วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

ประวัติเทคโนโลยีสารสนเทศจากยุคโบราณถึงยุคโทรคมนาการควอนตัม




          ในความเข้าใจของคนทั่วไปอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต เว็บ ฯลฯ นี่เป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน แต่ในอนาคต เราจะมีโทรคมนาการควอนตัม
          ในอดีตเมื่อห้าสหัสวรรษก่อน ชาวซูเมอเรียน (Sumerian) ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) อันเป็นที่ตั้งของประเทศอิรักในปัจจุบัน รู้วิธีแกะสลักตัวอักษรต่างๆ ลงบนแผ่นดินเหนียวเป็นคำและประโยค แล้วนำไปตากแดด ทำให้ได้ตัวอักษรลิ่ม (cuneiform) การอ่านข้อความทำให้เราปัจจุบันรู้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวซูเมเรียน ส่วนคนอียิปต์เมื่อ 4,000 ปีก่อนรู้จักเขียนอักษรภาพ (hieroglyph) บนแผ่นกระดาษที่ทำจากต้นกกพะไพรัส (papyrus) การอ่านภาษาโบราณนี้ออก ทำให้เรารู้ว่า อียิปต์ในเวลานั้นมีระบบไปรษณีย์ที่ใช้คนเดินส่งข่าวถึงกัน เมื่อฟาโรห์พโตเลมิ (Ptolemy) ทรงสร้างหอสมุดแห่งแรกของโลกขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) เมื่อ 2,300 ปีก่อน พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้หอสมุดเป็นสถานรวบรวมภูมิปัญญาและความรู้ของปราชญ์ทุกคนในสมัยนั้น เช่น อาร์คีเมเดส (Archimedes) ยุคลิด (Euclid) ฯลฯ ให้นักวิชาการรุ่นหลังใช้เป็นสถานที่ค้นคว้าหาความรู้ และเผยแพร่ความรู้ที่ได้สู่ประชาชนทั่วไป แต่ความประสงค์นี้ไม่เป็นที่แพร่หลาย เพราะการแกะสลัก และการเขียนภาพทำได้ช้า แต่ในที่สุดความรวดเร็วในการสื่อสารได้เกิดขึ้นหลังจากที่ Cai Lun ซึ่งเป็นชาวจีนรู้จักประดิษฐ์กระดาษในคริสต์ศตวรรษที่ 2 จากนั้นชาวจีน ชาวญี่ปุ่น และชาวเกาหลี จึงคิดแกะท่อนไม้เป็นตัวอักษรต่างๆ แล้วนำหมึกมาทาที่ตัวอักษรเพื่อนำไปกดลงบนแผ่นกระดาษ ครั้งละตัวจนกระดาษมีตัวอักษรเต็ม แล้วถูกนำมาเย็บรวมกันเป็นเล่ม
          แต่การมีหนังสืออ่านทำให้การถ่ายทอดความรู้ในลักษณะนี้ และวิทยาการต่างๆ ก้าวหน้าไปช้าๆ สังคมจึงมีคนรู้หนังสือค่อนข้างน้อย จะมีก็แต่ชนชั้นสูง และนักบวชเท่านั้นที่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ จนกระทั่งปี 1454 เมื่อโจฮันส์ กูเทนเบิร์ก (Johannes Gutenberg) ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์ตัวพิมพ์ที่ทำด้วยโลหะ และสร้างเครื่องพิมพ์ มนุษย์จึงเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคสารสนเทศอย่างแท้จริง เพราะเครื่องพิมพ์ของกูเทนเบิร์ก ทำให้คนจำนวนมากสามารถรับรู้ข่าวสารได้ในเวลาเดียวกันอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลง สังคมมีการแลกเปลี่ยนข่าวสารและความรู้กันมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ทุกคนต้องการความรู้มากขึ้นๆ กระนั้นหนังสือก็ยังมีราคาแพง ดังนั้น หนังสือที่สำคัญๆ ของโลก เช่น คัมภีร์ไบเบิลหรือตำรา Principia Mathematica ของไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) และ Origin of Species ของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ก็ยังมีราคาสูงเกินที่คนทั่วไปจะหาซื้อมาอ่านได้
