มหาเถรสมาคมพร้อมคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ มส. ลงพื้นที่ช่วยวัดและผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสานที่จังหวัดอุบลราชธานี มจร เสร็จภารกิจระยะสอง
วันที่ 24 ส.ค.2560 พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม นำคณะกรรมการฝ่ายสาธารณเคราะห์ อาทิ พระเทพกิตติเวที เจ้าคณะภาค 17 วัดเบญจมบพิตร พระเทพวิสุทธิโมลี รักษาการเจ้าคณะภาค 10 วัดจักรวรรดิราชาวาส พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม วัดพระธาตุพนม พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พระราชปัญญาสุธี รักษาการเจ้าคณะภาค 11 วัดสร้อยทอง พร้อมด้วยนายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ปฏิบัติศาสนกิจลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
พระพรหมวชิรญาณ กล่าวว่า จากการที่มีการประชุมมหาเถรสมาคม โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธาน ทรงห่วงใยพระภิกษุสามเณรและประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ จึงได้มติมอบให้เป็นผู้แทนของมหาเถรสมาคมและคณะสงฆ์ นำคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เจ้าคณะพระสังฆาธิการในพื้นที่ และผู้แทนรัฐบาล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือคณะสงฆ์และชาวอีสาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ รวมทั้งยังได้มอบปัจจัยเพื่อเป็นกองทุนเยียวยาพระภิกษุสามเณรและประชาชนผู้ประสบภัยอีกด้วย
พระมงคลวชิรากร เลขานุการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม กล่าวว่า ในนามของฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ได้ประสานกับทางคณะสงฆ์และหน่วยงานภาครัฐระดมสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปแล้วก่อนหน้านี้รวม 16 ครั้ง ประกอบด้วยจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุบลราชธานี โดยในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 17 และมีกำหนดจะเดินทางให้ความช่วยเหลือและให้กำลังพระภิกษุสามเณรและประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 24 - 26 สิงหาคม 2560
ขณะที่พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ เปิดเผยว่า หลังจากพระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบประสานงานในเรื่องที่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบภัยน้ำท่วมก็ได้วางแผนจะช่วยใน สามระยะ คือ ระยะที่1 การช่วยเหลือแบบเร่งด่วนให้ทันเหตุการณ์
ระยะที่ 2 คือระยะกลาง คือเมื่อน้ำท่วมผ่านไปแล้วสักระยะ และระยะที่ 3 คือหลังน้ำลด โดยทั้งหมดให้ทำอย่างจริงจังต่อเนื่องและแสวงหาองค์กรร่วมและสุดท้ายให้สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้ทั้งในทางกายภาพและจิตใจโดยด้าน ปัจจัยและเครื่องอุปโภคบริโภคนั้นได้รับการช่วยเหลือจากคณะสงฆ์และองค์กรต่างๆ อาทิ พระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี พระวิสิฐคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดมงคลชัยพัฒนา รองเจ้าคณะจังหวัดสระบุรี เจ้าคณะอำเภอในเขตจังหวัดสระบุรีทุกอำเภอ (เจ้าคณะอำเภอหลายรูปลงพื้นที่น้ำท่วมร่วมกับพระวิสิฐคณาภรณ์) และคณะสงฆ์จังหวัดสระบุรี ครอบครัวการุญยศิริและครอบครัวตั้งชัยวรรณา พระเดชพระคุณพระธรรมพุทธิมงคล เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี พระครูวิบูลเจติยานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี คณะสงฆ์จังหวัดสุพรรณบุรี หน่วยวิทยบริการคณะสังคมศาสตร์จังสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประสานงานโดย ผศ.ดร.พิเชฐ ทั่งโต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มูลนิธิเศรษฐีเรือทอง คณะศิษย์หลวงปู่แบน โดยพระโสภณพัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดพุน้อย เจ้าคณะอำเภอหนองม่วง จ.ลพบุรี พระเดชพระคุณพระเทพเมธี เจ้าคณะภาค 9 รักษาการเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เป็นต้น
ครั้งแรกได้รวบรวมจตุปัจจัย เครื่องอุปโภคบริโภคลงพื้นที่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ดและจังหวัดยโสธร วันที่ 6 สิงหาคม 2560 คณะได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว มีทั้งนั่งรถและลอยเรือเข้าไป สิ่งที่ได้พบได้เห็นคือวัดวาอารามหลายแห่งถูกน้ำท่วมจมอยู่ใต้บาลดาลอย่างชนิดที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มาพบมาเจอสภาพจริงๆแบบนี้น้ำสูงท่วมอุโบสถ ท่วมศาลาในหลายที่หลายวัด ในส่วนของหมู่บ้าน ก็แทบจะร้างไร้ผู้คน เกือบจะทุกหมู่บ้าน เพราะล้วนแต่จมอยู่ใต้น้ำ นี่คือ สภาพวัดและบ้าน ที่ปรากฏให้เห็นจริงในแต่ละพื้นที่
ในส่วนของนาข้าว ก็ต้องเสียหายหลายแสนไร่ ทุ่งนาที่เคยเป็นทุ่งข้าวเขียวขจี ข้าวกำลังเขียว กำลังงาม ชาวนาที่เพิ่งได้ชื่นชมในผลิตผล ที่ปีหนึ่งๆ จะมีออกมาสักครั้งหนึ่ง แต่ในเวลานี้ท่องทุ่งกลับขาวโพลนไปด้วยน้ำจำนวนมหาศาล ที่ไม่รู้ว่ามาจากไหน ไหลเข้าท่วมขังเต็มทุ่งนาไปหมด และไม่มีทีท่าว่าจะลดหรือไหลลงไปที่แม่น้ำใหญ่เลย ไม่มีเลยจริงๆ
ชาวบ้านต่างวิตกกังวล ระทมทุกข์ แต่ละคนล้วนเศร้าหมอง ในแวววตาของชาวบ้าน สื่อสารให้เห็นตรงกันว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่แบบนี้เคยประสบมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2521 จนกลายเป็น ฝันร้ายของเกษตรกร ที่ไม่นึกว่าจะต้องมาประสบพบเจออีกในปีนี้ คณะได้เข้าไปภายในหมู่บ้าน มอบปัจจัยและสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ให้กับชาวบ้าน รวมไปถึงถวายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับพระและวัดที่ต้องประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้ ทุกคนรับทราบ ความรู้สึกของชาวบ้านดีว่า ชาวบ้านต่างมีความหวังลึกๆ ร่วมกันว่า น้ำน่าจะลดลงในเร็ววัน ต้นข้าวน่าจะยังไม่เน่าเปื่อย ยังน่าจะพอฟื้นฟูได้ นี่คือความหวัง ทั้งของชาวนาที่ประสบภัยพิบัติ และพระสงฆ์ที่ไปมอบสิ่งของในวันนั้น นี่คือ ความหวังร่วมกัน ในวันนั้น
จาก การได้ที่ได้พบเห็นความทุกข์ยากของชาวบ้านที่ต้องประสบภัยน้ำท่วมอย่างแสนสาหัส หลังจากลงพื้นที่ครั้งแรก เมื่อกลับมาถึงที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยา ทำให้ต้องเร่งรวบรวมจตุปัจจัยและสิ่งของต่างๆ เพื่อไปช่วยชาวบ้าน ช่วยชาวนา ในระยะที่ 2 คือระยะกลาง และนี่คือความผูกพัน ที่เกิดขึ้นลึกๆ หลังจากได้เห็นสภาพที่เกิดขึ้นจริงในแต่พื้นที่
