วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566

"อนุชา" ตื่นเร่งหารือผู้บริหาร พศ. ทั่วประเทศ หลังกระแสข่าวแวดวงสงฆ์สะพัด


วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 108 สํานักปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ทําเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อติดตามการขับเคลื่อนภารกิจของสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมี นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธัชชญาณ์ณัช  เจียรธนัทกานนท์  เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คณะผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุมผ่านการประชุมออนไลน์ 

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยจากกรณีที่มีการนําเสนอข่าวพระพุทธศาสนาเชิงลบผ่านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งในกรณีต่าง ๆ เหล่านี้ บางกรณีก็มีความผิดด้านพระธรรมวินัยที่ร้ายแรง หรือบางกรณีอาจจะผิดวินัยสงฆ์เพียงเล็กน้อย แต่สังคมโดยรวม ไม่สามารถยอมรับได้ แม้ที่ผ่านมา มหาเถรสมาคมได้มีการควบคุมและป้องปรามพระภิกษุสามเณรเหล่านี้ให้ประพฤติตนอยู่ในหลักคําสอนของพระธรรมวินัย  รวมถึงสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ประสานงานกับเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์อย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจสอบ และถวายคําแนะนําพระภิกษุสามเณร ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ คําสั่ง ประกาศ และมติมหาเถรสมาคม แต่ก็ยังปรากฏการกระทําที่ละเมิดต่อพระธรรมวินัยอย่างต่อเนื่อง 

"ตนในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้กำชับให้คณะผู้บริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศทำงานเชิงรุก  โดยเร่งติดตาม สอดส่องกรณีที่มีเหตุการณ์สร้างความเสื่อมเสียในทางพระพุทธศาสนา และให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดชุมชน อาทิ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและเร่งแก้ปัญหาต่างๆ โดยเร็ว ตั้งเป้าภายใน 1 เดือน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะสามารถสร้างพลังศรัทธาของชาวพุทธกลับมา และช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเสาหลักของชาติให้คงอยู่สืบไป" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว


“โอ เทพรัตน์” ผู้รังสรรค์ของที่ระลึกเอเปค 2022 เร่งยกระดับเศรษฐกิจฐานราก



“โอ เทพรัตน์” ผู้รังสรรค์ของที่ระลึกเอเปค 2022 เปิดทศวรรษใหม่ CSV การสร้างคุณค่าร่วม เร่งยกระดับเศรษฐกิจฐานราก  ผ่านการแสดงผลงานศิลป์ CRAFT NEXT “O TEPPARAT : The CSV Creator” 

นายเทพรัตน์ สงเคราะห์ หรือ “โอ เทพรัตน์” ในฐานะนักคิด นักเขียน และได้ชื่อว่าเป็นนักอภิปรัชญา  นักสร้างสรรค์ นักสื่อสาร นักวิทยาศาสตร์ และผู้เป็นเจ้าของแนวความคิดธุรกิจจิตสาธารณะที่ได้นำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาพัฒนาสร้างมูลค่าและหลายผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้นำโลกในการประชุมเอเปค 2022 ที่ผ่านมา 

โอ เทพรัตน์ เปิดเผยถึงการจัดงานนิทรรศการ CRAFT NEXT ที่มีแนวคิดหลักในการจัดงานคือการสร้างสรรค์คุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (C S V) “ในนิยามของผม C S V จะมี 3 องค์ประกอบด้วยกัน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาการทำงานของผม คือ “ธุรกิจจิตสาธารณะ” ที่ทำมาตลอดกว่า 10 ปี เพราะผมเชื่อว่าโลกนี้คือการให้ที่แท้จริง นอกจากจะทำให้สังคมให้ผู้อื่นแล้ว เราต้องไม่เบียดเบียนตัวเราด้วย เราควรซื่อสัตย์ต่อตัวเราเองว่าเราทำธุรกิจหรือทำงานก็เพื่อต้องการผลประกอบการหรือผลสำเร็จที่ดีต่อชีวิตตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันเรายังสามารถให้สิ่งที่เราทำนั้นเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ด้วย ทั้งผู้คนและสภาพแวดล้อมของโลกที่สงบสุข สรุปคือ คุณค่าร่วมที่ดีที่สุด จะต้องมีคุณค่าร่วมกันทั้งระหว่างเราและผู้อื่น ทั้งในภาคการค้าและสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยซึ่งก็คือโลกของเราอันเหมือนบ้านของเราทุกคน ซึ่งผมนิยามเป็นประโยคสั้นๆ ว่า C S V คือ เราอยู่ดี เขาอยู่ได้ ไร้พิบัติ” 

การจัดแสดง CRAFT NEXT “O TEPPARAT : The CSV Creator”  ครั้งนี้เป็น edition แรกของการจัดแสดงผลงานศิลป์สร้างสรรค์ภายใต้แนวคิดธุรกิจจิตสาธารณะ หรือ CSV ที่ปรากฎให้เห็นทั้งรูปแบบกายภาพและจิตภาพ โดยแนวคิดของงานทั้งหมดจะมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ การใช้แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมนำนั้นจะทำให้มีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ เกิดเป็นห่วงโซ่แห่งคุณค่าก่อนจะตกผลึกรวมก้อนเป็นแก่นแกนที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป 

ภายในงานมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบและเบื้องหลังชิ้นงานของที่ระลึกจากราชอาณาจักรไทยสำหรับผู้นำโลกในการประชุมเอเปค 2022 รวมถึงงานศิลป์สร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จัดทำขึ้นจากแนวคิด Creating Shared Value และระบบเศรษฐกิจใหม่ BCG Model จำนวน 20 ชิ้นงาน ที่ได้ชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นเอกด้วยทุนชุมชนและทุนวัฒนธรรม อาทิ ชะลอมโมโนแกรม ภาพดุนโลหะรัชตะแสนตอก กล่องใส่เครื่องประดับดุนโลหะรัชตะหมื่นตอก ชุดเครื่องผ้าจตุราภรณ์ เก้าอี้เงินแสนตอก กระจกลิเก ฉากใหญ่ กระเป๋าเรซิ่นตีนจก ชุดที่นั่งมหภาค โนราราตรี สุวิมลฮิ้วเมี่ยน ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าด้วยทุนชุมชน OTOP นวัตวิถี บรรจุภัณฑ์วัชพืชพรีเมียม โดยชิ้นงานทั้งหมดจะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ณ ลิฟวิ่ง แกลลอรี่ 1 ชั้น 3 ศูนย์การค้าสยามพารากอน  

“ผมเชื่อว่าแรงบันดาลใจของท่านจะส่งให้ท่านปล่อยพลังที่ดีงามที่อาจเก็บไว้เพียงตน ให้ออกมาจากคนสู่คน จากคนสู่ครอบครัว จากครอบครัวสู่สังคม ประเทศชาติ และสู่โลกในที่สุด เพราะ CRAFT หมายถึงงานทำมือ อนาคตของเราและของโลกก็เช่นกัน มันจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับมือของเราที่จะปั้นมันออกมาให้เป็นเช่นนั้น” นายเทพรัตน์กล่าวสรุป

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชื่นชมผลิตภัณฑ์งานศิลป์ หรือสามารถสั่งจองชิ้นงานที่ชื่นชอบได้ นิทรรศการ CRAFT NEXT “O TEPPARAT : The CSV Creator” จัดแสดงตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ณ ลิฟวิ่ง แกลลอรี่ 1 ชั้น 3 ศูนย์การค้าสยามพารากอน  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อคุณสุภาพร รุ่งเจริญเกียรติ โทร. 084 090 1212

เทพรัตน์ สงเคราะห์ หรือ “โอ เทพรัตน์”  นักคิด นักเขียน และได้ชื่อว่าเป็นนักอภิปรัชญา นักสร้างสรรค์ นักสื่อสาร และนักวิทยาศาสตร์ มีประสบการณ์ร่วมงานกับซูเปอร์แบรนด์แฟชั่นของโลกมากว่า 10 แบรนด์ และได้นำประสบการณ์ความรู้ความสามารถมาใช้พัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนมากกว่า 10,000 ผลิตภัณฑ์ โดยงานแต่ละชิ้นได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานระดับ Master Piece ที่ทรงคุณค่า รวมถึง โอ เทพรัตน์ เคยมีผลงานที่ได้รับการบันทึกลงใน Guinness Book World Record ถึงสองครั้งด้วยกัน


สถาบันพระปกเกล้าผนึกพลังเครือข่าย นำร่องต้าน Bully ในจังหวัดยะลา


วันอังคารที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 13.30-16.00 น. ที่สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา  สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ร่วมกับสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา โดยมีผู้แทน สช.อำเภอต่างๆเข้าร่วม และสมาคมการศึกษาเอกชน จังหวัดยะลา จัดประชุมหารือการขับเคลื่อนการสร้างสันติวัฒนธรรม  ในสถานศึกษา

นายวิทยาศิลป์ สะอา  ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา กล่าวต้อนรับ จากนั้น นายไพศาล อาแซ นายกสมาคมการศึกษาเอกชน จังหวัดยะลา ได้รายงานภาพรวม การศึกษาเอกชน จังหวัดยะลา และนายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า  ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการและภาพรวมการขับเคลื่อนสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา 

นอกจากนั้นดร.ชลัท ประเทืองรัตนา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ได้กล่าวถึง  ผลการดำเนินงานการสร้างเครือข่ายกับการขับเคลื่อนสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษาที่ผ่านมาและหารือแนวทางในการผลักดันงานด้านสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษาในจังหวัดยะลาในอนาคต   



ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันคือ กำหนดจัดอบรมนำร่องเพื่อสร้างสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษาในจังหวัดยะลา ในวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2566 ณ ศึกษาธิการภาค โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนระดับมัธยมปลายหรือมัธยมต้น จำนวน 13 โรงเรียน โรงเรียนละ 4 คน จาก 4 อำเภอ รวมเป็นนักเรียน 52 คน และมีครูพี่เลี้ยงโรงเรียนแห่งละ 1 คนมาร่วมกิจกรรมด้วย รวมครู 13 คน


"ปลัด มท." นิมนต์พระร่วมประชุมขับเคลื่อนงาน "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ขับเคลื่อนทุกพื้นที่เป็น "หมู่บ้านยั่งยืน"



เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดยได้รับเมตตาจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส พระปัญญาวชิรโมลี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยมี คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายสมคิด จันทมฤก นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายปรีชาเดชพันธุ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนกรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยส่วนภูมิภาค ส่วนราชการส่วนกลางประจำภูมิภาค ผู้อำนวยการกลุ่มงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบ

ก่อนการประชุม นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่ นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมทั้งเป็นกำลังใจในการมุ่งมั่นขับเคลื่อนการบริหารราชการจังหวัดในฐานะขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณเพื่อทำให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพัทลุงได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ดังปณิธานมหาดไทยที่ได้ปฏิบัติกันสืบต่อมาว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ ได้มอบแนวทางในการขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1.การเตรียมการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร้องขอ โดยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องประชุมซักซ้อมพร้อมกำชับ ข้าราชการทุกคนต้องการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น สามารถร่วมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ในช่วงนอกเวลาราชการ และต้องไม่ใช้เครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปใช้ในการสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

และ 2.การขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนผ่านการดำเนินโครงการหมู่บ้านยั่งยืน ด้วยการเอาใจใส่ในการขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย และเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารรวมถึงด้านความสะอาด เพื่อประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ ได้ปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นสำคัญ 

และจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน รวมทั้งกิจกรรมเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคี ความรัก ความอบอุ่น ของสมาชิกในครอบครัวซึ่งเมื่อทุกครอบครัวมีความรัก ความอบอุ่น ก็จะส่งผลให้หมู่บ้านมีความรัก ความสามัคคี และส่งผลให้ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ และทั้งจังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีแต่คนรักกัน คนเคารพนบนอบ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้รักสามัคคี เอื้ออาทรกัน เฉกเช่นที่จังหวัดสกลนคร ณ บ้านดอนกอย ต.สว่างอ.พรรณานิคม ที่ได้รับการสนับสนุนการดูแลจากผู้ว่าราชการจังหวัดและทีมงานช่วยทำให้หมู่บ้านมีความสะอาด สวยงาม เป็นครัวเรือนที่พัฒนาแล้วอย่างเป็นรูปธรรม โดยการใช้สอยพื้นที่รอบบ้านปลูกพืชผักสวนครัวกันอย่างเต็มที่ทุกหลังคาเรือน และมีการบริหารจัดการขยะด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนทุกครัวเรือน อันเป็นการขยายผลส่งเสริมการลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังที่ทำอย่างต่อเนื่อง และประการสำคัญ คือ การถ่ายทอดไปยังลูกหลานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

“จุดมุ่งหมายสำคัญของการขับเคลื่อนอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขอย่างยั่งยืน คือ การบูรณาการงานทุกอย่างในพื้นที่ภายใต้การบริหารงานของ “นายอำเภอ” ด้วยการมุ่งขับเคลื่อนการสร้าง“ทีมจิตอาสา” จาก 7 ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ค้นหาผู้นำ 7 ภาคีให้ได้เพื่อให้เกิด “ทีมอำเภอ” ที่มีความเข้มแข็ง และแม้ว่านายอำเภอจะย้ายไปรับราชการที่ใด หรือเกษียณอายุราชการ ทีมเหล่านี้จะยังคงมุ่งมั่นทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับอำเภอของพวกเขา เพราะพวกเขาคือคนที่มีจิตอาสาในพื้นที่ นอกจากนี้ นายอำเภอต้องพัฒนา “ทีมตามกฎหมาย” เช่น ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล พัฒนากร เกษตรตำบล สาธารณสุข และส่วนราชการอื่นๆ ในพื้นที่ ให้มีความเข้มแข็ง รู้จักหน้าที่และทุ่มเทปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่อย่างแข็งขัน รวมทั้งกระตุ้นปลุกเร้า “ทีมคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)” อันประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งและเป็นผู้นำในการระดมสรรพกำลังไปทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน ตามเป้าหมายที่ชาวมหาดไทยทุกคนได้กำหนดร่วมกันที่จะเลือกหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาน้อยที่สุด ตำบลละ 1 หมู่บ้าน รวม 7,255 หมู่บ้าน ให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” และสำหรับหมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่ตำบล ก็ต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วยกัน เพราะนายอำเภอต้องดูแลประชาชนทุกตำบล และผู้ว่าราชการจังหวัดต้องดูแลประชาชนทุกอำเภอ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนงานของชาวมหาดไทย คือ “การทำงานเชิงระบบ” ซึ่งพวกเราทุกคนในฐานะ “ราชสีห์ผู้มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน” และผู้ที่มีความตั้งอกตั้งใจที่จะทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้นำของจังหวัดต้องให้ความสำคัญ และเอาใจใส่ในการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ด้วยการผลักดันให้ท่านนายอำเภอเป็น “ผู้นำทัพ” ในสนามรบของพื้นที่อำเภอ นั่นคือ“ต้องทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ทำให้ทุกอำเภอเป็น “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่แท้จริง ที่ประชาชนทุกครอบครัวอยู่ด้วยความรัก ความสามัคคีในสภาพแวดล้อมที่สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องปัจจัย 4 ซึ่ง “ถ้าทุกบ้านดี หมู่บ้านนั้นก็ดี ถ้าทุกหมู่บ้านดี ตำบลนั้นก็ดี ถ้าทุกตำบลดีอำเภอก็จะดี” ดังบันทึกข้อตกลง (MOU) ที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆอาทิ “MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน” ร่วมกับสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม “MOU การดำเนินโครงการ “วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ร่วมกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม และ “การประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย”

จากนั้น รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ได้ร่วมกันนำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานในระดับพื้นที่ เช่น การบริหารงบประมาณตามแนวทางการเบิกจ่ายงบประมาณของสำนักงบประมาณ การเตรียมความพร้อมบริหารจัดการภัยแล้ง การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย การขับเคลื่อนสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด การเตรียมการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และตลาดกลาง Green Market เพื่อชุมชน เป็นต้น

“ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเอาใจใส่ช่วยเหลือและเอาจริงเอาจังในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการในระดับพื้นที่เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ด้วยการวาง timeline ในการสนับสนุนบทบาทของท่านนายอำเภอ เพื่อต่อยอดและขับเคลื่อนต่อเนื่องจากการที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดฝึกอบรมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในที่ประชุมกรมการจังหวัดและการนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีผู้นำ คือ “นายอำเภอ” สามารถขับเคลื่อนเป็นไปอย่างประสบความสำเร็จและเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานและภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ กล่าว 


"นิสิตสันติศึกษาป.โท มจร" ทำวิทยานิพนธ์วิจัย "โคกหนองนา" สร้างสันติภาพกินได้



วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๖ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า เป็นประธานสอบโครงร่างสารนิพนธ์ผ่านออนไลน์ สำหรับนิสิตระดับปริญญาโท รุ่น ๙ สาขาวิชาสันติศึกษา มจร จำนวน ๕ เล่ม โดยเป็นการนำพุทธสันติวิธีไปบูรณาการวิเคราะห์ตามบริบทของผู้วิจัย โดยการทำวิจัยระดับปริญญาโท เป็นจินตามยปัญญา มุ่งการคิดวิเคราะห์ เช่น การถอดบทเรียน การศึกษาพื้นที่แล้วถอดรูปแบบมาวิเคราะห์ จึงต้องเข้าใจ “วิธีคิด วิธีวิจัย วิธีวิเคราะห์ วิธีเขียน วิธีนำเสนอ” โดยการทำวิจัยระดับปริญญาโทจะต้องมองถึง “ปัญหาวิธีการแก้ปัญหา และการนำเสนอการแก้ปัญหา” โดยนิสิตระดับปริญญาจะต้องวิเคราะห์เป็นสามารถบูรณาการกับหลักพุทธสันติวิธี 

จึงขออนุโมทนากับคณะกรรมการและที่ปรึกษาในการผนึกกำลังในครั้งนี้   โดยงานวิจัยมีความน่าสนใจประกอบด้วย “โคกหนองนา ศรัทธาชาวพุทธเจเนอเรชั่นวาย การสื่อสารเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยในองค์กร การแก้ปัญหายาเสพติดของชุมชนกุฎีจีน และการสื่อสารของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนต้นแบบ” ถือว่าเป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระดับชีวิต ชุมชน องค์กร สังคม สถาบันทางศาสนา และประเทศชาติ  

โดยปัจจุบันหลักสูตรสันติศึกษาในระดับปริญญาโทกำลังเปิดรับสมัครนิสิต รุ่น ที่ ๑๑ ซึ่งจะเป็นรุ่นที่เรียนภายใน ๒ ปี โดยมุ่งเข้าใจสันติภายในและสันติภายนอก ยกระดับเป็นวิศวกรสันติภาพ ภายใต้คำว่า “สติ ขันติ สันติ” โดยศึกษา ๔ มิติ ประกอบด้วย “ความขัดแย้งนอก-ใน  ความรุนแรงนอก-ใน  สันติวิธีนอก-ใน และพุทธสันติวิธี” ท่านที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่  พระธเนศ  ฐานิโย  โทรศัพท์  ๐๖๔-๕๑๕๙๔๙๙


วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2566

วธ. คัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาประจำปี พ.ศ. 2566 เข้ารับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร

วธ. คัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี พ.ศ. 2566 เข้ารับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566   นายอิทธิพล  คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินงานการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจรรโลงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างเข้มแข็ง ทั้งยังเป็นผู้อุทิศตนทั้งกำลังกาย กำลังสติปัญญาและกำลังทรัพย์ให้กับพระพุทธศาสนาโดยกุศลเจตนาอันบริสุทธิ์ เพื่อมุ่งหวังให้พระพุทธศาสนามีความเจริญวัฒนาถาวร เป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีคุณธรรม สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก เยาวชนและประชาชน ดังนั้น จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ. 2566 กรมการศาสนาได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการประชาสัมพันธ์ เชิญชวนพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 - 2565 โดยมีคุณสมบัติ ผลงาน ถูกต้องตามระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2554 และข้อกำหนดเฉพาะของผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ให้ดำเนินการจัดส่งผลงานให้กรมการศาสนา ภายในวันที่ 31 มกราคม 2566 ซึ่งกรมการศาสนาจะได้ดำเนินการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลและหน่วยงานที่สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งเมื่อคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกและพิจารณารับรองผลการคัดเลือกฯ แล้ว จะประกาศผลการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา ในปี พ.ศ. 2567 ต่อไป 

ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ได้เริ่มมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2525 เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี โดยดำเนินการโดยกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีภารกิจทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงสถาพร เห็นว่าเพื่อให้เป็นตัวอย่างอันดีแก่สังคมและเยาวชนของชาติ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งได้มีการมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 - 2565 ใน 10 ประเภท จำนวนทั้งสิ้น 5,537 ราย 

สสส. สานพลังมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา - ภาคเอกชน พัฒนานวัตกรรมสุขภาวะ เปิดตัวแอปพลิเคชัน Line OA "ปันกันอิ่ม"



เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ที่ลานภัตตศาลา หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนโมกข์กรุงเทพฯ มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท ไอคอน เฟรมเวิร์ค จำกัด เปิดตัวแอปพลิเคชัน Line OA "ปันกันอิ่ม" สร้างระบบแบ่งปันสู่โลกออนไลน์ ตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล อำนวยความสะดวกทั้งผู้ให้และผู้รับ แบ่งปันความอิ่มกันได้อย่างรวดเร็ว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนให้เกิดโครงการปันกันอิ่มตั้งแต่ระยะเริ่มต้น มีเป้าหมายทำให้สังคมเห็นคุณค่าของคำว่า "การให้" เพื่อเป็นช่องทางพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในสถานการณ์ปกติ วิกฤติเศรษฐกิจ และโควิด-19 การเชิญชวน "ร้านอาหารทั่วประเทศ" เข้าร่วมโครงการในฐานะ "ผู้ให้" คือเจตนารมณ์ของ สสส. ที่ต้องการช่วยเหลือคนในสังคมที่กำลังเผชิญความยากลำบากได้รับความช่วยเหลือผ่านการแบ่งปันความอิ่ม ในฐานะ "ผู้รับ" เพื่อให้มีพลังกาย พลังใจ ใช้ชีวิตได้ต่อไป ปัจจุบัน สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย หาช่องทางขยายโอกาสเพื่อคนไทยทุกคน มีส่วนร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาวะรูปแบบแอปพลิเคชัน "Line OA ปันกันอิ่ม" เพื่อเป็นก้าวสำคัญขยายการแบ่งปันสู่โลกออนไลน์ให้กว้างขวางและทั่วถึงในโลกยุคดิจิทัล ที่ระบบนิเวศสื่อมีความหลากหลาย



"ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วันนี้เราอยู่ในโลกสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ทุกอย่างในชีวิตเกี่ยวพันกับดิจิทัลทั้งหมด สสส. หวังว่า การร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้โครงการปันกันอิ่มเป็นช่องทางในการเกื้อกูลคนในสังคมที่ขาดแคลนได้เข้าถึงความช่วยเหลือมากขึ้น เป็นหนึ่งในกลไกที่เป็นเหมือนสะพานบุญเชื่อมต่อการให้และการรับในสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป" นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ รองประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ริเริ่มโครงการปันกันอิ่มขึ้นด้วยความคาดหวังว่า จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยเหลือคนที่มีความจำเป็นหรือลำบากในชีวิตในเรื่องความเป็นอยู่โดยเฉพาะในด้านอาหาร มูลนิธิฯ เชื่อว่า สังคมไทยมีต้นทุนเรื่องการทำบุญทำทานช่วยเหลือคนลำบากอยู่แล้ว จึงใช้ต้นทุนนี้ มาขยายโอกาสจากการทำบุญเพื่อช่วยเหลือเป็นรายบุคคล สร้างเป็นระบบปันกันอิ่มช่วยแก้ปัญหาสังคมในวงกว้างยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาโครงการปันกันอิ่มพยายามขยายงานด้วยการเพิ่มร้านอาหารในโครงการ เพื่อกระจายไปให้ผู้รับได้เข้าถึงมากขึ้น แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถเพิ่มร้านค้าได้ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ความไว้เนื้อเชื่อใจของร้านค้า ผู้ให้ และผู้รับ แต่เมื่อได้ประสานความร่วมมือกับทางไอคอน เฟรมเวิร์ค ใช้ระบบ Line OA ทำให้ช่องทางการสมัครเป็นร้านปันกันอิ่มสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของประเทศ ทั้งผู้ให้ก็สามารถแบ่งปันได้ง่ายเพียงแอดไลน์ ที่สำคัญคือมีระบบหลังบ้านที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสในการตรวจสอบ ติดตาม เรื่องการรับบริจาค ซึ่งนับเป็นอีกก้าวต่อไปของโครงการที่จะสามารถเพิ่มจำนวนร้านค้า เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนให้เข้าถึงอาหารได้มากขึ้น

"ผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้ระบบ Line OA ปันกันอิ่ม ได้แล้ววันนี้ โดยค้นหาเพื่อน @payitforward เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ผู้ให้สามารถปันอิ่มได้ง่าย ๆ ด้วยการเลือกร้านที่สนใจ ร้านที่อยู่ใกล้ ร้านที่ต้องการแบ่งปัน หรือเลือกร้านที่ปรากฏในหน้าแรก เป็นร้านที่มีจำนวนเงินเหลือน้อยหรือเหลือศูนย์บาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่โดยรอบมีคนลำบากอยู่มาก ทำให้มียอดปันอิ่มสูง คนที่ต้องการทำบุญสามารถโอนเงินไปที่ร้านค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที ส่วนผู้รับที่ประสบความลำบาก สามารถเลือก "ร้านปันอิ่มใกล้คุณ" เพื่อรับอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์ได้เช่นกัน ทุกร้านมีจุดหมายเดียวกัน คือช่วยเหลือคนยากลำบากให้อิ่มท้อง สอบถามหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Budnet.org หรือทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ปันกันอิ่ม พุทธิกา-Pay it forward Thailand'" นายวีรพงษ์ กล่าว

นายวรรณเทพ หรูวิจิตร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร (CEO) บริษัท ไอคอน เฟรมเวิร์ค จำกัด กล่าวว่า จุดเด่นหลักของระบบ Line OA ปันกันอิ่มคือการทำให้โครงการปันกันอิ่มสามารถกระจายความช่วยเหลือได้รวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้คนที่นั่งอยู่บ้านหรือออฟฟิศสามารถบริจาคได้ โดยไม่ต้องเดินไปที่ร้านค้า อีกทั้งยังให้ผู้บริจาคสามารถดูได้ว่า ร้านที่รับเงินบริจาคนั้นมีการปันกันอิ่มเกิดขึ้นจริง ดังนั้นด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบัน ภาระต่าง ๆ ที่กลุ่มคนเปราะบางและรายได้น้อยต้องเผชิญ ความร่วมมือในวันนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงอาหารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในชีวิตได้ เป็นการลดภาระของสังคม และนอกจากผู้รับอาหารจะได้อิ่มท้องแล้ว ผู้ขายอาหารก็ยังสามารถมีรายได้เพิ่มจากตรงนี้ได้ โดยที่ระบบไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.)

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2566

พศ.ออกประกาศหลักเกณฑ์จัดสรรเงินอุดพระปริยัตินิเทศก์-ธรรม-บาลีได้ 2 หมื่นรูปต่อปี



วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 นายอินทพร จั่นเอี่ยม รอง ผอ. รักษาราชการ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ออกประกาศ พศ. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนโครงการเงินอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 หรือค่าตอบแทนบุคลากรทางการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี ดังนี้ ค่าตอบแทนพระปริยัตินิเทศก์ อัตรา 20,000 บาท/รูป/ปี ค่าตอบแทนครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี อัตรา 20,000 บาท/รูป/ปี และค่าตอบแทนครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม อัตรา 15,000 บาทต่อรูป/ปี สำหรับพระปริยัตินิเทศก์ ครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ในกรณีปฏิบัติหน้าที่มากกว่าหนึ่งตำแหน่ง สามารถขึ้นทะเบียนตามบัญชีรายชื่อของ พศ. และรับการถวายค่าตอบแทนในตำแหน่งที่เท่ากันหรือตำแหน่งที่สูงกว่า เพียงตำแหน่งเดียว และการอุดหนุนค่าตอบแทนดังกล่าว เป็นการอุดหนุนให้กับผู้ปฏิบัติงานและจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานในปีงบประมาณที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ให้งดจ่ายค่าตอบแทนพระปริยัตินิเทศก์และครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม- บาลี ในกรณีมรณภาพ ลาออก ลาสิกขา ไม่รายงานการปฏิบัติงานในระยะเวลาที่กำหนด ย้ายสังกัดสำนักเรียนหรือสำนักศาสนศึกษาที่ทำการสอน ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตหรือจังหวัดที่สังกัด ไปศึกษาต่อหรือไปเป็นพระธรรมทูตที่ต่างประเทศ คุณสมบัติไม่เป็นไปตามระเบียบ พศ.หรือตามประกาศมหาเถรสมาคม ถูกให้ออกจากตำแหน่งโดยประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์ จังหวัด หรือประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย หรือโดยเจ้าสำนักเรียนหรือเจ้าสำนักศาสนศึกษา เป็นต้น 

"บิ๊กป้อม" ถกปมมวยไทยร่วมกับสหพันธ์กีฬามวยไทยที่ IOC ให้การรับรอง



วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ผ่านระบบ VTC ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ   โดยรับทราบการดำเนินงานกิจกรรมกีฬามวยไทย ร่วมกับสหพันธ์กีฬามวยไทย ที่ IOC ให้การรับรอง ในรายการ MUAYTHAI SOFTPOWER - MUAYTHAI FESTIVAL 2022 

ที่ประชุมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ แผนงานที่สำคัญ ประกอบด้วย การส่งเสริมกิจกรรมและเครื่องมือวิทยาศาสตร์การกีฬา การจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การพัฒนาบุคลากรกีฬาสู่ความเป็นเลิศ การสร้างกระแสกีฬาจากการแข่งขันกีฬา และการกำกับดูแลกีฬามวยให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการควบคุมดูแล การพัฒนาและมาตรฐาน การจัดกิจกรรมและการแข่งขัน รวมทั้งการเผยแพร่และอนุรักษ์มวยไทย 

พล.อ.ประวิตร’ กำชับ กกท. ต้องดึงบุคลากรที่ผ่านการอบรมและพัฒนาด้านกีฬาแล้วจำนวนมากกว่า 20,000 คน เข้าสู่ระบบมากกว่าที่เป็นอยู่ ควบคู่กับการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา เสริมสร้างยกระดับพัฒนาการกีฬาของไทยทุกประเภทให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ มวยไทยสู่เวทีโลก ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากและเป็นซอฟพาวเวอร์ที่สำคัญของไทย

พล.อ.ประวิตรพร้อมย้ำ การเบิกจ่ายงบประมาณกองทุนและการดำเนินงาน ขอให้เป็นไปตามแผนงานและกรอบขั้นตอนที่กำหนด โดยต้องทำความเข้าใจกับสมาคมและหน่วยงานด้านกีฬาต่างๆร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อมิให้เกิดความล่าช้า  สำหรับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการกีฬาในภาพรวม ขอให้ผู้จัดการการแข่งขัน ชี้แจงมูลค่าทางเศรษฐกิจของแต่ละรายการกีฬาและชี้แจงสิทธิประโยชน์ที่ทางกองทุนจะได้รับในคราวเดียวกัน 


 

โฆษกรัฐบาลเผย "บิ๊กตู่" ขอความร่วมมือภาคเอกชน แยกขยะตามนโยบาย BCG



วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566   นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งนโยบายหลักของ BCG Economy Model ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมุ่งเน้นให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการใช้พลาสติก ที่ส่งเสริมให้นำไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปีที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยรวมถึงขยะบรรจุภัณฑ์ยังคงมีปริมาณสูงเกือบ 25 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญต่อประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในส่วนของประเภทบรรจุภัณฑ์พบว่า กลุ่มที่บรรจุเครื่องดื่มยังคงมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ที่ยังคงมีปริมาณสูง จึงขอความร่วมมือภาคเอกชน ได้ช่วยสร้างการรับรู้และแนวทางการปฏิบัติเรื่องการแยกขยะ ตามแนวนโยบาย BCG ของรัฐบาล

“รัฐบาลคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงขอเชิญชวนภาคเอกชนร่วมกันศึกษา และพัฒนาแนวทางการจัดการด้านขยะพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมและผลักดันการจัดการด้านขยะพลาสติก สร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะพลาสติกที่ถูกวิธี และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากขยะพลาสติก เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy Model และบรรลุตามเจตนารมณ์ของประเทศในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)” นายอนุชาฯ กล่าว

นายอนุชาฯ กล่าวด้วยว่า ไทยตั้งเป้านำขยะพลาสติก 7 ชนิดกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 ขณะที่การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมขยะพลาสติก ซึ่งจะจัดทำร่างให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567 โดยจะเป็นการออกมาตรการและกฎระเบียบเพื่อควบคุมการผลิตและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมีหลักการจัดการพลาสติกตลอด Life Cycle ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต การใช้งานและการจัดการหลังการใช้งานเสร็จแล้ว ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้ประเทศไทยมีสตาร์ตอัพภาคเอกชนที่ร่วมมือกันนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI มาใช้ตรวจสอบคุณภาพวัสดุ คัดแยกประเภทบรรจุภัณฑ์ พัฒนานวัตกรรมคืนขวด “เซอร์คูล่าร์วัน (CircularOne)” ตู้คืนขวด นวัตกรรมรับผิดชอบต่อโลก ที่เปิดให้ประชาชนนำขวดชนิดต่าง ๆ เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว รวมถึงกระป๋องอะลูมิเนียมจากการใช้แล้วมาหยอดในตู้เพื่อนำไปรีไซเคิล โดยมีจุดเด่นคือ ขวดที่นำมาหยอดตู้สามารถแลกเป็นเงินคืนให้กับผู้หยอดได้ ซึ่งเมื่อหยอดขวด-บรรจุภัณฑ์ใส่ในตู้ดังกล่าว จะสามารถเลือกรับเป็นเงิน หรือรับคะแนนสะสมเพื่อไปแลกรับส่วนลดจากร้านค้า หรืออื่น ๆ ผ่านการแสกนคิวอาร์โค้ด โดย CircularOne เป็นนวัตกรรมรับคืนบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปรียูสและรีไซเคิลแบบอัตโนมัติ หรือ Reverse Vending Machine รุ่นแรกของประเทศไทย ซึ่งมีความสามารถรับคืนขวดพลาสติกใส กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้ว และไปจัดเก็บ คัดแยกประเภท ไว้ในสภาพสมบูรณ์ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดขั้นตอน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการคัดแยกขวดบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และตอบโจทย์เรื่องการส่งขวดไปรียูสที่โรงงาน สามารถช่วยลดขั้นตอนการผลิตของโรงงานได้อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกำหนดคุณลักษณะของเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล เพื่อให้ประชาชน รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องรับทราบและใช้เป็นแนวทางในการคัดแยก รวบรวมเศษพลาสติก ที่มีคุณลักษณะเหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล ซึ่งมีทั้งหมด 7 ประเภท ซึ่งจะมีตัวอักษร ข้อความ ตัวเลข และเครื่องหมาย ที่ระบุชนิด/ประเภท ของพลาสติก ดังนี้

1. พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE/PET) เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช ขวดน้ำปลา

2. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE) เช่น ขวดแชมพู ขวดแป้งเด็ก ขวดนม ขวดน้ำยาล้างจาน ขวดน้ำยาซักผ้า

3. พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) เช่น ท่อน้ำ สายยาง หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ แฟ้มใส่เอกสาร บัตรพลาสติก

4. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density Polyethylene : LDPE) เช่น ฟิล์มยืดหุ้มสินค้า ถุงขนมปัง ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ

5. พอลิพรอพิลีน (Polypropylene : PP) เช่น ถ้วยบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปแบบแข็ง ภาชนะบรรจุอาหาร ถ้วยโยเกิร์ต ถุงร้อน หลอดดูด

6. พอลิสไตรีน (Polystyrene : PS) เช่น ภาชนะโฟม กล่องใส ช้อน ส้อม พลาสติก

7. พลาสติกอื่น ที่ไม่ใช่ 6 ชนิดข้างต้น (โดยจะมีชื่อของพลาสติกนั้น ไว้ใต้สัญลักษณ์เบอร์ 7) และเป็นพลาสติกแข็งที่ใช้ซ้ำได้ เช่น Polycarbonate (PC) เคสโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ชิ้นส่วนรถยนต์ชิ้นส่วนนาฬิกา Acrylonitrile butadiene styrene (ABS) กันชนรถยนต์

"ไตรรงค์" จัดเสวนาเปิดตัวลูกสาว "เนเน่ – รัดเกล้า สุวรรณคีรี" เป็นตัวแทน รทสช.ลง ส.ส.กทม



“ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” จัดเสวนาประสาไตรรงค์ ให้ความรู้ประชาชนเรื่องวิวัฒนาการระบอบประชาธิปไตยกับการเมืองไทย ระบุสถานการณ์การเมืองไทยถดถอยน่าเป็นห่วง เพราะซื้อเสียงกันมาก พร้อมเปิดตัว “เนเน่” รัดเกล้า สุวรรณคีรี เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. รทสช. กทม.เขตบางพลัดบางกอกน้อย หวังทำงานด้านการศึกษาให้คนไทยตอบแทนบุญคุณประเทศชาติ 

วันที่ 29 มกราคม 2566   ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ บางพลัด ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกฯ และที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดการเสวนาประสาไตรรงค์ เพื่อพูดคุยให้ความรู้กับประชาชนและผู้สนใจ ในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และในอนาคต โดยมีนายสมัย เจริญช่าง อดีต ส.ส.กทม.  พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่า กทม. ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา 

ดร.ไตรรงค์ กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันนี้การเลือกตั้ง อบต. อบจ. แม่แต่เลือกกำนันยัง ต้องหาเงินมาหลายสิบล้านบาทเพื่อที่จะชนะ  เพื่อที่จะให้คนเพียงกลุ่มหนึ่งเข้าสู่อำนาจ เพื่อที่เข้าไปกอบโกยประโยชน์  นี่คือการถดถอยของประชาธิปไตยในประเทศไทยมาถึงจุดต่ำสุด งบประมาณของไทยกว่า 20% กลับเข้าไปอยู่ใน "พุงหมา" แทนที่จะไปสู่การสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างที่แท้จริง 

ตอนท้ายของการเสวนา ดร.ไตรรงค์ ได้แนะนำตัวลูกสาว นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี หรือ เนเน่ ซึ่งจะเป็นตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ ลงสมัครชิงเก้าอี้ ส.ส.กทม. เขตบางพลัด บางกอกน้อย   โดย นางรัดเกล้ากล่าวว่า แม้จะถูกมองว่าเป็นหน้าใหม่ในวงการการเมือง แต่จริงๆ แล้วทุกคนก็รู้ว่าตนเติบโตมาจากครอบครัวนักการเมือง ได้เห็นการทำงานของบิดามาโดยตลอด และ ผู้ที่เข้ามาจะต้องพร้อมที่จะทุ่มเทและเสียสละ  การเมืองมันไม่ง่าย แต่มันก็ไม่ยากเกินไป 

นางรัดเกล้ากล่าวต่อว่า ตนเรียนมาทางสายเทคโนโลยีที่ San Francisco ทำให้ได้ทำงานบริษัทพัฒนาวิดีโอเกมอันดับหนึ่งของโลกที่ Silicon Valley และตัดสินใจบอกกับบิดาว่าจะไม่กลับเมืองไทย ครั้งนั้นทำให้เห็นว่าบิดาน้ำตาคลอ ทั้งที่ไม่เคยเห็นบิดาร้องไห้มาก่อน และบอกกับตนว่าเสียใจ การลงทุนสร้างลูกออกมาเป็นคนเก่งคนดี แต่ลูกกลับไม่เคยคิดที่จะตอบแทนกลับ โดยไม่ได้หวังให้ตอบแทนกลับมาที่ตัวพ่อ แต่อยากให้คิดตอบแทนกลับสู่ประเทศ เพราะทุกคนที่มีโอกาสคิดถึงแต่ตัวเอง ประเทศก็จะไม่มีคนเก่งมาพัฒนา ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนของตนที่ตั้งใจใช้ชีวิตที่เหลือ เพื่อทำตัวเองให้เป็นประโยชน์กับคนไทย กับประเทศไทย 

สำหรับความสนใจของตนนั้นจะเป็นเรื่องการศึกษา เพราะที่ผ่านมามีประสบการณ์ในการทำโครงการ ConnextED หรือที่เดิมชื่อโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่ม ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นโครงการที่ดีมาก  โดยได้ไปดูโรงเรียนขยายโอกาสกว่า 10 โรงเรียนในภาคอีสาน ที่เห็นว่าขาดโอกาสหลายอย่าง ทั้งเรื่องของอุปกรณ์การเรียนการสอน หรืออาหารการกินเนื่องจากครอบครัวยากจน  จึงตั้งใจที่จะเข้ามาทำงานด้านการศึกษาเพื่อสร้างความฝันให้เด็กๆ เป็นจริง  รวมทั้งประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติในฐานะ ของ ส.ส.ด้วย 

“สำหรับในพื้นที่เขตบางพลัด บางกอกน้อยยังมีปัญหามากมายที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของคุณภาพชีวิต ตั้งแต่เรื่องผู้ป่วยติดเตียง ไปจนถึงเรื่องเขื่อนฟันหลอ  ตั้งแต่เรื่องขยะล้นเมือง ไปจนถึงเรื่องน้ำขังและเน่า  หลายๆ เรื่องแก้ไขได้ด้วยการผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ร่วมใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และชุมชน” นางรัดเกล้ากล่าว

พรึบ! ป้าย "ทรงอย่างแบด โกงอย่างบ่อย" โผล่สี่แยกใกล้รัฐสภา



วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 ปรากฎป้ายปราบโกง พรรคไทยสร้างไทย ติดอยู่บริเวณแยกเกียกกาย และถนนทหาร ใกล้กับรัฐสภา โดยมีเนื้อหากล่าวถึงนักการเมืองและข้าราชการที่โกงกินบ้านเมือง อาทิ “ทรงอย่างแบด โกงอย่างบ่อย” “หยุดนักการเมืองโกงชาติ หยุดข้าราชการฉ้อราษฎรบังหลวง” “ปากบอกเป็นคนดี โกงทีเป็นล้านๆ” “เส้นทางผู้ทรงเกียรติหรือเส้นทางสู่ซ่องโจร” พร้อมกับข้อความที่เหมือนกันทุกป้ายคือ “เดินหน้า ปราบโกง 31 มกราคม พบกันที่...พรรคไทยสร้างไทย”

ขณะที่ในเฟซบุ๊กพรรคไทยสร้างไทยและสมาชิกพรรค ก็มีการโพสต์ภาพที่มีข้อความในลักษณะเดียวกันกับป้าย และข้อความในแคปชันว่า “ไทยสร้างไทยเอาจริง! เปิดสำนักงานปราบโกง พร้อมสวมเสื้อผู้อำนวยการฯ ให้สมาชิกพรรคคนใหม่ จะเป็นใคร? 31 มกราคมนี้เจอกัน #ไทยสร้างไทย #เดินหน้าปราบโกง #สปก”

ทั้งนี้ พรรคไทยสร้างไทยได้ตั้งสำนักงานปราบโกง บริเวณปากซอยสุคนธสวัสดิ์ 17 และจะมีการเปิดตัวผู้อำนวยการ สปก. พร้อมสมัครสมาชิกพรรคในวันอังคารที่ 31 มกราคม 2566 ในเวลา 10.00 น.

วันหยุดกมธ.ศาสนาฯสภาฯไม่หยุด! ลงพื้นที่ประจวบฯ-ชุมพรแก้ปัญหาขอใช้ที่ดินของวัดละเมาะ-วัดหูรอ



เมื่อวันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2566 คณะกรรมาธิการลงพื้นศึกษาดูงาน วัดละเมาะ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำโดยนายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานคณะกรรมาธิการและคณะที่ปรึกษา อนุกรรมาธิการด้านศาสนาฯ ศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมศึกษาพื้นที่การขอใช้พื้นที่ตั้งวัดจำนวน 15 ไร่ โดยพระอุโบสถตั้งอยู่นอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ดังนั้น จึงต้องปรับรูปแบบแผนที่ให้มีพระอุโบสถตั้งอยู่ใน15 ไร่ด้วย จึงขอให้วัดละเมาะ ปรับรูปแผนที่และประสานงานร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี และผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ร่วมกันดำเนินการต่อไป 



หลังจากนั้นเดินทางต่อไปจังหวัดชุมพร ถึงวัดหูรอ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพรเวลา 16.00 น. เข้ากราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดหูรอ เข้ารับฟังความคิดเห็น กรณีคณะกรรมาธิการเดินทางไปปรึกษาราชการกับอธิบดีกรมชลประทานเพื่อขอใช้ที่ดินของกรมชลประทานเพื่อตั้งวัดเขาน้อยคงคาราม จังหวัดนครราชสีมาซึ่งกรมชลประทานไม่ได้ใช้ประโยชน์บริเวณที่ขอตั้งวัด และส่งคืนกรมธนารักษ์เพื่อให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมาขอใช้พื้นที่ตั้งวัดได้สำเร็จแล้ว เกิดจากความร่วมมือของส่วนราชการโดยคณะกรรมาธิการร่วมลงพื้นที่และติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง



จึงทราบว่าวัดหูรอได้ยื่นฟ้องกรมชลประทานให้รื้อถอนถังพักน้ำและท่อส่งน้ำออกไปจากที่ดินของวัด เป็นคดีละเมิด การพิจารณาคดีถึงศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือให้รื้อถอนถังพักน้ำและท่อส่งน้ำออกไปจากที่ดินของวัด

คณะกรรมาธิการเดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดชุมพรจึงเข้ากราบนมัสการและศึกษาเรื่องดังกล่าวร่วมท่านเจ้าอาวาส มีความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่วัดและประชาชนคือให้กรมชลประทานมอบถังพักน้ำและต่อท่อจากแหล่งน้ำถาวรเพื่อใช้ในการทำเกตรของชาวบ้านตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ต่อไป



ต่อมาเวลา 17.30 เดินทางเดินทางเข้ากราบนมัสการเจ้าคณะจังหวัดชุมพร พระราชวิจิตรปฏิภาณ (มหานิกาย) เจ้าอาวาสวัดราชบุรณะ อำเภอหลังสวน ถวายรายงานการแก้ไขปัญหาเพื่ออุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2566

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้โมเดล ศก. BCG การปรับเปลี่ยนเชิงระบบและยุทธศาสตร์ Game Changer ที่แท้จริงของไทย

 “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้โมเดล ศก. BCG การปรับเปลี่ยนเชิงระบบและยุทธศาสตร์ Game Changer ที่แท้จริงของไทย

https://thaipublica.org/2023/01/suvit-bcg-model-thailands-grand-strategy/?fbclid=IwAR3qtka189pQWgSKltqaqHahrjtLcsOncj0I1m1pyJhNwz4BqZbfMN0MadY

