วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

ก่อน-หลังเลือกตั้ง!"บิ๊กตู่"ต้องการบ้านเมืองสงบแบบไหน



ก่อน-หลังเลือกตั้ง!"บิ๊กตู่"ต้องการบ้านเมืองสงบแบบไหน : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร 
      
ตามที่วันที่ 17 ก.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.เลย โดยเดินทางมาที่หอประชุมทองวิไล มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย อ.เมือง เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดถนน 4 เลน หมายเลข 201 ตอน เลย-เชียงคาน ก่อนเป็นประธานสักขีพยานมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน ให้แก่ประธานป่าชุมชน 5 จังหวัด (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี)  และได้กล่าวกับประชาชนประมาณ 1,500 คนความว่า 

"ช่วงการเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง มันต้องสงบแบบนี้ หรือใครไม่ต้องการ ใครต้องการให้มันตีกันอีก ว่ากันไปว่ากันมาให้ร้ายกันไปกันมา ผมระวังที่สุดที่จะไม่ไปก้าวล่วงของใคร เว้นแต่ว่าผมต้องชี้แจงกรณีที่มีหลายคนก้าวล่วงรัฐบาล เพราะผมไม่ได้ไปต่อสู้อะไรในขั้นตอนนี้" นั้น

หากวิเคราะห์จากคำพูดครั้งนี้มีคำที่น่าสนใจอยู่ 3 คำคือ "สงบ, ตีกัน,ให้ร้าย" ซึ่งคำว่า "ตีกัน" และ "ให้ร้าย" เป็นคำขยายคำว่า "ไม่สงบ" สามารถนำแนวคิดทฤษฎีสันติภาพมาวิเคราะห์ได้ดังนี้

แนวคิดทฤษฎีสันติภาพมีคำที่เกี่ยวข้องที่สำคัญอยู่คือ ความขัดแย้ง ความรุนแรง สงคราม สันติภาพ และสันติวิธี รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง สงคราม และสันติภาพ ซึ่งก็มีนักทฤษฎีให้ความหมายแตกต่างกันไป อย่างเช่นคำว่า"ความขัดแย้ง" ก็มีนักทฤษฎีให้ความหมายไว้อย่างเช่นระบุว่าเป็นปกติหรือเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสังคมเพราะมีประสบการณ์และพื้นฐานต่างกันแต่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่มีความสมนัย คือไม่มีความเห็นความเสมอกันไม่ไปด้วยกัน มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมกัน มีความเห็นไม่ตรงกัน มีความต้องการผลประโยชน์ต่างกัน ทั้งนี้ขั้นอยู่กับการบริหารจัดการ บางคนก็มีความคิดว่า "ความขัดแย้ง" เป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นหากเกิดขึ้นแล้วก็ต้องขจัดให้หมดไป 

ขณะที่ "ความรุนแรง" ตามกรอบความคิดของ “โยฮัน กัลตุง” (Johan Galtung) โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ   ทางตรงหรือกายภาพ   เชิงโครงสร้าง   และเชิงวัฒนธรรม   ความรุนแรงทางกายภาพนั้นจะต้องมีผู้กระทำให้เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางวาจา  ส่วนความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบจะไม่ปรากฏผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ มีลักษณะเป็นการขัดขวางไม่ให้มีการตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน  การแบ่งชนชั้น ลัทธิเหยียดผิว ชาติพันธุ์ การทำลายตนเอง การทำลายชุมชน  และการทำลายรัฐ-ชาติ โดยรัฐประหาร การกบฏ การก่อการร้าย สงคราม ขณะที่ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมก็จะไม่ปรากฏผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเช่นกัน โดยจะการถ่ายทอดออกมาเป็นความเกลียด ความกลัว อคติ ความเจ็บแค้น เป็นความรุนแรงทางศาสนา อุดมการณ์ ภาษา และศิลปะ

ทีนี่มาพิจารณาคำว่า "สงบ" ในพจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า ระงับ เช่น สงบจิตสงบใจ สงบสติอารมณ์ สงบศึก หยุดนิ่ง เช่น คลื่นลมสงบ พายุสงบ กลับเป็นปรกติ เช่น เหตุการณ์สงบแล้ว ปราศจากสิ่งรบกวน เช่น จิตใจสงบ ไม่กำเริบ เช่น อาการไข้สงบลง ภูเขาไฟสงบ ไม่วุ่นวาย เช่น บ้านเมืองสงบปราศจากโจรผู้ร้าย 

คำว่า "สงบ" นี้ตรงกับคำในภาษาบาลีก็คือ "สันติ" ก็เป็นส่วนประกอบของคำว่า สันติภาพและสันติวิธีนั่นเอง 

