจริง ข้อมูลจริงมาบริหารจัดการ ที่สอดรับกับหลักอริยสัจจ์เพื่อเข้าถึงความเลิศ หรือความประเสริฐในการพัฒนาชีวิตและองค์กร หรือการมุ่งผลลัพธ์ แต่ให้ความสำคัญกับกระบวน สอดรับกับการเข้าถึงนิโรธแต่ก็ให้ใส่ใจกับมรรค รวมถึงการให้ความสำคัญกับจริยธรรม และบุคลากร เป็นต้น

3:ภาษา EdPEx กับภาษาธรรม



กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาษาของ EdPEx หรือ TQA ก็แทบมิได้แตกต่างจากภาษาธรรม หลายชุดความคิด เป็นการดึงกฎมาสร้าง หรือออกแบบเป็นทฤษฏีในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อตอบโจทย์ Demand, Want หรือ Need ของคนและองค์กรต่างๆ ในสังคมโลกยุค VUCA และ BANI ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

4:ค้นหา Key Change สร้างโอกาสเชิงกลยุทธ์

สิ่งที่เป็นแรงพลักให้ IBSC ส่งมอบสติ ปัญญา และคุณธรรมเพื่อเสริมสร้างสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืนที่เป็นวิสัยทัศน์ของวิทยาลัย คือ UNSDGs ในประเด็นการศึกษา สุขภาวะทางใจ ภาวะโลกร้อน และสันติภาพ รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 มุ่งให้นำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปตอบโจทย์จิตใจและปัญญา โดยเฉพาะกฎกระทรวงกลุ่ม 4 การพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา กระแสโลกเหล่านี้กระตุ้นและส่งสัญญาณให้ IBSC ทำในสิ่งที่โลกขาดและต้องการ จึงเป็นแรงผลักให้ IBSC ออกแบบ Products และ Services ให้สอดรับกับ Needs ของชุมชนและสังคมโลก 

5:จัดวางผลลัพธ์ที่สะท้อนตัวตนให้ชัด แล้วใส่ใจกระบวนการทำงานให้เหมาะสม



EdPEx มุ่งการทำงานแบบ Outcome Based ที่เน้นผลลัพธ์ที่สะท้อนตัวตนขององค์กรนั้นๆ ในหมวด 7 ตามกรอบ LeTCI : Level, Trend, Comparision และ Integration ก็จริง แต่กระบวนการทำงานตามกรอบ ADLI ทั้ง Approach, Deploy, Learng และ Integration จำเป็นต้องออกแบบและจัดวางกระบวนการให้ชัด จัดวาง Process Owners ว่าใครเป็นเจ้าของกระบวนการ ทั้ง 6 หมวด ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ กลยุทธ์ ผู้เรียน การวัดผล บุคลากร และระบบปฏิบัติการ

6: ตำแหน่งของ Brand IBSC อยู่ตรงไหนของตลาด

บนแผนที่โลกใบนี้ IBSC จึงต้องตอบว่า ตัวเองคือใคร อยู่ตรงไหน อยู่ไปเพื่ออะไร น่านน้ำตัวเองอยู่ตรงไหน ใครคือกลุ่มผู้เรียน หรือใช้บริการหลัก แล้วออกแบบสิ่งที่ตัวเองมีและเป็นที่ถือว่าเป็นสมรรถนะหลักตัวเองสอดรับกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชนและสังคมที่เป็นผู้เรียนหลักได้มากน้อยเพียงใด เคยนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาทบทวนและเรียนรู้จนสามารถสร้าง Best Practice จนกลายเป็นพุทธนวัตกรรมที่โลกใช้งานได้

7:Continuous Improvement 



จงกระหายที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จงพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ดังพุทธพจน์ที่ว่า จงพอเพียงในสิ่งเสพ แต่อย่าพอเพียงในกุศลธรรม องค์กร IBSC เป็นองค์กรที่ต้องนำแก่นธรรม เช่น สติ ปัญญา และคุณธรรมมาออกแบบให้เอื้อต่อการยกระดับ จิตใจ ชุมชน และสังคม เพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดในพระพุทธศาสนาตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการออกแบบพระพุทธศาสนาเพื่อให้คนรู้จักความทุกข์ในเรือนใจ และแสวงหาหนทางของการดับทุกข์ 

ทั้งหมดเป็นการอธิบายให้เห็นว่า EdPEx ได้ช่วยให้ IBSC ได้ค้นพบสมรรถนะที่แท้จริงในสิ่งที่ตัวเองมีและเป็น ยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้สอดรับกับวิถีตัวเอง แล้วส่งมอบสติ ปัญญา และคุณธรรมที่เป็นจุดแข็งของตัวเอง ให้สอดรับกับ Key Change ที่ชุมชน และสังคมโลกต้องการ ที่สะท้อนออกมาทั้งในเชิงนิตินัย และพฤตินัย

