วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561
อิ่มอีสาน!เส้นทางสายสกลนคร-บึงกาฬ
อาหารเป็นวัฒนธรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของคนแต่ละท้องถิ่น เป็นอีกประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวจะได้เปิดหูเปิดตา เปิดประสาทสัมผัสแห่งการรับรสที่แปลกและแตกต่างออกไป และหากกล่าวถึงเรื่องราวของอาหารอีสาน คำว่า “แซ่บ” ก็ลอยมาแต่ไกล ซึ่งแซ่บที่ว่านั้น ไม่ได้มีแค่เรื่องความอร่อย แต่เต็มไปด้วยความสนุก อันเป็นวิถีของชาวอีสาน
จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนสุดของประเทศไทย เป็นอีกดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทั้งน้ำตก ภูเขา และศิลปวัฒนธรรม และมีวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ไทย-ลาว อันเป็นเสน่ห์ที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยความงดงาม
วันนี้เราเดินทางไปจังหวัดบึงกาฬ กับเส้นทางอาหารบอกเล่าเรื่องราวชาวอีสาน ภายใต้โครงการส่งเสริมนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยครั้งนี้เราออกเดินทางโดยเครื่องบิน ไปยังจังหวัดสกลนคร แต่ก่อนที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่บึงกาฬ เราแวะชมวิถีความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนในจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในของดีที่ไม่ควรพลาดกันก่อน
ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน
ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน เป็นชุมชนเล็กๆ บนเทือกเขาภูพาน ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนาทำสวน แต่เมื่อว่างจากอาชีพหลัก พวกเขาก็ใช้เวลาว่างไปกับการทอผ้าและย้อมผ้า ซึ่งมีเอกลักษณ์จากผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาประจำถิ่น เดิมทีทำไว้เพื่อสวมใส่ แต่ก็ได้รับความสนใจจากคนภายนอก จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม ซึ่งมาจาก “ต้นคราม” ที่ เกิดขึ้นตามธรรมชาติในหมู่บ้าน หนองส่าน อ.โคกภู จ.สกลนคร
นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมกระบวนการทำผ้าฝ้าย และการย้อมคราม ซึ่งมีวิธีการมัดย้อมหลากหลายรูปแบบ ใครอยากจะลองลงมือทำด้วยตัวเองก็ได้ ลวดลายต่างๆ ไม่มีสูตรตายตัว มัดออกมาแม้จะคล้ายคลึงกันตามวิธีการ แต่รับรองว่าไม่มีซ้ำ แถมสินค้าต่างๆ ก็ไม่มีขายที่ไหน เพราะทำแค่พออยู่พอขาย ใครอยากได้ก็ต้องมาซื้อที่หมู่บ้านนี้เท่านั้น
สวนเกษตรโสมมนัสฟาร์ม
ใกล้ๆ กัน ที่สวนเกษตรโสมมนัสฟาร์ม เป็นไร่น่าสวนผสม แหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรที่แสนน่ารัก จาก “ป้าอ้อย” ผู้เป็นเจ้าของ พื้นที่ราว 20 ไร่ ถูกออกแบบให้มีทั้งส่วนของนาข้าว สระเลี้ยงปลา ไม้ผล และไม้ยืนต้น พร้อมผักสวนครัวที่อาศัยร่มเงาอีกนานาชนิด รวมทั้ง “บอนแคน” ผักพื้นบ้านที่เด็ดมาผัดกินหรือจะลวกกินกับน้ำพริกก็ได้