          Johannes Gutenberg เกิดเมื่อประมาณ ค.ศ.1400 บิดาเป็นบาทหลวงแห่งเมือง Mainz ในเยอรมนี แทบไม่มีใครรู้ข้อมูลชีวิตในวัยเด็กของ Gutenberg คือรู้แต่เพียงว่าในวัยหนุ่ม ได้รับการฝึกอาชีพเป็นช่างโลหะแห่งเมือง Strasbourg ในสมัยนั้นการพิมพ์หนังสือแต่ละเล่มต้องใช้เวลานานมาก คนพิมพ์จึงต้องมีความอดทนสูง เพราะต้องเสียเวลาในการนำแท่งไม้ที่แกะเป็นตัวอักษรต่างๆ มาวางเรียงเป็นคำ เป็นประโยค จากนั้นจึงทาสีบนตัวอักษร นำกระดาษเปล่ามาทาบ แล้วลอกออก โดยคนพิมพ์ต้องทำเช่นนี้ไปจนครบทุกหน้า ดังนั้นจึงต้องใช้เวลานานมากกว่าจะได้หนังสือแต่ละเล่ม
          Gutenberg จึงคิดประดิษฐ์ตัวอักษรที่ทำด้วยโลหะ เพื่อนำมาเรียงลงบนที่หนีบองุ่น นี่เป็นการประดิษฐ์แท่นพิมพ์แบบง่ายๆ ในปี 1448 และได้ชักชวน Johannes Fust ซึ่งเป็นเพื่อนที่มีอาชีพเป็นช่างทอง และนักกฎหมายมาลงทุนสร้างโรงพิมพ์หนังสือ ตามแนวคิดหลักที่ว่าให้ใช้แท่นพิมพ์ที่ตนประดิษฐ์ในการพิมพ์ และเมื่อจัดเรียบเรียงตัวอักษรใหม่ได้ก็จะทำให้ได้เนื้อความใหม่
          ความสำเร็จของเทคโนโลยีนี้ได้ถูกนำออกแสดงเป็นครั้งแรกในปี 1455 เมื่อผู้เข้าชมงานแสดงสินค้าที่เมือง Frankfurt ในเยอรมนี ได้เห็นคัมภีร์ไบเบิลที่ตีพิมพ์เป็นภาษาละติน โดยหน้าแรกของคัมภีร์มีสองคอลัมน์ และแต่ละคอลัมน์มี 42 บรรทัด แม้หนังสือเล่มนี้จะไม่มีชื่อบริษัทพิมพ์ แต่ผู้คนทุกวันนี้ก็รู้จักหนังสือเล่มนั้นในชื่อไบเบิลของ Gutenberg ซึ่งได้รับการจัดพิมพ์โดยใช้เครื่องจักรกลเป็นครั้งแรก
          แม้เทคโนโลยีการพิมพ์จะเกิดหลังจากที่ได้รู้จักการใช้แท่นพิมพ์ แต่การใช้ตัวอักษรที่ทำด้วยไม้ในการพิมพ์ ทำให้ขั้นตอนการพิมพ์ของจีนช้า และน่าเบื่อ Gutenberg ซึ่งไม่เคยอ่านประวัติเทคโนโลยีของจีน ได้ปฏิรูปเทคโนโลยีการพิมพ์ใหม่ จนเทคนิคนี้ก็ได้ถูกนำไปแพร่หลายทั่วโลกภายในเวลาไม่นาน สถิติการพิมพ์หนังสือได้เพิ่มถึง 30,000 รายการ ภายในปี 1500 และหนังสือที่เขียนด้วยลายมือเริ่มสาบสูญไปจากโลก ทุกคนมีหนังสืออ่านมากขึ้น และสามารถอ่านเนื้อหาที่หลากหลายได้มีผลให้งานเขียนของนักประพันธ์กรีก และโรมันเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างขึ้น และทำให้คนรักการเรียนมากขึ้น จนทำให้เกิดยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ส่วนการอ่านคัมภีร์ไบเบิลได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้คนธรรมดาสามารถเข้าถึงคำสอนของพระเจ้าได้โดยตรง แทนที่ต้องคอยฟังคำสอนจากบาทหลวง และการเข้าถึงประชาชนในลักษณะนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นการให้กำเนิดคริสต์ศาสนานิกาย Protestant
          ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์เทคโนโลยีการพิมพ์ สถิติการรู้หนังสือของประชาชนทั่วโลกค่อนข้างต่ำ เพราะในสมัยนั้นจะมีแต่นักบวช และกษัตริย์เท่านั้นที่รู้หนังสือ และเมื่อมีคนรู้หนังสือรู้มากขึ้น ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมก็เริ่มลด เพราะผู้คนรู้เท่าทันกันมากขึ้น และสามารถช่วยกันเสริมสร้างความรู้ ทำให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบันในที่สุด
          กระนั้นการเขียนจดหมายและการอ่านหนังสือก็ยังเป็นวิธีการที่ทุกคนในสมัยกลางใช้ในการสื่อสาร การได้อ่านประวัตินักวิทยาศาสตร์ในยุคของนิวตัน ทำให้รู้ว่า การเขียนจดหมายหรือส่งบันทึกถึงกันเป็นวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้กัน
          ปี 1660 เป็นปีสำคัญปีหนึ่งในประวัติสารสนเทศ เพราะในปีนั้น สมาคม Royal Society of London ถือกำเนิด และสมาคมได้ออกวารสารเพื่อเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ให้บรรดาสมาชิก และสังคมอ่าน ดังนั้น วารสาร Philosophical Transactions จึงถือกำเนิดในปี 1667 เป็นวารสารวิทยาศาสตร์ฉบับแรกของโลกให้นักวิทยาศาสตร์นำเสนองานวิจัยของตนให้สังคมได้รับรู้ วารสารนี้มีไอแซก นิวตัน กับเอดมันด์ แฮลลีย์ (Edmund Halley) และคริสโตเฟอร์ เรน (Christopher Wren) ประจำกองบรรณาธิการ
          อีกสองศตวรรษต่อมา การปฏิรูปเทคโนโลยีสารสนเทศก็เกิดขึ้นอีก เมื่อแซมมวล มอร์ส (Samuel Morse) ประดิษฐ์เครื่องรับ-ส่งโทรเลขได้ในปี 1837 โทรเลขได้ทำให้การสื่อสารไม่จำเป็นต้องใช้คน ม้า นก หรือเรือในการส่งข่าวอีกต่อไป จากเดิมที่การติดต่อต้องใช้เวลานานเป็นเดือน เพื่อให้ข้อความเดินทางข้ามทวีปและมหาสมุทร กลับเป็นว่าสัญญาณโทรเลขสามารถเดินทางจากที่หนึ่งถึงอีกที่หนึ่งได้ด้วยความเร็วแสง คือภายในช่วงเวลาที่ตายังไม่ทันกระพริบ แต่เทคโนโลยีนี้ก็ใช่ว่าจะประเสริฐ เพราะรหัสมอร์สที่ใช้ในการส่งสัญญาณเป็นจุด และขีด ทำให้การส่งและการอ่านข้อความไม่สะดวก ดังนั้น เมื่ออเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ประดิษฐ์โทรศัพท์ในปี 1875 โทรเลขก็เริ่มลดบทบาทลง และโทรศัพท์ได้เข้ามามีบทบาทในสารสนเทศมากขึ้น
          ก้าวใหม่แห่งยุคการสื่อสารสนเทศได้เกิดขึ้นอีกในปี 1901 เมื่อกูลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) ประสบความสำเร็จในการสร้างเครื่องรับ-ส่งวิทยุ โดยอาศัยสมบัติการสะท้อนคลื่นวิทยุในบรรยากาศโลกชั้นไอโอโนสเฟียร์ (ionosphere) สัญญาณวิทยุจึงสามารถเดินทางจากนิวฟาวด์แลนด์ (Newfoundland) ในแคนาดาถึงคอร์นวอลล์ (Cornwall) ในอังกฤษได้สำเร็จ และคุณค่าของวิทยุได้ปรากฏให้โลกประจักษ์ เมื่อเรือไททานิค (Titanic) ชนก้อนน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติกและอับปางลง ขณะเรือกำลังจม กัปตันเรือได้ส่งสัญญาณวิทยุขอความช่วยเหลือ ทำให้ลูกเรือที่อยู่บนเรือคาร์เพนเทีย (Carpenthia) ที่อยู่ไม่ไกลได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือ จึงเดินทางมาช่วยชีวิตผู้โดยสารร่วมพันคนได้ ความเสียหายที่มากมหาศาลในครั้งนั้นได้ผลักดันให้รัฐบาลนานาชาติออกกฎหมายบังคับให้เรือโดยสารทุกลำต้องส่งสัญญาณวิทยุติดต่อกับสถานียามบนฝั่งตลอดเวลาที่เรือเดินทาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
          ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 โลกมีเทคโนโลยีโทรทัศน์ให้ชาวโลกนับพันล้านคนได้เห็นเหตุการณ์มนุษย์อวกาศนีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) ก้าวเดินบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1961 และในเวลาไล่เรี่ยกัน โลกก็มีเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยเส้นใยนำแสง (fiber optics) และเลเซอร์ (laser) ที่อาเธอร์ ชอว์โลว์ (Arthur Schawlow) กับชาร์ลส์ ทาวน์ส (Charles Townes) ประดิษฐ์ในปี 1958 สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ได้ช่วยให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคสารสนเทศอย่างมีประสิทธภาพ
          สำหรับบทบาทของทรานซิสเตอร์ (transistor) ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์โดยวิลเลียม ชอกลีย์ (William Schockley) จอห์น บาร์ดีน (John Bardeen) กับวอลเตอร์ แบรตเทน (Walter Brattain) นั้น ได้ทำให้คอมพิวเตอร์ ENIAC ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (Pennsylvania) ในสหรัฐอเมริกามีบทบาทมากในการนำโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล เว็บและอินเทอร์เน็ต เพราะเว็บต้องพึ่งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และอินเทอร์เน็ตไม่สามารถทำงานได้ ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องพึ่งพาไมโครโพรเซสเซอร์ (microprocessor) ที่ต้องการวงจรรวม(integrated circuit (IC)) และต้องใช้ทรานซิสเตอร์ในการทำงาน
          การมีเว็บได้เพิ่มความเร็วในการสื่อสารขึ้นมาก จากเดิมที่เคยใช้โทรศัพท์ติดต่อกันระหว่างคนสองคน โลกได้นิยมใช้โทรทัศน์ และวิทยุในการติดต่อระหว่างคนหนึ่งคนกับอีกหลายคน ที่อาจไม่รู้จักกัน และเว็บสามารถทำให้ข้อมูลจากคนๆ หนึ่งเดินทางไปด้วยความเร็วแสงถึงคนจำนวนล้านได้ เมื่อความเร็วในการสื่อสารเป็นเช่นนี้ อินเทอร์เน็ตจึงเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศอีกรูปแบบหนึ่งที่คนนิยมใช้ในการทำงานร่วมกัน
          เมื่อคนบนโลกไม่มีปัญหาในการติดต่อถึงกันแล้ว ความก้าวหน้าขั้นต่อไปคือการสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาว ในวารสาร Nature ในเดือนกันยายน ปี 2007 คริสโตเฟอร์ โรส (Christopher Rose) และ เกรกอรี ไรท์ (Gregory Wright) ได้เสนอความเห็นเรื่องการสื่อสารสนเทศกับมนุษย์ต่างดาวว่าแทนที่จะส่งคลื่นวิทยุ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Arecibo ที่เปอร์โตริโก