อนุโมทนาขอบคุณทีมงาน IBSC ทุกท่าน ขอบคุณ ผศ.เสาวลักษณ์ สุขประเสริฐ  ที่ปูทางเริ่มต้นให้พวกเรา ขอบคุณ ผศ.ดร.พนาสัณห์ เกาะสุวรรณ์ และ อาจารย์วรวุฒิ แจ้งศุภนิมิต รวมถึง อาจารย์เสาวลักษณ์ เกี่ยวข้อง รวมถึงรศ.ดร.บวร ปภัสราทร อาจารย์นภาพร อาร์มสตรอง และกัลยาณมิตรจำนวนมาก ที่กรุณาเป็นโค้ช EdPEx  อย่างต่อเนื่อง 

ขอบคุณประชาคม มจร นำโดยท่านเจ้าคุณอาจารย์พระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี ที่เป็นพลังใจสนับสนุนการทำงานของ IBSC มาโดยตลอด จนทำให้ IBSC ยกระดับการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นเหตุให้ IBSC ได้มีโอกาสที่ทรงค่าในการลุกขึ้นมายืนบนเวทีเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ และถอดบทเรียนกับ 108 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย


วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"ธรรมนัส"ยันสร้างความเข้มแข็งชาวสวนยาง ผ่านนโยบาย 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตร หนุนทำแปลงใหญ่



เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ (From Smart Farmer's forward to Smart Farm) ประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยในส่วนกระทรวงเกษตรฯ ได้มุ่งเน้นส่งเสริมเกษตรกรให้ทำเกษตรกรรมผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง ซึ่งเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายยกระดับสินค้าเกษตร 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตร มูลค่าสูง และสถาบันเกษตรกรถือเป็นบุคลากรสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐในการพัฒนายางพาราของประเทศไทย และช่วยพัฒนาองค์ความรู้พร้อมยกระดับให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมีความอยู่ดีกินดี

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตามนโยบายกระทรวงเกษตรฯ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้สนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรตามโครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ (สมาร์ท ฟาร์มเมอร์) ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบรวมกลุ่ม ที่จะสามารถร่วมกันพัฒนาจนเป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ได้ในอนาคต ซึ่งรัฐบาลจะสามารถสนับสนุนการทำงานได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ต้องดูแลการผลิตยางให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อาทิ การจัดสรรพื้นที่กรีดยางควบคู่กัน เพื่อไม่ให้เกิดยางล้นตลาด รวมถึงสนับสนุนให้ใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น พร้อมทั้งปราบปรามการนำเข้ายางเถื่อนอย่างเข้มงวด ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ประสานงานกับบริษัทผลิตยางจากต่างประเทศ เพื่อลงนามความร่วมมือการจัดตั้งโรงงานผลิตยางในประเทศไทย (เอ็มโอยู) และจะหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท. มุ่งเน้นการยกระดับสินค้าเกษตร 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตร มูลค่าสูง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดย กำหนดเป้าหมายนำร่อง จำนวน 120 แห่งทั่วประเทศ ผ่านโครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ ภายใต้แผนสร้างความเข้มแข็งให้สอดคล้องกับการพัฒนายางพาราทั้งระบบ ประกอบด้วยการอบรมพัฒนาความรู้ด้านยางพาราครบวงจร ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต ได้มากถึง 2.5% ต่อปี การพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน การบริหารจัดการ และการจัดการด้านการตลาด ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อก้าวไปสู่สมาร์ท ฟาร์มเมอร์

นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า โดยปัจจุบันมีพื้นที่สวนยางรูปแบบแปลงใหญ่จำนวน 491,135 ไร่ และกำหนดเป้าหมายปี 2567 เพิ่มขึ้นกว่า 40,000 ไร่ โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยการอบรมพัฒนาความรู้ด้านยางพารา ส่งเสริมการประกอบอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อก้าวไปสู่สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ได้ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้รับการพัฒนาจำนวน 29,029 ราย และวางเป้าหมายการพัฒนาในปี 2567 จำนวน 5,750 ราย การสัมมนาครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีของพนักงาน กยท. ที่จะได้รับความรู้ ความเข้าใจในงานส่งเสริมเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ โดยสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปถ่ายทอดให้ผู้ปฏิบัติงานในส่วนงานและหน่วยงาน ตลอดจนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ดูแลและรับผิดชอบอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ผอ.สนค.เผยทางออกภาคเกษตรไทย เกษตรกรรมยุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม



เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรและธุรกิจการเกษตร พบว่า ภาคเกษตรทั่วโลกต่างพยายามเร่งปรับตัวเพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับภาคเกษตร รวมทั้งไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทย

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum)  มีการรายงานข้อมูลว่า ภาคเกษตรกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากภาคพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีการใช้น้ำจืดมากกว่าร้อยละ 70ของปริมาณน้ำจืดทั่วโลกซึ่งการทำเกษตรกรรมเพื่อให้มีผลผลิตที่มากเกินความต้องการ (Overproduction) และการทำเกษตรกรรมแบบไม่ยั่งยืน (Unsustainable Farming) รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะยิ่งทำให้พื้นที่และทรัพยากรทางการเกษตรเสื่อมโทรม ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดความเสื่อมโทรมส่งผลให้สูญเสียผลิตภาพการผลิตมากถึง 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยสาเหตุหลักมาจากเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่มีผลผลิตทางการเกษตรร้อยละ 29 ของโลก ที่ไม่สามารถทำการเกษตรแบบยั่งยืน

