วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

ศิลปะแห่งการนวดในพระไตรปิฎก ?



เฟซบุ๊ก Naga King ได้โพสต์ข้อความว่า ศิลปะแห่งการนวดในพระไตรปิฎก ?

@ หลายคนคงสงสัยกันว่า การบีบนวดหรือการนวดที่ปัจจุบันนี้มีผู้นำออกนอกวัดไปเปิดร้านแล้วเปิดบริการนวดตัวตัวเท้านวดน้ำมันอะไรทำนองนี้ วิชาการหมอนวดนี้มีในพระไตรปิฎกไหม ? และจำเป็นไหมที่พระจะต้องเรียนวิชาหมอนวด ?

@ ต่อข้อถามข้อที่ ๑ การนวดหรือวิชาหมอนวดนี้มีในพระไตรปิฎกไหม ?

คำตอบคือมีครับ โดยเฉพาะในพระวินัยปิฎกมีการกล่าวถึง “วิชาการนวด”เอาไว้ด้วย โดยคำว่า “นวด หรือการนวด” หมายถึง การจับอวัยวะแล้วบีบนวด โดยคำว่า จับ หมายถึง ลักษณะเพียงแต่จับส่วนของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง อาการ บีบ หมายถึง บีบรัดกับผ้าหรืออาภรณ์บางอย่าง(วิ.ม.(ไทย)๑/๒๗๒/๒๘๔.)

กล่าวโดยสรุปคำว่า “นวด” หมายถึง การจับต้องอวัยวะของร่างกายแล้วทำการบีบนวด

อนึ่ง คำว่า นวดนี้เป็นคำกิริยา นวดธรรมธรรมดาเรียกว่าบีบนวด ดังปรากฏในคำว่า “ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายใช้ภิกษุณีให้บีบ บ้าง ให้นวดบ้าง”(วิ.ม.(ไทย)๓/๑๒๐๖/๓๗๒.) (อุมฺมทฺทาเปนฺติปิ=ให้บีบ ปริมทฺทาเปนฺติปิ=ให้นวด)

แต่ถ้าเป็นการนวดเพื่อให้เกิดอาการฟื้นตัวจากการอาพาธ เรียกว่า “นวดเฟ้น”ในคำว่า สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายจึงช่วยกันนวดเฟ้นท่าน(ตํ ภิกฺขู สมฺพาเหสุํ) จนท่านถึงแก่มรณภาพ” (วิ.ม.(ไทย)๑/๑๘๓/๑๖๑-๑๖๒)

ส่วนการนวดเพื่อการผ่อนคลายจะใช้คำว่านวดแล้วตามด้วยอวัยวะส่วนนั้นๆ เช่น นวดหลัง นวดเท้า หรือนวดตัว เป็นต้น นอกจากนั้น คำว่านวดนี้ยังนำไปใช้กับทางด้านเกษตรกรรม เช่น คำว่า “นวดข้าว” ดังปรากฏในคำว่า “ลานนวดข้าว (ธญฺญกรณํ)ของตระกูลหนึ่งและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน”(วิ.ม.(ไทย)๒/๔๙๑/๑๖)

@ คำถามคือ การนวดนี้นำมาใช้อย่างไรจึงเหมาะสมกับพระธรรมวินัย

เนื่องจากการนวดนี้ปกติเป็นเรื่องที่ดี เช่น เวลาที่อุปัชฌาย์อาจารย์เหนื่อยมาจากการทำกิจสงฆ์สัทธิวิหาริกอันเตวาสิก็สามารถที่จะทำการนวดมือและเท้าให้ได้ไม่ผิด แต่ถ้าหากนวดไปแล้วเป็นเหตุให้อุปัชฌาย์อาจารย์ต้องอาบัติ เช่น การนวดแล้วทำให้อสุจิเคลื่อน เป็นต้น การนวดนั้นก็ไม่ควรเพราะเป็นอาบัติ (วิ.ม.(ไทย)๑/๒๖๕/๒๗๙)

หรือการที่ภิกษุณีใช้กันและกันบีบนวด หรือใช้คนอื่นที่ไม่ใช่ภิกษุณีบีบนวด เป็นต้นท่านห้ามเพราะมีชาวบ้านตำหนิมา (วิ.ม.(ไทย)๓/๑๒๐๖/๓๗๒)

ดังนั้น การนวดจึงไม่ได้ถูกตามพระวินัยทุกอย่าง แต่ในแง่ของการดูแลสุขภาพและแสดงความเคารพก็สามารถทำได้ เช่น กรณีนวดเพื่อผ่อนคลายความง่วงในขณะเดินจงกรม ดังปรากฏในคำว่า เรานั้นนวดตัวแล้ว กลับขึ้นที่จงกรมใหม่ มีใจตั้งมั่นดีแล้ว ได้จงกรม ณ ที่จงกรม (ขุ.ชา.(ไทย)๒๖/๒๗๒/๓๘๓.)