ซึ่งเป็นจานรับที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 100 เมตร และคาดหวังให้มนุษย์ต่างดาวรับสัญญาณได้ โรสและไรท์คิดว่าวิธีที่น่าจะดีกว่าคือส่งยานที่มีข้อมูลไปแทน โดยให้เหตุผลว่าเทคโนโลยีส่งคลื่นวิทยุต้องใช้พลังงานและเงินมากในการส่ง นอกจากนี้พลังงานส่วนใหญ่ก็จะสลายไปขณะคลื่นเดินทางผ่านอวกาศ ยิ่งถ้ามนุษย์ต่างดาวไม่รู้ว่ามนุษย์โลกส่งสัญญาณมาด้วยความถี่ใด สัญญาณก็จะไม่มีรายละเอียดใดๆ การติดต่อสื่อสารระหว่างโลกกับต่างดาวก็จะยาก แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีนาโน ที่จะสามารถบรรจุข้อมูล 1012 ไบต์ (byte) ลงบนวัสดุมวล 1 กรัมได้ง่ายๆ แล้วส่งตรงไปยังดาวเคราะห์ที่คาดว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่ การคำนวณเชิงเศรษฐศาสตร์แสดงให้เห็นว่าวิธีนี้จะคุ้มค่ากว่าและมีโอกาสประสบความสำเร็จในการติดต่อได้มากกว่า นั่นคือ โรสและไรท์เสนอแนะว่าการดักฟังสัญญาณใดๆ จากต่างดาวให้ผลสำเร็จน้อย แต่การส่งสัญญาณไป อาจจะทำให้ผลสำเร็จมากกว่า
          ครั้นเมื่อถึงศตวรรษที่ 21 นี้ ซึ่งเป็นยุคควอนตัม โลกก็กำลังจะมีเทคโนโลยีโทรคมนาการควอนตัม (quantum-teleportation) ใช้
          เราทุกคนคงมีประสบการณ์รถติดบนถนนนานเป็นชั่วโมง จนทำให้อยากจะเหาะออกไปจากรถที่คับแคบและขยับเขยื้อนแทบไม่ได้สู่จุดหมายปลายทาง ซึ่งอาจทำได้โดยการติดจรวดเทอร์โบที่ลำตัวแบบในภาพยนตร์ James Bond
          แต่ ณ วันนี้ โลกฟิสิกส์กำลังคิดวิธีใหม่ในการสลายสสารแล้วส่งไปรวมตัวกันใหม่ ณ สถานที่ห่างไกล โดยให้มีสถานะและสมบัติเหมือนสสารเดิมทุกประการ
          เรารู้ว่า สรรพสิ่งต่างๆ ประกอบด้วยสสารที่มีโมเลกุล และอะตอม ซึ่งอยู่กันเป็นโครงสร้าง หรือถ้าจะกล่าวเชิงวิชาการแบบฟิสิกส์ คือ สสารประกอบด้วยอนุภาคที่มีสถานะควอนตัม (quantum state) ต่างๆ
          ย้อนอดีตไปถึงปี 1993 ซึ่งเป็นเวลาที่นักฟิสิกส์เริ่มรู้จักคุณสมบัติประหลาดๆ ของระบบควอนตัม เช่น ว่ามี (1) ความพัวพัน (entanglement) และ (2) การไม่จำกัดให้อยู่เฉพาะที่ (non-locality)
          โดยสมบัติประการแรกนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ระบบอนุภาคควอนตัม (อนุภาคที่มีสมบัติซึ่งต้องอธิบายด้วยกลศาสตร์ควอนตัม) อันประกอบด้วยอนุภาคตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป โดยมีสถานภาพร่วมกันอย่างแยกเป็นอิสระจากกันไม่ได้ ส่วนสมบัติประการที่สอง หมายถึง การสามารถสังเกตเห็น (การวัด) สมบัติของอนุภาคควอนตัมที่อยู่ห่างกัน (คือในสถานที่ต่างกัน) ได้ ทั้งๆ ที่ขัดแย้งกับสามัญสำนึกด้านปริภูมิและเวลาของคนทั่วไป
          และเมื่อนักฟิสิกส์ตระหนักว่า อนุภาคควอนตัมมีสมบัติทั้งสองประการนี้ หลายคนก็รู้ในทันทีว่า เทคโนโลยีโทรคมนาการควอนตัมที่จะขนย้ายสถานะควอนตัมของอนุภาคหนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ แม้ผู้รับจะอยู่ไกลเพียงใดก็ตาม โดยที่สถานะควอนตัมของสสารที่ถูกส่งจะหายไป เพื่อไปปรากฏอยู่ ณ อีกสถานที่หนึ่งที่ผู้รับอยู่