ทีนี่คำวำว่า "สันติ"  นั้น มีความหมายทั้งในเชิงลบ คือ สภาวะที่ไม่มีสงครามและความขัดแย้ง และเชิงบวก คือสภาวะที่มีความรัก สามัคคี และความยุติธรรม และมี ๒ ลักษณะคือ “อัชฌัตติกสันติ” ความสงบภายใน  และ “พาหิรสันติ” ความสงบภายนอก  โดยขยายกว้างออกไปอีก 3 ระดับ คือ 1."สันติภาพภายในตนเอง"  อยู่อย่างกลมกลืนกับสันติภายในจิตใจของตนเอง เป็นระดับตนเอง 2.สันติภาพกับคนอื่น อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ เป็นระดับผู้อื่น  และ 3.สันติภาพกับธรรมชาติ อยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติได้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า "ยสฺสรุกขสฺสฉายาย นิสีเทยฺยสเยยฺย วา น ตสฺสสาขํภญฺเชยฺยมิตฺตทุฏฺโฐหิปาปโก"   แปลความว่า "บุคคลนั่งหรือนอนในร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักก้านรานกิ่งและใบของต้นไม้นั้น เพราะว่าผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม" ทรงย้ำเตือนเสมอว่า "จงเป็นมิตรกับธรรมชาติ"  อย่างไรก็ตามหากความสงบด้วยการกดเอาไว้ยังไม่ถือว่าเป็นสันติภาพ 

ขณะที่ ผศ.รท.ดร.บรรจบ  บรรณรุจิ  อาจารย์พิเศษประจำหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เสนอว่า เจ้าชายสิทธัตถะแห่งแคว้นสักกะ กรุงกบิลพัสดุ์เป็นคนแรกที่พูดคำว่า "สันติภาพ"  ทรงออกบวชเดินทางสู่สันติ ดังคำว่า "สนฺติวรปทํ ปริเยสมาโน" แปลคว่า "ทางสู่สันติอันประเสริฐ"  โดยพบสันติในเดือนวันเพ็ญวิสาขะ เรียกว่า "นิพพาน"   หลังจากนั้นเดินทางออกสอนสันติภาพ 44 พรรษา   พระธรรมทำให้เกิดพระพุทธเจ้า นั่นหมายความว่า ต้องเดินตามมรรคมีองค์ 8  เป็นเส้นทางสู่การเป็นพระพุทธเจ้า     จึงเกิดคำพูดว่า “สทฺธมฺโม  ครุกาตพฺโพ”  ต้องเคารพสัทธรรมที่แท้จริง แล้วพระพุทธเจ้าก็นำธรรมมาสั่งสอน โดยแบ่งออกเป็นพระธรรมและพระวินัย เช่น อริยสัจ ปฏิจสมุปบาท ซึ่งพระพุทธเจ้าทิ้งกองทัพทางโลก แต่มีกองทัพทางธรรม เพื่อบอกว่ายิ่งใหญ่มากกว่ากองทัพทางโลกซึ่งมีแต่ความรุนแรง แต่กองทัพทางธรรมมีแต่สันติสุข ฉะนั้นกองทัพธรรมจึงยิ่งใหญ่กว่ากองทัพสงคราม

ด้าน "โยฮัน กัลตุง" ได้เสนอนำเสนอสันติภาพเชิงลบ หมายถึง "การปลอดพ้นจากความรุนแรงทางตรง"    เช่น ความรุนแรงต่อบุคคล  คนกำลังตีกัน เราไปห้ามอย่าตีกันเลย  ส่วนสันติเชิงบวก หมายถึง  "การปลอดพ้นจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง"   เช่น ความยากจน การเหยียดผิว  ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม  ที่คนโกรธกันเพราะอะไร  เพราะไม่ยุติธรรม  เราจะทำอย่างไรให้เกิดความพอใจ จึงมีคำว่า "สงครามเกิดขึ้นที่จิตใจของมนุษย์ สันติภาพจึงต้องเริ่มจากจิตใจของมนุษย์เช่นกัน" 

จากแนวความคิดของ "โยฮัน กัลตุง" นำไปจับ คำว่า "สงบ" ไม่มี "ตีกัน,ให้ร้ายกัน"  ของพล.อ.ประยุทธ์ดังกล่าวนั้น หมายถึงเป็นความสงบในระดับกายภาพเท่านั้น  หากจะมีความรุนแรงระดับเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมก็ไม่เป็นปัญหาต่อการเลือกตั้งใช่หรือไม่  

ทั้งนี้ในการกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ได้ระบุเชิงวัฒนธรรมและความเชื่อด้วยว่า "ประเทศไทยมีหลายศาสนาอยู่ร่วมกัน อย่าให้ใครมาสร้างความขัดแย้งหรือจะแยกพื้นที่กันไม่ได้ เราต้องอยู่ด้วยพหุสังคมที่อยู่การร่วมหลายเชื้อชาติศาสนาด้วยความเป็นคนไทย"  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...