วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2566

ปลัดมหาดไทยเผย "เทพา-วังเจ้า"คว้ารางวัลอำเภอนำร่อง "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ระดับยอดเยี่ยม




ปลัดมหาดไทยเผย “อ.เทพา จ.สงขลา” และ “อ.วังเจ้า จ.ตาก” คว้ารางวัลสุดยอดอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ระดับยอดเยี่ยม  ยกเป็นอำเภอต้นแบบผลงานโดดเด่นเชิงประจักษ์ พร้อมเร่งขยายผลโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการ 878 อำเภอให้เกิดความอย่างยั่งยืนต่อไป

วันที่ 18 มกราคม 2566  เวลา 15.00 น. ณ ห้อง War Room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานคัดเลือกอำเภอนำร่องระดับจังหวัดที่สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ยอดเยี่ยม ครั้งที่ 2/2566 โดยได้รับความเมตตาจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชยดิษฐ หุตานุวัชร์ ผู้แทนเครือข่ายเอกชน และคณะทำงานฯ เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล 



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เปิดเผยว่า การคัดเลือกอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ยอดเยี่ยม ในครั้งนี้ เป็นการพิจารณาคัดเลือกอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อมอบรางวัลอำเภอนำร่องระดับจังหวัดที่สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ยอดเยี่ยม ซึ่งได้ขับเคลื่อนบูรณาการการทำงานร่วมกันของผู้นำภาคีเครือข่าย และทีมผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง รวมทั้งกลไกในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยได้มีการคัดเลือกในรอบแรกจากอำเภอทั่วประเทศ 878 อำเภอ เหลือตัวแทนจังหวัด 76 อำเภอ และตัวแทนกลุ่มจังหวัด 18 อำเภอ จนรอบสุดท้ายคัดเลือกเหลือเพียง 10 อำเภอที่มีผลงานโดดเด่น ได้แก่ 1) อ.แม่ใจ จ.พะเยา 2) อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น 3) อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี 4) อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ 5) อ.เทพา จ.สงขลา 6) อ.เมืองยะลา จ.ยะลา 7) อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก 8) อ.วังเจ้า จ.ตาก 9) อ.หันคา จ.ชัยนาท และ 10) อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี  ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและประเมินผลเชิงประจักษ์ ช่วงระหว่างวันที่ 13 - 27 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อนำผลการประเมินที่ได้มาตัดสินอำเภอที่ยอดเยี่ยมที่สุด ในการเป็น “อำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” 



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ทั้ง 10 อำเภอที่เข้ารอบต่างก็มีผลงานที่โดดเด่นในเชิงประจักษ์ เพราะนายอำเภอทั้ง 10 อำเภอ ต่างทำหน้าที่ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีของอำเภอ” เป็นผู้นำที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการจัดทำโครงการพัฒนาในพื้นที่ของตน ผ่านการประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ มีแนวคิดสร้างสรรค์ และสามารถจัดทำโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง จึงทำให้การตัดสินคัดเลือกเพื่อหาอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ยอดเยี่ยม เป็นไปด้วยความลำบากใจของคณะทำงานฯ แต่ทุกการประกวด การตัดสิน ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 



“ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้มีมติลงความเห็นร่วมกันด้วยคะแนนเสียงข้างมาก คัดเลือกให้ อ.เทพา จ.สงขลา และ อ.วังเจ้า จ.ตาก ได้รับรางวัล “อำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ยอดเยี่ยม” เนื่องจากทั้งสองอำเภอ เป็นอำเภอที่มีความโดดเด่นในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดย อ.เทพา จ.สงขลา นั้น ได้จัดทำ “โครงการดาหลาบารูสู่ความเพียร” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้พื้นที่อำเภอเทพา มีระบบเศรษฐกิจชุมชนฐานรากที่เข้มแข็ง ประชาชนมีอาชีพมั่นคงมีรายได้เพิ่มขึ้น ชุมชนมีความสุขสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านกลไกผู้นำ หรือ นายอำเภอเทพา ที่มีความสามารถในการบูรณาการภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 เครือข่าย ให้สามารถเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฯ ได้อย่างสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียว ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างผสานความแตกต่างทางวัฒนธรรมในพื้นที่ จากการร่วมมือร่วมใจกับผู้แทนทางศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการฯ ก่อให้เกิดความร่วมมือกันของสังคมพหุวัฒนธรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความปรองดองในพื้นที่ เกิดเป็นเครือข่ายฯ ที่เข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันทุกระดับ และในส่วนของ อ.วังเจ้า จ.ตาก นั้น ได้จัดทำ “โครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพุ่งเป้า ในระบบ TPMAP และ ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนในระบบ ThaiQM อ.วังเจ้า จ.ตาก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” ของ อ.วังเจ้า ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย ด้านการอุปโภคบริโภค ด้านการศึกษา ด้านรายได้และอาชีพ ด้านความปลอดภัย และด้านกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น รวมถึงยังเป็นอำเภอที่มีกลไกผู้นำที่เข้มแข็ง หรือก็คือ นายอำเภอวังเจ้า ในการสร้างการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ผ่านการนำสถาบันหลักในชุมชนมาเป็นกลไกในการพัฒนาและสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการพัฒนาแก้ไขปัญหาตนเองและชุมชนตามแนวทาง “บวร บรม ครบ” มาขับเคลื่อน ร่วมกับการทำงานกับภาคีเครือข่าย 7 ภาคี นอกจากนี้ นายอำเภอวังเจ้ายังมีความโดดเด่นในด้านภาวะผู้นำ มีความมุ่งมั่นตั้งใจการขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ประสบผลสำเร็จ แม้มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรในพื้นที่ รวมถึง มีการขยายผลไปจากระดับอำเภอ สู่ระดับหมู่บ้าน ก่อให้เกิดความเข้มแข็งหมู่บ้านตามแนวทางแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง “หมู่บ้าน อยู่เย็น”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นายอำเภอ เป็นผู้นำที่เปรียบดังหัวเรือใหญ่ในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เป็นศูนย์กลางในการประสานงานทุกภาคีเครือข่ายเข้าด้วยกันในการบูรณาการการทำงานร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนางานในพื้นที่ เพื่อสร้างสังคมที่ดีและเข้มแข็ง อันส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งรางวัล “อำเภอนำร่อง ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ ยอดเยี่ยม” ที่ อ.เทพา จ.สงขลา และ อ.วังเจ้า จ.ตาก ได้รับในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีในการสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นปลุกเร้าท่านนายอำเภอทั้งหลายในทุกพื้นที่ทั้ง 878 อำเภอ ให้เกิดความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติงานและขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ สร้างความน่าเชื่อถือและศรัทธาให้แก่พี่น้องประชาชน เพื่อให้ภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จพระธีรญาณมุนี-ปลัด มท." ประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถคู่หน้าวัดสโมสรนนทบุรี

    เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567  เวลา 09.39 น.ที่วัดสโมสร บ้านคลองหม่อมแช่ม หมู่ 9 ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจ...