วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เล็งจัด"TED TALK"! งานวันวิสาขบูชาโลกปีนี้




จัด "TED TALK"งานวันวิสาขบูชาโลกครั้งที่15 ไทยเป็นเจ้าภาพ บนเวทีประชุมวิชาการที่ "มจร" ภายใต้หัวข้อ "คุณูปการพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนามนุษย์" นายกฯภูฐานประเดิมคนแรก




วันที่ 26 ก.พ.2561 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) และหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ในฐานะทีมเลขานุการคณะกรรมการเตรียมการจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 15  ตามที่ประชุมคณะกรรมการสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก และกรรมการสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติจาก 18 ชาติ  ที่มีพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) อธิการบดี มจร ประธานกรรมการสมาคมฯ และประธานสภาสากลวันงวันวิสาขบูชาโลก เป็นประธาน ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ในการมีส่วนร่วมในการจัดประชุมเฉลิมฉลองงานวิสาขบูชาโลกมากว่า 10 ปี ทั้งในและต่างประเทศ แต่รูปแบบการจัดงานเป็นสิ่งที่ทีมงานต้องให้ความสำคัญ มิฉะนั้น จะทำให้ขาดแรงจูงใจต่อการเข้ามาร่วมงานประชุม ทั้งพิธีการเฉลิมฉลอง และวิชาการ ด้วยเหตุนี้ ปีนี้ จึงปรึกษาหารือกับทีมงานเตรียมการออกแบบทั้งหมดว่า "ต้องแตกต่าง" ทั้งวิธีการนำเสนอและการออกแบบ



"เพื่อให้ทำให้  Digital World และ Digital Mind ทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานและมีบูรณภาพ สิ่งหนึ่งที่มั่นใจว่า แตกต่างอย่างชัดแจ้งคือ การประชุมวิชาการภายใต้หัวข้อ "คุณูปการพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนามนุษย์" โดยมีนายกรัฐมนตรี ประเทศภูฐาน เดินทางมาเป็นองค์ปาฐกถาในปีนี้ รวมถึงมีนักวิชาการระดับโลกมานำเสนอด้วยมิติที่แตกต่าง เพราะเราจะนำเวทีของ #TED มาไว้ที่ #มจร"  พระมหาหรรษา ระบุ




ทั้งนี้ "TED Talk" คือ เวทีการพูด เวทีทอล์ค ในหัวข้อต่างๆที่หลากหลาย จากผู้พูดที่เชี่ยวชาญ ที่นำ เรื่องราว ความคิดดีๆมาเผยแพร่ ภายใต้คำขวัญที่ว่า “ ความคิดที่ควรค่าแก่การเผยแพร่.” ( Ideas Worth Spreading ) ที่มีหัวข้อต่างๆมากมายและเริ่มเผยแพร่ไปมากมายแทบทั่วทั้งมุมโลก ในหลากหลายหัวข้อ หลากหลายประเด็น ตั้งแต่ วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ จิตวิทยา วัฒนธรรม ศิลปศาสตร์ จริยศาสตร์ ศาสนศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมวิทยา การศึกษา รวมถึง การแบ่งปันเรื่องราว เล่าประสบการณ์ แรงบันดาลใจ มุมมองที่แตกต่าง ที่ควรค่าแก่การรับฟังอีกต่างๆมากมาย



อย่างไรก็ตาม จากผลการประชุมคณะกรรมการสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก และกรรมการสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติจาก 18 ชาติ  โดยมีพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ประธานกรรมการสมาคมฯ และประธานสภาสากลวันงวันวิสาขบูชาโลก เป็นประธานเพื่อเตรียมการจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน พ.ศ.2560 ที่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มี โดยที่ประชุมมีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ  ทั้งนี้ที่ประชุมได้ได้กำหนดหัวข้อหลักในการจัดงานโดยเน้นพระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์ (Buddhist Contribution to Human Development)



โดยพระพรหมบัณฑิต กล่าวในที่ประชุมว่า  องค์การสหประชาชาติได้เคยถวายรางวัลสดุดีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในฐานะ "พระมหากษัตริย์นักพัฒนา” ในปี 2549 นับเป็นครั้งแรกที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำรางวัลเกียรติยศนี้ขึ้น เพื่อมอบให้กับบุคคลดีเด่นที่อุทิศตนตลอดช่วงชีวิต และสร้างคุณค่าของผลงานเป็นที่น่าประจักษ์และคุณูปการที่ผลักดันความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์



"ถือว่าเป็นการสร้างเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการศึกษา การขยายโอกาสและทางเลือก ซึ่งเป็นการสร้างเสริมขีดความสามารถแก่ปัจเจกชนที่จะเลือกให้มีชีวิตยืนยาวด้วยการมีสุขพลานามัยที่แข็งแรง มีความรู้และความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาคนเพื่อให้คนเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งพัฒนาความเติบโตทางเศรษฐกิจและอย่างยั่งยืน สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงในชีวิต และความเท่าเทียม" ประธานสภาสากลวันงวันวิสาขบูชาโลก กล่าวและว่า



ด้วยเหตุผลสำคัญดังกล่าว่า ทำให้คณะกรรมการสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นหัวข้อหลักในการจัดพิธีเฉลิมฉลงวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 15 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานครั้งนี้ และมีองค์กรพระพุทธศาสนาจากประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน โดยที่ประชุมได้มีมติจัดงานตั้งแต่วันที่ 25-27 พฤษภาคม 2561 ในการจัดงาน ทั้งนี้จะมีการเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ราชดำเนินนอก กรุงมหานคร ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2561



สำหรับการจัดงานเฉลิมฉลองครั้งนี้ ได้มีการประชุมวิชาการนานาชาติแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) พระพุทธศาสนากับการพัฒนาสังคม (Buddhist Contribution to Human Development) (2) การศึกษาเชิงพุทธกับการเสริมสร้างพลังของเยาวชน Empowering youth through Buddhist Education (3) การอนุรักษ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในโลกที่เชื่อมโยงกัน (Preservation Cultural Identity in Inter-Connected World) และ (4) พระพุทธศาสนากับการสร้างสวัสดิการสังคม (Engaged Buddhist for Social Welfare) พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้เชิญนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกมานำเสนอประสบการณ์ทำงานมานำเสนอในเวทีของการเฉลิมฉลองครั้งนี้ด้วย

...........
(หมายเหตุ : ข้อมูลจากเฟซบุ๊กhansa dhammahaso และความหมายของคำว่า "TED Talk" จากhttps://allofimpulsion.wordpress.com/2017/07/10/ted-talk-คืออะไร-ทำความรู้จัก-เว/)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...