วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

มส.แนะผู้บริหารต้องมีสติไม่เกิดเหตุเช่นทุบรถ




มส.แนะผู้บริหารต้องมีสติไม่เกิดเหตุเช่นทุบรถ  พร้อมต้องมีเมตตานำปัญญาสร้างความสุขในองค์กร และอย่านำศาสนามาสร้างความขัดแย้งในสังคม





วันที่ 22 ก.พ.2561 ที่มหาวิทยาลัยมหาุจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) อธิการบดี มจร ได้บรรยายเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมแก่นักศึกษาหลักสูตร "นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 9 "  เรื่อง "บริหารคนให้สำราญ บริหารงานให้สำเร็จ"  ความว่า  คำว่า การบริหาร  (Management) หมายถึงการทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น การปฏิบัติหน้าที่ต้องสุจริต มีหน้าที่อะไรทำให้ดีที่สุด ด้วยการไม่บกพร่อง ไม่ละทิ้งต่อหน้าที่ และไม่ทุจริตต่อหน้าที่ ถือว่าเป็นจริยธรรมคือสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติ แต่ก็มีการฝืนใจต่อการปฏิบัติต่อหน้าที่ ถ้าเรามีจริยธรรมจะไม่ฝืนใจ เราจึงต้องมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพราะเป็นการชำระจิตใจที่ดีที่สุด





วันมาฆบูชาที่จะถึงนี้พระพุทธเจ้าสอนการไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ถึงพร้อม ถ้าเราชำระจิตใจให้ผ่องใสเราจะมีพลังในการในการหน้าที่ เราจึงต้องแผ่เมตตาต่อกัน เราไม่ต้องไปฆ่าเสือขาว เพราะมันบาป "พระพุทธศาสนาจึงปฏิวัติที่จิตใจ" ยาคือธรรมโอสถถือว่าเป็นยารักษาที่ดี พระพุทธเจ้าใช้ 2  ยา คือ ยาป้องกันและยาแก้ เราเลือกยาที่เหมาะสมกับเรา สอนให้สอดคล้องกับบุคคล เราต้องมีธรรมะที่เตือนสติเพื่อปลุกใจ



ในฐานะที่เราเป็นผู้บริหาร "เมื่อจิตตกให้ยกจิต" เราต้องมีวิธีคิดคือ โยนิโสมนสิการ เราต้องฝึกแผ่เมตตา นึกถึงเรื่องดีของเขา นึกถึงเรื่องดีๆ ของคนอื่น เราจึงควรมองแง่ดีของเขา ซึ่งหลวงพุทธทาสบอกว่า "เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่" จึงยกเรื่องสามก๊กมาเป็นแนวทางในการบริหาร ด้วยการ "อ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น เห็นคนชัด" บางเรื่องเขาทำไม่ได้ต้องให้อภัย ยอมรับความดีความเก่งของคนในแต่ละด้าน



ผู้บริหารต้องเอาอคติออกจากใจของตน ด้วยการถอดแว่นด้วยสติ ขาดสติเหมือนเรือขาดหางเสือ สติคือใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใจลอย มีสติจะทันกับปัจจุบัน สติจึงรู้ทันสิ่งเฉพาะหน้าที่นี่เดี๋ยวนี้ ที่เกิดกับเราและภายในเรา เช่น รถมาจอดหน้าบ้าน ถ้าขาดสติจึงทุบรถเลย สติใช้ในทางที่ผิดก็เป็นมิจฉาสติ เราต้องรู้เท่าทันในสิ่งที่เรากำลังโกรธ จึงนำไปสู่การเป็นทาสของอารมณ์ลบ ทำให้นึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขณะตกอยู่ในวงล้อมของพม่า ต้องมีสติคุมสถานการณ์ให้อยู่ การปฏิบัติธรรมเราต้องฝึกสติ คิดก่อนพูดคือมีสติ เราตั้งสติได้ปัญญาจะมา จุดเปลี่ยนของชีวิตคือการมีสติ สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดมักเกิดปัญหา ปัจจุบันเรามีการสร้างสถานการณ์ เราต้องมีสติ แม้แต่เรื่องหวย 30 ล้านบาท สรุปเป็นของใคร เราจึงต้องมีสติในสถานการณ์ปัจจุบัน



