วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
"มจร"เจ๋ง!หนุนอดีตนาคหลวงพัฒนาซอฟท์แวร์ติว"PAT7.6บาลี"
"มจร"เจ๋ง!หนุนอดีตนาคหลวง พัฒนาซอฟท์แวร์สร้างนวัตกรรมติวเตอร์ "PAT 7.6 บาลี" มุ่งสู่มหาวิทยาลัย : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน
นับแต่ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ) หรือ National Institute of Educational Testing Service (Public Organization) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
กำหนดให้ภาษาบาลี เป็นภาษาหนึ่งที่นักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยสามารถเลือกสอบได้ จัดอยู่ในกลุ่ม PAT (Professional and Academic Aptitude Test) เป็นการทดสอบวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ ซึ่งเป็นการวัดความสามารถนักเรียน หรือ ดูแววนักเรียนจะเข้าสู่เส้นทางอาชีพในคณะที่เลือก ประกอบด้วย 7 สาขาวิชา การสอบความถนัดทางภาษาต่างประเทศ อยู่ในกลุ่มที่ 7 ภาษาบาลี จัดเป็นภาษาที่ 6 จึงเรียกว่า PAT 7.6 ภาษาบาลี (เลือกสอบได้ จำนวน 6 ภาษา คือ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน อาหรับ และบาลี)
และสืบเนื่องจากงานThe International Conference on “Sanskrit and Sanskritic Indology in Southeast Asia” ซึ่งจัดโดยศูนย์สันสกฤตศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยการสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศอินเดีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2561 ณ ศูนย์สันสกฤตศึกษา ใกล้พุทธมณฑล คณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรม การพัฒนาออกแบบซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์เรียนภาษาบาลี ซึ่งมีเนื้อหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนเยาวชนของชาติ ที่เลือกสอบ PAT 7.6 บาลี เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างชาติ ร่วมกันอภิปราย วิเคราะห์ และให้การสนับสนุนผลงานนวัตกรรมชุดดังกล่าวนี้
พระเทพสุวรรณเมธี ผู้อำนวยการศูนย์บัณฑิตศึกษา มจร วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ระบุว่า “นับตั้งแต่ปีแรกที่กำหนดให้ภาษาบาลีเป็นหนึ่งในภาษาที่นักเรียนเลือกสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัย สถิติปีแรก 2553 มีนักเรียนชั้น ม.6 ทั่วประเทศสมัครสอบในสถาบัน สทศ เพียง 363 คนเท่านั้น จากการค้นสถิติพื้นฐานของ สทศ พบว่า มีนักเรียนสมัครสอบบาลีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับทุกปี จนล่าสุดสถิติปี 2560สถิตินักเรียนชั้น ม.6 ทั่วประเทศ สอบครั้งที่ 1 (สอบวันที่ 29 ตุลาคม – พฤศจิกายน 2559) เลือกสอบ PAT 7.6 บาลี จำนวน 12,913 คน สอบครั้งที่ 2 (สอบเดือน มีนาคม 2560) มีนักเรียนเลือกสอบ PAT 7.6 บาลี จำนวน 2,177 คน ในการสอบ GAT/PAT ในปี 2561 ซึ่งกำหนดสอบระหว่างวันที่ 24 – 27 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ คาดว่า จะมีนักเรียนชั้น ม.6 ทั่วประเทศ เลือกสอบ PAT 7.6 บาลี มากถึง 13,000 คน
"อาตมภาพ และคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม มองเห็นแนวทางการเผยแผ่ภาษาบาลีและหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สำหรับเด็กและเยาวชน จึงได้พัฒนานวัตกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับ PAT 7.6 ภาษาบาลี เพื่อสนองความต้องการของนักเรียนชั้น ม.6 ทั่วประเทศ กำหนดเป็นแผนงาน 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1จัดทำฐานข้อมูลข้อสอบ เป็นนวัตกรรมฉบับบาลีติวเตอร์ ฝึกทดลองเตรียมสอบได้เลย ระยะที่ 2 วิเคราะห์ข้อสอบที่ออกสอบมาแล้ว ดูความสอดคล้องเนื้อหา และดำเนินการพัฒนาเป็นเนื้อหาบทเรียน ซึ่งครูอาจารย์ นักเรียนสามารถนำไปติดตั้งบนคอมพิวเตอร์เรียนได้ตลอดทั้งปี" พระเทพสุวรรณเมธี กล่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เวทย์ บรรณกรกุล อาจารย์ประจำ มจร ดีกรีความรู้ภาษาบาลีสามเณรนาคหลวงเปรียญธรรม 9 ประโยค ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์บาลีคอมพิวเตอร์ และอาจเป็นเพียงอาจารย์ท่านเดียวในมหาวิทยาลัย ที่ทำผลงานทางวิชาการระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ สาขาภาษาบาลี ในรูปแบบผลงานวิจัยและพัฒนาซอฟท์แวร์บาลีคอมพิวเตอร์ กล่าว ว่า เมื่อได้รับนโยบายจากท่านเจ้าคุณพระเทพสุวรรณเมธี ได้เร่งออกแบบพัฒนางานระยะที่ 1 คือ การวิเคราะห์ข้อสอบ และทำฐานข้อมูลแนวข้อสอบ เป็นงานที่ออกแบบเพื่อให้นักเรียนนำไปติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ ฝึกทำข้อสอบได้ทันที
ขณะนี้ได้ออกแบบพัฒนาสมบูรณ์แล้ว ส่วนงานระยะที่ 2 ท่านเจ้าคุณ ได้มอบเป็นนโยบายให้ทำในลักษณะงานวิจัยติดตามประสิทธิภาพบทเรียน ซึ่งมีการวิเคราะห์ข้อสอบกับเนื้อหาให้สอดคล้องกัน มีการออกแบบตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านบาลีและคอมพิวเตอร์ พัฒนานวัตกรรมตามระเบียบวิธีวิจัย และให้นำไปทดลองหาประสิทธิภาพกับนักเรียนชั้น ม.6 ที่เลือกสอบ PAT 7.6 บาลี ซึ่งงานระยะที่ 2 ได้ออกแบบและพัฒนาเสร็จแล้วร้อยละ 80 และจะสามารถเผยแผ่ได้ภายใน 3 เดือนจากนี้”
นับว่า เป็นข่าวดีสำหรับนักเรียนที่เลือกสอบ PAT 7.6 บาลีที่จะสอบภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และเป็นสิ่งที่จะอำนวยประโยชน์สำหรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ครู นักเรียน โรงเรียน ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะได้นำผลงานการออกแบบพัฒนานวัตกรรมบาลีของอาจารย์มหาจุฬาฯ ไปใช้สอน เรียน เตรียมความพร้อมในการเลือกสอบ PAT 7.6 เข้ามหาวิทยาลัยและศึกษาธรรมะในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้สามารถติดต่อขอรับนวัตกรรมฉบับบาลีติวเตอร์ ได้ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม 081-9432665 (รศ.ดร.เวทย์ บรรณกรกุล)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์
การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น