"นพดล"ยันเพื่อไทยเดินหน้าแลนด์สไลด์ เพื่อมีเสียง ส.ส. เอาชนะเสียง ส.ว.ตอนโหวตตัวนายกฯในรัฐสภา



เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566  นายนพดล ปัทมะ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทุกพรรคเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ปี่กลองการเมืองดังขึ้น การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเริ่มทำงาน ยิ่งกระแสพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์แรงขึ้น ก็เป็นปกติที่ต้องเผชิญแรงเสียดทานทางการเมืองมากขึ้น เพราะที่นั่ง ส.ส.มี 500 ที่นั่ง เมื่อมีคนได้ที่นั่ง ก็จะมีคนเสียที่นั่ง

 "การที่พรรคเพื่อไทยเดินหน้าแลนด์สไลด์ก็เพื่อมีเสียง ส.ส. มากพอที่จะเอาชนะเสียง ส.ว.ตอนโหวตตัวนายกฯ ในรัฐสภาและผลักดันนโยบายพรรคได้เต็มที่โดยไม่ต้องพะวงการเจรจาต่อรองนโยบายรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่แลนด์สไลด์เพื่อเอาอดีตนายกฯกลับบ้านตามที่มีคนพยายามด้อยค่าความตั้งใจดีของพรรคอย่างต่อเนื่อง" นายนพดล กล่าวและว่า 

 พี่น้องประชาชนอดทนมา 8 ปี ขอให้อดทนอีกไม่เกิน 8 สัปดาห์ ก็คงรู้ว่าวันเลือกตั้งจะเป็นวันไหนที่จะเข้าคูหากาบัตรเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น โดยพรรคมั่นใจว่าทุกครั้งที่ประชาชนมีสิทธิเลือก ประชาชนเลือกพรรคและคนที่ดีที่สุดเสมอ ขอทุกพรรคเคารพเจตจำนงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

"กรณ์" เดินหน้า"เศรษฐกิจสายมู" หนึ่งในยุทธศาสตร์ Spectrum Economy หารายได้ 5 ล้านล้าน



"กรณ์" เดินหน้า"เศรษฐกิจสายมู" หนึ่งในยุทธศาสตร์ Spectrum Economy หารายได้ 5 ล้านล้านบาท ดันส่งเสริมจังหวัดละพันล้าน สร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566  นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า เศรษฐกิจสายมู หรือเศรษฐกิจสีขาว เป็นหนี่งในนโยบายของพรรคชาติพัฒนากล้าที่เราได้มีการพูดถึงและนำเสนอมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยังไม่แถลงนโยบาย เนื่องจากเห็นว่า ท่องเที่ยวสายมูไม่ใช่ความงมงาย “มูเตลู” คือความเชื่อและความศรัทธา เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน โดยเฉพาะคนไทยเรา หลอมรวมกลายเป็นประเพณี วัฒนธรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แม้แต่ในช่วงโควิด ที่ทุกจังหวัดเหลือเที่ยวบินเพียงวันละเที่ยวสองเที่ยว แต่ที่นครศรีธรรมราชกลับมีเที่ยวบิน 50 กว่าเที่ยว เพราะมีวัดเจดีย์ไอ้ไข่ เงินสะพัดสู่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านที่ค้าขายอยู่รอบๆ รวมทั้งโรงแรมที่พัก ยังคงมีนักท่องเที่ยวไปอุดหนุนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง 

“เศรษฐกิจสายมูกำลังเป็นเทรนด์ของทั่วโลก สามารถใช้ศรัทธาและแรงบันดาลใจแปรเปลี่ยนเป็นรายได้อย่างมหาศาล พรรคชาติพัฒนากล้า จึงได้นำมาบรรจุในนโยบายเศรษฐกิจ 7 สี  หรือ Spectrum Economy ที่จะหารายได้เข้าประเทศ 5 ล้านล้านบาท” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าว   


นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเรามีแหล่งท่องเที่ยวเชิงศรัทธามากมาย ถ้าเราฟื้นฟูหรือสร้างสตอรี่เรื่องเล่า คิดดูว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยี่ยมเยือนแค่ไหน นโยบายของเราคือ 1 จังหวัด 1 พันล้าน โดยการสร้างแหล่งท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ จังหวัดไหนไม่มีสถานที่ที่ดึงความน่าสนใจได้เพียงพอ ก็สร้างขึ้นใหม่ได้ ยกตัวอย่าง หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่อยุธยา ที่นายกอุ๊ วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการสร้างขึ้นมา มีการวางแผนเป็นอย่างดี มีตลาดที่ชาวบ้านสามารถนำสินค้ามาค้าขายโดยรอบ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้ให้คนอยุธยาอย่างประเมินค่าไม่ได้ หรือแม้แต่พระพิฆเนศองค์ยืนที่องค์ยืนที่ฉะเชิงเทรา ที่เกิดขึ้นมาได้ก็มีนายกอุ๊เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทำให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ขึ้นหลากหลาย นอกจากนี้นายกอุ๊ ยังเป็นกำลังหลักในการสร้างหลวงปู่โต วัดโบสถ์ อ.สามโคก จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.ปทุมธานีด้วย 


“นายกอุ๊ ก็คือที่ปรึกษาด้านนโยบายของชาติพัฒนากล้าด้วย พวกเราเห็นความสำคัญของเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจสีขาว หรือสายมู ที่ถ้าเราลงทุนหลักพันล้านต่อ 1 แหล่งท่องเที่ยว เราจะได้เงินกลับคืนมาอย่างมหาศาล ดูแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกอย่างเจ้าแม่กวนอิมที่ฮ่องกง วัดอาซากุสะที่ญี่ปุ่น โบสถ์ที่งดงามในยุโรป หรือแม้แต่พระพรหมเอราวัณที่บ้านเรา ต่างก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนทั่วโลกอยากมาชมด้วยตาตัวเอง”นายกรณ์ กล่าว 


หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวคือต้องมี 3 มิติควบคู่ ได้แก่ 1. เพิ่มนักท่องเที่ยว ที่เราต้องลงทุนในระบบสาธารณูปโภค ลงทุนในการอนุรักษ์ดูแลธรรมชาติ 2. เพิ่มเวลาที่นักท่องเที่ยวอยู่กับเรา จาก 10 วันเป็น 12 วัน ต้องเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวให้หลากหลายและดึงดูด และ 3. เพิ่มเงินที่นักท่องเที่ยวใช้ตอนอยู่กับเรา เพิ่มการใช้จ่ายจับจ่าย ต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าเราให้มีราคามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของฝาก อาหาร ที่พัก ฯลฯ ซึ่งยุทธศาสตร์สายมูตอบโจทย์ทั้ง 3 มิติ


ด้านนายวัชรพงศ์ หรือ นายกอุ๊ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวเสริมว่า ตนเป็นคนแปดริ้ว และได้เห็นความเจริญเติบโตของเมืองแปดริ้วมาตลอดตั้งแต่เด็ก หัวใจการท่องเที่ยวของเมืองแปดริ้วมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นคือวัดหลวงพ่อโสธร คนมาไหว้หลวงพ่อเยอะมากปีละหลายล้านคน แต่สิ่งที่พบคือมาแค่วัดโสธรแล้วกลับไม่ไปไหนต่อในเมืองแปดริ้ว มีเพียงเป้าหมายเดียวในการมาแปดริ้วคือปิดทองไหว้หลวงพ่อ วัดอื่นไม่มีคนรู้จักไม่มีเกจิไหนหรือพระพุทธรูปใดจะทาบรัศมีและแข่งบารมีกับหลวงพ่อได้ นี่คือจุดแข็งของเมืองแปดริ้วที่ถือว่าเป็นเบอร์1 ของประเทศ แต่ในจุดแข็งกลับมีจุดอ่อนแฝงอยู่ 


การสร้างแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร สามารถพลิกโฉมเมืองแปดริ้ว มีเงินสะพัดเกิดการค้าขาย เกิดอาชีพ เกิดความเจริญในพื้นที่จากที่เคยเป็นเมืองอับคนไม่ไป ที่ดินราคาแพงขึ้นชาวบ้านรวยขึ้น เงินหมุนเวียนทั้งระบบเป็นหลายพันล้านบาทต่อปี และที่สำคัญ มีความยั่งยืน และนี่คือการท่องเที่ยวอีกรูปแบบที่สร้างขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบัน


อีกแห่งที่ตนได้สร้างขึ้นมาใหม่คือ อุทยานหลวงปู่ทวด จ.พระนครศรีอยุธยา ตามที่ท่านหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้าได้กล่าวข้างต้น ตนเข้ามารับตำแหน่ง นายก อบต.บ้านใหม่ และจัดสร้างขึ้นบนเนื้อที่ 200 ไร่และได้สร้างรูปเหมือนสมเด็จหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด  ขนาดหน้าตักกว้าง 24 เมตร ความสูงรวมฐาน 51 เมตร สร้างจากปูนหุ้มสัมฤทธิ์ เคลือบสีทอง ทั้งองค์นับได้ว่าเป็นรูปเหมือนพระสงฆ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นโมเดลความร่วมมือหลายฝ่ายทั้งภาคเอกชน ภาคคณะสงฆ์และราชการ ซึ่งตาม ประวัติศาสตร์ หลวงพ่อทวดเคยเดินทางมาพำนักที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 15 ปี เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ

เยือนอำเภอเชียงของ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ใช้อัตลักษณ์สร้างรายได้สู่ชุมชน ตอน 2


อำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เป็นโครงการของกระทรวงมหาดไทยที่ “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยรับนโยบายมาจากรัฐบาลในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขมีกินมีใช้ โดยตั้งอยู่บนฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการขับเคลื่อนในหลากหลายมิติทั้งเรื่องการส่งเสริมอาชีพ เรื่องซ่อมสร้างบ้านให้กับผู้ยากจน เรื่องการบริหารจัดการน้ำ สิ่งแวดล้อม  หรือแม้กระทั้งการส่งเสริมปลูกผักสวนครัว บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง โครงการโคก หนอง นา เป็นต้น

การลงพื้นที่ของ “ทีมข่าวพิเศษ” ทำให้รู้ว่าบทบาท “ข้าราชการ” ยุคใหม่โดยเฉพาะ “นายอำเภอ” ในฐานะนายกรัฐมนตรีในพื้นที่ ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก หมดยุคข้อครหา “เช้าชาม เย็นชาม” เป็นนักปกครอง นักบริหารไม่พอ จะต้องเป็น “มือประสานสิบทิศ” ต้องเป็น “นักการตลาด-นักพีอาร์” ด้วย เพื่อให้คนรู้จักท้องถิ่น สิ่งของดี ๆ ที่มีอยู่ในอำเภอของตนเองด้วย และรวมทั้งต้องไป “อบรมเรียนรู้” เพื่อทำงาน “มวลชน” สร้างเครือข่ายตามศูนย์ฝึกอบรมต่าง ๆ ของ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย อย่างน้อย 5 วัน 4 คืน ภายใต้หลักสูตรที่กำหนดโดยกระทรวงมหาดไทย หลักสูตรการอบรม การปฎิบัติ นอกจากคล้ายสร้างจิตสำนึกให้ตระหนึกถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ให้เรียนนรู้วิธีทำงานกับภาคีเครือข่ายและให้ เข้าถึงประชาชนประเภทให้นั่งอยู่ใน “หัวใจ” ด้วย

ข้าราชการในภูมิภาคสังกัดกระทรวงมหาดไทยยุคนี้ “ทีมข่าวพิเศษ” ได้ยินเสียงสะท้อนทั้งจาก พระสงฆ์ – แกนนำชุมชนและประชาชนจำนวนมาก บอกตรงกันว่า “พึ่งได้ดีกว่านักการเมือง” เข้าถึงประชาชนมากกว่านักการเมือง!!