ปัจจุบันเทรนด์ธุรกิจการเกษตรเริ่มใส่ใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนด้านการเกษตร ช่วยลดความเสื่อมโทรมของพื้นที่เกษตรกรรม และลดการสูญเสียผลิตภาพการผลิตทางการเกษตร โดยการใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่เข้ามาช่วยในการทำเกษตร ดังนี้


·       ธุรกิจเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงร้อยละ 14.5 โดยร้อยละ 65 ของก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์มาจากอุตสาหกรรมโคเนื้อและโคนม จึงเป็นสาเหตุหลักที่นักลงทุนและนักธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมหันไปมุ่งเน้นนวัตกรรมโปรตีน อาทิ โปรตีนทางเลือกที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น พืช สาหร่าย แมลง และจุลินทรีย์ ตัวอย่างบริษัทที่ตอบโจทย์การทำนวัตกรรมโปรตีน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ บริษัท Remilk ประเทศอิสราเอล ผู้ผลิตโปรตีนนมโดยไม่ใช้วัว (Animal-free Dairy Proteins) แต่ใช้นวัตกรรมผลิตนมจากห้องทดลองโดยวิธีการหมักจุลินทรีย์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล และหน่วยงานอาหารของสิงคโปร์ บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการระดมทุนได้ถึง 120 ล้านดอลลาร์ ขณะนี้กำลังเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตโปรตีนนมโดยไม่ใช้วัวที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย

·       ธุรกิจเพื่อลดการใช้น้ำ ปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น การทำเกษตรรูปแบบเดิมทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถช่วยปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรเกี่ยวกับการใช้น้ำ อาทิ การทำเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ที่สามารถระบุปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในการทำเกษตรได้อย่างแม่นยำ การใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนทานต่อความแห้งแล้ง ตัวอย่างบริษัทที่ตอบโจทย์การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการใช้น้ำภาคเกษตร ได้แก่ บริษัท KIlimo ให้บริการในแถบประเทศละตินอเมริกา (อาทิ อาร์เจนตินา ชิลี และเม็กซิโก) บริษัทฯ มีการจำหน่ายแพลตฟอร์มที่ช่วยจัดการระบบใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ Big Data จุดเด่นของแพลตฟอร์มดังกล่าว คือ มีการประมวลผลเพื่อชดเชยปริมาณการใช้น้ำในการเกษตร อาทิ การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งสามารถช่วยประหยัดน้ำในการทำเกษตรได้

·       ธุรกิจเพื่อการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถป้องกัน ปรับปรุงและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสภาพดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตัวอย่างบริษัทที่ตอบโจทย์การฟื้นฟูความเสื่อมโทรมสภาพดิน ได้แก่ บริษัท Boomitra สหรัฐอเมริกา ใช้ดาวเทียมและเทคโนโลยี AI ในการติดตามและรายงานปริมาณคาร์บอนในดินทั่วโลก และมีแพลตฟอร์มในการประเมินคุณภาพดินและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน ทำให้เกษตรกรสามารถมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในดินได้

ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า เทรนด์ธุรกิจภาคเกษตรที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน สามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ (Startup) ที่สนใจลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อาทิ การจำหน่าย/ให้บริการแพลตฟอร์มการเกษตรที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งธุรกิจดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกร สามารถปรับตัวเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิต และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 


กรมศิลปากรจัดกิจกรรมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “พ่อของแผ่นดิน” มีบรรยาย “ตามรอยพระราชา : เศรษฐกิจพอเพียง...สู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน”



กรมศิลปากรจัดการบรรยาย “ตามรอยพระราชา : เศรษฐกิจพอเพียง...สู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน” และการแสดงดนตรี “เพลงพ่อของแผ่นดิน” เผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2566 กรมศิลปากร โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ จัดการบรรยายเรื่อง “ตามรอยพระราชา : เศรษฐกิจพอเพียง...สู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน” เผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานแนวคิดเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วิทยากรโดย นายลลิต ถนอมสิงห์ กรรมการและรองเลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ในวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 เวลา 13.30 - 16.30 น. ณ อาคารดำรงราชานุภาพ 2490 ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ และจัดการแสดงดนตรี "เพลงพ่อของแผ่นดิน" เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่บทเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9 บรรเลงโดยวงดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต และขับร้องโดย ศิลปินจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ในวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2566 เวลา 13.00 - 15.30 น. ณ ห้องจัดแสดง ชั้น 2 หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยทั้ง 2 รายการจะมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live : National Library of Thailand ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ



นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ยังได้จัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้พสกนิกรไทยได้ศึกษา เรียนรู้ รวมถึงจัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ทั่วประเทศ 

"ผอ.สันติศึกษา มจร" ปรารภธรรมพิธีสวดพระอภิธรรมศพ "ดาบวิชัย" ยกเป็นบุคคลต้นแบบพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