ที่นี่มีการรวมตัวของคนในชุมชน เป็นกลุ่มแม่บ้านที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็จะจัดแจงวัตถุดิบต่างๆ มาปรุงเป็นอาหาร โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมลงมือทำเมนูพื้นบ้านต่างๆ วันนี้เรามีเมนู “แกงหน่อไม้” อันเป็นเมนูหลักของชาวอีสาน ทำจากหน่อไม้บงหวานในพื้นที่ ซึ่งจะออกรสชาติหวานกำลังกินในช่วงหน้าฝน แถมได้เรียนรู้เคล็ดลับการทำ “ข้าวเบือ” ที่ใช้ข้าวเหนียวมาตำกับใบย่านาง เป็นเครื่องปรุงรสให้กับอาหารต่างๆ เพิ่มความนัวและเหนียวข้น คล้ายๆ หน้าที่ของกะทิ นอกจากนั้นยังมีเมนู “ต้มไก่ดำภูพาน” ซึ่งเป็นไก่บ้านที่เลี้ยงไว้ในท้องถิ่น ฯลฯ นั่งกินกินชายนา เป็นที่สนุกสนาน
ผู้ที่สนใจท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน ติดต่อได้ที่ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน โทร. 098 476 3184เว็บไซต์: WWW.FACEBOOK.COM/BANNONGSAN
กินอยู่ริมโขง นอนโฮมสเตย์บ้านหอคำ
บ้านหอคำ หรือ หมู่บ้านหอคำ ชุมชนริมโขง จังหวัดบึงกาฬ เป็นอีกสถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเยี่ยมชม หรือพักผ่อนในโฮมสเตย์ของทางชุมชนที่ เรียกว่าเป็นชุมชนโฮมสเตย์ที่ยังใหม่มาก โดยมีหมู่บ้านในเครือข่ายให้บริการกับนักท่องเที่ยวราว 13 หลัง โดยมีแม่ประเนีย ทีหอคำ เป็นประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหอคำ และประธานกลุ่มโฮมสเตย์
วันนี้เราเข้าพักที่ “รับลม ชมโขง โฮมสเตย์” ของคุณแม่ประเนีย บ้านไม้ 2 ชั้น ริมฝั่งโขง วิวที่พักหลักพันหลักแสนในราคาค่าเข้าพักพร้อมอาหารเพียงหลักร้อยต่อคน บ้านหลังนี้มี 2 ห้อง พร้อมลานปูนอนได้อีกหลายท่าน มีครัวกลาง พร้อมอาหารเช้า เที่ยง หรือ เย็น ตามที่ต้องการ เมนูหลักๆ ก็จะเป็นอาหารพื้นบ้านแบบชาวอีสาน โดยเฉพาะเมนูปลาจากแม่น้ำโขง ที่นำมาต้ม หรือ ลาบ กินกับผักสดหรือผักต้ม จิ้มข้าวเหนียวกันอย่างอร่อยเหาะ รวมทั้งเมนูพิเศษ “ปลาร้าราดพริก” สูตรของแม่ประเนีย ที่จะแตกต่างจากที่อื่น ด้วยลาร้าทอดที่ไม่แห้งเกินไป นำมาราดพริกที่ข้นหอม รสชาติเค็ม หวาน เปรี้ยวนิดๆ ลงตัว กินกับข้าวสวยก็ได้ กินกับข้าวเหนียวก็เจริญอาหารไปกันใหญ่
ที่นี่ยังมีการแปรรูปลูกหยียักษ์ เป็นสินค้าโอทอป 4 ดาว ซึ่งมีทั้งลูกหยีที่มาจากภาคใต้ และลูกหยีขนาดยักษ์ที่มาจากฝั่งลาว ใครอยากเรียนรู้วิธีการแปรรูปก็ติดต่อเข้ามาได้ ยามเช้าที่บ้านหอคำ เรายังได้ร่วมตักบาตรกับชาวบ้านอีกด้วย (ติดต่อท่องเที่ยวโฮมสเตย์บ้านหอคำ โทร.097-314 0299 หรือ 085- 007 -2460)
กลุ่มทอผ้าฝ้ายหมักโคลนนาคีบ้านสะง้อ
บ้านสะง้อ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ กับบ้านหอคำ มีวิถีริมฝั่งโขงเช่นเดียวกัน แต่ที่นี่มีของดีอีกอย่าง ที่เราไม่อยากให้ใครพลาด จากบ่อโคลนธรรมชาติ ที่หมักผ้าแล้วให้ทั้งความนุ่ม เย็น และมีน้ำหนัก