ช่วงระยะเวลานี้ คือช่วงระยะเวลา ที่มีโอกาสบอกเล่าและอธิบายความกับผู้คน พร้อมกับการรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้ หลายรูปหลายท่านก็ตั้งคำถามพร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องน้ำท่วมนี้น่าจืดไปแล้วกระมัง เพราะเวลานี้มันล่วงเลยมาหลายอาทิตย์แล้ว น้ำคงจะลดลงหรือแห้งหายไปหมดแล้ว
พระเดชพระคุณพระธรรมพุทธิมงคล วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี พระธรรมปิฎก วัดพระพุทธบาท เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี พระเทพเมธี เจ้าคณะภาค 9 รักษาการเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามกรุงเทพฯ พระโสภณพัฒนคุณ เศรษฐีเรือทอง วัดพุน้อย เจ้าคณะอำเภอหนองม่วง ลพบุรี ครอบครัวการุญยศิริ ครอบครัวตั้งชัยวรรณา กลับไม่คิดเช่นนั้น ท่านทั้งหลายมั่นใจว่าในพื้นที่จริงๆ น่าจะมีหลายพื้นที่ ที่ยังต้องทนทุกข์กับน้ำท่วม หรือแม้ว่า น้ำอาจจะลดลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังควรที่จะช่วยเหลือเยียวยา
22-23 สิงหาคม 2560 ก็ได้รวบรวมปัจจัยและสิ่งของกลับลงไปในพื้นที่อีกครั้ง ตามที่ได้รับนโยบายจากพระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต อธิการบดี คณะที่ลงไปในครั้งนี้มีเวลาไปสำรวจพื้นที่มากขึ้น สิ่งที่น่าแปลกใจมากคือ น้ำยังคงไม่ลด ย้ำอีกที น้ำยังคงไม่ลด ในทางกลับกัน น้ำกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มองไปทางไหน ก็ไม่สามารถดูได้ว่าตรงไหนเป็นวัด ตรงไหนเป็นหมู่บ้าน และตรงไหนคือส่วนของแม่น้ำ ลำน้ำชี , ลำน้ำยัง เพราะทั้งหมดได้รวมกันกลายเป็นทะเลสาบขาวโพลนไปทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอจังหาร เชียงขัวญ โพธิ์ชัย ทุ่งเขาหลวง เสลภูมิและทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ดและอีกหลายอำเภอในเขตจังหวัดยโสธร เช่นอำเภอคำเขื่อนแก้วและอำเภอรอบๆ เป็นต้น
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่าเคยมีความหวังลึกๆ ร่วมกันกับชาวบ้านว่า นาข้าวที่เป็นเสมือนความหวังในอนาคตของชาวบ้านในภาคอีสาน เพราะเป็นทั้งอาหารและเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า ในการที่จะช่วยให้ชาวบ้านยังชีพ และสามารถเปลี่ยนเป็นเงิน สำหรับส่งลูกหลานศึกษาเล่าเรียนและอื่นๆ น่าจะยังจะพอทนกับสภาพน้ำท่วมชั่วคราวไหว ยังน่าจะพอมีหวังในนาข้าวที่ปักดำลงไป แต่บัดนี้ความหวังนั้นแทบจะไม่มีแล้ว ไม่มีชาวนาคนไหนในพื้นที่ สงสัยอีกแล้ว ชัดเจนว่าน้ำเริ่มเน่าเหม็น
ตลอดเส้นทางจากตัวเมืองร้อยเอ็ด ผ่านเรื่อยไปถึงอำเภอเชียงขัวญ ผ่านไปตามเส้นทางบ้านแก่งข่า คุยขนวน บุ่งค้า คุยค้อ จะพบภาพ ชาวบ้านพร้อมลูกเด็กเล็กแดง สัตว์เลี้ยง และพระสงฆ์ ขึ้นมารวมกันเป็นสหสามัคคี รวมกันอยู่ข้างถนน ยึดเอาข้างถนน ตั้งที่พักพิงชั่วคราว เป็นที่อยู่อาศัยหลับนอน จนมีสภาพไม่ต่างจากศูนย์อพยพ
