วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ขยะล้นเมือง!นิสิตป.เอกสันติศึกษา"มจร"เสนอวิธีแก้



ขยะล้นเมือง!นิสิตป.เอกสันติศึกษา"มจร"เสนอวิธีแก้  โชว์ผลงานรุ่นแรก "เอาธรรมไปทำ" จากพุทธสันติวิธีเป็นวิถีชีวิต เป้าหมาย "จบภายนอกและจบภายใน"                 

การนำเสนอรายงานวิชาสุดท้ายในการเรียนระดับปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา หลักสูตร 1.1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นวิชาปฏิบัติการสร้างความปรองดองโดยพุทธสันติวิธี ซึ่งนิสิตปริญญาเอกต้องนำธรรมะของพระพุทธเจ้าลงไปปฏิบัติจริงตามพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในระดับครอบครัว ชุมชน  สังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง "ขยะ"  จากผลการปฏิบัติการเรื่อง" การมีส่วนร่วมเสริมสร้างสังคมสันติสุขยุคไทยแลนด์ 4.0 ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเชิงพุทธบูรณาการ: กรณีศึกษาชุมชนหมู่บ้านวิรากร เทศบาลตำบลบางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี"


ทั้งนี้นิสิตสันติศึกษาไม่ได้มองว่า "ขยะ" เป็นศัตรูที่ต้องกำจัดหรือไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องทิ้งเสมอไป แต่สามารถคัดเลือกจากที่มีผู้ทิ้งตามถนนริมทางอย่างเช่น ล้อรถ ขี้เลื่อย ต้นกล้วย หรือแม้แต่วัชพืชต่างๆ ได้มีการนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการทดสอบการทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้ชื่อ "ฟาร์มสันติวิถีพอเพียง" ได้


ถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับนิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา รุ่นแรกของประเทศไทย  ซึ่งแต่ละท่านได้นำเสนองานที่ตนเองลงพื้นที่ เป็นงานที่สุดยอดมาก เพราะได้เป็นหลักพุทธธรรมไปปฏิบัติเพื่อสร้างความปรองดอง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำดุษฎีนิพนธ์รวมถึงเขียนบทความวิชาการเพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ว่า "การเรียนรู้ต้องออกไปทำจริงในพื้นที่ เราจะได้ความรู้ที่เป็นปฐมภูมิ " เป็นความรู้จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง นำทฤษฎีลงสู่การปฏิบัติ เรียกว่า "นำธรรมไปทำ" นั่นเอง


               
พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ในฐานะผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรปริญญาโทและเอก สาขาสันติศึกษา เน้นย้ำเสมอว่าเรียนสันติศึกษาต้อง  "จบภายนอก และ จบภายใน" ภายนอก คือออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ส่วนภายในคือ มีสันติภายในใจ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี  สรุปว่านิสิตปริญญาเอกสันติศึกษาต้องสามารถไปถึงคำว่า " สงบเย็นและเป็นประโยชน์ " จงบำเพ็ญตนแห่งการเรียนรู้สันติศึกษาในฐานะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดความสงบภายใน ก่อนจะออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  คำว่าจบสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประการ  คือ...
    

1) "จบภายนอก"  หมายถึง  ทำตามกฎกติกาของหลักสูตรทั้งหมด ตั้งแต่การมาเรียน ทำกิจกรรม ปฏิบัติธรรม สอบวัดผล  ฝึกงานในพื้นที่  ทำวิทยานิพนธ์ เขียนบทความ  แล้วรับปริญญาถือว่าเป็นการจบภายนอก

     
2) "จบภายใน"  หมายถึง  การฝึกพัฒนาจิตใจของตนเองให้สงบเย็นสามารถขอบคุณ ชื่นชม ขอโทษ ให้อภัย คนอื่นได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "เขาร้อนมา เราเย็นไป เขาเป็นไฟ เราเป็นน้ำ" ซึ่งดูแลลมหายใจของตนเอง ก่อนเราจะไปช่วยต่อลมหายใจให้คนอื่น  " ถือว่าเป็นการจบที่ยากมาก แต่พัฒนาตนเองได้ "
              

จบภายในจึงจบด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกันตลอดไป จบด้วยความรักสร้างสัมพันธภาพยังดีต่อกัน  จบด้วยการเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันตลอดไป  จบด้วยการไม่มีข้อขัดแย้งต่อกัน สมที่จะใช้คำว่า "นักวิศวกรสันติภาพ" จบด้วยการไม่มีคำว่า"พวกเขา"แต่มี"พวกเราครอบครัวเดียวกัน" จบด้วยการเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน จบด้วยคำว่า ขอบคุณ ชื่นชม ขอโทษ ให้อภัยกัน จบด้วยการมีสัมมาวาจาปิยวาจาต่อกัน จบด้วยการไม่โกรธ ไม่อาฆาต  ไม่พยาบาทซึ่งกันและกันจบด้วยการไม่มีศัตรูเมื่อแต่คนเดียว "ศัตรูคนเดียวก็มากไปแล้ว" จบด้วยการให้เกียรติและเคารพครูบาอาจารย์-เจ้าหน้าที่ทุกท่าน และมีความสุขจากภายใน


พร้อมกันนี้ พระมหาหรรษา การเรียนในระดับปริญญาเอกต้องการสันติวิธีที่เป็นวิถีชีวิต  มี  1  ระดับ  คือ 1) "สันติวิธีจัดการความขัดแย้งตนเอง"   ให้จัดการตนเองก่อน เพราะกิเลสมีความเป็นสากลแต่มีบริบทแตกต่างกันเท่านั้น  สร้างสันติภายในตนเองก่อน  2) "สันติวิธีจัดการความขัดแย้งร่วมกับคนอื่น" ให้เราลงไปทำ " ภาษาการทำงานคือ " เอาธรรมไปทำ " อย่าไปเพียงถอดบทเรียนชีวิตคนอื่นเท่านั้น เราต้องลงไปทำให้เป็นวิถีชีวิต เมื่อลงไปทำในพื้นที่ ธรรมะตัวใดเกิดขึ้นบ้าง ให้ออกจากชีวิตของเราเอง   3) "สันติวิธีจัดการความขัดแย้งด้วยการเรียกร้อง"  เหมือนมหาตมะคานธี ใช้วิธีการเรียกร้อง ถือว่าเป็นสันติวิธี เพราะไม่ใช้ความรุนแรง 
      

ฉะนั้น ในฐานะครอบครัววิศวกรสันติภาพ เราจะช่วยเหลือกันและกันให้ จบภายนอกซึ่งบอกถึงความสำเร็จ และจบภายใน ซึ่งบอกอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ ขอให้เพื่อนๆนิสิตปริญญาเอกรุ่นแรกของประเทศไทย จบภายนอกและจบภายในไปด้วยกัน


 .....................................

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากPramote OD Pantapat  พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร  วิทยากรธรรมะโอดี)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โครงสร้างนิยายเรื่อง "สันติที่รัก"

โครงสร้างนิยายเรื่อง "สันติที่รัก" 1. บทนำ เปิดเรื่อง : สันติสุข ชายหนุ่มนักเขียนนิยายธรรมะที่ต้องการค้นหามิติใหม่ของการเล่าเรื่อง...