เมื่อวันที่ 28  พฤศจิกายน 2566  ที่บ้านเลขที่ 192 หมู่ 4 บ้านพิมาย ต.พิมาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ  ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ หรือดาบวิชัย ซึ่งเสียชีวิตอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลศรีสะเกษในวัย 77 ปี เมื่อคืนวันที่ 25 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา  โดยเวลา 16.00 น. นายอนุพงษ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีน้ำหลวงอาบศพ  ในการนี้พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.พิษณุ วัตถุ ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ เป็นตัวแทนมอบพวงหรีดและเงินร่วมทำบุญกับครอบครัว ร.ต.ต.วิชัย นอกจากนี้ ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ เป็นตัวแทน พล.ต.ท.ฐากูร นัทธีศรี ผบช.ภ.3 มอบพวงหรีด และพ.ต.ท.อิทธิพล กริสว่าง รองผกก.ป.ปรท.ผกก.สภ.ปรางค์กู่ มอบพวงหรีด ในนาม สภ.ปรางค์กู่  และร่วมพิธีน้ำหลวงอาบศพ 

ทั้งนี้พระปราโมทย์  วาทโกวิโท, ดร.  ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า หลักสูตรสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งนำโดย พระเมธีวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยวิทยาศาสตร์นานาชาติ มจร เป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมและร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของร.ต.ต.วิชัย  เจ้าของประโยคทองว่า  "ผมจะปลูกต้นไม้จนกว่าผมจะตาย"  โดยดาบวิชัยถือว่าเป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างคุณค่าสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ดิน โดยมีพระวิเทศวิสุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำอเมริกา สหรัฐอเมริกา ร่วมเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ด้วย    

วาระโอกาสนี้พระเมธีวัชรบัณฑิต ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร เป็นการปรารภธรรม โดยมีประเด็นสำคัญว่า พ่อดาบวิชัยเป็นคนศรีสะเกษมุ่งปลูกต้นไม้หลายล้านต้น แต่แท้จริงพ่อดาบวิชัยเป็นคนของประเทศและคนของโลก ยืนยันโดยรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ ซึ่งนิสิตสันติศึกษา มจร  ทุกรุ่นต้องมารับแรงบันดาลใจจากดาบวิชัย โดยทุกสื่อในประเทศไทยออกข่าวพ่อดาบวิชัยซึ่งเป็นแบรนด์ของศรีสะเกษที่อุทิศตนเพื่อผู้อื่น สอดรับ พระพุทธศาสนาผ่านประโยคว่า "ผมตายไปแต่ต้นไม้ยังอยู่" ซึ่งต้นไม้ยังเตือนใจเรา ซึ่งเป็นลมหายใจของพ่อดาบวิชัยเป็นลมหายใจสีเขียว ซึ่งลมหายใจของพ่อดาบวิชัยกับต้นไม้เป็นลมหายใจเดียวกัน ซึ่งต้นไม้ทุกต้นที่พ่อวิชัยปลูกจะจดจำตลอดไป 

ในอดีตปรางค์กู่เป็นอำเภอที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย แต่พ่อวิชัยสร้างอนุสาวรีย์คือต้นไม้ในอำเภอปรางค์กู่ โดยสิ่งสำคัญพ่อวิชัยได้ส่งต่อถึงคนรุ่นใหม่ในการทำโคกหนองนา เป็นคันแททองคำสร้างคุณค่าสร้างมูลค่า  มีอีสานบ้านแตกโมเดลสร้างมูลค่าให้คนอีสานอย่างชัดเจนดึงคนอยู่ในชุมชนของตนเอง  สิ่งสำคัญคือ พ่อวิชัยปั้นคนรุ่นใหม่ โดยพัฒนาเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ให้สามารถพึ่งตนเองได้เป็นการสร้างการพัฒนาที่มีความยั่งยืน หรือ SDG ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ได้แรงบันดาลใจ ซึ่งสิ่งสำคัญพ่อวิชัยใช้แผ่นดินธรรมแผ่นดินทองตามแนวทางของรัชกาลที่ 9  มุ่งให้คนอยู่บ้านตนเองไม่ให้ออกไปทำงานต่างจังหวัดสอดรับดับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

ดังนั้น  ดาบวิชัยจึงควรได้รับการบูชา เราจึงมาร่วมกัน " บูชาร่าง บูชารูป และบูชารอย" โดยสิ่งที่พ่อวิชัยได้ทำสอดรับกับแนวทางของพระพุทธเจ้าว่า "บุคคลใดปลูกต้นไม้ ขุดน้ำบ่อ ก่อศาลา สร้างสะพาน จะได้บุญทั้งวันและกลางคืน" จึงขอพลังบุญที่พวกเราได้ทำจงส่งผลให้พ่อสู่ภพภูมิที่ดีงาม               


เพื่อไทยสรุปให้แล้ว มาตรการ ‘แก้หนี้นอกระบบ’ โดยรัฐบาลเศรษฐา ช่วยไทยพ้นจากการค้าทาสยุคใหม่

 


เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566    เพจพรรคเพื่อไทย  ได้โพสต์ข้อความว่า สรุปมาตรการ ‘แก้หนี้นอกระบบ’ โดยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ฟื้นฟูความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวังคนไทย

 วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้คนไทย

รัฐจะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อทำงานตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน และฝ่ายตำรวจที่ช่วยกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมาย

[ ขั้นตอน : ไกล่เกลี่ย ]  

กระทรวงมหาดไทย มีกลไกการทำงานในแต่ละพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ใกล้ชิดกับประชาชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ถึงผู้ใหญ่บ้าน

- ประชาชนที่ประสบปัญหาหรือต้องการเปลี่ยนหนี้นอกระบบเป็นในระบบ เพื่อจะได้มีภาระในการผ่อนชำระน้อยลง สามารถลงทะเบียนที่ ศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางและที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทุกแห่ง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะบังคับใช้กฎหมายในการสืบสวน จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำความคิดผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ

- กำหนดแผนปฏิบัติตั้งแต่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ เพื่อค้นหาเป้าหมาย โดยสั่งการให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 เอกซเรย์พื้นที่และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้

- ตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยมี สายด่วน 1599 เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุ

[ ขั้นตอน : ปรับโครงสร้างหนี้ ]

กระทรวงการคลังในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงินจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยจะระมัดระวังไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม (moral hazard)

และมีมาตรการต่าง ๆ รองรับเพิ่มเติม ได้แก่

- ธนาคารออมสิน มีโครงการให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี  และโครงการสินเชื่อ สำหรับอาชีพอิสระรายย่อย เพื่อการส่งเสริมอาชีพ ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย

- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีโครงการรองรับที่ดินติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบ โดยมีวงเงินสำหรับเกษตรกรต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท

- สำหรับผู้ประกอบการให้กู้ยืมเงินที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมาย รัฐบาลมีช่องทางให้ดำเนินการขออนุญาตเรื่องของพิโกไฟแนนซ์ โดยต้องมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทเท่านั้น

นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลก็จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก

อบต.คลองสาม จัดประเพณีลอยกระทงยิ่งใหญ่ ประกวดขบวนแห่ การจัดแสดงไฟประดับตามแนวริมคลอง


 

อบต.คลองสาม จัดประเพณีลอยกระทงยิ่งใหญ่ ประกวดขบวนแห่ การจัดแสดงไฟประดับตามแนวริมคลอง ประชาชนร่วมงานคึกคักกว่าทุกปี

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 รศ.ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายก อบต.คลองสาม อบต.คลองสาม กล่าวว่า ปีนี้ อบต.คลองสาม จัดงานประเพณีลอยกระทงในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ทั้งหมด 3 จุดใหญ่ มีการประกวดขบวนแห่กว่า 6 ขบวน ความยาวกว่า 1 กิโลเมตร ประชาชนที่ร่วมขบวนต่างกายด้วยชุดไทยย้อนยุค ประจำแต่ละภาค ขบวนเริ่มแห่ไปตั้งแต่ห้างบิ๊กซีคลองสามไปจนถึงวัดเกิดการอุดม ตลอดทางมีประชาชนออกมาชมและถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก

โดยทั้ง 3 จุด ได้จัดกิจกรรมดังนี้ คือ วัดเกิดการอุดม จัดประกวดหนูนางนพมาศ  โรงเรียนสามัคคีราษฎรบำรุง  จัดประกวดเทพีบานไม่รู้โรย และวัดกลางคลองสาม จัดให้มีการแสดงบนเวทีมากมาย  ซึ่งงานประเพณีลอยกระทงในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่มารวมกันสืบสานประเพณีวันลอยกระทงอย่างคึกคัง พาครอบครัวมาลอยกระทงและถ่ายภาพเต็มพื้นที่ ตามจุดที่ อบต. จัดเตรียมไว้

‘เกษตรฯ – กลาโหม’ ผนึกปราบหมูยางพาราทิพย์ ร่วมพัฒนาผลผลิตเกษตร



‘เกษตรฯ – กลาโหม’ ผนึกความร่วมมือครั้งใหญ่ ยกระดับเสริมแกร่งภาคการเกษตร สู่ 4 มิติใหม่ “ช่วยเหลือ ป้องกัน สร้างสรรค์ พัฒนา” มุ่งสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจรายได้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตร ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงกลาโหม โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานสักขีพยาน นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นสักขีพยานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พลเอก โดมศักดิ์ คำใสแสง ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอก สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเอก พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นสักขีพยานกระทรวงกลาโหม  ตลอดจน นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วม ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล          

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยภาคเกษตรเป็นแหล่งรองรับแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ สร้างรายได้สำคัญแก่ครัวเรือนของประชากร โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม รายได้ของภาคเกษตรกลับพบว่า เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่น ๆ อีกทั้งยังขาดความมั่นคงทางรายได้ มีความผันผวนตามฤดูกาล จึงก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรตกต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และปัญหาด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ตามมา ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงกลาโหม จึงได้มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินงานตามภารกิจภายใต้ขอบเขตความร่วมมือของหน่วยงาน สู่มิติ “ช่วยเหลือ ป้องกัน สร้างสรรค์ พัฒนา” เพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยการ ‘ช่วยเหลือ’ ได้แก่ การรับซื้อผลผลิต ตั้งจุดจำหน่าย กระจายสินค้า ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัย ‘ป้องกัน’ การลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ‘สร้างสรรค์’ ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรม สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และ ‘พัฒนา’ เสริมศักยภาพด้านการเกษตรให้กำลังพล พัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ โครงการพระราชดำริ โครงการทหารพันธุ์ดี จึงได้ตกลงจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขึ้นในวันนี้         

