วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561
'บงกชธร บำรุงพืช'สิ้นใจ! ปิดตำนานรังพระบูชา
ปิดตำนานรังพระบูชา ! ในวันที่ 'บงกชธร บำรุงพืช' ผู้ชำนาญพระพุทธรูปยุคเก่า หมดลมหายใจ ชาตะ ๑๓ กันยายน ๒๕๑๔ มรณะ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๑ อายุ ๔๗ ปี ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
ในที่สุดสมบัติก็ผลัดกันชมจริงๆ ในวงการนักสะสมพระเครื่อง พระบูชา มีคำพูดอยู่วลีหนึ่งที่ถือเป็น อมตะวาจา หรือ สัจธรรมอันแท้จริง ก็คือ "สมบัติผลัดกันชม" อันหมายถึง พระเครื่องพระบูชาก็ดี ของเก่าเครื่องลายครามก็ดี ย่อมมีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือ จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง หรือ จากคนรุ่นเก่ามาสู่ยุค มีนักสะสมพระเครื่องพระบูชาหลายคน บอกว่า การสะสมของเขานั้น เพื่อเก็บไว้ให้ลูกหลาน ของที่ซื้อไว้จะไม่มีการแบ่งปันให้คนอื่นเช่าต่ออย่างเด็ดขาด
คนที่พูดเช่นนี้ อาจจะเป็นจริงอยู่ระยะหนึ่งเท่านั้น เมื่อวันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป สักวันหนึ่งเขาก็ต้องเอาของเหล่านั้นออกมาขายต่อจนได้ จะด้วยเหตุผลเพราะเกิดความอิ่มตัว ความเบื่อ หรือวิกฤตทางการเงิน ก็สุดแล้วแต่ ตัวอย่างมีมาแล้วมากมาย ความจีรังยั้งยืน แท้จริงแล้วก็คือ ความไม่จีรัง นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมพระเครื่องพระบูชา ในทุกวันนี้มีการเปลี่ยนมืออยู่เสมอ จนทำให้ธุรกิจวงการพระมีการซื้อขายอยู่เป็นประจำ และนับวันจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้ว่า ในทุกวันนี้ มีคนหนุ่มจำนวนไม่น้อย หันมาทำธุรกิจด้านนี้
และด้วยความรู้ความสามารถสูง มีการพัฒนาอยู่เสมอ จึงทำให้คนหนุ่มสายเลือดใหม่ ในวงการพระทุกวันนี้ ประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายนี้อย่างน่าภาคภูมิใจ และหนึ่งในจำนวนนั้น ก็คือ "บงกชธร บำรุงพืช" หรือ "คำนวณ บำรุงพืช" อดีตผู้ชำนาญพระพุทธรูปยุคเก่า รวมทั้งพระชุดเบญจภาคี และพระหลักยอดนิยมทุกประเภท ด้วยวัยที่ยังไม่ถึงเลข ๔ แต่มีโอกาสเป็นเจ้าของพระพุทธรูปองค์ดังๆ ชนิดหนึ่งเดียวของวงการพระเมืองไทย มาแล้วมากมาย ด้วยมูลค่ารวมกันแล้วหลายๆ ล้านบาทขึ้นไป
บงกชธร หรือ ที่เพื่อนฝูงวงการพระเรียกกันว่า "นวณ" (คำนวณ) เป็นชาวตลิ่งชัน ฝั่งธนบุรี โดยกำเนิด เติบโตขึ้นมาก็รู้จัก พระเครื่อง แล้วตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก เพราะมี คุณลุง เป็นนักสะสมพระมาก่อน รุ่นเดียวกับ สำราญ บางแค เซียนพระอาวุโส ที่คนรุ่นเก่ารู้จักกันดี
เมื่อครั้งที่มีชีวิตอยู่ พี่คำนวณ ได้ให้สัภาษณ์ ไตรเทพ ไกรงู ไว้ว่า "สมัยที่ผมยังเรียนหนังสือ ก็มีโอกาสเห็นพระของคุณลุงแล้ว ส่วนมากคุณลุงจะเช่าหาพระสมเด็จ วัดระฆัง บางขุนพรหม รวมทั้งพระหลักๆ ทั่วไป ทำให้ผมมีโอกาสได้ศึกษาส่องดูองค์พระเหล่านั้นอย่างใกล้ชิดเสมอๆ โดยคุณลุงได้แนะนำสั่งสอนให้ด้วย ก็จำได้บ้าง บางครั้งได้ติดตามคุณลุงไปสนามพระ ก็ได้ดูพระของเซียนคนอื่นๆ ด้วย ตรงนี้ทำให้ผมเกิดความสนใจขึ้นมามากทีเดียว ในบางครั้งถึงกับกล้าซื้อพระด้วยตนเอง พอเอามาให้คุณลุงดู ก็มีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง คุณลุงก็สอนสั่งให้ในสิ่งที่ได้พลาดผิดมาก่อน จนจดจำไว้เป็นบทเรียน ต่อมาเวลาไปพบเห็นพระองค์ไหนที่ผิดหูผิดตา พอจะอนุมานได้ว่า เป็นพระปลอมแน่นอน ก็ไม่ซื้อเอาไว้"
ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาโดยตลอด ประกอบกับการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้บงกชธรมีความเชี่ยวชาญชำนาญขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นว่า การสะสมพระเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่สามารถทำเป็นอาชีพได้ ประกอบกับมีพรรคพวกเพื่อนฝูง และรุ่นพี่ๆ ในวงการพระมากมาย พี่คำนวณจึงไปเปิดร้านพระขึ้นที่ห้างเดอะมอลล์ท่าพระอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนย้ายไปอยู่ที่มณเฑียรพลาซา สุรวงศ์ โดยร่วมกับ อี๊ด เมืองโบราณ
พี่คำนวณดำเนินกิจการธุรกิจพระเครื่องพระบูชาอย่างเต็มตัว ทำอยู่ได้ ๒-๓ ปี ก็ย้ายมาอยู่ที่ร้าน พรปู่ศุข บนชั้น ๓ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน ในชมรมพระเครื่องมรดกไทย จนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีธุรกิจอื่นทำอยู่ด้วย พี่คำนวณจึงไม่ค่อยปรากฏตัวที่ร้านพระบ่อยนัก และบางคนก็ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงกันมากนัก นอกจากคนที่สนิทสนมกันจริงๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่พี่คำนวณจะเช่าหาพระพุทธรูป หรือพระบูชาเป็นหลัก ส่วนพระเครื่องก็มีพระสมเด็จ พระชุดเบญจภาคี พระหลวงปู่บุญ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เพราะใจชอบทางนี้มากกว่า โดยเฉพาะพระพุทธรูป องค์ดังๆ ในอดีตของท่านเป้า ผมเฝ้าติดตามเช่ามาโดยตลอด ล่าสุดได้พระบูชาชุด ๓ เศียร (เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง) ที่ได้ชื่อว่าเป็นชิ้นเอกของวงการพระบูชาเมืองไทย ที่เคยโชว์ในงานประกวดพระ ธนาคารศรีนคร สำนักงานใหญ่ สวนมะลิ เมื่อปี ๒๕๑๙
หลังจากท่านเป้ามรณภาพ พระ ๓ องค์นี้ไปตกอยู่ที่เซียนใหญ่ท่านหนึ่ง แล้วพี่คำนวณก็เพิ่งไปได้มาเมื่อไม่มานานนี้เอง ในราคาหลายสิบล้านบาท ในงานประกวดพระที่ศูนย์ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พี่ต้อย เมืองนนท์ ได้ขอให้เอาพระชุดนี้ไปโชว์ในงานวันนั้นด้วย
การสะสมพระพุทธรูปยุคเก่าๆ พี่คำนวณ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะพระแต่ละองค์มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น พระพุทธรูปรุ่นเก่าปั้นแบบพิมพ์ทรงทีละองค์ ไม่มีแม่พิมพ์ที่จะหล่อได้เหมือนกันคราวละหลายๆ องค์ ผิดกับพระเครื่อง ที่มีแม่พิมพ์เป็นหลัก จะปั๊มออกมาเท่าไรก็ได้ ความภูมิใจของพี่คำนวณนักสะสมพระพุทธรูป คือ พระแต่ละองค์มีเพียง ๑ เดียวเท่านั้น ฉะนั้น หากสามารถจดจำพุทธศิลป์ของช่างแต่ละสมัย แต่ละเมือง หรือฝีมือช่างแต่ละท่านได้ ก็สามารถพิจารณาได้ถึงความแท้แน่นอน โอกาสพลาดมีน้อย ในส่วนของพระเครื่อง เป็นการสร้างขึ้นด้วยแม่พิมพ์ พระแต่ละพิมพ์จึงมีจำนวนมากกว่า ๑ องค์ การพิจารณาจึงอาจจะง่ายว่าพระพุทธรูป ที่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
พี่คำนวณ เคยแนะนำว่า การพิจารณาพระเครื่อง จึงต้องดูที่ พิมพ์ทรงองค์พระ เป็นหลัก หากพิมพ์ผิดก็ต้องไม่ต้องดูอย่างอื่น หากพิมพ์ถูกจึงค่อยพิจารณาในเรื่องเนื้อหามวลสาร เพราะเนื้อพระแต่ละสภาพที่ย่อมแตกต่างกัน โดยเฉพาะพระฝังกรุในแต่ละแห่งที่มีสภาพไม่เหมือนกัน เนื้อพระจะไม่เหมือนกัน ถ้าหากสามารถจดจำเนื้อพระได้ ผิดถูกต้อง ก็โอเค เป็นพระแท้แน่นอน