“ทีมข่าวพิเศษ” ดูงานการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของนายอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย 2 วันเต็ม ภายใต้การนำของ “ไกด์กิตติมศักดิ์” เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน  ซึ่งตอนที่แล้วได้พาไปดูการสร้างอาชีพโดยใช้ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ของดี ประจำตำบลในการ “ส่งเสริมอาชีพ” สร้างอาชีพทั้งเรื่อง ไม้ไผ่และหวาย ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพระสงฆ์นายอำเภอและเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน เล่าว่า ถือว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการ “ดึงมวลชน” และสร้าง “กิจกรรม” ของชุมชน เพราะวัดเป็น “ศูนย์กลาง” ของชุมชนในขณะเดียวกัน “เจ้าอาวาส” ก็เป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชน การขับเคลื่อนจึงทำได้ง่ายเมื่อมีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาร่วม

“พระครูสุจิณวรคุณ”  เจ้าอาวาสวัดท่าข้ามศรีดอนชัย  เจ้าคณะตำบลศรีดอนชัย เขต 1  อ. เชียงของ จ.เชียงราย หนึ่งในแกนนำของคณะสงฆ์ นอกจากทำงานด้านศาสนาเรื่องการสอนหนังสือโรงเรียนพระปริยัติธรรม จัดบวชสร้างศาสนทายาทแล้ว ท่านยังบอกว่า  งานสาธารณะสงเคราะห์ งานช่วยเหลือชุมชน แท้จริงแล้วคณะสงฆ์ก็ทำกันมานานแล้ว บางคนที่ไม่รู้ก็บอกว่า “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” เพราะเวลาที่พระไม่มีกิน โยมช่วย แต่เวลาโยมลำบากพระจะไม่เข้าไปช่วยได้อย่างไร พระบางท่านก็มีพลัง มีบารมีก็สามารถช่วยเหลือญาติโยมได้เยอะ

“ในส่วนของอาตมาก็ได้ทำสาธารณะสงเคราะห์ด้วย โดยใช้ชื่อว่า “โครงการปันน้ำใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นศูนย์ปันน้ำใจ ที่มีผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ตกทุกข์ได้ยาก คนลำบาก ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ โครงการนี้ก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โครงการนี้ก็ได้จับมือกับภาครัฐ ตอนนี้อำเภอก็ให้การส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์ พระทุกวัดก็ให้ความช่วยเหลือร่วมกัน..” 

“ท่านพระครู” ยังเล่าต่ออีกว่า ด้วยความช่วยเหลือร่วมมือกันแบบนี้ทำให้เห็นภาพความเข้มแข็งของชุมชน หน่วยงานภาครัฐก็ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่คณะสงฆ์ในฐานะที่เป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจของคนในชุมชนก็ต้องให้ความร่วมมือที่ดี เมื่อคณะสงฆ์เข้าไปร่วมด้วยก็จะได้ทั้งปัจจัย สิ่งของ และจิตใจสร้างกำลังใจได้ด้วย

 “ทางกระทรวงมหาดไทย ได้มีโครงการที่ช่วยเหลือประชาชน ชื่อว่าโครงการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แต่คนที่จะทำงานนี้ต้องไปเข้ารับการอบรมก่อน อาตมาก็เล็งเห็นว่ามันเป็นเรื่องของ “บวร” จึงได้เข้าไปร่วมการอบรมด้วย อำเภอละ 10 คน ตอนนี้ก็ได้เสนอในส่วนของอำเภอเชียงของ ก็มีจุดเด่นด้านหวาย ไผ่ ผ้าทอ ชุมชนนี้เป็นชุมชนไทลื้อ ซึ่งมีอัตลักษณ์พิเศษในเรื่องผ้าทอไทลื้อ อาตมาได้ทำเรื่อง “จุลกฐิน”ที่เกี่ยวกับผู้ทอ ซึ่งชาวไทลื้อจะทอผ้าเป็นกันทั้งหมู่บ้าน เบื้องต้นนี้ไม่ใช่ว่าจะทำกฐินเพื่อถวายพระอย่างเดียว แต่มองภาพรวมว่าต้องการให้ผ้าทอไทลื้อนั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ คือ 1.สืบสานประเพณี ในการนี้ได้จัดกิจกรรมฟื้นฟู พัฒนา ปรับปรุง ชาวไทลื้อ และเครือข่ายทั้งจังหวัดมาจัดรวมที่วัดนี้  2.สืบศรีสมัย เราอยากให้มีกิจกรรมส่งต่อรุ่นต่อรุ่น ให้คนรุ่นเก่าได้ส่งต่อความรู้ ภูมิปัญญาให้คนรุ่นใหม่ได้สานต่อ  3.สืบสานพระธรรมวินัย กฐินนั้นเป็นวินัยของสงฆ์ จึงจัดกิจกรรมเพื่อให้ร็ถึงความสำคัญของการจัดกฐิน และ 4.สืบสายสัมพันธ์ ชุมชนจะอยู่ได้ เราต้องมีเครือข่ายที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามสโลแกนของท่านปลัดกระทวงมหาดไทย..”

“ทีมงาน” สังเกตว่าภายในวัดมีการ “ปลูกฝ้าย” ไว้สำหรับทอผ้าด้วย ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชนบอกว่า ท่านเจ้าอาวาสที่นี่เก่งมาก งานจุลกฐินมีคนมาร่วมงานหลายพันคนมีทั้งไทลื้อ ม้ง แม้ว มากันหมดเพราะท่านถือว่าเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนเรื่องการทอผ้าที่นี้ และท่านทำจริงจังมาก แม้แต่ปลัดกระทรวงมหาดไทย “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ”ก็เคยมาร่วมงาน เพื่อให้เห็นภาพในทางปฎิบัติ “ไกด์กิตติมศักดิ์” จากกรมการพัฒนาชุมชนขอพาลงพื้นที่ซึ่งอยู่ค่อนข้างห่างไกลจากวัดท่าข้ามศรีดอนชัย  โดยต้องย้อนกลับไปตัวอำเภอเมืองเชียงของและขับรถลัดเลาะไปตามริมแม่น้ำโขง ผ่านสวนส้ม แปลงเกษตรและสวนยางพาราซึ่งตอนนี้มีใบแก่สีแดงและกำลังจะร่วงรอผลิใบใหม่ตลอดทาง

“อรปวีย์ ธรรมวงศ์” บ้านหาดบ้าย ต.ริมโขง อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย บอกว่า ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นชุมชนที่นี้ทอผ้าใช้กันเอง การทอผ้าถือว่าเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นชุมชนบ้านหาดป้าย เป็นชุมชนบ้านไทลื้อ ปู่ยาตายายย้ายถิ่นฐานมาจากสิบสองปันนามาตั้งรกรากกันที่นี้ ชุมชนบ้านหาดป้ายมีประมาณ 100 หลังคาเรือน มีหลายหลังคาเรือนที่มีการอนุรักษ์และทำลายขึ้นมาใหม่เพื่อที่จะดึงเด็กรุ่นใหม่ให้เกิดความสสนใจและช่วยกันสานต่อ แต่เด็กรุ่นใหม่ยังมีจำนวนน้อยที่สานต่อในเรื่องผ้าทอนี้อย่างจริงจัง“แม่สอนให้เริ่มทอผ้ามาตั้งแต่เด็กๆ ทอผ้า ผลิตภัณฑ์ของเราในทุกวันนี้ต่อยอดมาจากป้าสุขาวดี ซึ่งเป็นผู้นำแม่บ้านรุ่นบุกเบิก พอมาถึงรุ่นปัจจุบันก็ยังคงสานต่อ แต่ได้พัฒนาในการขึ้นลายใหม่ เล่นโทนสีให้มีความแตกต่างจากเดิม ปรับให้เหมาะกับยุคสมัยใหม่ ให้มีความทันสมัยแต่ยังคงอัตลักษณ์เดิมไว้  ตอนนี้กรมการพัฒนาชุมชนยกให้เราเป็น OTOP ระดับ 5 ดาว ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ เพราะราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากขบวนการผลิตเริ่มต้นมาจากการนำฝ้ายมาทำเป็นเส้น ขึ้นเส้นยืน จากนั้นต้องย้อมสีและเก็บลาย เสร็จแล้วจึงสามารถนำมาทอเป็นผืนได้ ขบวนการขั้นตอนการผลิตนั้นต้องทำมืออย่างเดียวเลย จึงทำให้มีต้นทุนที่สูง..”

เริ่มแรกเราเห็นว่าคนรุ่นใหม่เลิกทอผ้าเนื่องจากไม่มีตลาด เราจึงได้เข้ามาช่วยเรื่องการตลาด มีการรวมตัวประมาณ 20 คนที่ยังคงทอผ้าเป็นอาชีพเสริม เน้นการผลิตแบบพรีออเดอร์ และตลาดทางโลกออนไลน์ ซึ่งช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำรายได้เป็นอย่างดีให้กับเรา ซึ่งเรื่องการประชาสัมพันธ์ทางอำเภอเชียงของโดยกรมการพัฒนาชุมชนช่วยเราได้เป็นอย่างดีและอีกหลายหน่วยงาน หลังจากพูดคุยเสร็จ ““อรปวีย์ ธรรมวงศ์” ได้พาไปดูพื้นที่ขนาด 3 ไร่ที่กำลังปลูกฝ้ายเพื่อเก็บทอผ้า  “เม็ดฝ้ายแปลงนี้ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท่านได้มาเป็นประธาน “จุลกฐิน” ปี2565 วัดบ้านหาดบ้าย ที่จัดงานแบบวิถีชีวิตชาวบ้าน เพราะสานต่อมาทุกปีจากบรรพบุรุษ ท่านปลัดให้เมล็ดพันธุ์ฝ้ายสีเขียวมาซึ่งเราไม่เคยเห็นเลย จึงได้ปลูกพันธุ์ฝ้ายนี้ในพื้นที่ 3 ไร่ จะช่วยทำให้ชุมชนมีความเป็นระบบมากขึ้น จากนั้นก็จะเกิดความยั่งยืน อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้เข้าอบรมการวางระบบในการทำกิจกรรมในชุมชน ให้มีการวางคนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ทุกวันนี้คนเดียวทำหน้าที่ทุกอย่างก็จะไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนได้ อยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยในเรื่องการวางระบบ..”



ส่วน “ยิ้มหวาน” วิไลพร แซ่ย้า คนรุ่นใหม่ชาวม้ง เดิมทำงานอยู่กรุงเทพมหานครหลังจากเจอ “วิกฤติชีวิต” กลับไปบ้านเกิด สนใจทำผลิตภัณฑ์ทอผ้า และทำงานร่วมกับชุมชนไทลื้อ บอกว่า เราสองชุมชนทำงานร่วมกัน ทางลื้อจะทอผ้า แล้วนำมาให้ทางม้งปัก ซึ่งเราก็มีรูปแบบและอัตลักษณ์เป็นของเราเอง เรามีแบรด์เป็นของเรา ร่วมกันทำ ส่งออกขายให้กับชุมชนม้งในต่างประเทศและภายในประเทศ

“ตอนนี้มีการรวมกลุ่มประมาณ 15 คนแต่ยังไม่ได้มีผลงานออกมา เมื่อก่อนมีรวมกลุ่มกันปักเยอะ สมัยนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากมีเครื่องจักรเป็นตัวช่วย งานทำด้วยมือไม่ค่อยมี ทุกวันนี้งานแบบนี้หายากขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำอยากที่จะนำงานเหล่านี้มาออกแบบใหม่เพื่อให้เป็นงานของเราอย่างแท้จริงและได้ชักชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มาร่วมกัน ในงานของกลุ่มนั้นยังไม่มีงานผลิตออกมา แต่ส่วนตัวแล้วมีงานทำนี้จำหน่ายขายทั้งในและต่างประเทศ มีการส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งช่องทางการขายคือการทำออนไลน์ กลุ่มเป้าหมายก็คือกลุ่มคนม้ง ม้งสหรัฐอเมริกา ม้งลาวและม้งไทย  ตอนนี้ยังติดปัญหาเรื่องอาคารสถานที่ กำลังทำเรื่องขอเครื่องจักรจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทางกรมการพัฒนาชุมชนรับปากว่าช่วยดูแลเรื่องนี้ ซึ่งจากการทำทอผ้านี้มา 1 ปี ช่วยให้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม ไม่ได้รวยแต่พอกินพอใช้ ส่งน้องเรียน เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้  มีความสุขกว่าอยู่ในเมืองหลวงมาก..”



