วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ราชบัณฑิตหวั่นพุทธมณฑลกลายเป็น "ศูนย์กลางร้าง" หนุน "พวงเพ็ชร" พัฒนาเป็นศูนย์กลางพุทธโลกอย่างแท้จริง

 


เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566  เฟชบุ๊ค Banjob Bannaruji – บ้านบรรณรุจิ ซึ่งเป็นเฟชบุ๊คสาธารณะของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต  นักวิชาการพระพุทธศาสนาชื่อดัง ได้โพสต์ว่า ‘ขออย่าให้ พุทธมณฑล  กลายเป็นศูนย์กลางร้าง  เพราะแค่คณะสงฆ์เอาตัวรอดว่า   ‘วัดใครวัดมัน’

ฝากถึง รัฐมนตรีหญิง พวงเพ็ชร (ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)  เอาแค่   ‘ทำพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางบริหารงานคณะสงฆ์ไทย’  ได้ก็นับว่าทำบุญใหญ่กับพระพุทธศาสนาไทยแล้ว  ยังไม่ต้องไปไกลถึงศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกหรอก  ถ้ารัฐมนตรีทำได้

เท่ากับเปิดประวัติศาสร์ใหม่ให้กับพระพุทธศาสนาไทยเลยนะ

เริ่มต้นไว้อย่างนี้ หลายท่านคงมองออกว่า  ผมจะมาแนววิพากษ์สังคมพระพุทธศาสนาบ้านเรา

ใช่ ! แต่ไม่ใช่เพื่อทำร้ายใคร   หากมุ่งให้เกิดการสร้างสรรค์  แม้จะไม่แนวถนัดของผมก็ตาม  เคยคุยกันไว้ในหมู่เพื่อนฝูงว่า

จะเขียนสดุดีรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรกที่ดูแลสำนักพุทธสักที   แต่ขอดูนโยบายที่จะให้กับสำนักพุทธก่อน

จนเมื่อถึงวันนี้ เห็นนโยบายแล้วก็ใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง เพราะมี  ‘ความเป็นพุทธ’   ปรากฏอยู่ในนโยบายชัดเจน

@ ผิดกับรัฐมนตรีท่านก่อนๆ  ที่เข้ามาโดยไม่มีนโยบายให้รู้ทิศทาง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ

ไม่ได้เข้ามาดูแลแบบมีใจให้

ไม่มีความรู้ที่จะทำงานด้านพระพุทธศาสนา

ไม่ให้ความสำคัญพระพุทธศาสนาเพียงเพราะเห็นว่าพระสงฆ์บุคลากรหลักของสถาบันพระพุทธศาสนาลงคะแนนเลือกตั้งให้ไม่ได้ แม้ดูแลดีไปก็ไม่ได้คะแนนกลับมา (หรือ)

อาจเข้าใจว่า รัฐมนตรีดูแลสำนักพุทธไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากไปปรากฏตัวให้บรรดา ‘พระมหาเถระ’ กรรมการมหาเถรสมาคมเห็นในงานฉลองชนมายุหรือฉลองวันเกิดของแต่ละท่านก็พอ

*เคยได้ยินรัฐมนตรี(ชาย)ในอดีตอันไม่ไกลโพ้นบางท่านบ่นว่า

‘เข้ามาแล้วอยากทำงานให้พระพุทธศาสนาในภาพรวม แต่กลับทำไม่ได้  เพราะต้องใช้เวลาส่วนมากหมดไปกับการเดินสายถือแจกันไปถวายมุทิตาสักการะในงานวันเกิดกรรมการมหาเถรสมาคมแต่ละรูปถึงวัด   ถึงวัดแล้ว ก็มีแต่พูดคุยให้สนับสนุนภารกิจเรื่องส่วนบุคคลส่วนวัด…’  มีคนเคยหลุดปากแนะนำไปว่า ‘ไม่ไปไม่ได้หรือ ?  หรือ บางคนเสนอว่า ‘ถ้างั้นไปบ้าง ไม่ไปบ้างก็ได้’

รัฐมนตรีไม่ตอบ เอาแต่สั่นหน้าดิกปฏิเสธลูกเดียวว่า ‘ไม่ได้’

@ ว่าจะเขียนสดุดีรัฐมนตรีหญิงพวงเพ็ชร แต่ไหงไพล่ไปถึงความในใจของอดีตรัฐมนตรีชายท่านหนึ่ง

ไหน ๆก็ไหน ๆ ไพล่มาถึงขนาดนี้แล้ว  ก็ขอใช้โอกาสนี้กราบเรียนบรรดาพระมหาเถระผู้กุมบังเหียนมหาเถรสมาคมว่า

‘ขอให้ใช้รัฐมนตรีเพื่อปะโยชน์แก่พระพุทธศาสนาในภาพรวมเถิด  อย่าใช้แค่เพื่อประโยชน์วัดใครวัดมันอย่างที่ผ่านมาเลย’

ที่พูดเช่นนี้  ไม่ใช่ต้องการไประรานมหาเถรสมาคม องค์กรสูงสุดฝ่ายปกครองของคณะสงฆ์   แต่ความจริงมีอยู่ว่า

