วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561

เผยเคล็ดลับ 5 เทคนิค “บริหารสมองดีชีวิตมีสุข”





          สมองนับว่าเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อน มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของร่างกาย ดังนั้นการดูแลรักษาสมองให้มีสุขภาพดีในทุกช่วงอายุ เป็นเรื่องที่สำคัญควรใส่ใจ ยิ่งเมื่ออยู่ในช่วงวัยกลางคนที่สมองเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความคิดและความจำ
          ล่าสุดรพ.บำรุงราษฎร์ ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ได้จัดงาน “Lifestyle for Healthy Brain” (ไลฟ์สไตล์ ฟอร์ เฮลธ์ตี้ เบรน) เพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับสุขภาพสมอง พร้อมเผยเคล็ดลับสมองดีชีวิตมีสุขให้กับบุคคลทั่วไปที่รพ.บำรุงราษฎร์
          “นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา เปิดเผยว่า “ปัจจัยเสี่ยงผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น สถิติผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ที่พบได้ในกลุ่มคนทั่วไปเฉลี่ยช่วงอายุ 65 ปี จะมีสัดส่วนร้อยละ 5 ผู้อายุ 75 ปีขึ้นไปเฉลี่ยร้อยละ15 และกลุ่มอายุ 85 ปีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 – 40
          “ปัจจุบัน พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่เข้ามาปรึกษาแพทย์ด้านสมอง เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับโรคความจำจำนวนมากขึ้น แบ่งออกเป็น กลุ่มคนวัยทำงาน และ กลุ่มผู้สูงอายุ แต่ละกลุ่มนั้นจะมีปัจจัยแวดล้อม และความเสี่ยงที่แตกต่างกัน
          “กลุ่มคนวัยทำงานอายุเฉลี่ย 30 - 40 ปี ที่เข้ามาปรึกษาแพทย์ มีความกังวลว่าตัวเองจะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่เมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากพ่อหรือแม่ตนป่วยเป็นโรคนี้ในปัจจุบัน ซึ่งในความเป็นจริงไม่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ในอนาคต”นพ.เขษม์ชัย”เผยต่อว่า
          “โรคอัลไซเมอร์ทางกรรมพันธุ์ พบได้น้อยมากในปัจจุบัน ในหนึ่งร้อยคนจะพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ราว 5 คนเท่านั้น ซึ่งหากเป็นโรคอัลไซเมอร์ทางกรรมพันธุ์จะมีลักษณะเด่น คือ มีอาการป่วยแสดงให้เห็นก่อนอายุ 65ปี หรือ ราว 55 ปี”
          ปัจจัยหลักผู้ป่วยเกี่ยวกับความจำ ในกลุ่มคนวัยทำงาน ที่พบได้บ่อยมาจากหลายสาเหตุ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ความเครียดในการทำงาน ที่พบได้บ่อยมากที่สุด คือ อาการออฟฟิศซินโดรม และในโรคของผู้บริหาร เป็นต้น
          ขณะที่โรคความจำในกลุ่มผู้สูงอายุ อาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัยซึ่งทำให้ เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ หลอดเลือดสมองตีบ เนื้องอก น้ำในโพรงสมอง ฮอร์โมน ภาวะซึมเศร้า หรือ การขาดวิตามินบางชนิด ที่พบได้ทั้งกลุ่มวัยทำงาน และ กลุ่มผู้สูงอายุ
          ทั้งนี้ ในกลุ่มคนวัยทำงานที่มีสุขภาพแข็งแรงดีในปัจจุบัน สามารถป้องกันดูแลสมองให้แข็งแรงได้เช่นกัน รวมถึงกลุ่มวัยกลางคน หรือ ผู้เริ่มเข้าสู่วัยทองทั้งในเพศหญิงและชาย ควรหมั่นตรวจสุขภาพร่างกาย ตามการนัดของแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับคำปรึกษา และการบำบัดจากแพทย์ผู้ชำนาญการได้ทันท่วงที
          แนวทางการบริหาร และดูแลสมองให้แข็งแรง เพื่อป้องกันโรคความจำเสื่อม ประกอบด้วย 5 ข้อดังนี้ ข้อที่1. การพักผ่อนให้เพียงพอ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับนาฬิกาชีวิต ด้วยในแต่ละช่วงเวลาร่างกายมนุษย์ จะสร้างฮอร์โมนที่แตกต่างกันออกมาฟื้นฟูสภาพร่างกาย เช่น ไม่ควรเข้านอนหลังเวลา 23.00 น.
          ในวัยผู้ใหญ่ คนทำงาน ควรนอนประมาณ 7 – 8 ชั่วโมง ผู้สูงอายุเฉลี่ย 6 ชั่วโมง และ กลุ่มเด็กที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโตอาจมีระยะเวลานอนมากขึ้น นอกจากนี้ ควรงดทำกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เช่น ดูโทรทัศน์ หรือ ออกกำลังกาย เป็นต้น เพื่อป้องกันการตื่นตัวของสมอง ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการหลับพักผ่อน
