วันที่ 4 ก.ย.2561 นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญที่ช่วยปลดล็อคให้ผู้ที่ทำการวิจัยและสร้างนวัตกรรมขึ้นมา สามารถมีสิทธิเป็นเจ้าของผลงานวิจัยของตัวเอง แทนที่สิทธิการเป็นเจ้าของจะตกกับผู้ที่ให้ทุนเหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จนทำให้เกิดปัญหางานวิจัยอยู่บนหิ้งนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ไม่ได้ แต่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่ทำงานวิจัย สามารถผลิตงานวิจัยที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีสำหรับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมาเล่าครับ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบหลักการกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม หรือที่เรียกกันว่า Bayh–Dole Act ครับ โดยมอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไปดำเนินการต่อโดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กฎหมายฉบับนี้ช่วยปลดล็อคให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐหันมาทำวิจัยที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น รวมไปถึงการทำวิจัยที่เป็นเทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้น และช่วยให้มหาวิทยาลัยที่มีเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามีโอกาสพัฒนา Startup ผลิตสินค้านวัตกรรมขายทั่วโลก เช่น MIT, Carnegie Mellon และ Stanford ครับ
กฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นกฎหมายที่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย ได้ประกาศใช้เป็นเวลานานแล้ว ในสหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) ซึ่งส่งผลให้การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น เกิดทรัพย์สินทางปัญญากว่า 13,600 ฉบับ มหาวิทยาลัยยื่นจดสิทธิบัตรประมาณ 3,000 ฉบับต่อปี และเกิดบริษัทตั้งใหม่ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย 5,000 บริษัท รวมถึง เกิดการจ้างงานจากเทคโนโลยีที่เกิดจากมหาวิทยาลัย มากกว่า 250,000 อัตราครับ ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้สหรัฐอเมริกามีฐานความสามารถทางเทคโนโลยีในอันดับต้นๆ ของโลกเลยครับ
ประเทศไทยได้เอาแนวคิดนี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการขับเคลื่อนให้เกิดระบบเศรษฐกิจนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยหลายแห่งที่เริ่มมีการทำวิจัยเชิงลึก เช่น มหาวิทยาลัยวิจัย 9 แห่ง (RUN) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สวทช. และสถาบันวิจัยเฉพาะทางอื่นๆ เมื่อมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยแล้วจะสามารถนำไป license ต่อให้กับภาคผลิตและบริการได้อย่างคล่องตัว ได้รับรายได้กลับมาที่หน่วยงานและจัดสรรให้กับนักวิจัย เมื่อนักวิจัยได้รับส่วนแบ่งรายได้ก็จะเกิดแรงจูงใจในการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ ยิ่งไปกว่านั้น หากนักวิจัยจะนำเอาผลงานวิจัยนั้นไปต่อยอดและทำธุรกิจเอง เกิดเป็น Spin-off Company หรือจัดตั้งเป็นบริษัท Startup ทำธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมก็สามารถทำได้เลย รวดเร็วและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีครับ
กฎหมายฉบับนี้ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย เป็นกลไกที่ช่วยกระตุ้นให้ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยถูกถ่ายทอดไปยังบริษัทเอกชน สร้าง Startup และบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศได้ตามเป้าหมาย ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่นักวิจัย ผู้ประกอบการและบริษัท ส่งผลให้รัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และนำเอารายได้จากภาษีนี้กลับมาลงทุนด้านการวิจัยต่อไปได้อีกครับ จะเห็นได้ว่า กฎหมายนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในหลายภาคส่วนมากครับ
ทั้งนี้ กระทรวงใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น (จากการควบรวมหน่วยงานอุดมศึกษา หน่วยงาน granting agencies และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ) จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปทั้งด้านการสร้างความเข้มแข็งของ Technology Licensing Office ของมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยไปจนถึงการสนับสนุนการวิจัย และการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ก็ดีค่ะ
ตอบลบ