วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560

แผนยุทธศาสตร์จะเลิศล้ำต้องไม่"ขาเลาะ-ลืมกำพืด


แผนยุทธศาสตร์จะเลิศล้ำ ถ้ำไม่ลืมกำพืดของตัวเอง แผนขาเลาะ เพราะคนทำขาลอย : พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี มจร ผอ.รวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรปริญญาโทและเอก สาขาสันติศึกษา


ผู้บริหารจำนวนมากอาจจะคิดว่า "บริหารงานให้สำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องมีแผน" ความจริง สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการบริหารองค์กรไปสู่ความสำเร็จ คือ "แผน" เข้าทำนองแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง องค์กรจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จ คือองค์กรที่สร้างแผนขึ้นมาเป็นคัมภีร์ หรือเป็นธรรมนูญของการบริหารองค์กร ในทางกลับกัน องค์กรที่ประสบความล้มเหลวจำนวนมากอาจจะเกิดจาก (1) องค์กรที่ทำงานแบบไม่มีแผน (2) มีแผนแต่ไม่ทำตามแผนที่วางไว้และ (3) แผนได้ถูกออกแบบและจัดวางโดยไม่สะท้อนอัตลักษณ์ หรือไม่สอดรับกับวิสัยทัศน์ขององค์กร


แผนจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานทุกอย่าง ก่อนที่จะออกเดินทางต้องถามตัวเอง หรือถามองค์กรว่า จะเดินไปไหน เป้าหมายที่จะไปอยู่ที่ไหน การบอกตำแหน่งแห่งหนได้ชัดว่า เป้าหมายหรือจุดสุดท้ายที่จะไปอยู่ที่ไหน ย่อมทำให้การจัดเตรียมงาน เตรียมคน และเตรียมเงินสอดรับกับระยะทาง วันเวลาที่จะไป อีกทั้ง จะได้วิเคราะห์ศักยภาพ และสิ่งที่ตัวเองมีได้อย่างถูกต้อง ใกล้เคียง และเหมาะสม ฉะนั้น เมื่อเป้าหมายชัด แผนชัด ย่อมทำให้การขับเคลื่อนรัดกุม มีพลัง เพราะมีทิดทางที่จะไปชัดเจน


หากมองในมิติของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเป็นนักวางแผนชั้นยอด คำว่า ชั้นยอดมิได้หมายถึงประทับนั่งออกแบบและทำแผนอยู่ยอดภูเขาคิฌชกูฏ แต่การทำแผนของพระองค์ก่อนที่จะนำแผนมานำเสนอ ณ เวฬุวนารามนั้น แผนนั้นได้สะท้อนตัวตนของพระพุทธศาสนา และแผนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง กับแผนของศาสนาพราหมณ์ และลัทธิต่างๆ แผนนั้น บอกเส้นทางของการดับทุกข์ภายใน คือการละชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ บอกได้ชัดว่า หัวใจของการบำเพ็ญตบะที่ศาสนาพราหมณ์เน้น คือ "ความอดทนอดกลั้น" ไม่ใช่การบำเพ็ญทุกรกิริยา เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือนิพพาน ไม่ใช่การบรรลุโมกษะเพื่อจะได้ไปอยู่กับพระพรหม หรือแม้กระทั่งบรรพชิต และสมณะในทางพุทธเป็นผู้งดเว้นจากบาปและสงบเย็นไม่ใช่การฆ่าสัตว์บูชายัญดังที่พราหมณ์ทำ และปฏิบัติกัน


แผนที่พระพุทธเจ้าประกาศครั้งแรกที่เวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ จึงเป็นการประกาศจุดยืนและตัวตนของพระพุทธศาสนาท่ามกลางศาสนาพราหมณ์และเจ้าลัทธิอื่นๆ จำนวนมาก จุดยื่น (Standing Point) และอัตลักษณ์ (Identity) นั่นเอง เป็นจุดแข็งที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากมีสิทธิ์เลือกที่จะทดลอง และแสวงหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง ดังนั้น ตัวแผนจึงเป็นที่อยู่ของวิสัยทัศน์ อุดมการณ์ เป้าหมาย กลยุทธ์ กิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่จะพาองค์กรเดินไปสู่เป้าหมาย แผนจึงไม่กลวง แผนจึงไม่ใช่ว่าจะใส่อะไรเข้าไปก็ได้ แผนจึงไม่ใช่การลอกเอามาจากศาสนาพราหมณ์ หรือเจ้าลัทธิอื่นๆ เพื่อจะบอกหรือโชว์คนทั่วไปว่า เรามีแผนเหมือนที่ท่านมี


แผนจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของพระองค์และลมหายใจของพระพุทธศาสนาในภาพรวม ด้วยเหตุนี้ แผนขององค์กรต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตน รวมถึงชีวิต และลมหายใจของผู้บริหาร และพนักงานทุกคนในองค์กรนั้น แผนที่ดีและประสบความสำเร็จจะหนีความเป็นตัวตน จุดเด่น และจุดแข็งตัวเองไปไม่ได้ การเอาลมหายใจ และเลือดเนื้อของคนอื่นมากดทับและฉาบทาสิ่งที่ตัวเองเป็นจึงเป็นความหายนะและอับเฉาขององค์กรนั้นอย่างน้าสมเพชเวทนา เพราะหากพระพุทธเจ้าเอาลมหายใจของพราหมณ์กดทับตัวตนของพระองค์ เราจะมีพระพุทธศาสนาให้กราบไหว้และปฏิบัติมาถึงวันนี้ได้อย่างไร ฉะนั้น แผนที่ดีจึงเริ่มมาจากการค้บพบจุดเด่น และจุดแข็งที่มีอยู่ในรากเหง้าของตัวเอง


สรุปแล้ว แผนคือสิ่งที่สะท้อนกำพืดของตัวเอง สะท้อนสิ่งที่ตัวเองมีและเป็น ซึ่งเป็นจุดเด่นที่หาไม่ได้จากคนอื่น และแหล่งอื่น การรู้จักกำพืดของตัวเองอย่างถึงแก่น ย่อมทำให้การทำแผนยิ่งคมชัด การเดินหน้าไปในทิศทางใดจะกลายเป็นคนไม่ไร้ราก เพราะแผนจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่ตัวเองมีและเป็น ฉะนั้น ถ้าแผนเป็นชีวิตและจิตใจของเราแล้ว เราจึงไม่ทำแผนแล้วทิ้ง แผนที่ทำแล้วจึงไม่นิ่ง เพราะทุกสิ่งที่ทำคือวงจรชีวิตเรา ถ้าประสงค์ให้ชีวิตมีคุณค่าก็ต้องให้ราคากับชีวิต เช่นเดียวกันถ้าอยากให้องค์กรเจริญก้าวหน้าก็ต้องพัฒนาแผนให้สอดรับกับชีวิตองค์กร

......................

(หมายเหตุ : ข้อมูลเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ดร.นิยม เวชกามา" จับมือกรรมาธิการศาสนา สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ไปช่วยแก้ปัญหาตั้งวัดในศรีสะเกษกว่า 300 แห่ง

วันที่ 24 เมษายน 2567 ดร.นิยม เวชกามา ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม  เวชยชัย ในฐานะอนุกรรมมา...