          ข้อที่ 2. การดื่มน้ำ ในปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกายในกลุ่มคนทั่วไป เฉลี่ยประมาณ 2 ลิตรต่อวันเป็นอย่างน้อย เพื่อฟื้นฟูและให้ความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าต่อร่างกายและสมอง ข้อที่ 3. การพักสมองจากการทำงานในระหว่างวัน โดยให้ลุกจากโต๊ะทำงานไปยืดเส้น ยืดสาย
          เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้สมองมีการทำงานสะสมไปจนถึงจุดสูงสุด(peak) จนทำให้เกิดภาวะเครียด หรือ เหน็ดเหนื่อยเรื้อรัง ทั้งนี้หากทำได้ สมองจะผ่อนคลาย ทำให้ร่างกายสามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ ข้อที่ 4. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ต่อร่างกายและสมอง โดยบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นประจำ
          ขณะที่ “นพ.สุธี ศิริเวชฏารักษ์”แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด กล่าวเสริมว่า “ภาวะออฟฟิศ ซินโดรม เช่น อาการปวดคอ ปวดบ่า หรือ ปวดไหล่ เรื้อรังในกลุ่มคนวัยทำงาน หรือ ความเครียดต่างๆ ที่สะสมไว้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อต่อสมาธิ และการจดจำของสมองผู้ป่วยมักมีอาการสับสน สมาธิไม่ดี ความจำไม่ดี หรือในบางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
          “ทั้งนี้ กลุ่มคนวัยทำงานที่มีอาการของภาวะออฟฟิศซินโดรม ดังกล่าว สามารถปรับพฤติกรรมของตัวเองเพื่อรักษาสุขภาพ ด้วยการปรับอริยาบทระหว่างทำงาน บ่อยๆ รวมถึงใช้เทคนิค ข้อที่ 5. เรื่องการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพและมีประโยชน์ทั้งในด้านกายภาพและสมอง เช่น การวิ่ง การเต้นแอโรบิค การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโออื่นๆ
          “ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่เน้นการกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ระบบเผาผลาญ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรง โดยควรออกกำลังอย่างต่อเนื่อง ประมาณครั้งละ 20-30 นาที ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุควรกำหนดการออกกำลังกายให้พอเหมาะ คือเมื่อถึงจุดเหนื่อยแล้วควรหยุดพัก หากร่างกายสามารถปรับตัวได้แล้ว จึงค่อยๆปรับเวลาการออกกำลังกายให้เพิ่มขึ้นในครั้งถัดไป”
          นอกจากนี้ ยังพบว่า การเข้าสังคมเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยบริหารสมองให้แข็งแรง โดยใช้ทักษะการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เพื่อกระตุ้นให้สมองทำงานอยู่ตลอดเวลาด้วยการตอบสนองทางอารมณ์
          “ความสามารถในการตอบสนองทางอารมณ์ ศัพท์ทางการแพทย์ เรียกว่า ‘ความยืดหยุ่นของสมอง’ (neuroplasticity) ซึ่งความยืดหยุ่นของสมองนี้จะค่อยๆลดลงเมื่อเรามีอายุมากขึ้น ทำให้มีผลต่อความคิดและความจำ ดังนั้นการดูแลรักษาสมองแต่เนิ่นๆจะช่วยให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อสูงวัยได้” นพ.สุธี กล่าวทิ้งท้าย
          ด้าน “เพชรพริ้ง สารสิน”เซเลปคนดัง ที่ได้มาร่วมพูดคุยในงานดังกล่าวเผยว่า “มาร่วมงานได้ประโยชน์ เทคนิคนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เยอะเลย อาทิหมอบอกว่า จะบำรุง รักษาดูแลสมองอย่างไร ป้องกันไม่ให้เกิดอัลไซเมอร์อย่างไร คือเราต้องนอนเร็วขึ้น ไม่ทำงานหนักเกินไป และต้องรู้จักพักผ่อน คอยฝึกบริหารสมองตลอดเวลา หากิจกรรมต่างๆทำให้มีความจำดีขึ้น หัดสังเกตุจดจำ ดื่มน้ำเยอะๆให้สดชื่น ความสวยงามก็จะมาพร้อมกับสมองที่สมบูรณ์ค่ะ”
          เรียกว่าผู้มาร่วมงานครั้งนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้ประโยชน์สาระเยอะมากในการบริหารสมองให้สมบูรณ์ สดใสตลอดไป

          ที่มา:  http://www.banmuang.co.th/news/social/124127

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี" นำนิสิตลงพื้นที่แก้ไขปัญหาชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567     สืบเนื่องจากโครงการพัฒนานักนิติศาสตร์ ให้มีคุณลักษณะวิศวกรสังคม กิจกรรมสร้างนักนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่...