วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
‘พระพรหมบัณฑิต’ชี้วันมาฆบูชาวันประกาศหลักการสร้างสันติภาพโลกช่วยไทยรอด
"มจร"ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรมและสถาบันพระปกเกล้าการสัมมนาวิชาการ "มาฆบูชา : วันเมตตาสากลโลก" หวังนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นฐานในการพัฒนาสันติภาพโลก พร้อมเปิดตัวมูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ พระพรหมบัณฑิตชี้วันมาฆบูชาวันประกาศหลักการสร้างสันติภาพโลกช่วยไทยรอด
เมื่อเวลา 08.30 น.ของวันที่ 28 ก.พ.2561 ที่ห้องประชุมโซน C อาคารเรียนรวมมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส) อธิการบดี มจร เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ "มาฆบูชา : วันเมตตาสากลโลก" ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า
หลังจากนั้นพระพรหมบัณฑิตได้ปาฐกถาพิเศษความตอนหนึ่งว่า วันมาฆบูชานับได้ว่ามีความสัมพันธ์กับสันติภาพเพราะว่าในวันดังกล่าวพระพุทธเจ้าประกาศโอวาปาฏิโมกข์ซึ่งเป็นหลักการ อุดมการ และวิธีการสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำจิตใจผ่องใสซึ่งจะทำให้คนมีมีจิตใจผ่องใสแล้วจะสะท้อนคุณธรรมคือ ขันติธรรม เมตตาธรรม และกรุณาธรรม ซึ่งเป็นหัวใจพระโพธิสัตว์ด้วย คุณธรรมเหล่านี้โดยเฉพาะขันติธรรมนั้นยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นหลัการสำคัญ ที่ระบุว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็เริ่มที่ใจโดยมีขันติธรรมเป็นฐาน หากไม่มีขันติธรรมแล้วสันติภาพไม่เกิด
ความหมายของขันติธรรมในที่นี้คือความอดทนต่อความแตกต่างในภาวะสังคมแห่งพหุวัฒธรรมได้ แต่ปัญหาในปัจจุบันนี้คือสังคมโลกส่วนใหญ่ยอมรับความแตกต่างไม่ได้จึงทำให้เกิดความรุนแรง ดังนั้นการที่มหาจุฬาฯได้เปิดหลักสูตรสันติศึกษาจึงถือว่าเหมาะสมและมีความก้าวหน้าจนกระทั้งตั้งมูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพเพื่อสนับสนุนในการสร้างสันติภาพ เพราะการศึกษาต้องมีส่วนในการสร้างสันติภาพไม่ใช่สร้างความขัดแย้ง ความรุนแรง ตามหลักการแห่งพระพุทธศาสนาที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติธรรม
และหลักการแห่งพระพุทธศาสนานี้เป็นรากฐานของสังคมไทย 3 ประการคือ อิสรภาพ อวิหิงสาคือขันติธรรม และประสานผลประโยชน์ โดยเฉพาะขันติธรรมนี้ทำให้ประเทศไทยในอดีตเอาชนะเพื่อนบ้านแต่ไม่กดขี่แถมยังนำมาพัฒนาประเทศ เปิดรับต่างชาติต่างศาสนาทำให้สมัยอยุธยาเจริญรุ่งเรือด้วยการรู้จักเอาคนเก่งมาใช่งานทำให้ไทยมีคนเก่งมากในครั้งนั้น ถ้าประเทศไทยยังคงยึดหลักนี้ก็จะเจริญต่อไป
“มหาจุฬาฯได้ยึดหลัก 3 ประการนี้ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก แม้ว่าคนไทยไม่เรียนก็มีชาวต่างชาติมาเรียน ทั้งนี้เพราะมหาจุฬาฯได้ยึดขันติธรรมและการมีส่วนร่วมทำให้มีการเปิดหลักสูตรสันติศึกษารองรับหลักการดังกล่าว” อธิการบดี มจร กล่าว
หลังจากนั้นนายวิรัช ชินวินิจกุล องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "คุณูปการพระพุทธศาสนาต่อการพัฒนาสันติภาพโลก" ตามด้วยการอภิปรายร่วมเรื่อง "คุณูปการพระพุทธศาสนาต่อการพัฒนาสันติภาพโลก" ซึ่งมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วยนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่นำเสนอประเด็นเรื่อง"คุณูปการพระพุทธศาสนาต่อการพัฒนาสันติภาพด้านยุติธรรมทางสังคม" และ ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่จะนำเสนอประเด็นเรื่อง"คุณูปการพระพุทธศาสนาต่อการพัฒนาสันติภาพด้านการเมืองการปกครอง" ดำเนินรายการโดย พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) และหลักสูตรสันติศึกษา มจร
