วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พระแนะแนวขรก.ใหม่รพ.วชิระภูเก็ตอยู่ร่วมกันสันติสุข



พระวิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี นิสิตป.เอก "มจร"  สร้างแนวอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขให้กับ ขรก.บรรจุใหม่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แนะยึดปณิธานหลวงพ่อพุทธทาสสู่สันติภาพโลก



วันที่ 21 ก.พ.2561 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท วิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี  นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ได้รับนิมนต์เป็นวิทยากรกระบวนการธรรมะโอดีให้กับข้าราชการบรรจุใหม่ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ที่มีทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ซึ่งการเรียนรู้ไม่มีคำว่าศาสนาแต่เรียนรู้ชีวิตพัฒนาชีวิตในฐานะมนุษย์ในโลกใบนี้ ซึ่งในฐานะธรรมะโอดีกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาจุฬาฯ จึงมองว่ามนุษย์ทุกคนควรรับการพัฒนาอย่าเท่าเทียมกัน





ด้วยการก้าวข้ามศาสนาแต่มุ่งพัฒนาภายในจิตใจให้เป็นคนดีของสังคม จึงไม่ควรนำศาสนามาเครื่องกั้นในการเรียนรู้ แต่ควรนำศาสนามาเป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จึงมีคำกล่าวว่าศาสนาเป็นต้นเหตุแห่งสันติภาพหรือต้นตอแห่งความขัดแย้ง เพราะในบางครั้ง "ศาสนาถูกนำไปเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง"เพราะศาสนาเกี่ยวข้องกับ "ความศรัทธาความเชื่อของมนุษย์" จึงทำให้มีพลังอำนาจมหาศาลจึงเกิดคำถามคือ "จะอยู่ร่วมกันอย่างไรเพื่อให้เกิดสันติสุข" เพราะในโลกนี้ไม่ควรมีศาสนาเดียว จึงสอดคล้องกับ " ปณิธานท่านพุทธทาส " 3 ประการ คือ



1)"การพยายามเข้าถึงหัวใจศาสนาของตน" หมายถึง ศึกษาให้ถึงแก่นแท้ของศาสนาตนที่นับถือ "ศึกษาธรรม ปฎิบัติธรรม" ถ้าเราเข้าใจแก่นแท้ของศาสนาที่ตนนับถือจะไม่ไปขัดแย้งกับใครเพราะทุกศาสนามีฐานของสันติภาพคือ ความสงบสุข




2)"การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา" หมายถึง ในโลกใบนี้ไม่ควรมีศาสนาเดียว ความหลากหลายความเชื่อทำให้เกิดความสวยงาม แต่ศาสนิกของศาสนาต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ด้วย "การศึกษา เคารพ ยอมรับ ให้เกียรติ อดทนในความแตกต่าง" ทุกศาสนามุ่งสันติภาพ ในการการอยู่ร่วมกัน ทุกศาสนาจึงต้องมีความใจกว้าง



3)"การนำโลกออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม"หมายถึงนำตนออกจากความเป็นวัตถุนิยม เพราะวัตถุนิยมทำให้โลกร้อนด้วย "กิน กาม เกียรติ" เพราะการกิน เป็นเรื่องอร่อยทางลิ้น "แย่งอาหารกันกิน"ส่วนกาม เป็นเรื่องของการสืบพันธุ์ลักษณะบริโภคกามมากกว่าดำรงเผ่าพันธุ์ และเกียรติ ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ต้องการมีไว้สำหรับแสวงหาวัตถุ ชื่อเสียง เงินทอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า " โลภมากก็ลามก "


เมื่อมีความขัดแย้งกัน ต้องมีสติ ควรมุ่งหาทางออกร่วมกัน"มิใช่มุ่งทำร้ายทำลายกัน"อย่าเห็นสั้นดีกว่ายาว อย่าเห็นยาวดีกว่าสั้น คนอ่อนแอมักจะใช้อำนาจความรุนแรง แต่สันติศึกษา ไม่ยอมรับความรุนแรงทุกรูปแบบ พื้นฐานของคนที่อ่อนแอจะใช้ความรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งพระพุทธศาสนาไม่ยอมรับการเบียดเบียนบีฑาทุกรูปแบบ แม้แต่ต่อตนเอง ก็ไม่เห็นด้วยกับการทรมานตนให้ลำบากที่เรียกว่า "การบำเพ็ญตบะ หรือ อัตตกิลมาถายุโยค" ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในศีล 5 ถือว่าเป็นจริยธรรมพื้นฐานของพระพุทธศาสนา เรียกว่า "มนุษยธรรม" หรือ ธรรมพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ก็เริ่มต้นด้วยการไม่ฆ่า ไม่เพียงแต่ไม่ฆ่า ยังสอนให้มีเมตตา กรุณา ต่อสรรพชีพสรรพสัตว์ทั้งสิ้น โดยให้มองโลกทั้งผองว่าเป๋นพี่น้องกัน ในทางการกระทำ คือ ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันและกันในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางวาจา หรือความรุนแรงที่ทำร้ายกัน ประหัตประหารกัน ห้ำหั่นกัน ก่อสงครามต่อกัน



พระพุทธเจ้าจึงเป็นนักปฏิรูปสังคมที่ทำให้เกิดการลด ละ เลิก การบูชายัญด้วยชีวิตคนและสัตว์จำนวนมาก ที่เป็นประเพณีอันถือปฏิบัติสบกันมานานในสังคมอินเดียโบราณ ดังคำสารภาพของกูฏทันตพราหมณ์อยู่ระหว่างการเตรียมบูชายัญครั้งสำคัญ แต่พอได้สนทนากับพระพุทธเจ้า ว่าการบูชายัญโดยไม่ต้องใช้ชีวิต เขาจึงเกิดความสว่างไสวในปัญญา หันมาเป็นผู้เปี่ยมเมตตาและไมตรีต่อสรรพสัตว์พร้อมสารภาพว่า "... ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปล่อยโคผู้ 700 ลูกโคผู้ 700 ลูกโคเมีย 700  แพะ 700  ข้าพเจ้าให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอให้สัตว์เหล่านั้น ได้กินหญ้าเขียวสด จงดื่มน้ำเย็น จงรับลมสดชื่นที กำลังรำเพยให้สบายใจเถิด..." คำสอนว่าด้วยการไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ใช้ความรุนแรง และการมีอหิงสธรรม (Non-Violence) ของพระพุทธศาสนาโดดเด่นชัดเจน จนได้รับการอ้างอิงถึงเสมอในหมู่ผู้รักสันติภาพและปรารถนาสันติสุข คำสอนที่โดดอ้างบ่อยๆ คือ " เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" หรือ "สัตว์ทั้งหมดกลัวโทษทัณฑ์ สัตว์ทั้งหมดกลัวความตาย เอาใจเขามาใส่ใจเราอย่างนี้แล้ว ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรส่งให้คนอื่นฆ่า"



"ดังนั้น ในโอวาทปาฎิโมกข์คำสอนอันเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า " ขันติคือความอดทน อดกลั้น ( การไม่ใช้ความรุนแรง อนูปฆาโต + การไม่กล่าวร้าย อนูปวาโท + การไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น น ปรูปฆาตี )นี่คือเป็นอัตลักษณ์ของพระพุทธศาสนา "และในกรณียเมตตสูตร พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สาวกแผ่เมตตาแก่สรรพชีพ สรรพสัตว์อย่างถ้วนหน้าไปในสากลโลกจนก่อเกิดเป็นความรักความปรารถนาดีดังหนึ่ง มารดารักลูกน้อยกลอยใจของตนเอง" พระวิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี ระบุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...