วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

เหรียญอาจารย์ฝั้น อาจาโร รุ่นแรกเนื้อทองคำ




หลวงปู่ฝั้น หรือ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร สุดยอดพระเกจิสายวิปัสสนากรรมฐาน หรือที่เรียกกันว่า "สายวัดป่า" ท่านเป็นพระสายป่ารูปหนึ่งแห่งภาคอีสานที่เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วทุกสารทิศ พระอาจารย์ฝั้นเป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพธรรมสายวัดป่า และยังเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา



พระอาจารย์ฝั้น เป็นชาวสกลนครโดยกำเนิด เกิดที่บ้านม่วงไข่ ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ในตระกูลของ “สุวรรณรงค์” เจ้าเมืองพรรณานิคม บรรพชาเป็นสามเณร ที่ วัดโพนทอง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ ขณะอายุได้ ๑๙ ปี พออายุครบบวชจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่ วัดสิทธิบังคม บ้านไฮ่ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม ศึกษาร่ำเรียนพระปริยัติธรรมและวิปัสสนากรรมฐานกับ ท่านอาญาครูธรรม เจ้าอาวาสวัดโพนทอง และติดตามพระอาจารย์ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยจิตมุ่งมั่นในการบำเพ็ญภาวนาและเจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างแรงกล้า



พ.ศ.๒๔๖๓ พระอาจารย์ฝั้น ได้พบ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และขอปวารณาตนเป็นศิษย์เพื่อศึกษาวิชาความรู้และหลักธรรมต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิปัสสนากรรมฐาน



พ.ศ.๒๔๖๘ จึงขอแปรญัตติจากมหานิกายเป็น ‘ธรรมยุติกนิกาย’ ที่ พระอุโบสถวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นก็ร่วมออกธุดงค์กับพระอาจารย์มั่นไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นเนืองนิตย์



พระอาจารย์ฝั้น ธุดงค์ไปถึงที่ใด ท่านก็จะให้ความเมตตาช่วยเหลือชาวบ้านและพัฒนาที่แห่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นป่าช้าหรือหมู่บ้านเชิงเขา รวมทั้ง ‘วัดป่าอุดมสมพร’ และ ‘เขาถ้ำขาม’



ท่านนับเป็นพระเกจิที่มีคุณวิเศษ เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีเมตตาธิคุณและกรุณาธิคุณสูงส่ง สามารถส่งพลังถึงผู้ไปกราบนมัสการให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข สงบ และก่อให้เกิดสติปัญญา ท่านจึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสและศรัทธาของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศ ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระอาจารย์ฝั้น มรณภาพเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๒๐ ณ วัดป่าอุดมสมพร อันเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญของท่าน สิริอายุรวม ๗๘ ปี พรรษาที่ ๕๘



ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทรงสรงน้ำศพและพระราชทานหีบทองประกอบศพ และเสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพเป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดป่าอุดมสมพร ในวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๑



ปัจจุบันบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของ พระอาจารย์ฝั้น ได้มีการสร้าง ‘เจดีย์พิพิธภัณฑ์’ ความสูง ๒๗.๙๐ เมตร เป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐานสามชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่างๆ ในสายวัดป่ากรรมฐาน  ภายในเจดีย์มี รูปปั้นพระอาจารย์ฝั้น ถือไม้เท้า ขนาดเท่าองค์จริง และตู้กระจกที่บรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่านอย่างครบถ้วน



วัตถุมงคลของพระอาจารย์ฝั้น มีมากมายหลายประเภท ทั้ง พระบูชา รูปหล่อ พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ พระผง และเหรียญ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุมงคลที่ลูกศิษย์ได้มาขออนุญาตจัดสร้างเพื่อแจกจ่ายเป็นที่ระลึกตามโอกาสสำคัญๆ



ท่านได้ชื่อว่าเป็นพระป่าที่มีผู้สร้างวัตถุมงคลให้อธิษฐานจิตปลุกเสกมากที่สุด โดยเฉพาะ ตามวาระโอกาสที่สำคัญ มีการจัดสร้างจำนวนทั้งหมด ๑๒๐ รุ่น โดยรุ่นสุดท้ายจัดสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ในจำนวนเหรียญทั้ง ๑๒๐ รุ่น ที่โดดเด่นต้องยกให้การจัดสร้างโดยคณะศิษย์ทหารอากาศ สร้างถวายระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๗ -๒๕๑๑ มีทั้งหมด ๗ รุ่น



รุ่นที่เสาะแสวงหามากสุดๆ คือ เหรียญพระอาจารย์ฝั้น รุ่น ๑ สร้าง พ.ศ.๒๕๐๗ เหรียญรุ่นนี้จัดสร้างโดย น.อ.เกษม งามเอก สร้างถวายเนื่องในงานยกเสาโบสถ์น้ำ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ไว้แจกจ่ายเป็นที่ระลึกในงานดังกล่าว ลักษณะเป็นเหรียญวงรีรูปไข่ มีหูห่วง เหรียญรุ่นนี้มีเนื้ออัลปาก้า จำนวนสร้าง ๒๑๙ เหรียญ ซึ่งปรากฏตัวเลขนี้อยู่ที่ขอบล่างของหลังเหรียญ เนื้อทองแดง (ลองพิมพ์) ประมาณ ๑๐ เหรียญ