“ความร่วมมือกันของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวความสำคัญการยกระดับภาคเกษตรของไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งกำลังพล และยุทโธปกรณ์ และเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันชายแดน โดยเฉพาะนโยบายปราบปรามการนำเข้าสินค้าเกษตรเถื่อน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลของเกษตรกร เป็นเรื่องท่านนายกฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสองหน่วยงานจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และเกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น เชื่อมั่นว่าการผนึกความร่วมมือกันของกระทรวงเกษตร และกระทรวงกลาโหม จะนำพาเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว        

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มที่ เพราะภาคเกษตรถือเป็นหัวใจหลักของประเทศไทย ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและทันที ซึ่งทั้ง 4 ขอบเขตความร่วมมือ “ช่วยเหลือ ปกป้อง สร้างสรรค์ และพัฒนา” ถือเป็นภารกิจหลัก ที่ทั้งสองหน่วยงานได้ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง และหลังจากนี้จะเดินหน้าการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 กระทรวงควบคู่กันไป เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยได้มีพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

       สำหรับขอบเขตความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในด้านต่าง ๆ ดังนี้

                   1. การรับซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การตั้งจุดจำหน่าย และการกระจายสินค้าล้นตลาด โดยกระทรวงเกษตรฯ เสนอข้อมูลแหล่งรวบรวมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและราคาที่เป็นธรรม โดยประสานการจัดซื้อ จัดจำหน่าย และการขนส่งผ่านสถาบันเกษตรกร และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงกลาโหม พิจารณารับซื้อผลผลิตตามความต้องการของหน่วยงาน รวมทั้งสนับสนุนพื้นที่เพื่อตั้งจุดจำหน่ายและกระจายสินค้าเกษตรตามศักยภาพและความพร้อมของหน่วยงาน

                   2. การป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายตามแนวชายแดน (ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง) โดยกระทรวงกลาโหมให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนในการตรวจสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ

                   3. การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการดำเนินการพัฒนาช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน การดำเนินการป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมแก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนการกำจัดวัชพืชและผักตบชวาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์

                   4. การเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการพัฒนาพื้นที่การเกษตร ศูนย์การเรียนรู้ การฝึกอบรม การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพกำลังพลของกระทรวงกลาโหม เกษตรกร และประชาชนทั่วไป เพื่อยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตร

พุทธมณฑลโลกไทยหนาว! กัมพูชาคลอดโมเดลพุทธมณฑลโลกเสียมเรียบ



เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566  เฟซบุ๊ก Sak Prasandee ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า  นี้เป็นโมเดล ที่กำลังจะถูกสร้างเป็นพุทธมณฑลโลก ที่เมืองเสียมเรียบ กัมพูชา โดยประธาน ดร.พิน สุวันนา Phd BOU จะเป็นแลนด์มารคแห่งใหม่ของเมืองเสียมเรียบ คนสร้างเขาตั้งใจจะมี โพธิศาสตร์ ยู ในที่เดียวกันนี้ด้วย โปรดติดตามชม



ขณะเดียวกันสหพันธ์พระพุทธศาสนานานาชาติจัดประชุมสมัชชาใหญ่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยได้เสนอแต่งตั้งให้ดร.ฆี โสวัณรัตนา   เลขาธิการกระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ อดีตสมเด็จพระมหาอริยวงศ์ สมเด็จพระราชาคณะประเทศกัมพูชา  เป็นรองประธาน

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"อาจารย์ทองย้อย แสงสินชัย" ถามจะมัวรออะไรอยู่อีก "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ



เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566   เพจทองย้อย แสงสินชัย ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า จะมัวรออะไรอยู่อีก



 เมื่อคราวที่มีการณรงค์ให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีคนออกมาคัดค้านว่า ในบ้านเมืองเรามีศาสนาอื่นอยู่ด้วย จะเอาศาสนาอื่นไปไว้ที่ไหน

ทุกปีที่คนไทยมุสลิมเดินทางไปแสวงบุญที่นครมักกะฮ์ รัฐบาลไทยอำนวยความสะดวกให้ทุกสิ่งทุกประการตั้งแต่ไปจนกลับโดยใช้งบประมาณของแผ่นดินที่เป็นเงินภาษีอันเก็บไปจากประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ

แต่ในเวลาที่ชาวพุทธเดินทางไปไหว้พระที่อินเดียดินแดนแห่งพุทธภูมิ หรือชาวศาสนาอื่นเดินทางไปแสวงบุญที่ดินแดนต้นกำเนิดศาสนาของตน รัฐบาลไทยไม่เคยอุดหนุนด้วยประการใด ๆ ทั้งสิ้น 