‘ความเจริญทางวัตถุ อย่างเช่น สร้างวัดสร้างกุฏิศาลาเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนหลัง  ถึงคราวมีภัย ก็ไม่สามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ แม้ชั่วเวลาดื่มข้าวยาคูแค่อึกหนึ่ง’ พระสิริมังคลาจารย์ มหาปราชญ์ชาวเชียงใหม่กล่าวในมัวคลัตถทีปนีเมื่อเกือบพันปีมาแล้ว

ก็จริงอย่างท่านว่า ดูมหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นตัวอย่าง ใหญ่โตขนาดไหน แถมมีอำนาจบ้านเมืองสนับสนุน แต่ถึงคราวมีภัยก็ไม่รอด กองทัพมุสลิมมาไม่กี่ร้อยคนก็บุกเข้าเผาเข้าทำลายเสียหมดโอกาสฟื้นตัว ทั่งนี้เพราะพระสงฆ์บุคลากรหลักต่างอยู่แบบสุขสบาย ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับสังคมนอกมหาวิทยาลัยไว้เป็นกำแพงป้องกัน  ถึงคราวมุสลิมเผา คนฮินดูที่ไม่ช่วยเลยช่วยเผาด้วย

เรื่องที่ว่ามาทั้งหมด น่าจะช่วยยืนยันได้ว่า ‘ความเจริญของแต่ละวัดไม่ใช่หลักจะประกันแท้จริงว่าจะทำให้พระพุทธศาสนามั่นคงได้’  เพราะอะไร ?

เพราะว่าวัดแม้จะเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา แต่แต่ละวัดก็เป็นสมบัติแบบมีเจ้าของ  และเจ้าของแต่ละวัด แม้จะอ้างว่าเป็นสงฆ์ แต่ก็มีประเพณีปฏิบัติที่แยกให้เห็นเป็นว่าวัดใครวัดมัน ไม่พร้อมรวมตัวกันเพื่อพระพุทธศาสนาในภาพรวม เมื่อยามที่ต้องการ’ ไม่ต้องอะไรหรอก ?  ดูแค่พุทธมณฑล

อย่างที่ ‘อุทัย มณี’ พูดถึง ก็พอจะมองเห็นภาพว่า

บรรดาพระมหาเถระกรรมการมหาเถรสมาคมไม่ได้สนใจใช้ให้เป็น ‘ศูนย์กลางบัญชาการของพระพุทธศาสนา’

แต่ละท่านคงยังมุ่งมั่นแต่จะทำวัดของตนเองให้เป็นศูนย์กลาง  ทั้ง ๆที่ก็รู้ว่า ‘ตำแหน่งที่ท่านได้ อำนาจที่ท่านมี  คือสมบัติผลัดกันชม  ไม่จากเป็นก็จากตาย’ ครั้นถึงเวลาตำแหน่งเปลี่ยนมือ  อำนาจเปลี่ยนผู้ใช้ จริงเข้า  ผู้ที่รับตำแหน่งใหม่อำนาจใหม่ ก็ต้องดิ้นรนสร้างศูนย์บัญชาการใหม่ขึ้นที่วัดตัวเอง  ตามรอยเดิมการเปลี่ยนมือกันไปอย่างนี้ มีให้เห็นมาจนคนยุคผมจะหมดเวลาเห็นแล้ว

จึงครั้งนี้ ผมขอเสี่ยงเสนอตัวเองเป็นตัวแทนชาวพุทธ ฝากถึงท่านรัฐมนตรี โปรดช่วยทำพุทธมณฑลให้เป็น  ‘ศูนย์กลางการบริหารงานคณะสงฆ์ทีเถิด พระพุทธศาสนาจะได้มีชีวิตชีวาและมั่นคง เพราะเขื่อว่าจะมีอะไรดีๆตามมาอีกเยอะ

พุทธมณฑลจะได้พ้นจากสภาพการถูกปรามาสว่า ‘ศูนย์กลางร้าง’

ท่านเองก็จะได้บุญมาก  หากรัฐมนตรีคิดคนเดียวไม่ไหว ก็คุยกับนายกเศรษฐาขอตั้ง ‘คณะกรรมการเฉพาะกิจพัฒนาพุทธมณฑล’ คัดสรรเอาพระสงฆ์รูปที่ท่านมีแนวคิดเพื่อส่วนรวม คัดสรรเอานักการเมืองพวกท่านที่เอาจริงเอาจังกับการส่งเสริมพระพุทธศาสนาคัดสรรนักวิชาการใจกว้าง สื่อสารมวลชนใจเที่ยงธรรมเข้าไปมองและสะท้อนภาพ

จะแถมด้วยนักบริหารนักธุรกิจที่ท่านมีใจให้พระพุทธศาสนา  หรือจะเอาสายมูเข้าไปบ้างเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ท่านรัฐมนตรีก็ไม่ว่า แต่ขอให้มีสาระ

 กราบขออภัย ไม่ตั้งใจจะเล่นแรง แต่ข้อมูลที่สะสมมาเป็นอย่างนี้

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑

 วิเคราะห์คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย ธรรมบท ในปริบทพุทธสันติวิธี: หลักธรรมและการปร...