วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สมเด็จพระสังฆราชประทานพระคติธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา




สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันมาฆบูชา ให้พุทธศาสนิกชนยึดหลักขันติธรรม และทรงแนะมีความกตัญญูต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์



วันที่ 27 ก.พ. 2561  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันมาฆบูชา 1 มีนาคม 2561 ใจความว่า มาฆบูชาเป็นโอกาสให้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต กล่าวคือ มีพระภิกษุ 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ทรงส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนากลับมาเฝ้าพระศาสดาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ทุกรูปล้วนเป็นเอหิภิกขุ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอุปสมบทประทานให้ พระสงฆ์นั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ และการประชุมกันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ




ในโอกาสดังกล่าวพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานอุดมการณ์เผยแผ่พระพุทธศาสนา 4 ข้อ ได้แก่ ขันติ คือ ความอดทนอดกลั้น พระนิพพาน เป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช แสวงหาการหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ด้วยวิธีการตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่พึงทำผู้อื่นให้ลำบาก และเป็นผู้มีจิตใจสงบจากอกุศลวิตก ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น



ด้วยเหตุนี้พุทธบริษัทควรทบทวนถึงอุดมการณ์ดังกล่าวให้ถ่องแท้ ถ้าแต่ละคนตั้งตนไว้ด้วยขันติธรรม มีความอดทนอดกลั้น มุ่งประพฤติสุจริตธรรมจรรยาเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ ไม่เบียดเบียนกันและกัน



ในขณะเดียวกันก็พยายามลดละความชั่วทุกชนิด ความเจริญสุข ความเกษมปราศภัยในชีวิตของแต่ละคนย่อมบังเกิดขึ้นได้อย่างแน่แท้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริริเริ่มให้มีประเพณีมาฆบูชาบนแผ่นดินไทย สมควรที่ชาวไทยจะได้สืบสานพระราชศรัทธา น้อมนำคุณค่าของวันสำคัญนี้มาสู่ตน ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติและโลก




และช่างบ่ายวันอังคาร ที่ 27 ก.พ.นี้  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปยังพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ทรงเป็นประธานในการเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศลและถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และทรงนำเจริญจิตภาวนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา พุทธศักราช 2561



โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า  “ท่านทั้งหลายมาพรั่งพร้อมกันในวันนี้ เพราะมีคุณธรรมสำคัญร่วมกันประการหนึ่ง คือความกตัญญูกตเวที  กตัญญูกตเวทีเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีงาม หมายถึง การระลึกถึงคุณความดีที่บุคคลอื่นกับตน แล้วจึงตอบแทนคุณ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนไว้ว่า มีบุคคลสองจำพวกที่หาได้ยาก กล่าวคือ ‘บุพการี’ ผู้กระทำคุณให้แก่ผู้อื่นก่อน 1 และ ‘กตัญญูกตเวที’ ผู้รู้คุณและสนองคุณท่าน 1 ที่ว่าหาได้ยากเพราะเหตุใด?



ก็เพราะบุคคลย่อมถูกตัณหา ความติดข้องเข้าครอบงำ ส่วนใหญ่การที่สัตว์โลกช่วยเหลือใครต่อใครก่อน ก็เป็นไปเพื่อหวังผลประโยชน์ ต้องการได้รับสิ่งตอบแทนจึงทำ หรือต้องการเป็นที่รัก ต้องการคำสรรเสริญจึงทำ เช่นนี้ชื่อว่าถูกตัณหาครอบงำ การช่วยเหลือในลักษณะนั้น ไม่ชื่อว่าบุพการี ซ้ำร้ายบางคนก็ยังไม่คิดช่วยเหลือผู้อื่นเลย เพราะความรักตนเอง ไม่อยากให้ตนเองเหนื่อย ไม่อยากเดือดร้อน จึงไม่ช่วยอะไรใคร ดังนั้น การช่วยเหลือผู้อื่นก่อนด้วยกุศลจิตจึงหากได้ยาก บุพการีบุคคลจึงหาได้ยาก



ส่วนที่ว่ากตัญญูกตเวทีหาได้ยากนั้น เพราะเหตุใด?



ก็เพราะถูกอวิชชาความไม่รู้เข้าครอบงำ สัตว์โลกโดยมากเต็มไปด้วยความไม่รู้ ผู้ที่รู้คุณท่านและสนองคุณท่านย่อมที่จะคิดถูก เพราะมีปัญญาเข้าใจถูกว่าท่านเป็นผู้มีคุณ ควรสนองคุณ เพราะฉะนั้น สัตว์โลกที่รู้คุณและทำคุณตอบแทนผู้มีคุณย่อมมีน้อย เมื่อเทียบกับสัตว์โลกทั้งหมดที่มีความไม่รู้ครอบงำ กตัญญูกตเวทีบุคคลจึงหาได้ยาก



สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุพการีผู้ของสัตว์โลก ทรงเป็นบุพการีของเหล่าพุทธบริษัท ทรงชี้ทางแห่งความถูกต้องดีงามให้อย่างไม่เลือกหน้า โดยไม่ทรงปรารถนาสิ่งใดตอบแทน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ก็ทรงเป็นบุพการีของชาวไทย ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อความสุขความเจริญของพสกนิกร โดยไม่ทรงปรารถนาสิ่งใดตอบแทน อาตมาจึงขอฝากข้อคิดเป็นคำถามไว้ว่า ชาวพุทธและชาวไทยในทุกวันนี้ เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีแล้วหรือยัง?



หากท่านทั้งหลายมีใจจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ขอจงประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ทำหน้าที่ของตนๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน หากทำได้เช่นนั้น ท่านทั้งหลายย่อมได้ชื่อว่ากตัญญูกตเวที เป็นบุคคลที่หาได้ยาก ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...