นอกจากนี้ยังมีเหรียญเนื้อทองคำ ๓ เหรียญ เท่านั้น โอกาสที่จะได้เห็นเหรียญจริงนั้นเป็นเรื่องยากมาก แม้กระทั้งภาพถ่าย "เหรียญอาจารย์ฝั้น รุ่นแรก เนื้อทองคำ" ยังยาก เท่าที่ทราบ ทั้ง ๓ เหรียญนี้ ถูกฝากไว้ในตู้นิรภัย ของธนาคารทุกเหรียญ ด้านหน้าเหรียญ ขอบเหรียญมีเส้นสันนูน ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนพระอาจารย์ฝั้นครึ่งองค์ หันหน้าไปทางขวา ด้านล่างสลักตัวหนังสือนูนคำว่า "พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร" ด้านหลังเหรียญ ขอบเหรียญมีเส้นสันนูน ใต้หูห่วงใกล้ขอบเหรียญด้านบน สลักตัวหนังสือนูนคำว่า "วัดป่าถ้ำขาม สกลนคร" ตรงกลางเหรียญถัดลงมามีสัญลักษณ์คล้ายหยดน้ำ กึ่งกลางเหรียญมีอักขระ ๒ บรรทัด ซึ่งเป็นพระคาถา "หัวใจพญานกยูงทอง" ถัดลงมีตัวอักษรเลขไทยระบุ "๒๕๐๗" ปีที่จัดสร้างเหรียญ บรรทัดล่างสุดสลักคำว่า "รุ่นแรกศิษย์ ทอ.สร้างถวาย"



ทุกวันนี้เหรียญเนื้ออัลปาก้าเช่าหาที่หลักล้านต้นๆ ในขณะที่เหรียญทองแดงอยู่ราคาเกือบ ๑๐ ล้านบาท  ส่วนเนื้อทองคำไม่เคยปรากฏให้เห็นแม้กระทั่งภาพถ่าย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๗ จนถึงทุกวันนี้  



สำหรับ "เหรียญอาจารย์ฝั้น รุ่นแรก เนื้อทองคำ" เดิมทีเป็นของ นายขจร พจนานุภาพ ชื่อที่คนพื้นที่เรียกว่า ปู่คิงส์ หรือ เฮียเจี้ยง ซึ่งเป็นกรรมวัดละหารไร่ ในช่วงที่หลวงปู่ทิมมีชีวิตอยู่ ความที่ไม่เหมือนใครของ เฮียเจี้ยง คือ แกเป็นคนชอบเก็บ ทุกอย่างราวกับเป็นคนบ้าเก็บของใบเสร็จจ่ายเงินค่าเช่าพระ กล่องพลาสติกใส่พระ ซองบุหรี่ กล่องไม้ขีด ฯลฯ เก็บแม้กระทั่งกระป๋องชาหลวงปู่ทิมเฮียเจี้ยง แก็ยังเก็บ ไม่เชื้อก็ต้องเชื่อ กล่องพลาสติกใส่พระหลวงปู่ทิ่ม ที่หลายคนทิ้งเมื่อเอาพระไปเลี่ยมแขวคอแล้วทิ้งกล่องใส่ไว้ที่ร้านเลี่ยมพระ



เฮียเจี้ยง แกเก็บไว้อย่างดี เมื่อเกือบ ๑๐ ปี ก่อนมีคนมาของซื้อใบละ ๕,๐๐๐ บาท ในขณะที่กล่องใส่พระของบางวัดแกขายได้ในละเกือบ ๑๐,๐๐๐ บาท เลยทีเดียว "เฮียเจี้ยง" ไม่ใช่คนอื่นไกล แต่เป็นพ่อเกิดเกล้าของ นาย กิตติ พจนานุภาพ นายกสมาคมจิตรางค์คนางค์อนุรักษ์พระเครื่องไทย  ที่สำคัญ คือ นายกฯ กิตติ ได้สมบัติของ "เฮียเจี้ยง" พ่อเกิดเกล้ามาทั้งหมด จึงกลาย เป็นผู้สะสมพระเครื่องหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ที่ขึ้นชื่อว่ามากที่สุด จนได้ฉายา "เจ้ากรมพระหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่"



นายกฯ กิตติ บอกว่า สมัยรุ่นๆ พ่อเป็นคนชอบทำบุญ และ เช่าพระสร้างใหม่ทุกวัดทุกสำนัก โดยจะเช่าเนื้อทองคำ เช่าโดยไม่ได้คิดอะไร ในจำนวนนี้มี เหรียญพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร รุ่น ๑ สร้าง พ.ศ.๒๕๐๗ เนื้อทอง รวมอยู่ด้วย ๑ เหรียญ ทั้งนี้ นายกฯ กิตติ แนะนำว่า ด้วยความนิยมของเหรียญรุ่นดังกล่าวจึงมีการทำออกมาปลอมขายจำนวนมากเช่นกันและสนนราคาอยู่ที่ หลักแสน หลักล้าน



สำหรับผู้ที่สนใจพระเครื่องสาย หลวงปู่ทิม อิสริโก และ สายอื่นๆ เข้าไปเยื่ยมชมข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/ศูนย์พระเครื่องหลวงปู่ทิมอิสริโก-253945151879624/?notif_id=1532486883571003&notif_t=page_fan

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: บาลีที่รัก

  เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ "บาลีที่รัก" บทนำ แนะนำตัวละครและฉากหลัง ทองสุข : ชายหนุ่มนักเขียนนิยายอิงธรรมะที่มีความรู้ด้านบาลีจ...