เสร็จจากนั้นพระมหาหรรษาแถลงข่าวเปิดตัวมูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน ร่วมถึงการเผยแพร่งานด้านสันติภาพ ทั้งการให้รางวัลแก่นักสันติภาพทั่วโลก การสร้างเครือข่าย การสนับสนุนทุนการศึกษา การสนับสนุนการวิจัย และการพัฒนาหมู่บ้านสันติสุขในชุมชนทั้งในและต่างประเทศด้วย เพื่อให้สอดรับกับพุทธประสงค์ที่ได้ทรงวางรากฐานงานด้านสันติภาพเอาไว้ตราบจนมาถึงปัจจุบัน
การที่ มจร ร่วมกับ สำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนาวิชาการ "มาฆบูชา : วันเมตตาสากลโลก" ในครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประกาศคุณูปการพระพุทธศาสนาต่อการพัฒนาสันติภาพโลก นำเสนอหลักการ แนวทางปฏิบัติแห่งสันติภาพในทางพระพุทธศาสนา ยกย่องเชิดชูนักสันติภาพผู้ทำงานเสียสละเพื่อสังคม พร้อมทั้งเป็นวัดนัดพบปะประสานพูดคุยกันของบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ เพื่อร่วมกันทำงานเป็นเครือข่ายองค์กรที่มั่นคงและประสานความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
สืบเนื่องจากขณะเดียวนี้หลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา มจร ได้เปิดสอนนิสิตระดับปริญญาโท จำนวน 5 รุ่น มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 และปริญญาเอก จำนวน 2 รุ่น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมกันนี้วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ได้เปิดสอนหลักสูตรสันติศึกษา และหลักสูตรพระพุทธศาสนาภาคภาษาอังกฤษ ทั้งในระดับปริญาโทและปริญญาเอก
การศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก มีความแตกต่างจากการศึกษาในระดับปริญญาตรี ทั้งทางด้านระบบการศึกษา ระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์ต่างๆ การจัดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะช่วยทำให้นิสิตเกิดความพร้อมในการศึกษาเกิดการพัฒนาทั้งในด้านกายและจิตใจมีความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน การครองตน ครองชีวิต มีทัศนคติที่ดี เป็นการเรียนรู้จากภายในสู่ภายนอกทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างและเข้าถึงสันติภาพได้อย่างแท้จริง
จากเหตุผลดังกล่าว หลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา ร่วมกับ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติหลักสูตร สาขาวิชาพระพุทธศาสนา(ภาคพิเศษ) บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันวิปัสสนาธุระและส่วนธรรมนิเทศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้จัดโครงการปฏิบัติธรรมและงานสัมมนาวิชาการประจำเดือนกุมภาพันธ์ ดังนี้ 1. โครงการปฏิบัติธรรมในชื่อโครงการ "มาฆบูชา: วันภาวนาเพื่อสันติภาพโลก" ในวันที่ 26, 27, 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม พ.ศ. 2561 ณ อาคารวิปัสสนาธุระ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) และโครงการสัมมนาวิชาการ "มาฆบูชา: วันเมตตาสากลโลก" ในวันที่ 28 ก.พ.2561 ดังกล่าว
สำหรับโครงการ "มาฆบูชา: วันภาวนาเพื่อสันติภาพโลก"นั้น ได้มีมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมามีคุณหญิงสมปอง วรรณิสสร ในฐานะผู้มีแรงพลังอันเต็มเปี่ยมบริจาคที่ดิน 84 ไร่ เพื่อจัดสร้างมหาจุฬาฯ วังน้อย เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พัฒนาฝึกฝนอบรมในมิติของกระบวนการการสร้างสันติภาพจากภายในสู่ภายนอก พร้อมทั้งยังมีการแนะนำแนวทางการดำเนินชีวิต การปฏิบัติตนที่ถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับคุณลักษณะของนักสันติภาพวิถีพุทธและสอดคล้องกับหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาโครงการปฏิบัติธรรมนี้มุ่งหวังให้นิสิตและบุคคลทั่วไปได้รับข้อมูลพื้นฐานการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน มีโอกาสได้ฝึกฝนพัฒนาหล่อหลอมทัศนคติเกี่ยวกับสันติภาพที่จะก่อให้เกิดทักษะการครองตนและนำพาไปสู่แนวทางการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์
การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
สาธุครับผม
ตอบลบ