เดิมทีชาวบ้านที่นี่มีการทอผ้าขาวม้าเป็นหลัก จากนั้นก็ได้เริ่มพัฒนาเป็นผ้าหมักโคลนที่ใช้ชื่อว่า “ผ้าหมักโคลนนาคี” ซึ่งให้สีสันของโคลนอันเป็นเอกลักษณ์ เกิดจุดขาย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า พร้อมลายทออันเป็นแบบฉบับราว 12 แบบ มาที่นี่แล้วจะได้เรียนรู้ทั้งวิธีการย้อมผ้า การขึ้นลาย หรือการ “คุ้นลาย” การทอ พร้อมช้อปสินค้าในราคาต้นทางอีกด้วย (พี่น้อย สมพร แสงกองมี ประธานกลุ่มทอผ้าเมืองสะง้อ 084-408-2865)
พิพิธภัณฑ์มีชีวิต สีสันใหม่ของบึงกาฬ
พิพิธภัณฑ์มีชีวิตอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญ ถึงความงดงามของวิถีท้องถิ่น และความเก๋ไก๋ของบรรยากาศอาร์ตๆ ในท้องทุ่ง ซึ่งรวบรวมวิถีชีวิตของคนบึงกาฬในอดีตมาไว้บนเรือนไม้อีสานสไตล์ร่วมสมัย เป็นไอเดียจากฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดัง“คุณขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ”ที่ดัดแปลงบ้านที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่เด็ก มาเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้วิถีชุมชน โดยผสานความเป็นศิลปะกับธรรมชาติแห่งวิถีชีวิตได้อย่างลงตัว เป็นสถานที่ที่นิยมมาทำกิจกรรมต่างๆ จนกลายเป็นอีกแหล่งเช็คอินที่ห้ามพลาดของบึงกาฬ
มาที่นี่แล้ว จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน วันนี้เราได้พบกับการสาธิตทำลอดช่อง การทำขนมต่างๆ รวมทั้งได้ลองชิมเมนูพื้นถิ่น ที่จัดเต็ม มาทั้งแกงหน่อไม้ เมนูจากปลาแม่น้ำโขง ที่ทำได้ทั้งลาบ ต้ม ห่อหมก และน้ำพริก เป็นมื้อที่แสนสนุก ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเอง
และไม่นานมานี้ ทางพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ก็ได้ชุบชีวิตของชาวบ้านในละแวกอีกขั้น ด้วยการสร้างสีสันบนฝาผนังของบ้านเรือน และภายในวัด เป็นกราฟฟิตี้ธีมพญานาคซึ่งเป็นเรื่องราวที่ผูกพันตามวิถีของคนริมโขง ด้วยฝีมือของนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ร่วมสร้างสรรค์ผลงานให้ศิลปะอยู่ในชีวิตของชุมชน มีภาพให้ชมราว 20 หลังคาเรือน รวมทั้งภาพขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์มีชีวิต นักท่องเที่ยวสามารถเดินหรือปั่นจักรยานชมได้อย่างสะดวก ท่ามกลางบรรยากาศเรียบง่าย (ท่องเที่ยว ที่พัก หรือกิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ติดต่อ สจ. สมหวัง โทร.086-229-7626)
นับเป็นอีกประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ นอกจากจะได้พบกับความงดงามของวิถีชุมชน ท่ามกลางบรรยากาศอันเรียบง่ายและสวยงามแล้ว ยังได้พบกับกลุ่มชาวบ้านที่เต็มไปด้วยมิตรไมตรี มีมุมสวยๆ ให้เก็บความประทับใจ แชะแชร์กันได้แบบไม่มีหมด ที่สำคัญคือมีอาหารอร่อยอันเป็นเอกลักษณ์ ได้กินของสดๆ จากแม่น้ำ จากเรือสวนไร่นา ปลอดภัย แถมได้คุณค่าอีกด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: บาลีที่รัก
เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ "บาลีที่รัก" บทนำ แนะนำตัวละครและฉากหลัง ทองสุข : ชายหนุ่มนักเขียนนิยายอิงธรรมะที่มีความรู้ด้านบาลีจ...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น