พวกเขาต้องจำใจ ละทิ้งหมู่บ้านที่จมอยู่ ใต้บาดาลมารวมกันอยู่ข้างถนนกลายเป็นหมู่บ้านเกิดใหม่ สำหรับบ้านแก่งข่า อำเภอเชียงขวัญ ได้อพยพมาอยู่ข้างถนน 100 % เต็ม
แต่สิ่งที่น่าประทับใจของชาวบ้านแก่งข่า แห่งนี้คือความผูกพันที่แนบแน่นระหว่างบ้านกับวัด ความผูกพัน ระหว่าง พระสงฆ์กับชาวบ้าน แม้จะอยู่ในภาวะเดือดร้อนทั้งคู่ แต่ก็ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างวัดข้างถนนชั่วคราว เพื่อให้พระสงฆ์ประจำหมู่บ้านมาจำวัด จำพรรษา ในหมู่บ้านอพยพชั่วคราวแห่งนี้
วัดนี้ น่าจะเป็นวัดที่เล็กที่สุดในโลก ศาลาการเปรียญมีเตียงไม้ไผ่สองเตียงประกบมัดรวมกัน กุฎิก็เป็นเตียงสองเตียงติดกัน มีผ้าใบที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นเป็นหลังคา สรุปว่า วัดนี้มีความกว้างยาวประมาณ 4 X 6 เมตรเท่านั้น ที่ดินของวัดก็คือข้างถนนสาธารณะ ที่สัญจรไปมาของผู้คนนั่นเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้น ก็คือชาวบ้านแม้จะลำบาก จนแทบไม่มีกินกันแล้ว แต่ก็ยังได้เวียนกันไปทำบุญตักบาตร ฟังธรรมและสวดมนต์กันอยู่เป็นประจำ
นอกจากนั้นพวกเขายังคงรักษาฮีตคองของชาวอีสานอย่างเคารพ เช่น ยังคงตักบาตรไม่ขาดในแต่ละวัน และ เมื่อไปวัด คือวัดที่เล็กที่สุดในโลกนี้ก่อนใส่บาตรพระสงฆ์ พวกเขายังคงใส่บาตรพระพุทธ ด้วยการใส่ในขันกระหย่อง การใส่ข้าวในขันกระหย่องนี้จะต้องใส่ข้าวเหนียวก้อนเล็กๆ พร้อมดอกไม้และเทียนเล่มเล็กๆ ชาวนาภาคอีสานวันนี้แม้ตัวเองจะลำบาก ทุกข์ยาก แต่ยังคงผูกพันและมั่นคงในพระพุทธศาสนา และรักษาฮีตคองไว้ เพื่อเป็นมรดกให้กับลูกหลานอีสานได้สืบทอดกันต่อไป
วัดสว่างอารมณ์ บ้านคุยขนวน อำเภอเชียงขัวญ ชาวบ้านนิมนต์พระทั้ง 5 รูปในวัดออกบิณฑบาตทางเรือ แทนการเดินในวันที่หมู่บ้านปกติ ที่น้ำยังไม่ท่วม พระท่านบอกว่า ไม่ได้บิณฑบาตเอาข้าว แต่บิณฑบาตเพื่อให้กำลังใจชาวบ้าน ที่ต้องประสบทุกข์ภัย
วันนี้ 23 สิงหาคม 2560 กลับถึงกรุงเทพฯ เวลา 22.40 น.นั่งคิด นั่งนึกถึงชาวนาอีสาน ที่กำลังโดนน้ำท่วมอย่างหนัก ขณะท่วมมาแล้วกว่าเดือน แม่ใหญ่บ้านคุยขนวน บอกว่า น่าจะประมาณเดือน พฤศจิกายน โน้นแหละน้ำจึจะลด ช่วงนี้เป็นช่วงน้ำขึ้น ไม่ใช่เวลาของน้ำที่จะลด อนิจจาชาวนาไทย
พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวด้วยว่า วันนี้แม้ว่าน้ำจะท่วม ชาวนาจะทุกข์ยากลำบากแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่เราได้เห็นคือ วิถีขีวิตของพวกเขา วิถีชีวิตที่มีสายใยถักทอร้อยรัดมาจากพระพุทธศาสนา น้ำใจไมตรี สายตาและรอยยิ้มจากการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ระหว่างวัด พระสงฆ์กับชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ เรายังพบเห็นได้กับ พี่น้องชาวนาอีสาน แม้ในวันที่ยังต้องทุกข์หนักอยู่ก็ตาม เป้าหมายครั้งต่อไปคือการช่วยเหลือในระยะที่ 3 ตามนโยบายท่านอธิการบดี พ่อใหญ่ แม่ใหญ่บ้านเฮา รอกำหนดวันแล้วพ้อกันเด้อ
.............................
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊กพระมหาวีรพล ธรรมะอารมณ์ดี)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"
กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น