ผู้ที่เคยบอกว่าในบ้านเมืองเรามีศาสนาอื่นอยู่ด้วย ทำไมไม่ออกมาร้องถามบ้างว่า รัฐบาลเอาศาสนาอื่นไปไว้ที่ไหน

แต่เราไม่ต้องหวังหรอกครับว่ารัฐบาลจะตอบว่าอย่างไร เพราะรัฐบาลไม่เคยตอบเรื่องนี้ และเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าคำตอบคืออะไร

รัฐบาลเอาพระราชอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์ 

เอามาแต่อำนาจ ไม่ได้เอาหน้าที่มาด้วย 

โดยเฉพาะหน้าที่ในฐานะเอกอัครศาสนูปถัมภก 

ถ้าอยากรู้ว่าในฐานะเอกอัครศาสนูปถัมภก พระมหากษัตริย์ของไทยทรงทำอะไรบ้าง ก็จงไปศึกษาเรื่องราชานุกิจดูเถิด

เอาง่าย ๆ แค่ ๒ เรื่อง -

เช้าทรงบาตร 

ค่ำทรงธรรม

คนที่เอาพระราชอำนาจจากพระมหากษัตริย์มาบริหารบ้านเมืองอยู่ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลจนถึงรัฐมนตรีคนสุดท้าย หรือผู้นำผู้บริหารในหน่วยงานใด ๆ ก็ตาม เคยใส่บาตร เคยฟังเทศน์บ้างไหม 

ไม่ต้องทุกวันอย่างพระมหากษัตริย์หรอกครับ เอาแค่เดือนละครา สัปดาห์ละครั้งก็พอ 

ตอบได้ว่า ไม่เคย

ถึงบางท่าน-หรือหลายท่าน-จะเคย หรือทำอยู่เป็นประจำ ก็ทำอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับบ้านเมือง

แต่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติในฐานะเป็นงานของผู้ครองแผ่นดินครับ ไม่ใช่ในฐานะส่วนพระองค์

เคยมีคนแย้งคำว่า “ศาสนูปถัมภก” ว่า จะบอกว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศาสนูปถัมภก” ไม่ได้ ประเดี๋ยวจะหมายถึงทรงอุปถัมภ์บำรุงเฉพาะพระพุทธศาสนา 

ต้องใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก” จะได้หมายถึงทรงอุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา

พระมหากษัตริย์ไทยทรงอุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนาอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัว 

คนที่เอาอำนาจไปจากพระมหากษัตริย์ต่างหากที่อุปถัมภ์บำรุงเฉพาะบางศาสนา

ด้วยข้อเท็จจริงดังว่ามา จึงไม่ต้องหวังอะไรจากผู้บริหารบ้านเมือง และไม่ต้องรอว่าจะมีพระเอกขี่ม้าขาวจากที่ไหนมาช่วย 

เราต้องช่วยตัวเราเอง ด้วยวิธีที่ทุกคนสามารถทำได้เดี๋ยวนี้ 

ย้ำ! ทำได้เดี๋ยวนี้เลยครับ ไม่ต้องรอ

ถ้ายังไม่รู้ว่าหน้าที่ของชาวพุทธจะต้องทำอะไร ก็รู้เสียตรงนี้เลย -

ภิกฺขู  ภิกฺขุนิโย  อุปาสกา  อุปาสิกา  วิยตฺตา  วินีตา  วิสารทา  พหุสฺสุตา  ธมฺมธรา  ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา  สามีจิปฏิปนฺนา  อนุธมฺมจาริโน  สกํ  อาจริยกํ  อุคฺคเหตฺวา  อาจิกฺขนฺติ  เทเสนฺติ  ปญฺญเปนฺติ  ปฏฺฐเปนฺติ  วิวรนฺติ  วิภชนฺติ  อุตฺตานีกโรนฺติ  อุปฺปนฺนํ  ปรปฺปวาทํ  สหธมฺเมน  สุนิคฺคหิตํ  นิคฺคเหตฺวา  สปฺปาฏิหาริยํ  ธมฺมํ  เทเสนฺติ  ฯ

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๕

 สกัดความได้ดังนี้ -

 พุทธบริษัททั้งชาววัดและชาวบ้าน -

(๑) ศึกษาเล่าเรียน

(๒) พากเพียรปฏิบัติ

(๓) เคร่งครัดบำรุง

(๔) มุ่งหน้าเผยแผ่

(๕) แก้ไขให้หมดจด

 (๑) เริ่มด้วยการศึกษาให้รู้ถูก รู้ชัด ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร

และอะไรที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอน

เวลานี้เป็นกันมาก บูชาคำสอนคำสอนของอาจารย์เจ้าสำนัก แต่ไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้า

ถอยมาตั้งหลักกันเสียให้ถูกครับ

คำสอนของพระพุทธเจ้ายังมีอยู่ครบ ระวังอย่าเข้าเรียนผิดหลักสูตร

(๒ ศึกษาเรียนรู้แน่ชัดแล้ว ต้องปฏิบัติตามด้วย

เรียนเพื่อรู้ รู้เพื่อปฏิบัติ อย่าเรียนเพื่อรู้อย่างเดียว

แต่ก็อย่าปฏิบัติโดยไม่รู้ 

รู้ให้แน่ รู้ให้ถูกเสียก่อน แล้วจึงลงมือทำ

สำหรับชาวบ้าน เริ่มด้วยการรู้จัก “ให้” 

เรายังอยู่กับสังคม อย่ามุ่งแต่จะ “เอา” ลูกเดียว

ให้กันบ้าง ให้ให้เป็น แต่ละคนอยู่ได้ สังคมก็อยู่ได้

สังคม - คือสิ่งแวดล้อมของแต่ละคน - อยู่ได้ แต่ละคนก็มีโอกาสที่จะพัฒนาก้าวหน้าต่อไป

สำหรับบรรพชิต ท่านให้เริ่มด้วย “ศีล”

ศีลไม่บริสุทธิ์ ก็เหลวตั้งแต่เริ่ม 

ศีลบริสุทธิ์ ก็ไปได้สวย

(๓) ถึงตอนนี้ก็เข้าทาง - เคร่งครัดบำรุง

ชาวบ้านบำรุงพระศาสนา พระศาสนาก็ช่วยบำรุงชาวบ้าน

บำรุงเพื่อให้กันและกันมีกำลังที่จะทำหน้าที่พัฒนาตัวเองต่อไปได้

มีกำลังทรัพย์ บำรุงด้วยทรัพย์

มีกำลังกาย บำรุงด้วยกำลังกาย (สละเวลาไปขวนขวาย วิ่งเต้น ติดต่อ รับเป็นธุระ ฯลฯ ไม่ดูดาย)

มีกำลังความรู้ กำลังปัญญา ก็เอาความรู้ ความคิด สติปัญญาเข้าช่วย

ใครถนัดทางไหน ก็บำรุงในทางนั้น 

เมื่อยังมีกำลัง แต่ไม่ช่วยอะไรเลย ไม่ถูกหรอกครับ

(๔) ต่อไป - มุ่งหน้าเผยแผ่

ศึกษาเรียนรู้แล้ว ปฏิบัติได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังไม่พอ 

ควรสามารถที่จะถ่ายทอด สื่อสาร บอกกล่าว อธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้พอสมควรแก่กรณี

พูดได้ พูด เขียนได้ เขียน

พูดไม่เนียน เขียนไม่ถนัด ปฏิบัติให้ดูเป็นแบบอย่าง ก็เอา ก็ทำเข้าเถิด

ที่เป็นกันมากในเวลานี้ก็คือ แทนที่จะเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า กลายเป็นเผยแผ่คำสอนของตัวเอง หรือของอาจารย์ เจ้าสำนักไปเสียฉิบ

บางสำนักยกป้ายเจ้าสำนักยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก

ฟังเทศน์ - พระสมัยก่อนท่านเอาพระธรรมของพระพุทธเจ้า จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา มาเทศน์ 

แต่พระสมัยนี้ส่วนมากเอาความคิดเห็นและคารมของตัวเองออกมาเทศน์ 

ทำแบบนั้นก็ดังได้เหมือนกัน แต่ดังไม่ถาวร ขอให้สังเกตดูเถอะ

ข้อควรระวังคือ ต้องเผยแผ่ (1) คำสอนของพระพุทธเจ้า และ (2) ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า

อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็น “พระธรรมสามี” คือเจ้าของพระธรรม ผู้เผยแผ่อย่าตั้งตัวเป็นเจ้าของพระธรรมเสียเอง

และในฐานะผู้ฟัง ก็ต้องฉลาดหน่อย อย่าสนใจเพียงแค่ว่า หลวงพ่อนั่นท่านสอนว่าอย่างนี้ หลวงปู่นี่ท่านสอนว่าอย่างนั้น

แต่ให้ถามต่อไปอีกว่า - แล้วพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างไร

ประเดี๋ยวจะเหลือแต่ศาสนาของหลวงพ่อนั่นหลวงปู่นี่ แต่ไม่มีศาสนาของพระพุทธเจ้า

(๕) เรื่องที่หนักหนาสาหัสยังมีอีก คือพูดผิด สอนผิด อธิบายผิด รวมทั้งปฏิบัติผิด ทั้งที่มาจากคนนอก หรือที่งอกอยู่ในวงในนี่เอง

การกระทำอย่างนี้ท่านเรียกว่า “ปรัปวาท” (ปะ-รับ-ปะ-วาด)

ใครสอนผิด พูดผิด และประพฤติผิดต่อพระรัตนตรัย อย่าปล่อยให้ผ่านไปโดยคิดว่าไม่ใช่ธุระที่จะไปทักท้วงชี้แจง 

ตรงกันข้าม ต้องถือว่าเป็นธุระโดยตรงที่จะต้องช่วยกันแก้ไข แต่ต้องฉลาดทำ ทำด้วยวิธีละมุนละไม มีเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ไปทะเลาะกัน

 ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ แทบทุกคนรู้อยู่แล้วทั้งนั้น

แต่ไม่ทำ 

ผมจึงตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า - จะมัวรออะไรอยู่อีก

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๗:๕๙

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...