พี่คำนวณ ยังเคยบอกด้วนว่า คนส่วนใหญ่ พอหันมาเข้าวงการพระก็จะหาพระสมเด็จ วัดระฆัง ทันที โดยไม่ศึกษามาก่อนว่า พระสมเด็จ วัดระฆัง มีกี่พิมพ์ มีกี่เนื้อ แตกต่างกันอย่างไร ก็เช่าหากันโดยไม่มีความรู้ โอกาสจะได้พระแท้ย่อมยากมาก โดยเฉพาะพระราคาไม่แพง หรือพระให้กันฟรีๆ จะเป็นพระสมเด็จ วัดระฆัง หรือ กรุบางขุนพรหม พระสมเด็จเกศไชโย ไปได้อย่างไร...เป็นข้อคิดที่คนชอบพระสมเด็จ ต้องศึกษาพิจารณาไว้ก่อน
นอกจากนี้ พี่คำนวณ ยังแนะนำว่า การศึกษาเรื่องพระ ควรจะเริ่มจากพระที่มีราคาถูกๆ ไปก่อน เมื่อมีความรู้ดีขึ้น แม่นขึ้น จึงค่อยขยับพระที่แพงกว่าขึ้นไปทีละก้าว พร้อมกับศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้นด้วย ก็ย่อมจะได้พระหลักยอดนิยมที่มีราคาแพงขึ้นด้วย วงการพระยังก้าวไกลไปอีกมาก เพราะมีคนรุ่นใหม่หันมาสนใจสะสมพระกันมากขึ้น ในขณะที่พระหลักๆ พระเก่าๆ มีน้อยลง เพราะพระมีจำนวนจำกัด แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งที่คนรุ่นเก่าถึงจุดอิ่มตัว เกิดความเบื่อ ก็ย่อมมีการถ่ายเทพระเก่าเก็บออกมาหมุนเวียนเปลี่ยนมือกันไป ตามวัฏจักรของสังคม คือ สมบัติผลัดกันชม คนรุ่นใหม่ ใจถึงกว่า พัฒนาได้รวดเร็วกว่า ก็เข้ามาแทนที่ ด้วยเหตุนี้ วงการพระจึงสามารถยืนอยู่อย่างยั้งยืนไปอีกนานเท่านาน หากผู้ศรัทธาสนใจจริง และมีความจริงใจต่อกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน ย่อมยืนอยู่ในวงการนี้ได้ตราบเท่านิรันดร์กาล
ไตรเทพ ไกรงู ระบุด้วยว่า ไม่ได้รู้จักอะไรกับพี่นวณอะไรเป็นการส่วนตัว แต่สิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุด คือ "ผมเป็นคนเดียวเท่านั้น ที่เขียนประวัติพี่นวณไว้บนโลกออนไลน์ ให้คงอยู่ไปเท่านิรันดร์กาล เดินทางสู่ภพชาติใหม่ที่ดีนะครับ"
ธูปดอกสุดท้าย....แด่ พี่คำนวณ บำรุงพืช ผู้วายชนม์ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๑
ธูปดอกสุดท้ายแม้ว่า... เราจะไม่อยากจุดให้ใครสักคน แต่ความจริงเราก็ต้องจุดมันให้ใครหลายๆ คน ครั่งแล้วครั้งเล่า
ธูปดอกสุดท้าย....
เราไปจุดธูปดอกสุดท้ายไว้ที่วัดโน้นที วัดนี้หน แต่ถ้าเป็นวัดใกล้บ้านเราอาจจะไปจุดทุกๆ เดือน
ธูปดอกสุดท้าย....
นานๆครั้งจะได้ไปจุดที่บ้าน ตามจำนวนสายเลือด เวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
ธูปดอกสุดท้าย....
สุดท้ายและท้ายทีสุดแล้ว ธูปดอกสุดท้ายที่เราเคยไปจุดให้ใครหลายคน มันก็เวียนมาถึงคิวของเรา ใหใครหลายๆ คนก็กลับมาจุดให้เราเช่นกัน
ธูปดอกสุดท้าย....
และเมื่อถึงเวลาไม่ต้องร้องไห้ และไม่ต้องเสียใจใดใดนะ ขออโหสิกรรมทุกการการทำและความคิด ของ traithep graingu (คนฝังหมา)
ก่อนที่จะจุดธูปดอกสุดท้าย....
"จงทำทุกวัน ให้เหมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิต"
ธูปดอกสุดท้าย....
จงคิดอยู่เสมอๆ ว่า"....ชาติหน้ากับชาตินี้... มีแค่เพียงเส้นบางๆ กั้นไว้ จนเกือบจะกลายเป็นเส้นเดียวกัน
ก่อนที่จะจุดธูปดอกสุดท้าย....
หลับ...ไปเมื่อคืนนร้เราอาจจะไม่ได้ตื่นในวันรุ่งขึ้น แต่วันนี้เราตื่นเราต้องทำดีให้ถึงที่สุด ทำให้เหมือนวันสุดท้าย
ผมขอเชิญชวนเพื่อฟ้องน้องพี่ ไปจุด
ธูปดอกสุดท้ายส่งพี่นวณ
ณ ศาลา ๑ วัดศาลาแดงใกล้ๆ สนามหลวง ๒ ระหว่างวันที่ ๒๕ ถึง ๒๖ ก.ย. วันที่ ๒๗ ก.ย. ทำกงเต๊ก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: บาลีที่รัก
เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ "บาลีที่รัก" บทนำ แนะนำตัวละครและฉากหลัง ทองสุข : ชายหนุ่มนักเขียนนิยายอิงธรรมะที่มีความรู้ด้านบาลีจ...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น