วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

สำนักจุฬาราชมนตรีจัดแลกเปลี่ยนมุมมองพุทธ-คริสต์-อิสลาม หวังพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่





วันที่ 26 ก.ย.2561 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ได้รับนิมนต์จากนายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์  ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี ไปแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้นำของศาสนาอิสลาม ที่มีบทบาทสำคัญในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในประเด็น “ผู้นำศาสนากับสังคมพหุวัฒนธรรม” ในการศึกษาอบรมหลักสูตร "พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่" จัดโดยสำนักจุฬาราชมนตรีแห่งประเทศไทย ในการนี้มีมงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้วย  

พระมหาหรรษา กล่าวต่อว่า ทั้งหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า "#โลกจำเป็นต้องมีหลายศาสนา"  วันนั้นไม่เคยเข้าใจ แต่วันนี้เข้าใจว่า "#ผู้ใดที่พยายามทำให้โลกมีศาสนาเดียวก็ไม่ต่างจากการทำให้ดอกไม้มีสีเดียว"   เราเรียกชื่อแม่น้ำว่า แม่น้ำไนล์บ้าง คงคาบ้าง เทมส์บ้าง ดานูบบ้างเจ้าพระยาบ้าง แต่ความจริงไม่ว่าจะเรียกเป็นพันเป็นหมื่นชื่อ แต่สุดท้าย น้ำก็คือน้ำ จะอยู่ตรงไหน จะชื่ออะไร มันก็คือน้ำ 


ถ้าหากอยู่แต่ในอียิปต์ เราจะไม่รู้จักเจ้าพระยา หากอยู่แต่ในฮังการี เราจะรู้จักแต่ดานูป วันหนึ่งมาอินเดีย เราจึงรู้จักคงคา ความจริงอยู่ตรงไหนก็จริง ความสุขอยู่ตรงไหนก็สุข เช่นเดียวกับน้ำ อยู่ตรงไหน เรียกชื่ออะไรก็คือน้ำ ดื่มเมื่อใดก็อิ่ม ดิ่มตรงไหนก็อิ่มเอม ฉะนั้น จึงไม่ควรเสียเวลามาเถียงกันว่าแม่น้ำไหนดีกว่า ประเสริฐกว่ากัน เพราะสุดท้ายจะติดอยู่ที่ชื่อของแม่น้ำ


ในฐานะเป็นมนุษย์  ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร จงลงมือปฏิบัติให้ถึงแก่น เพื่อจะได้ดื่มน้ำนั้น ชิมรสน้ำนั้น แล้วจะทราบ และพบคำตอบด้วยตัวเอง ลำพังการเถียง การวิพากษ์ การตั้งขอสังเกตเพื่อลดทอนคุณค่า หรือการตั้งคำถามกับวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมต่อสิ่งต่างๆ จึงไม่พอต่อการพิสูจน์ทราบความจริง แล้วค้นพบความจริงนั่น

ถ้าต้องการพิสูจน์ของจริง ต้องแทงให้ทะลุพิธีกรรม ค่านิยม และประเพณี รวมถึงเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่  จนเข้าให้ถึงความจริงที่ซ่อนตัวอยู่ภายใน เมื่อนั่น จะไม่มีคำถาม ไม่มีคำทิ่มแทง ไม่มีการกล่าวร้าย ทำร้ายกันและกัน  โอกาสเป็นของคนที่กล้าพาตัวเองไปสู่ความจริง  ศาสนาคือสิ่งรองรับการค้นคว้า และกล้าให้คนพิสูจน์ว่า อะไรคือความจริง 

#ความจริงของความจริงไม่ใช่ความจริงของความรู้สึก #ความจริงที่ไม่ใช่การที่ใครไปยัดเยียดว่าจริง เพราะศาสนากล้วการพิสูจน์ ไม่กล้า ไม่ท้าทายให้คนได้ตั้งคำถาม และพิสูจน์ทราบ คนจึงกลัวศาสนา เมื่อกลัวจึงหนีห่าง จึงปล่อยให้ศาสนาเป็นป่าช้าร้างที่ไม่มีคนเหลียวแล ฉะนั้น เมื่อจริตไปกันได้กับศาสนาใด ก็ไปศาสนานั้น การเปลี่ยนศาสนาตามธรรมชาติที่เหมาะกับจริต จึงไม่ใช่สิ่งผิด หรือแม้กระทั่ง   #การที่ใครสักคนประกาศตนว่าไม่มีศาสนาก็ไม่ผิดเพราะยี่ห้อของศาสนาไม่ได้มีหน้าที่ผูกขาดความจริง  #เพราะการกล้าปฏิเสธศาสนาและความเชื่อแบบดั้งเดิมมิใช่หรือ?!?!  #จึงมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกนี้



งานสันติภาพภายในชิ้นแรก ม.มหิดล



พระมหาหรรษา  เปิดเผยด้วยว่า เป็นกรรมการและประธานสอบโครงร่างและสอบจบให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลมาประมาณ 10 ปี แต่ครังนี้เป็นครั้งแรกที่พบว่า "นิสิตปริญญาเอก ได้ศึกษาวิจัยสันติภาพภายใน โดยนายพลธรรม์ จันทร์คำ ได้ทำวิจัยเรื่อง "การพัฒนาสันติภาพภายในของกวี" ในสาขาประชากรศึกษา จึงนับเป็นความตื่นเต้นในสันติธรรม ที่นิสิตพยายามแสวงหารูปแบบพัฒนาสันติภายในของเหล่านักกวีด้านวรรณศิลป์ โดยมี รศ.ดร.โคทม อารียา ร่วมเป็นกรรมการคุมเล่ม น่าสนใจว่าสังคมโลกหันมาตั้งคำถามและแสวงหาสันติภายในอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับสิ่งที่สันติศึกษา มจร พยายามให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ สันติในกับสันตินอกจึงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก


...............

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วธ. จัดงานพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ ยกย่องชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมต้นแบบที่มีความโดดเด่น 248 แห่ง

วันที่ 18 เมษายน 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒ...