วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สปสช.ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ




สปสช.ร่วมขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” เขตระยองจัดประชุม “เจ้าอาวาสวัด 90 แห่ง” มุ่งสร้างสุขภาพดีให้กับพระสงฆ์ ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ดึงชุมชนมีส่วนร่วม พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติ 4 ขั้น หนุนกลไกพื้นที่ขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมาย ขณะเดียวกันให้ความรู้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อเข้าถึงการรักษา 


ที่ศาลาการเปรียญวัดเนินพระ ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง  เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา พระเทพสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดระยองฝ่ายมหานิกาย เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 สู่การปฏิบัติ พร้อมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มพระสงฆ์ จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 6 ระยอง สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดระยอง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และโรงพยาบาลระยอง โดยได้นิมนต์เจ้าอาวาสทุกวัดทั้งวัดฝ่ายมหานิกายและธรรมยุตจำนวน 90 วัด เข้าร่วม


พระเทพสิทธิเวที กล่าวว่า การประชุมพระสงฆ์ในจังหวัดระยองวันนี้เพื่อเป็นการขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติให้เป็นรูปธรรมสู่การปฏิบัติ โดยธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ปี 2560 ได้เกิดขึ้นตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เพื่อขับเคลื่อน “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” และให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคมที่ 191/2560 วันที่ 20 มีนาคม 2560 ขับเคลื่อน “ธรรมนำโลก” ตามปรัชญาและแนวคิดที่ให้ 1. พระสงฆ์กับการดูแลตนเองตามหลักพระธรรมวินัย 2. ชุมชนสังคมกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย 3. บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม 


ทั้งนี้การที่หลายหน่วยงานต่างปรารถนาให้พระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพของตนเองไม่ให้เจ็บป่วย หรือเมื่อเจ็บป่วยสามารถได้รับการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว มีคุณภาพ มาตรฐาน รวมถึงการให้ชุมชนและสังคมรอบวัดมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพพระสงฆ์ได้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย เป็นเรื่องที่ดี ขณะเดียวกันยังให้เจ้าอาวาสได้รับความรู้ในสิทธิการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความรู้เพื่อนำไปถ่ายทอดไปยังพระลูกวัดและญาติโยมต่างๆได้ถูกต้อง และเมื่อเกิดการเจ็บป่วย สามารถใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว 
“ในวันนี้ต้องขอบใจโยมทุกหน่วยงานและทุกคนที่ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดี  และให้พระสงฆ์ได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม  รวดเร็ว รวมถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง” พระเทพสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดระยอง กล่าว

ด้าน นายวิศิษฎ์ ยี่สุ่นทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 6 ระยอง กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 6 ระยอง จัดประชุมในวันนี้เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 สู่การปฏิบัติ ตามที่ สปสช.ได้ลงนามในเจตนารมณ์ร่วมธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ก่อนหน้านี้ โดยนิมนต์เจ้าอาวาสวัดในจังหวัดระยอง หรือผู้แทน เพื่อขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระสงฆ์ ขณะเดียวกันยังเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการดูแลสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เมื่อเกิดการเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการได้อย่างรวดเร็วตามสิทธิประโยชน์
นายวิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มีการทำแผนปฏิบัติขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนกลไกระดับพื้นที่ให้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ดังนี้

1.จัดทำทะเบียนพระสงฆ์ โดยร่วมมือ พศ., สนบท., มหาเถรสมาคม และเชื่อมกับบัตรสมาร์ทการ์ดพระสงฆ์ คาดว่าจะมีรูปธรรมในเดือนเมษายน  2561 

2.สนับสนุนงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อดูแลสุขภาพทั่วไป ทั้งการตรวจคัดกรองความเสี่ยงพระสงฆ์ การดำเนินโครงการร่วมกับกรมอนามัย ต่อเนื่องต่อยอดโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพ โดยจะเดินหน้าเป็นรูปธรรม วัดผลลัพธ์ในเขตที่สมัครในนำร่องเบื้องต้น

3. จัดทำเมนูกิจกรรมในกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายพระสงฆ์ หน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ทำเป็นโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ดำเนินการในวัดเป้าหมาย หรือสถานศึกษาของสงฆ์ในทุกเขต 

4. สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดทำโครงการกับเครือข่ายพระสงฆ์เพื่อสุขภาวะ โดยดำเนินการเพื่อให้เกิด Health literacy ในพระสงฆ์ และพระสงฆ์กับการเป็นผู้นำสุขภาวะในชุมชน

.............
http://www.banmuang.co.th/news/bangkok/102482

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...