ชุมชนบ้านบ้าย การทอผ้าไทลื้อมิได้มีเฉพาะของ อรปวีย์ ธรรมวงศ์ เท่านั้น เมื่อขับรถตะเวนดูรอบหมู่บ้านมีวิสาหกิจชุมชนและโรงเรือนทอผ้าหลายแห่งจึงไม่แปลกใจ ผ้าทอมือถูกยกให้เป็นหนึ่งในของดีประจำอำเภอเชียงของที่มีอัตลักษณ์และรูปแบบเฉพาะตัว

สุดท้ายที่พลาดไม่ได้คือการไปดูแปลง โคก หนอง นา ที่ “บูม” มาตั้งแต่ “ปลัดเก่ง” ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนในการสร้างอาชีพเศรษฐกิจฐานรากให้กับประชาชนแบบพออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นของในหลวงองค์รัชกาลที่ 9  ซึ่งในอำเภอเชียงของมีแปลงโคกหนองนาอยู่หลายแปลง ที่ได้รับงบสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน อย่างแปลงตัวอย่างที่เราไปดู คือ แปลง โคก หนอง นา ของ

“บรรจง ทะไชย” อายุ 57 ปี อดีตข้าราชการตำรวจรับราชการทำงานอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายปี ลาออกมาประกอบอาชีพทำสวนแบบผสมผสานตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บอกว่า

เริ่มเข้าโครงการโคก หนอง นา ปี 2564 ในพื้นที่ 3 ไร่ เริ่มต้นการเตรียมพื้นที่โดยการขุดบ่อ และได้รับมอบในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 มีความสนใจในโครงการนี้มานานมากแล้ว แต่ยังไม่มีหลักการ ไม่มีองค์ความรู้ ทำตามแนวคิดของตนเอง ทั้งที่ไม่เข้าใจหลักธรรมชาติ อยากปลูกอะไรก็ปลูก แต่หลังจากที่ได้เข้าการอบรมหลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติดอยอินทรีย์ 5วัน 4 คืน และหลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง 6 วัน 5 คืน เอาองค์ความรู้จากการอบรมมาพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ในพื้นที่นั้นได้ทำตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ โดยการสร้างฐาน 4 พ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น โดยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่า 5 ระดับ รายได้รายวันมาจากการเลี้ยงด้วงมะพร้าวในกะละมัง ซึ่งราคาอยู่ที่ 200 -250 บาทต่อ กก. และพืชผักสวนครัว รายสัปดาห์ มีหอยขม เฉลี่ยอาทิตย์ละ 10 กิโล กิโลละ 50 บาท รายได้รายเดือนจะเป็นพวกมะพร้าว ผลไม้ตามฤดูกาล ลองกอง ลำไย ผักหวาน อนาคตอยากให้เป็นป่าเห็ดธรรมชาติ ผมจึงปลูกไม้สูงพวกยางนา ผักหวานป่าจะเก็บได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ไปจนถึงฤดูฝน ส่งขายให้แม่ค้ากิโลละ 80-100 บาท ในด้านการตลาดไม่มีเรื่องน่ากังวลเพราะพอมีผลผลิตออกมาก็จะมีแม่ค้ามารับ ในพื้นที่เป็นเกษตรอินทรีย์ 100% ไม่ใช้สารเคมีเลย ซึ่งได้ทำปุ๋ยหมักเองโดยใช้ขี้ไก่ ผสมกับวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ ในฐานะที่เคยประกอบอาชีพตำรวจ แต่ตอนนี้หันมาทำเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ร่ำรวยแต่มีความสุข มีอยู่มีกิน ถ้าเราออกไปหาเงิน เราก็ต้องหาซื้ออาหารกินเหมือนเดิม แต่เราหันมาอาหารกินเองแบบปลอดภัย เป็นนายของตัวเอง อยากหยุดเมื่อไหร่ก็หยุดได้สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นทำเกษตรนี้ อันดับแรกต้องถามตัวเองก่อน ถ้าหากมีใจรักก็สามารถที่จะฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ และต้องเข้าใจหลักธรรมชาติ เจ้าของพื้นที่จะรู้ดีกว่าคนอื่น จะสามารถพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้



“งบที่ทำตรงนี้ได้รับการสนับสนุนจาก พช. อันดับแรกคือแหล่งน้ำ ขุดบ่อพื้นที่ 3 ไร่ ขุด2บ่อและคลองไส้ไก่ งบประมาณอยู่ที่ 104,000 บาท จากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลา ผมทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อความยั่งยืน ก็ยังมีความต้องการการสนับสนุนพลังสะอาด โซล่าเซลล์และปั๊มน้ำ  ในฐานะที่เป็นภาคีเครือข่าย ก็อยากให้ชุมชนมีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็ง ขับเคลื่อนโคก หนอง นา ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเป็นศูนย์เรียนรู้แก้ปัญหาความยากจน เป็นศูนย์จิตอาสาพัฒนาของอำเภอ เป็นครูพาทำประจำอำเภอเชียงของ..”

บรรจง ทะไชย  พาเดินทั่วบริเวณแปลงโคกหนองนา ซึ่งภายในแปลงปลูกพืชแบบผสมผสาน พร้อมทั้งแนะนำวิธีเลี้ยงผึ้ง ซึ่งมีมากกว่า 40 ลัง สอนวิธีเลี้ยงด้วงมะพร้าวที่สร้างได้รายให้เขาเป็นอย่างดี ตลาดต้องการมากไม่พอขาย ในขณะเดียวกันบอกความฝันของตนเองว่า ต้องการให้สถานที่ตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่ออบรมสอนให้คนที่สนใจให้พึ่งตนเองได้ อยากเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เขาเชื่อมั่นว่ามันคือ ทางรอด มิใช่ทางเลือก เมื่อลงมือทำแล้วจะรู้ว่า ความสุขแบบยั่งยืนที่แท้จริง เป็นอย่างไร



โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ถือว่าเป็นผลงานชิ้น “โบว์แดง” ของรัฐบาลที่ถูกกล่าวขานว่าเข้าถึงครัวเรือนประชาชนได้มากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยผู้รับนโยบายขับเคลื่อนและป้อนระบบองค์ความรู้พร้อมทั้งกระจายงบประมาณลงชุมชนครัวเรือนโดยตรงคือ “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีนโยบายน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริงเพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประการแรกผู้ที่เข้าร่วมโครงการโคกหนองนา จะต้องผ่านการอบรมองค์ความรู้ตามหลักปรัชญาพอเพียงแล้วจึงลงมือปฎิบัติ ทำให้ปัจจุบันแปลงโคกหนองนา กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัดมากกว่า 3 หมื่นแปลง เกิดครัวเรือนต้นแบบไม่ต่ำกว่า 3  หมื่นครัวเรือน มีแปลงศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ 337 ตำบลใน 73 จังหวัด ทำให้เกิดพื้นที่ป่าสีเขียวไม่ต่ำกว่า 10 ล้านต้น ในยุคที่ประเทศไทยเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา ตอบโจทย์ด้านอาหารและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี 

การลงพื้นที่ทุกครั้งของ “ทีมข่าวพิเศษ” ประชาชนมักถามอยู่เสมอว่าเมื่อไรรัฐบาลจะมีงบประมาณให้ประชาชนทำแปลงโคก หนอง นา อีกครั้งเหมือนกับยุคที่ “ปลัดเก่ง” นั่งเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน??

"สุชาติ" ควง "วิสาร" ร่วมงานดอกงิ้วบานสามเหลี่ยมทองคำ แนะไทยเร่งพัฒนาพื้นที่ "เชียงราย" คู่ขนาน



เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง จังหวัดบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง พร้อมด้วยนายวิสาร เตชะธีรวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงราย และนายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา เดินทางเข้าร่วมงานเทศกาลดอกงิ้วบานครั้งที่ 20 ประจำปี 2023 ณ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง จังหวัดบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามหนังสือเชิญของรองผู้ว่าราชการจังหวัดบ่อแก้ว

โอกาสนี้ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และคณะ ได้พบปะหารือ 3 ฝ่ายกับ พล.ท.วิไล หล้าคำฟอง รองนายรัฐมนตรี สปป.ลาว และผู้บริหารระดับสูงของสภากรรมการบริหารเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ โดยได้หารือถึงโอกาสความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมทั้งปัญหาสถานการณ์ความมั่นคงบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ ชายแดนไทย - สปป.ลาว - เมียนมา  โดย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยและ สปป.ลาว เป็นพี่น้องกัน ต่างฝ่ายต้องพึ่งพากัน โตก็ต้องโตไปด้วยกัน หากฝ่ายไหนมีปัญหาก็ต้องช่วยกันแก้ไข ดังนั้น หากมีสิ่งใดที่สามารถร่วมมือกันหรือแลกเปลี่ยนกันได้ เช่น การท่องเที่ยวแทนที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศใดประเทศหนึ่ง ควรจะหันมาร่วมมือกันผลักดันให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวทุก ๆ ประเทศในภูมิภาคของเรา ซึ่งวันนี้ สปป.ลาว กำลังพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ยิ่งต้องผลักดันความร่วมมือระหว่างกันเพื่อให้การพัฒนาพื้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นพื้นที่ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจอย่างแท้จริง ลบล้างภาพเรื่องยาเสพติด การค้ามนุษย์ ภัยคุกคาม และขบวนการหลอกลวงต่าง ๆ 

ตนในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ได้มีโอกาสพบปะหารือกับคณะทูตานุทูตหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาค ทุกท่านต่างพูดตรงกันว่าประสบปัญหาเกี่ยวกับขบวนการหลอกลวงแรงงานให้ไปเป็นแรงงานทาส เช่น ขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์ หรือ มันนี่เกมหลอกลวงให้ร่วมลงทุน ซึ่งตนได้ยืนยันไปหลายวาระแล้วว่ายังไม่พบเรื่องดังกล่าวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเป็นเมืองที่มุ่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เราต้องร่วมกันเฝ้าระวัง ป้องกันและปราบปรามไม่ให้ขบวนการหลอกลวงเหล่านี้เข้ามาในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ

นอกจากนี้ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และคณะ ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ตนเคยพูดไว้หลายครั้งแล้วถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาว่าได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งไทยเห็นว่าควรจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านการเจรจาเพื่อส่งเสริมด้านการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าเกษตร เพื่อรองรับคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในอนาคต ที่ผ่านมาต้องถือว่าไทยเสียโอกาสไปมากที่ยังไม่มีการริเริ่มโครงการใด ๆ มารองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำของสปป.ลาว ทั้งที่พื้นที่ชายแดนอยู่ติดกัน เอื้อต่อการเดินทางขนส่ง 

ทั้งนี้  ทราบว่า จ.เชียงราย มีความพยายามผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัด ตลอดจนมีการก่อสร้างสะพานข้ามแดนถาวรเพื่อพัฒนาด้านการขนส่งและการคมนาคม เพื่อความสะดวกด้านการเดินทางระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบพัฒนาพื้นที่คู่ขนานระหว่าง 2 ฝั่งแม่น้ำโขงให้เจริญเติบโตในทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวหากเรื่องนี้เกิดขึ้นได้เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อทั้งสองประเทศอย่างแน่นอน และสิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ โครงการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างเชียงแสนกับเมืองต้นผึ้งหากดำเนินการได้สำเร็จ ย่อมจะเป็นผลดีกับประเทศไทยทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขนส่งสินค้าเกษตรจะสามารถขนส่งได้โดยง่าย 