สัญญาเป็นความจำได้หมายรู้ รู้เท่าที่เห็น เข้าใจเท่าที่ฟัง รู้เป็นจุด ส่วนปัญญาเป็นความรู้รอบรู้ลึกรู้มากกว่าที่เห็น เข้าใจมากกว่าที่ฟัง การอ่านหนังสือเป็นเพียงสัญญา แต่อ่านให้เกิดปัญญา"ควรอ่านระหว่างบรรทัดที่เขาไม่ได้เขียน" มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ รู้ลึกไปถึงเบื้องหลัง รู้รอบสามารถเชื่อมโยงได้เป็นอย่างดี เช่น เล่าปี่ไปหาขงเบ้ง ภายใต้คำว่า "ขาดคนดีมีฝีมือในการบริหาร" เราจำเป็นต้องหาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ


การบริหารจะต้องรู้รอบและรู้ลึก ผู้นำจึงต้องมีปัญญาซึ่งต่างจากความรู้ เราเรียนจบปริญญาเราได้ความรู้ คำว่า สุตมยปัญญาคือ รู้จำ มีความเป็นพหูสูตอ่านมาก ฟังมาก มีข้อมูลมาก ความรู้อาศัยข้อมูลข่าวสาร ผสมผสานกับความรู้และประสบการณ์การณ์ของเรา ส่วนปัญญาหมายถึง เห็นการเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ มองด้านใน เวลาเราทำงานเราต้องใช้หลากหลายศาสตร์แต่เราต้องสามารถให้เกิดความเชื่อมโยง จึงเรียกว่า ปัญญา จึงต้องหมั่นหาข้อมูลใหม่ๆเสมอให้ตนเอง เมื่อมีข้อมูล "จินตามยปัญญา รู้คิด" คิดวิเคราะห์ และ "ภาวนามยปัญญา รู้ทำ"



"บุคคลที่ไม่ฟังใครจึงโง่ เหมือนโสครตีส กล่าวว่า "หนึ่งเดียวที่ข้าพเจ้ารู้ คือ รู้ว่าข้าพเจ้าไม่รู้อะไร" พระพุทธเจ้า จึงตรัสว่าคนโง่(พาล)ที่รู้ตัวเองว่าโง่ ยังเป็นคนฉลาด(บัณฑิต)ได้บ้าง ส่วนคนโง่ที่สำคัญคนว่าฉลาดนับว่าโง่แท้ๆ สมเด็จพระมหาวีรวงค์ติสสะกล่าวว่า โง่ไม่เป็น เป็นยากฝากให้คิด ความรู้จะต้องเพิ่มคือ รู้ตน รู้คน รู้งาน รู้เท่า รู้ทัน รู้กัน รู้แก้ เพราะรู้เท่าเอาไว้ป้องกัน รู้ทันเอาไว้แก้ไข เราต้องรู้ว่าใครมิตรใครคือศัตรู สิ่งสำคัญ อย่าเอาศาสนาไปเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งในสังคม ผู้นำจะต้องคิดวิเคราะห์ รู้เท่าเอาไว้ป้องกัน รู้ทันเอาไว้แก้ไข" อธิการบดี มจร ระบุ


.................

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจาก Pramote OD Pantapat พระปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความแตกต่างแนวคิดใน The Republic ของ Plato และ Republic ทรัมป์

การวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างแนวคิดของ The Republic และแนวคิดการปฏิบัติของทรัมป์ผ่านกรอบแนวคิดวิพากษ์และทฤษฎีของเจสัน สแตนลี่ย์ ทำให้เราเห็...