หรือการบีบนวดหรือการนวดเฟ้นอันจัดเป็นการอุปัฏฐากบิดามารดา เช่น ในคำว่า การนวดเพื่อแสดงความเคารพ ดังปรากฏในคำว่า ท่านพี่ได้กระทำกุศลมานานแล้วด้วยการลุกขึ้นทำกิจวัตรและการบีบนวดบัดนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะทำบุญในมารดาบิดาทั้งหลายบ้าง”(ขุ.ชา.(ไทย)๒๘/๑๔๓/๗๘.)

หรือไม่ว่าจะเป็นการบีบนวดเพื่อแสดงความเคารพต่อพระศาสดา เช่นในคำว่าครั้งนั้น มานัตถัทธพราหมณ์คิดว่า “พระสมณโคดมทรงทราบจิตของเรา”จึงหมอบลงด้วยศีรษะที่ใกล้พระยุคลบาทพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้นเอง จุมพิตพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคและนวดด้วยมือ”(สํ.ส.(ไทย)๑๕/๒๐๑/๒๙๑)

แบบนี้ถือว่าเป็นการนวดเพื่อแสดงความเคารพ ซึ่งที่ผมว่ามานี้เป็น “การนวด”ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย พระสงฆ์สามเณรก็สามารถที่จะเรียนวิชานวดเพื่อนำไปใช้

(๑) ในการปฏิบัติธรรม 
(๒)ในการอุปัฏฐากอุปัชฌาย์อาจารย์ 
(๓)เพื่อช่วยเหลือชีวิตของมนุษย์กรณีเพื่อเป็นลมชักก็สามารถนวดให้ฟื้นคืนมาได้

@ จำเป็นไหมหรือเป็นไปได้ไหมที่พระสงฆ์สามเณรจะต้องเรียนวิชานวด ?

จากการกล่าวมาทั้งหมด ผมว่าพระเณรในสมัยปัจจุบันนี้ก็ควรที่จะต้องเรียนศิลปะในการนวดไว้หรือแม้แต่กระทั่งโยคะเพื่อเอาไว้เป็นอุปการะในการบริหารร่างกายหรือช่วยในการผ่อนคลายความเมื่อล้าที่เกิดมาจากการนั่งสมาธินานๆหรือเดินจงกรมนานๆ เพราะเวลาที่ปฏิบัติธรรมนั้นร่างกายต้องปรับสภาพค่อนข้างสูง

จากที่เคลื่อนไหวเร็วๆตามที่ต้องมามาเป็นการเคลื่อนไหวช้าๆยุบหนอพอหนอ พิจารณาอย่างมีสติย่อมเป็นธรรมดาครับที่จะต้องเกิดอาการเหนื่อยเมื่อยล้าได้ การที่มีคนนวดหรือนวดบริหารร่างกายตัวเองย่อมทำให้ผ่อนคลายและสามารถปฏิบัติธรรมต่อไปได้

ดังนั้น ผมว่าพระภิกษุสามเณรก็สามารถที่จะเรียนหรือศึกษาศิลปะในการนวดเพื่อนำไปในปรับใช้ในการดูแลสุขภาพและแสดงความเคารพต่อครูอาจารย์ที่สั่งสอนตนได้ และเป็นการนวดที่ไม่ผิดพระวินัยด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ
Naga King

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"เสริมดวงรับปีใหม่ 2567: เหรียญมงคลหลวงปู่ดุสิต วัดไผ่แขก"

รายงานข่าวจาก วัดไผ่แขก อ.เมืองสุพรรบุรี แจ้งว่าเมื่อวันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน 2567ผ่านมา ทางวัดโดยทีมงานพี่เสือนำโดยป้อม สกลนคร และ นิภัทร์...