ปรัชญาพุทธปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานเสริมสร้างสันติภาพโลก : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน
หลังจากที่ได้ติดตามปรัชญาคณิตศาสตร์มาระยะหนึ่งทำให้เกิดความคิดว่า ตามที่ได้เรียนปรัชญามานั้นไม่เสียหลายเลย สามารถนำปรับใช้ชีวิตการงานสื่อ เพราะว่ามีพื้นฐานของการประนีประนอมสูงไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง โดยจะหาข้อมูลและวิเคราะห์ก่อนถึงจะสังเคราะห์ว่าแนวคิดใดถูกผิดอย่างไร แม้ว่าจะเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ปลายเปิดหรือเปิดโอกาสไว้เสมอ
หลังจากที่ได้เรียนหลักธรรมในพระพุทธศาสนาจนจบนักธรรมชั้นเอกและบาลีทำให้มีพื้นฐานที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาตรี และเมื่อขึ้นปี 3 ได้เลือกเรียนเอกปรัชญาเพราะเห็นว่าหากเรียนพุทธศาสนาแล้วจะทำให้ไม่รู้หลักปรัชญาเลย แต่หากเรียนปรัชญาถือได้ว่าามีความรู้ทั้งสองทาง หลังจากเรียนจบแล้วต้องการที่จะเรียนปริญญาโทต่อแต่ไม่มีวาสนาเรียนจบ แต่ก็พยายามที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปรัชญาอยู่เสมอจากตำราต่างๆ ยอมรับแม้ว่าจะจบปริญญาตรีแล้วก็ใช้ว่าจะเข้าใจหลักปรัชญารู้เพียงเป็นแนวทางเท่านั้น
การเรียนปรัชญานั้นมีเนื้อหาตั้งแต่ปรัญชากรีก เป็นต้นมาจนถึงปรัชญาร่วมสมัย แต่ติดใจในปรัชญาภาษาของลุดวิก วิตเกนสไตน์ ก็ไม่เข้าใจหรอกว่าแนวปรัชญาของเขาเป็นอย่างไร เมื่อทำงานด้านสื่อมวลชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาษาชื่อของเขาก็อยู่ในสมองเสมอ
เมื่อเรียนต่อในระดับปริญญาโท สาขาสันติศึกษาอีกครั้ง ตอนอายุมากแล้ว ทำให้รู้สึกว่าการที่เราเรียนปรัชญานั้นมีประโยชน์อย่างมากๆ เพราะว่าการเรียนปรัชญานั้นเป็นการเรียนแนวทางคิดของคน พอมาเรียนปริญญาโทต้องใช้ความคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ตรงกับจินตามยปัญญาและภาวนามยปัญญา จึงทำให้คิดใหญ่เลยจนฟุ้งไม่มีกรอบ และได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อสันติภาพ จึงทำให้ได้ศึกษาหลักนิเทศศาสตร์และเข้าใจทฤษฎีการสื่อสารมากขึ้นจึงทำให้สามารถโยงกับปรัชญาภาษาของวิตเกนสไตน์ได้บ้าง
เมื่อเรียนต่อในระดับปริญญาเอกก็ยังคงเกี่ยวกับการสื่อสารเช่นเดิม แต่เป็นลักษณะการใช้สื่อออนไลน์เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ขณะเดียวกันในช่วงนี้กระแสปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอหรือหุ่นยนต์มาแรง จึงเกิดความสนใจเพราะว่าเกี่ยวข้องกับปัญญาที่เราชอบอยู่แล้ว ก็ตั้งใจไว้ว่าจะศึกษาให้ชัดเจน จึงได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเอไออย่างต่อเนื่องและพยายามที่จะเชื่อมโยงกับปัญญาในพระพุทธศาสนากระตุ้นให้พระสงฆ์สนใจ โดยได้ถ่ายทอดข้อมูลมาเป็นเป็นข่าวบ้างรายงานบ้าง
และช่วงนี้เองได้ติดตามปรัญชาคณิตศาสตร์ผ่านทางเฟซบุ๊กของพระมหาสมบูรณ์ วุฒิกโร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผ่านมาหลายตอนกล่าวถึงนักปรัชญาที่มีแนวความคิดเกี่ยวกับปรัชญาคณิตศาสตร์หลายคน จนมาถึงแนวคิดของวิตเกนสไตน์ โดยได้ระบุว่า แนวความคิดปรัชญาคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวส์เตอร์ หุ่นยนต์ จึงทำให้รู้สึกตื่นเต้นที่จะศึกษาต่อไป
พร้อมกันนี้ก็เกิดความคิดว่านักปรัชญายุคหลังๆนี้มีหลายคนที่มีแนวความคิดสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงทำให้เกิดความคิดว่า นักปรัชญาเหล่านี้น่าจะได้ศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาบ้างแน่เลย ดูอย่างโยฮัน กัลตุง นักปรัชญาสันติภาพบั้นปลายชีวิตก็หันมาศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาจนกระทั้งสามารถเขียนหนังสือเรื่อง "พุทธสันติวิธี" หรือไม่แม้แต่ความคิดเรื่องสายกลางนี้ก็มีนักปรัชญายุคใหม่กล่าวถึง
มาถึงจุดนี้จึงทำให้เกิดความคิดน่าที่จะศึกษาวิจัยเรื่อง "ปรัชญาพุทธปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานเสริมสร้างสันติภาพโลก" เพราะเครื่อมือเสริมสร้างสันติภาพโลกที่ทรงประสิทธิภาพนั้นคือการสื่อสารที่จะนำแนวคิดสันติภาพฉีดเข้าไปในกระแสเลือดมนุษย์ทุกระดับชั้น และตัวช่วยการสื่อสารที่ทรงพลังคือปัญญาประดิษฐ์โดยเสริมด้วยหลักพุทธสันติวิธีถึงจะตามทันรู้ทันนักแสวงอำนาจโลกได้
แต่ก็ชื่นที่ปัจจุบันนี้มีพระสงฆ์ในสังคมไทยที่ศึกษาติดตามเรื่องปัญญาประดิษฐ์เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชากรของสังคมไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น