          กระบวนการนี้มิใช่ การ copy หรือส่ง fax เพราะสถานะของอนุภาคที่ถูกส่งจะถูกทำลายแล้วสร้างใหม่ โดยในการทำโทรคมนาการนั้นอุปกรณ์ที่จำเป็นจะต้องมี คือ อุปกรณ์วิเคราะห์สถานะแบบ Bell (Bell-state analyser) ที่สามารถบอกความสัมพันธ์ระหว่างสถานะควอนตัม 2 สถานะได้ หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจคือในกรณีตัวอย่างที่มีเส้นตรงสองเส้นตัดกัน อุปกรณ์นี้ก็จะบอกเฉพาะมุมที่ตัดกัน โดยทั้งคนรับและคนส่งไม่จำเป็นต้องรู้ทิศของเส้นตรงแต่ละเส้น อุปกรณ์ Bell ทำงานได้เฉพาะกับระบบควอนตัมเท่านั้น อาศัยสมบัติความพัวพันของอนุภาค
          ในปี 1997 (คือ เมื่อ 21 ปีก่อน) D. Boschi กับคณะในอิตาลี และ D. Bouwmeester กับคณะในออสเตรียได้ประสบความสำเร็จในการสาธิตกระบวนการโทรคมนาการควอนตัมของอนุภาคแสง (photon) เป็นครั้งแรก โดยอาศัยเส้นทางคมนาคม 3 สาย คือ เส้นทางที่
          (1) ส่ง photon จากผู้ส่งไปยัง Bell-state analyser
          (2) ส่งอนุภาค photon (ที่พัวพันกับอีกอนุภาคหนึ่งไปที่ Bell-state analyser เช่นกัน เพื่อให้วิเคราะห์ความสัมพันธ์กับอนุภาคแรก
          และ(3) อนุภาค photon อีกอนุภาคหนึ่งที่พัวพันกับอนุภาค (2) ถูกส่งไปยังผู้รับ ซึ่งจะรับสัญญาณจาก Bell-state analyser มาแปลงอนุภาค photon ในมือ ให้เป็นอนุภาค photon ตัวแรกที่ถูกส่งมา
          หรือถ้าจะใช้สัญลักษณ์เพื่อให้เข้าใจกระบวนการดีขึ้น สมมติมี photon A ที่จะถูกส่งไป และมี photon B1 กับ B2 ที่มีความพัวพันกันเริ่มส่ง A และ B1 ไปที่ Bell-state analyser เพื่อให้วิเคราะห์ความสัมพันธ์กัน
          จากนั้นนำ B2 ไปให้ผู้รับ ซึ่งจะรับสัญญาณจาก Bell-state analyser มาแปลง photon B2 ให้มีสถานะควอนตัมเหมือน A
          ในปี 2017 จีนและออสเตรียได้ประสบความสำเร็จในการทำ quantum teleportation ได้ระยะทางไกลถึง 1,400 กิโลเมตรแล้ว
          อ่านเพิ่มเติมจาก Quantum Chance, Nonlocality, Teleportation and Other Quantum Marvels โดย N. Gisin จัดพิมพ์โดย Springer ปี 2014
          เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน
          ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
          อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "

(ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน, ประวัติเทคโนโลยีสารสนเทศจากยุคโบราณถึงยุคโทรคมนาการควอนตัม,ที่มา: https://m.mgronline.com/science/detail/9610000077064,วันที่ 26 ก.ย.2561)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วธ. จัดงานพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ ยกย่องชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมต้นแบบที่มีความโดดเด่น 248 แห่ง

วันที่ 18 เมษายน 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒ...