วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560

"มจร-สอศ."ใส่ใจวัยใส ชูศีล 5 สร้างภูมิป้องเฮดสปีด



"มจร"จับมือ"สอศ." ปั้นอาชีวศึกษาวิถีพุทธ รองอธิการบดี ยกศีล 5 สร้างความสุขมวลรวมสังคมไทย  ใช้เป็นเครื่องมือป้องกันสื่อสารสร้างความเกลียดชังในบ้านเมือง เป็นฐานการศึกษาเพื่อการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง ยิ่งคนละขั้วยิ่งต้องมีความเคารพและอดทน

วันที่ 26 ส.ค.2560 พระราชวรเมธี,ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย( มจร )  ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน
ยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (คปพ.) เป็นประธานปิดการฝึกอบรม "ค่ายเพชรวัยใส ใส่ใจคุณธรรม" ของนักศึกษาอาชีวศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม จำนวน 300 คน  ที่ห้องประชุมใหญ่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ภายใต้การดำเนินการของซึ่งมหาจุฬาฯร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) 

ในการนี้ พระราชวรเมธี กล่าวว่า มนุษยธรรม ธรรมที่ทำเกิดความเป็นมนุษย์ "ศีลจึงยกระดับชีวิต " วิทยาลัยอาชีววิถีพุทธต้องเริ่มจากการรักษาศีล ศีลข้อที่ 1 "เป็นหลักประกันชีวิต" เป็นการไม่เบียนเบียนซึ่งกันและกัน คนในสังคมไม่เบียดเบียนกันจะร่มเย็นเป็นสุข การไม่รักษาศีลจึงกระทบทั้งเราและคนอื่น ศีลข้อที่ 2 "เป็นหลักประกันทรัพย์สิน" การไม่ทุจริตต่อทรัพย์สินและชีวิต สังคมไทยมีปัญหาเรื่องการทุจริต เราจึงเป็นเพียงแค่ประเทศที่กำลังพัฒนา ถ้าเราทุกคนรักษาศีลข้อนี้ ถือว่าส่งผลให้สังคมเจริญ ศีลข้อที่ 3 "เป็นหลักประกันครอบครัว" มีความซื่อสัตย์ต่อคู่ตนเอง " ความสุขของครอบครัว คือ สันติสุขของสังคม "


ศีลข้อที่ 4 "เป็นหลักประกันสังคม" การพูดการสื่อสารที่สร้างความสามัคคี อาวุธที่ร้ายแรงที่สุด คือ วาจา พูดที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกัน ต่างคนต่างพูดในสิ่งที่ไม่มีของคนอื่น ก็เกลียดชังกัน แม้แต่ระดับบ้านเมือง ก็มีการทำร้ายกันด้วยคำพูด วาจาสร้างความเกลียดกัน พระพุทธเจ้าจึงสอนเรื่องการสื่อสารเพื่อสันติ คือ " จริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ ประกอบด้วยเมตตา" ศีลข้อที่ 5 "หลักประกันสุขภาพ" ยาเสพติดทำลายสุขภาพ ชีวิตอย่าได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งปวงสอดคล้องกับเบญจธรรม เพราะ ถ้าเรามีเมตตาเราสามารถรักคนทั้งโลกได้ คุณธรรมจะทำให้เราไม่สามารถไปทำร้ายคนอื่นได้ เพราะ " เมตตาธรรมค้ำจุนโลก "


กระทรวงศึกษาธิการจึงเน้นย้ำ " เก่ง ดี มีความสุข " ถามว่าตอนนี้ประเทศไทยเรามีความสุขมวลรวมหรือความทุกข์มวลรวม เจอกันไม่ค่อยจะยิ้มให้กัน ยิ่งคนละขั้วยิ่งจะมุ่งทำร้ายกัน เราจึงต้องมาพัฒนาคุณธรรม เรียกว่า " เราจึงคืนความสุขให้กับสังคม " นโยบายการด้านศึกษาของยูเนสโกจำนวน 4 ข้อ คือ


1) การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ มุ่งให้เป็นคนเก่ง มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เราศึกษา  2) การศึกษาเพื่อพัฒนาสมรรถภาพ มุ่งทักษะ พัฒนาอาชีพของตน ปฏิบัติถูกต้อง มีความเชี่ยวชาญ  3)การศึกษาเพื่อพัฒนาการอยู่ร่วมกัน มุ่งอยู่ร่วมกัน ยอมรับความแตกต่างในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ท่ามกลางความแตกต่างในด้านศาสนา และวัฒนธรรม ต้องสามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่น มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ต้องฝึกทักษะชีวิต เพราะเราต้องทำงานร่วมกับคนอื่น อย่างน้อยมีความอดทนในความแตกต่าง ต้องยอมรับกันให้ได้ อยู่ร่วมกันในสังคมให้ได้ ความเห็นที่เห็นต่างกันต้องยอมรับกัน แม้แต่ละคนขั้วก็ตาม


4)การศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ โดยเรานับถือศาสนาใด ก็ปฏิบัติตามหลักศาสนาของตนเองให้เคร่งครัด ศาสนาพุทธเริ่มจากไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นกระบวนการพัฒนาตนเอง เรียนเพื่อพัฒนาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เราต้องสามารถตอบโจทย์ให้ได้ว่า " เรียนไปเพื่ออะไร " คำตอบสูงสุดคือ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพราะคนเรามี 2 ส่วน คือ ร่างกายและจิตใจ


"ฉะนั้น ในอนาคตวิทยาลัยอาชีวศึกษาจะจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาทั้งวิทยาลัยจำนวนครูและนักศึกษา 3,900 คน เพื่อสร้างวิถีพุทธอย่างเป็นระบบทั้งวิทยาลัย เพราะธรรมศึกษาเป็นฐานของคุณธรรม ฐานของวิชาการจึงต้องทำเป็นระบบเป็นวิถีชีวิต" รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร  มจร กล่าว


จากนั้นคุณแม่ชีทองสุข นามเจ็ดสี  ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนด้านการปฏิบัติและการสวดมนต์ เพื่อการพัฒนาชีวิตให้เกิดความสุข เป็นการสร้างต้นแบบเยาวชนเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณธรรมสืบไป


""""""""""""""""""""""""""""""

(หมายเหตุ : ขอบคุญข้อมูลจาก พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...