วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ชวน"อปท.-คณะสงฆ์"ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์



สปสช.เขต 3 นครสวรรค์ นำร่องหนุน"ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์" ชวน อปท.และคณะสงฆ์ ใช้ "กองทุนสุขภาพท้องถิ่น"  ขับเคลื่อนสุขภาวะ




เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2561 พระครูวชิรปัญญากร เจ้าคณะอำเภอเมืองกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดบ่อสามแสน เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ในกลุ่มพระสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดพิจิตร ที่ห้องประชุมหน่วยวิทยบริการ วัดบรมธาตุ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ วัดบรมธาตุ ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ตามที่  สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 3 นครสวรรค์  (สปสช.เขต 3 นครสวรรค์) ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดพิจิตร เพื่อขับเคลื่อน“ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” สร้างสุขภาพและสุขภาวะที่ดีให้กับพระสงฆ์



พระครูวชิรปัญญากร กล่าวว่า ต้องอนุโมทนา สปสช. เขต 3 นครสวรรค์ ที่นำร่องหนุนขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ จัดประชุมหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ในกลุ่มพระสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดพิจิตรในวันนี้ นอกจากจะเป็นเวทีถวายความรู้ความเข้าใจให้กับพระสงฆ์ในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุกที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต เพื่อให้พระสงฆ์ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรจังหวัดพิจิตรสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น


"และที่สำคัญการที่ สปสช. ได้สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ อีกทั้งธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ได้มีประกาศใช้เมื่อปี 2560 ภายหลังที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบ เพื่อมุ่งให้ทุกฝ่ายร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของพระสงฆ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่ดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลประชาชนทั่วประเทศให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและสาธารณสุข จึงมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาตินี้ ในฐานะผู้แทนองค์กรสงฆ์จึงขออนุโมทนา และเห็นเป็นโอกาสดีที่ชุมชน สังคม และคณะสงฆ์จะได้เข้ามาช่วยดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์"   เจ้าคณะอำเภอเมืองกำแพงเพชร กล่าว



พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มจร คณะทำงานขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติมีการดำเนินการภายใต้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติคือพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ การแต่งตั้งคณะทำงานติดตามมติและปี2559 มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติมีพระราชวรมุนี,ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร และรองเจ้าคณะภาค 6 เป็นประธานคณะทำงาน  ได้มีการจัดเสทีรับฟังความเห็น ผ่านการเห็นชอบคณะกรรมการฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์โดยมีพระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม(มจร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กทม. เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2561 และมหาเถรสมาคมมติเห็นชอบให้อยู่ในแผนงานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์และให้ประกาศใช้ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่10 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2559 ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ สสส. ได้สนับสนุนพื้นที่นำร่อง 20 พื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งในระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัดตามประเด็นหมวดในธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เช่น พระคิลานุปัฏฐาก กุฏิสงฆ์อาพาธ วัดส่งเสริมสุขภาพ สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของพระสงฆ์ เป็นต้น



นายพนมศักดิ์ เอมอยู่ ให้ข้อมูลเกี่ยว สปสช.ว่า วันนี้ สปสช. ได้สนับสนุนให้ อปท. เข้ามามีส่วนในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรภาพทางการแพพทย์ ภายใต้สิทธิประโยขน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามกลไก “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” เพื่อร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 ตามมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มุ่งเน้นให้ อปท. มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชน เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรภาคีต่างๆ ในพื้นที่ ให้เข้ามาบริหารจัดการระบบสุขภาพร่วมกันอย่างแข็งขัน เกิดระบบสุขภาพชุมชน



นายวิสุทธิ์ บุญญะโสภิต รองผู้อำนวยการ สปสช. เขต 3 นครสวรรค์  กล่าวถึงสถานะสุขภาพของพระสงฆ์ 2559 เรียง 5 ลำดับแรกจากจำนวน 122,000 รูป พบว่า อันดับแรกโรคไขมันในเลือดสูง 9,609 ราย โรคความดันโลหิตสูง 8,520 ราย โรคเบาหวาน 6,320 ราย โรคไตวายเรื้อรัง 4,320 โรคข้อเข่าเสื่อม 2,600 ราย พระสงฆ์เจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs อ้วน & โรคเรื้อรัง ร้อยละ46 ทั้งหมดนี้ชวนฝ่ายกองทุนฯ พระสงฆ์ และองค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพมาเจอกัน ชวนทุกท่านพิจารณาดูว่าสามารถทำโครงการอะไรได้บ้างเพื่อช่วยดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ และดูหลักเกณฑ์การจ่ายเงินกองทุนท้องถิ่นตามวัตถุประสงค์ (ข้อ7)



การเข้ามามีส่วนร่วมของ สปสช.ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติในครั้งนี้นับเป็นการบูรณาการงานคณะสงฆ์ด้านสาธารณสงเคราะห์ เป็นการทำงานเชิงบูรณาการที่เห็นเป็นรูปธรรม ระหว่างคณะสงฆ์และภาคีเครือข่าย โดยยึดหลัก "ทางธรรม นำทางโลก" เพื่อ "พระสงฆ์แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข" สืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วธ. จัดงานพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ ยกย่องชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมต้นแบบที่มีความโดดเด่น 248 แห่ง

วันที่ 18 เมษายน 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒ...