วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีตอนบน สนองพระราชดำริป้องท่วมชัยภูมิ

  



“...เขื่อนเก็บกักน้ำลำน้ำชี พิกัดทำเลที่สร้างเขื่อน 47 PQT 886-650 แผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ระวาง 5340 IV ในเขต อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ซึ่งกรมชลประทานวางโครงการจะก่อสร้างขึ้นนั้น ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำมาก เพราะพื้นที่ถูกน้ำท่วมเป็นอ่างเก็บน้ำถึง 190,000 ไร่ ประกอบกับมีราษฎรอาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมากด้วย ทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินของอ่างเก็บน้ำแห่งนี้กระทำได้ยากมาก จึงควรพิจารณาเลื่อนเขื่อนเก็บกักน้ำลำน้ำชีมาก่อสร้างใต้ลงไปที่พิกัด 47 PQT 984-485 แผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ระวาง 5340 ซึ่งอ่างเก็บน้ำอาจจะเล็กลง แต่ปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำมีน้อยสามารถทำการก่อสร้างได้ และควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำทางบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลำน้ำสาขาต่างๆ ของลำน้ำชีเพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่มีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในระยะฤดูฝน-ฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปีด้วย...” 



กระแสพระราชดำรัสความตอนหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริให้ลดขนาดและเลื่อนตำแหน่งที่ตั้งลงมาเพื่อแก้ปัญหาการอพยพ ราษฎรและได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  ณ กรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526



อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้ศึกษาและจัดทำรายงานความเหมาะสมอ่างเก็บกักน้ำลำน้ำชี  ตั้งแต่ปี 2514และเสนอให้ดำเนินการก่อสร้าง  แต่ประสบปัญหาการอพยพราษฎร 



ลำน้ำชีมีต้นกำเนิดมาจากเขายอดชีในเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่าน จ.เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี  จะเห็นว่าทุกๆ ปีในช่วงหน้าฝน สองฝั่งลำน้ำจะต้องประสบปัญหาน้ำนองซ้ำซากตลอดลำน้ำ ขณะช่วงหน้าแล้งผืนดินแห้งผากขาดน้ำมาหล่อเลี้ยง  โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หนึ่งในโครงการที่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาดังกล่าว    เนื่องจากจะสามารถตัดยอดน้ำลำน้ำชี ป้องกันปัญหาการเกิดอุทกภัยในช่วงท้ายน้ำ ได้นอกจากนี้ยังจะทำให้มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง  และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร อย่างพอเพียงอีกด้วย



ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เผยความคืบหน้าโครงการฯว่า สทนช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้น้อมนำพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาขับเคลื่อน และผลักดันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งน้อมนําศาสตร์พระราชามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2562 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญภายใต้คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ(กนช.) ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจำนวน 9 โครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ 



“โครงการน้ำชีคืออ่างเก็บน้ำยางนาดีเดิม เป็นโครงการตามผลการศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน ซึ่งได้เริ่มศึกษาเมื่อปี 2507 โดย USBR (United State Bureau of Reclamation) และได้ศึกษาโดยละเอียดอีกครั้งในปี 2514 จึงได้มีการเสนอให้ก่อสร้างเขื่อนน้ำชี เขื่อนผันน้ำที่บ้านยางนาดี และเขื่อนกั้นลำชีลอง แต่ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เนื่องจากต้องอพยพราษฎรจำนวนมาก ต่อมาในปี 2527 กรมชลประทานได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมยุโรปและได้มีการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบนอีกครั้ง ผลการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2531 และได้กำหนดให้โครงการเขื่อนชีบนและเขื่อนยางนาดี อยู่ในแผนระยะกลาง”



เลขาธิการ สทนช. เผยต่อว่า เนื่องจากอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีฯ เป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทานจึงได้ศึกษาแล้วเสร็จและแจ้งผลการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2540 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2540 โดยมีมติเห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องอื่นๆ ให้ศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของบริเวณพื้นที่จัดสรรอพยพเพื่อหามาตรการปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสม รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยต่างๆ ให้ชัดเจนและให้ปรับปรุงแก้ไขรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนปฏิบัติการแก้ไข  



พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลด้านการแพร่กระจายของดินเค็มเพิ่มเติมในเขตพื้นที่โครงการ และจัดทำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาอีกครั้ง โดยกรมชลประทานได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 นอกจากนี้ให้กรมชลประทานพิจารณาการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์จากการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยควรพิจารณาทั้งลุ่มน้ำและให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาศึกษาแนวทางการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่โครงการที่จะจัดเป็นพื้นที่ชลประทานต่อไปในอนาคตว่า พืชชนิดใดที่เหมาะสมกับพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจะได้นำผลการศึกษามาปรับแนวทางการพัฒนาการเกษตรของพื้นที่โครงการให้เหมาะสมต่อไป 



“โครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ(กนช.) เรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 6 ปี (2561-2566) ซึ่งในปี 2561 เป็นงานเตรียมความพร้อมเบื้องต้น โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. ประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 33 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างถนนเข้าหัวงาน อาคารที่ทำการ งานถมดินปรับพื้นที่ ขยายเขตระบบไฟฟ้าแรงสูง และงานหอถังสูง ขนาด 10 ลูกบาศก์เมตร พร้อมอุปกรณ์ โดยประธาน กปร.อนุมัติเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา” ดร.สมเกียรติกล่าว



สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีฯ เป็นเขื่อนดิน ความสูง 24 เมตร ความยาว 1,580 เมตร ความกว้าง 9 เมตร ความจุกักเก็บน้ำ 70.21 ล้าน ลูกบาศก์เมตรความจุของอ่างฯ ที่ระดับน้ำสูงสุด 118.87 ล้านลูกบาศก์เมตร มีอาคารระบายน้ำล้นชนิดประตูระบายเหล็กบานโค้ง 6 บาน มีอาคารส่งน้ำเดิมท่อส่งน้ำ 2 แถว พื้นที่ส่งน้ำ 165,300 ไร่ มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2566 ด้วยงบประมาณ 3,100 ล้านบาท



เมื่อแล้วเสร็จจะสร้างประโยชน์ทั้งด้านเกษตรกรรม สามารถส่งน้ำตามลำน้ำชีมีพื้นที่ได้ประโยชน์ในฤดูฝน 75,000 ไร่ ฤดูแล้ง 30,000ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 12 ตำบล ราษฎร 2,959 ครัวเรือนได้รับผลประโยชน์ตลอดอายุโครงการ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใช้สำหรับหล่อเลี้ยงลำน้ำชีในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการเกิดอุทกภัยในฤดูฝนและภัยแล้งช่วงหน้าแล้งได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: บาลีที่รัก

  เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ "บาลีที่รัก" บทนำ แนะนำตัวละครและฉากหลัง ทองสุข : ชายหนุ่มนักเขียนนิยายอิงธรรมะที่มีความรู้ด้านบาลีจ...