เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์, ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลักสูตรสันติศึกษา มจร หวังที่จะส่งมอบสันตินวัตกรรมสู่ชุมชนพิสูจน์สันติภาพลงดิน สันติภาพกินได้ สันติภาพตามกรอบของหลักสูตรสันติศึกษา มจร ประกอบด้วย 4 ภาพ คือ สันติภาพเชิงกายภาพ สันติภาพเชิงพฤติภาพในชุมชนและสังคม สันติภาพเชิงจิตภาพ และสันติภาพเชิงปัญญาภาพ
"ในทุกๆ ภาพ หลักสูตรได้กำหนดรายวิชาให้นิสิตนำสันติธรรมไปทำ หนึ่งในสันตินวัตกรรมที่หลักสูตรพานิสิตลงพื้นที่ไปทำในรายวิชาภาวะผู้กับทักษะการเสริมสร้างชุมชนและสังคมสันติสุข คือ พุทธกสิกรรมโคกหนองนาสันติศึกษาโมเดล" ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวและว่า
ดังนั้น หลักสูตรสันติศึกษา มจร จึงได้เปิดหลักสูตรพุทธกสิกรรมโคกหนองนาเพื่อการพัฒนาสันติภาพชุมชนอย่างยั่งยืน รุ่น 1 โดยรับจำนวนจำกัดเพียง 50 คนเท่านั้น โดยคัดเลือกพิเศษสำหรับผู้ที่พร้อมทำจริงเท่านั้น เพื่อหวังที่จะส่งมอบหลักสูตรที่ดีที่สุดตอบโจทย์ความสุขได้ตลอดทั้งชีวิต โดยไม่ต้องแสวงหาความสุขที่อื่นไกลอีกต่อไป เพราะหลักสูตรนี้จะนำท่านเจริญสุขได้บนพื้นที่ของตนเอง
หลักสูตรนี้เกิดจากการศึกษาวิจัยของคณาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา ภายใต้แนวคิด “สันติภาพลงดิน สันติภาพกินได้” เป็นการยกระดับโคกหนองนาสู่การพัฒนาสันติภาพชุมชนอย่างยั่งยืน และวันที่ 10 มีนาคม 2566 จะครบรอบ 2 ปี ของการพัฒนาโครงการฯ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการส่งมอบคุณค่าของพื้นที่ที่ผ่านการพัฒนาไปสู่การจัดหลักสูตรพุทธกสิกรรมโคกหนองนาเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยใช้พื้นที่พุทธกสิกรรมโคกหนองนาสันติศึกษาโมเดล อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ โดยระหว่างวันที่ 11 - 15 มีนาคม 2566
หลักสูตรฯ ได้จัดเตรียมงบประมาณราว 350,000 บาท สำหรับการพัฒนาและฝึกอบรม รวมถึงการเตรียมการเพื่อต้อนรับผู้ที่สนใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ผ่านการคัดเลือก ทั้งนี้ มั่นใจว่าผู้เข้ารับการพัฒนาจักได้รูปแบบโคกหนองนาของตนเอง เครือข่ายพันธุ์พืช พันธุ์ปลา เมล็ดพันธ์ และรับการปรึกษาตลอดโครงการฯ
ดังนั้นผู้ที่สนใจสมัครรีบตัดสินใจด่วนที่สุด สมัครแล้วรอประกาศรายชื่อผู้สมัคร และผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมรุ่น 1 ต่อไป โดยสมัครที่นี่ https://forms.gle/k2n5KEgurSZnB4Bd6
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น