วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ถวายเงินแก่พระ เป็นความผิดเสียหายร้ายแรงจริงหรือ?






.......

เรื่องนี้คงต้องคุยยาวนิดนึง บอกก่อนเลยว่า ถ้าเหตุปัจจัยพร้อม นั่นคือระบบและสังคมมีความพร้อม  พระไม่ต้องใช้เงินก็ได้ อธิบายว่า มีผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องปัจจัยสี่ ของพระสงฆ์ ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง นั่นคือเรื่องของจีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล (จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช) มีผู้รับผิดชอบดูแลเสนาสนะ เขตพุทธาวาส สังฆาวาส ของทุกวัด โดยไม่ต้องให้พระท่านต้องหาเงินมาบูรณะปฏิสังขรณ์ด้วยตนเอง


มีงบประมาณจ่ายค่าสาธารณูปโภค มีค่าน้ำค่าไฟเป็นต้น โดยไม่ต้องให้พระต้องหาเงินมาจ่ายเอง การเดินทาง มีระบบสวัสดิการดูแลให้พระสามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ถ้ามีคนบอกว่าพระไม่ควรเดินทางไปไหนเลย คนพูดควรไปตายซะ พระบวชมาแล้วต้องศึกษาเล่าเรียน ต้องมีตำรับตำรา อุปกรณ์การเรียน  ช่วยดูแลให้เรียบร้อยด้วยนะ


ที่กล่าวมาแต่ละข้อข้างต้นนั้นต้องใช้เงินทั้งนั้นแหละ ไม่มีของฟรีหรอกนะ


นั่นแค่ยกตัวอย่างแบบหยาบๆคร่าวๆ ไม่ลงรายละเอียดในเรื่องที่จะต้องมีการใช้จ่ายในวัดในวา ซึ่งจริงๆแล้วต้องเข้าไปบวชศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง
จึงจะรู้ข้อเท็จจริง


ที่พูดว่า ไม่ต้องถวายเงินพระ รวมถึงถวายใบปวารณาแล้วให้ไวยาวัจกรถือเงินไว้ด้วยนะ อย่างนั้นก็ยังผิดพระวินัยอยู่ดี เพราะยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้ให้
ตามวินัยข้อนี้ว่า


โย ปน ภิกฺขุ ชาตรูปรชตํ อุคฺคณฺเหยฺย วา อุคฺคณฺหาเปยฺย วา อุปนิกฺขิตฺตํ วา สาทิเยยฺย นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ แปลว่า.  อนึ่ง ภิกษุใด รับเองก็ดี ให้ผู้อื่นรับก็ดี ยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้ให้ก็ดี  เป็นนิสัคคียปาจิตตีย์


วินัยหมวดนี้ ต้องสละเสียก่อนจึงแสดงอาบัติตก คือ สละของนั้นก่อนแล้วจึงปลงอาบัติหลุด. การปลงอาบัติปาจิตตีย์ใช้วิธีเทศนาบัติ. คือแสดงอาบัติแก่ภิกษุอีกรูปหนึ่ง เป็นลหุกาบัติ คืออาบัติอย่างเบา ส่วนอาบัติสังฆาทิเลส กับอาบัติปาราชิก เป็นครุกาบัติ คืออาบัติหนัก อาบัติสังฆาทิเสสเป็นอาบัติหนักชนิดแก้ไขได้ คือต้องอยู่กรรมจึงพ้น
ส่วนอาบัติปาราชิก เป็นอาบัติหนักชนิดแก้ไขไม่ได้ ต้องแล้วขาดจากความเป็นพระทันที


ที่ชอบส่งข้อความต่อๆกันไปว่า ถวายเงินแก่พระแล้วเป็นอาบัติร้ายแรง ไม่ทราบว่า พิจารณาจากวินัยข้อไหน ดูท่าว่าคนพูดคงจะเก่งเคร่งกว่าพระพุทธองค์เสียอีก พระองค์ปรับเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นอาบัติชนิดเบาอย่างที่กล่าวแล้ว มิหนำซ้ำยังกล่าวอ้างว่าเป็นคำที่เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ตรัสบอกเสียอีก พระองค์ท่านรู้พระธรรมวินัยดีกว่าเราๆท่านๆขนาดไหน  ท่านจะตรัสในสิ่งที่ไม่ตรงตามพระวินัยได้อย่างไร ขอบัณฑิตชนพึงพิจารณาเถิด


ได้พูดถึงความพร้อมของระบบในการดูแลวัดและพระสงฆ์ให้เห็นแล้วว่าถ้ามีระบบสวัสดิการดูแลให้เรียบร้อย พระก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินเลยก็ได้  แต่....ยังมีเรื่องของสังคมว่าพร้อมหรือไม่ สังคมก็คือ ประชาชนชาวพุทธทุกคนทุกระดับทุกหนทุกแห่งตั้งแต่พ่อค้าประชาชน สามัญชนคนเดินดิน จนกระทั่งถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ซึ่งต้องบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการคือ ทาน ศีล ภาวนา การห้ามไม่ให้ถวายเงินแก่พระก็ต้องห้ามให้หมดทุกระดับชั้น ตั้งแต่สามัญชนจนถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน คนที่ต่อต้านหรือปลุกระดมเรื่องนี้ได้เคยรู้บ้างหรือไม่ ว่าการทำบุญทำทานแล้วถวายเงินแก่พระสงฆ์นั้นมีทุกระดับชั้นตั้งแต่สามัญชนจนถึงพระเจ้าแผ่นดิน และไม่ได้เพิ่งจะเกิดมีในปัจจุบันนี้หรอก


ปรากฎตามหลักฐานเอกสารทางราชสำนักมากมายที่ระบุไว้ว่าได้นิมนต์พระราชาคณะมาในพระราชวังเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลแล้วได้ถวายเงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ พร้อมด้วยเครื่องไทยธรรม อันเป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาของพระองค์ นอกจากนี้ยังได้ถวายนิตยภัตแก่พระสงฆ์เถระที่เป็นพระสังฆาธิการตลอดมา


แต่เพื่อจะย้ำให้เห็นว่า การทำบุญสุนทานด้วยการถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระสงฆ์นั้น มีมานานนักหนาแล้ว  มีหลักฐานที่ปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ที่เดินทางมากรุงสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของสยามในยุคนั้นอย่างละเอียด โดยเฉพาะเรื่องวัดวาอารามกับพระสงฆ์ ในหน้า ๓๔๖ ข้อ๑๕ 


เรื่อง อาชีพอย่างนี้ก็มีกำไรดี. โดยวิจารณ์การเทศน์ของพระว่า ...ครั้นแล้วก็ถวายไทยทานแก่พระธรรมกถึกผู้เทศน์และพระนักเทศน์นั้นถ้าได้เทศน์บ่อยๆ มิชั่วแต่เพียงในย่านระยะนี้ แต่ได้เทศน์ไปตลอดทั้งปีแล้ว ก็กลายเป็นคนร่ำรวยไปได้อย่างสบายทีเดียว


และในหน้า ๓๕๒ ข้อ ๒๘ เรื่อง บ่าวพระภิกษุที่เป็นคฤหัสถ์ บอกว่า ...มีตาปะขาวนี้เป็นผู้รับเงินที่มีผู้บริจาคถวายเป็นปัจจัยแก่พระสงฆ์ ด้วยพระภิกษุจับต้องเงินทองเข้าแล้วจะต้องอาบัติ


จากหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่า การถวายเงินแก่พระนั้น บรรพบุรุษของเราทำกันมานานนักหนาแล้ว  แม้สมัยอยุธยาก็มีทำบุญกันอยู่เป็นปกติ ถ้านับถอยหลังไปก็คงทำกันมาร่วมพันปีแล้ว. พระศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพื่อให้พวกที่ไม่เคยทำบุญทำทาน มีความเห็นแก่ตัวจัด ปลุกระดมความคิด อันถือว่าเป็นการตำหนิติเตียนบรรพบุรุษของตนไปด้วยในตัวว่าทำไม่ถูกต้อง


คนทำบุญไม่เคยด่าพระ ในทางกลับกัน คนด่าพระก็ไม่เคยทำบุญเช่นเดียวกัน เขาไม่รู้หรือว่า วัดวาอารามที่ญาติโยมช่วยกันบริจาคทรัพย์ถวายพระมานั้น กลายเป็นสมบัติอันมีค่าของแผ่นดิน  ถามว่านักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทย  เขาไปดูอะไรที่ไหนกัน  เขาก็ไปดูศิลปะที่มีอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆนั่นเอง เป็นเครื่องแสดงถึงความมีอารยธรรมของไทย แล้วใครสร้างวัดล่ะ ก็พระสงฆ์ได้รับการบริจาคทำบุญจากญาติโยมก็นำมาสร้างวัดนี่ละ


ประโยชน์ของวัดนั้นพรรณนาไม่หมดหรอก รู้อยู่แก่ใจกันดีอยู่แล้ว ที่วัดได้ประสบผลกระทบจากกระแสปลุกระดมเหมือนกันนะ ที่วัดมีเจ้าภาพมาเลี้ยงเพลทุกวัน
บางครั้งก็นิมนต์สวดมนต์ด้วย ครั้งหนึ่งมีเจ้าภาพนิมนต์สวดมนต์ มีเครื่องไทยธรรมพร้อม แต่ไม่ถวายซอง ทั้งๆที่เมื่อก่อนก็ถวายตามปกติ สอบถามได้ความว่า เห็นเขาแชร์ต่อกันว่า ถวายเงินแก่พระเป็นบาป เขาเลยไม่ถวาย. 


ถ้าญาติโยมจะทำกันแบบนี้ ก็อยากจะถามว่า เวลาจ่ายค่ารถ หรือค่าของ ค่าน้ำค่าไฟ. พระสามารถเอาของไทยธรรมมีสบู่ยาสีฟันเป็นต้น ไปจ่ายค่ารถ ค่าน้ำค่าไฟ โดยบอกว่าของเหล่านี้มีมูลค่าเท่านี้แทนเงิน เขาจะรับหรือไม่


ความจริงเขามีคำเรียกเงินที่ถวายพระว่า จตุปัจจัย. แปลว่า ปัจจัยสี่ ซึ่งหมายถึง เงินนี้เป็นของใช้แทนปัจจัยทั้งสี่ เมื่อจีวรไม่มีก็นำเงินนี้ไปซื้อจีวร เมื่อขาดเรื่องอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่ารถค่ารา เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ใช้เงินนี้แหละมาบริหารจัดการปัจจัยทั้งสี่ เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ พระหนุ่มเณรน้อยไปสวดมนต์ฉันเพล โยมถวายร้อยสองร้อย ต้องโจมตีกันแรงขนาดนี้ด้วยเหรอ


พระผู้ใหญ่มีความรับผิดชอบมากกว่า โยมก็ใส่ซองให้มากกว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะท่านต้องนำไปบริหารจัดการงานมากกว่าพระผู้น้อย ส่วนที่โจมตีว่าพระสะสมเงินไว้เยอะ ก็คงมีอยู่บ้าง. แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ท่านนำมาใช้ในการพัฒนาวัดและช่วยสังคมมากกว่า การโจมตีแบบเหมาเข่งนั้นเป็นวจีทุจริต เป็นบาปเปล่าๆ สรุปว่า ที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้จักให้ทานนั้นเพื่อกำจัดความตระหนี่ ความโลภ และความเห็นแก่ตัว เมื่อจะให้ก็ให้ในเนื้อนาบุญคือพระสงฆ์ ถ้าเข้าใจเจตนาในการสอนของพระพุทธเจ้าก็จะไม่มีความคิดแคบๆอย่างนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย


แล้วก็ขอแถมอีกประเด็นหนึ่ง  พวกที่อยากจะปฏิรูปปฏิวัติวงการคณะสงฆ์ให้สะอาดหมดจด  ขอบอกว่า เพ้อเจ้อมาก ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบ้างเลยหรือแม้ในสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์อยู่ คณะสงฆ์ก็ไม่เรียบร้อย มีพระเทวทัตคอยก่อความวุ่นวาย มีพระฉัพพัคคีย์ และรูปอื่นอีก ก่อปัญหาในสมัยนั้นแล้วสมัยนี้ไม่ได้มีพระพุทธองค์อยู่แล้ว จะให้ดีวิเศษกว่าสมัยพุทธกาล จะไม่ว่าเพ้อเจ้อได้ยังงัย 

จบดีกว่า หวังว่าบทความนี้คงช่วยปรับทัศนคติของสังคมที่อาจจะมีอคติกับพระสงฆ์ในทางใดทางหนึ่งได้บ้างไม่มากก็น้อย เห็นด้วยกดไลค์ เห็นว่าใช่กดแชร์ ไม่เห็นด้วยก็เม้นต์มา ถกเถียงกันได้เสมอ

ป.ธาดา
๗ มิ.ย.๖๑

............

(หมายเหตุ : ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Pariyat Thada)

3 ความคิดเห็น:

  1. ใช่แล้วแจ่มแจ้งจริงเจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  2. ชัดเจน เหมือนกับการเปิดของที่ปิด หงายของที่คว่ำ
    สาธุ ครับ

    ตอบลบ
  3. วินัยบางข้อก็ให้เป็นไปกับกาลเวลา ก็มีแสดงไว้ ท่านทั้งหลายเคยศึกษากันหรือไม่ ก่อนแสดงความคิดเห็น....

    ตอบลบ

"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI

  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...