ในส่วนของการยกระดับความร่วมมือด้านต่าง  ๆ  ระหว่างกันนั้น รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ได้นำปัญหาการหลอกลวงและการค้ามนุษย์ หารือกับรองนายกฯ สปป.ลาว เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคประสบปัญหาดังกล่าว แต่ทราบว่ายังไม่พบที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ จึงฝากให้รองนายกฯ สปป.ลาว เฝ้าระวังขบวนการหลอกลวงเหล่านั้นอย่าให้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียประโยชน์ของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ รวมทั้งได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยให้ใช้กลไกภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามปัญหาดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำนั้น เป็นพื้นที่แห่งการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน แม้ว่าจะลงทุนโดยชาวจีน ไม่ใช่ชาวลาว แต่ไม่ใช่พื้นที่สีเทาอย่างที่คนเข้าใจ เพราะส่วนตัวได้ติดตามการเจริญเติบโตของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำมาตั้งแต่ต้น และเห็นถึงการพัฒนาในทุกมิติของเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ เพื่อเป็นพื้นที่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอย่างแท้จริง

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2566

“ภาคเอกชนจังหวัดเลย” ฝากความหวัง “เพื่อไทย” ส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยว ยกระดับรายได้เกษตรกร



“ภาคเอกชนจังหวัดเลย” ฝากความหวัง “เพื่อไทย” ส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเลย ยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ วอนช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกรและผู้ค้าลอตเตอรี 

 วันที่ 27 มกราคม 2566  นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมาและเลขาธิการพรรค นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล  ส.ส.เลย นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ร่วมหารือกับตัวแทนภาคเอกชนของจังหวัดเลย ซึ่งนำโดย นายธเนศ หาญถนอม ประธานหอการค้าจังหวัด นายวิทยา พลน้ำเที่ยง ประธานกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าจังหวัดเลย และนายเกรียงศักดิ์  คุณานันท์ศักดิ์ นายกสมาคมพ่อค้าจังหวัดเลย 


โดยกลุ่มนักธุรกิจและภาคเอกชนได้สะท้อนว่าศักยภาพของเมืองเลยมีสูง โดยเฉพาะซอฟต์เพาเวอร์ทั้งวิถีชีวิต การแต่งกาย เสื้อผ้าและอาหาร อีกทั้งและเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากเชื่อมต่อกับลาวทั้งบนและล่าง ที่สามารถส่งเสริมให้พี่น้องชาวจังหวัดเลยมีรายได้ และส่งเสริมพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือ ภูกระดึง ที่มีข้อเสนอจากภาคเอกชนมานานเรื่องกระเช้าขึ้นภูกระดึง ซึ่งน่าจะสามารถช่วยเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมไปถึงกระเช้าขึ้นภูบ่อบิด ในเขตอำเภอเมือง ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแลนด์มาร์กและเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของเมืองเลยได้ 


นอกจากนี้ภาคเอกชนยังได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาทรัพยากรคน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการพัฒนาเมืองเลยไปสู่สปอร์ตซิตี้ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพเยาวชน แต่ยังขาดแคลนสนามกีฬามาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้ยังต้องการพัฒนาด้านการคมนาคม โดยเมืองเลยมีเส้นทางการท่องเที่ยวที่เรียกกันว่าโรแมนติกรูท ซึ่งสามารถยกระดับเชื่อมโยงการเดินทางและการท่องเที่ยวไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่จะดึงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านมาเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเลยได้ ในส่วนปัญหาสินค้าเกษตร ยังต้องการการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและคุณภาพสินค้าเกษตร ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น รวมไปถึงปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำ และพี่น้องผู้ค้าลอตเตอรี ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ก็ฝากความหวังให้พรรคเพื่อไทยช่วยแก้ไขปัญหา   


นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยอาจมองเห็นมุมกว้าง แต่สิ่งที่ได้รับการสะท้อนมาเป็นประโยชน์สำหรับพรรคที่จะรวบรวมนำไปพัฒนาเป็นนโยบาย ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยว และการเกษตร ซึ่งพรรคเพื่อไทยมมีหลักคิดสำคัญ คือ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ซึ่งในส่วนนี้อาจมีการคิดต่อยอดไปสู่การเตรียมการรองรับพี่น้องผู้ค้าลอตเตอรีที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 


ขณะที่ นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า จังหวัดเลยมีศักยภาพมาก ในด้านการเกษตรกรก็มีการปลูกข้าว อ้อย มันและยางพารา ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาจับเพื่อช่วยส่งเสริมการเพาะปลูก และที่สำคัญคือจะต้องช่วยเรื่องการตลาด โดยเปิดช่องทางการขายสินค้าไปในต่างประเทศ เพื่อระบายสินค้าให้เกษตรกร ในส่วนของการท่องเที่ยวจังหวัดเลยนั้นก็เป็นอีกด้านสำคัญจึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมในด้านนี้ให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีแพลนใหญ่ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในการเพิ่มนักท่องเที่ยว เพิ่มโอกาส เพิ่มรายได้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น นอกจากนี้พรรคเพื่อไทย ยังมีแนวนโยบาย หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์ ที่จะส่งเสริมคนที่มีศักยภาพ ให้มีโอกาส จะช่วยให้เกิดการเพิ่มอาชีพ และมีรายได้เพิ่ม

 

“จังหวัดเลยมีศักยภาพเยอะมาก ในหลายด้าน จะก็ขาดเพียงโอกาส พรรคเพื่อไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราพูดเรื่องนโยบายและสามารถทำได้จริง เพราะฉะนั้นในส่วนนี้จึงเป็นความตั้งใจของพรรคเพื่อไทย ที่จะแก้ไขปัญหาปากท้่องให้พี่น้องประชาชน” นางสาวแพทองธารกล่าว

 


วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566

กระทรวง พม. หนุนโครงการพระธรรมจาริกสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน



ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2566 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชนถิ่นกันดารในพระราชูปถัมถ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสำนักงานประธานคณะพระธรรมจาริก ได้จัดให้มีการประชุมปฐมนิเทศพระธรรมจาริกปีที่ 58 ณ วัดศรีโสดา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายกิตติ อินทรกุล รักษาการแทนอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส 

พระพรหมเสนาบดีกล่าวว่า “พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือถิ่นกันดาร ยิ่งในพื้นที่สูงจำเป็นต้องพัฒนาให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพื่อนำหลักการทางพระพุทธศาสนาไปพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมา โครงการพระธรรมจาริกได้ทำหน้าที่อย่างดียิ่ง โดยมีการส่งเสริมการเรียนรู้ การให้โอกาสทางการศึกษา การอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ การพัฒนาจิตใจและปัญญา ควบคู่กับการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คณะสงฆ์ภาค 7 ซึ่งมีพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน พร้อมสนับสนุนการทำงานของคณะพระธรรมจาริก เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ที่ว่า “ชุมชนบนพื้นที่สูงมีศักยภาพในการร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมด้วยตนเองอย่างยั่งยืนตามแนวทางพระพุทธศาสนา”

ด้านนายกิตติ อินทรกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า “ กรมพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมสนับสนุนงบประมาณ กิจกรรม และเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานของพระธรรมจาริกให้มั่นคงยิ่งขึ้น โดยจะยกระดับการทำงานของพระธรรมจาริก ควบคู่กับการพัฒนาในระดับพื้นที่จับคู่พัฒนาร่วมกับเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน ยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมนุมตามภูมิปัญญาชาวบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีคุณค่าและความทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” 

ส่วนพระธรรมวชิราธิบดี ประธานคณะพระธรรมจาริก เจ้าคณะภาค 17 เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ระบุว่า ปัจจุบันโครงการพระธรรมจาริกมีอาศรมธรรมจาริกจำนวน 337 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่การปฏิบัติงานกว่า 20 จังหวัด มีพระธรรมจาริก 489 รูป มีศาสนทายาททั้งสามเณรแยะเยาวชนชายญิง จำนวน 498 รูป/คน ซึ่งกำลังศึกษาในโรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ โรงเรียนวัดวิเวกวนาราม และศูนย์พัฒนาศักยภาพเยาวชนสตรี อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่  นับว่าโครงการพระธรรมจาริกได้ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนากับการพัฒนาสังคมอย่างดียิ่ง โดยปี 2566 นี้จะมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การบรรพชาอุปสมบทชาวเขา การจัดมหกรรมโครงการพระธรรมจาริก แสดงผลงาน ผลิตภัณฑ์ของชาวเขา ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร”

ด้านพระสุธีรัตนบัณฑิต คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะรองประธานพระธรรมจาริก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ร่วมดำเนินการกับโครงการพระธรรมจาริกและบัณฑิตอาสาของมหาวิทยาลัย เพื่อให้พระสงฆ์รุ่นใหม่มีอุดมการณ์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการพัฒนาบนพื้นที่สูง ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพพระธรรมจาริกให้มีแนวทางการทำงานร่วมกับภาครัฐ องค์ปกครองท้องถิ่น เพิ่อคนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”


ในการประชุมปฐมนิเทศและการอบรมพระธรรมจาริกประจำปี 2566 นี้ ได้รับการสนับสนุนจากทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่โครงการพระธรรมจาริก และจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ก่อนจะส่งพระธรรมจาริกขึ้นไปปฏิบัติงาน ณ อาศรมต่างๆ ในพื้นที่ 20 จังหวัดในภาคเหนือตอนบนและภาคกลาง เช่น  อุทัยธานี กาญจนบุรี เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ทีมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่จำนวนมาก

กมธ.อุตฯสภาฯบุกสุวรรณภูมิ ตรวจเฟส 3 ‘ธีรรัตน์’ หวั่น นทท.กระจุกตัวแน่นหนักคิวยาว



กมธ.อุตฯสภาฯบุกสุวรรณภูมิ ตรวจเฟส 3 ‘ธีรรัตน์’ ห่วงขยายพื้นที่ทุกอย่าง แต่ ตม.ไม่ขยายเพิ่ม หวั่น นทท.กระจุกตัวแน่นหนักคิวยาวกว่าเดิมแน่

วันที่ 27 มกราคม 2566  นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร  เข้าศึกษาแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน  ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีนายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสุเมธ ลือตระกูล ตัวแทนผู้รับจ้างก่อสร้างรันเวย์ 3 และยังมีผู้แทนจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด บริษัท บางกอกไฟลท์ เซอร์วิส จำกัด  เพื่อติดตามการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน เครื่องบิน บุคลากร โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สู่เป้าหมายการเป็นจุดแวะพัก จุดต่อเครื่องบิน  ไปจนถึงการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้เข้าประเทศ 

นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า ความคืบหน้าในโครงการพัฒนา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 3 ที่มีทั้งการก่อสร้างรันเวย์ เส้นที่ 3 การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันตก  อาคาร พบว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย ซึ่งจะไม่กระทบกับ กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2567 แต่มีข้อสังเกตว่าแม้จะมีการสร้างอาคารผู้โเยสารหรือรันเวย์เพิ่ม แต่ส่วนของการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ยังอยู่ที่อาคารหลังเดิม ซึ่งจะทำให้การตรวจคนเข้าเมืองทำได้ล่าช้าและอาจจะกระจุกตัวมากยิ่งขึ้นหรือไม่ ซึ่งมองว่าเรื่องนี้ควรแก้ไขและต้องหาทางออกรองรับไว้ในอนาคต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งประเมินจากการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งภายในและนอกประเทศที่จะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิดและเศรษฐกิจที่อาจจะฟื้นตัวด้วย 

“ทุกอย่างเพิ่มหมด แต่ส่วน ตม.ยังเหมือนเดิม เป็นปัญหาที่เราคิดว่าต้องรีบแก้ไข เพราะมีความกังวลว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวจะไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่คิด จากสาเหตุของการจัดการที่ไม่รอบคอบหรือไม่” นางสาวธีรรัตน์ กล่าว


"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...