วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา "มจร" ร่วมปลูกต้นไม้วันแม่แห่งชาติ หวังพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวเป็นปอดของโลก พระพรหมบัณฑิต "มส."ชี้ปฏิบัติธรรมใต้ต้นไม้บรรลุธรรมเร็วกว่านั่งในห้องแอร์
วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2560 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หรือวันแม่แห่งชาติ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ศ.,ดร.,ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้เป็นประธานในการปลูกต้นไม้นานาพันธุ์ ที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ภายใต้การดำเนินการของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติที่พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีเป็นผู้อำนวยการ ที่พร้อมกับ ศ. พิเศษวิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต ทั้งจากวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพบริจาคปัจจัยจำนวน 750,000 บาท เพื่อพัฒนาเป็นโครงการวิทยาลัยสีเขียว "มอบลมหายใจให้ลูก ปลูกต้นไม้ให้ปอดแม่" เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
ในการนี้พระพรหมบัณฑิตได้มอบเกียรติบัตรและของที่ระลึกแก่สำหรับเจ้าภาพที่ร่วมปลูกต้นไม้ และกล่าวสัมโมทนียกถาว่า ในนามของมหาจุฬา ขออนุโมทนาชื่นชมต่อวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติที่จัดงานอันเป็นมงคลวันแม่แห่งชาติ เพื่อสร้างวิทยาลัยสีเขียว ถวายเป็นพระพรชัยมงคลให้กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงเป็นโอกาสให้พวกเราได้สร้างบุญสร้างกุศล "ผู้ทำย่อมได้รับผลแห่งการกระทำ " เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นวิทยาลัยนานาชาติ ถือว่าเป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาที่สมบูรณ์ คำถามคือ การปลูกต้นไม้ไม่ยาก แต่การรักษายากกว่า ใครจะดูแลต้นไม้ให้เจริญงอกงาม คำตอบคือบุคลากรวิทยาลัยนานาชาติต้องดูแลให้งอกงาม
พระพรหมบัณฑิต กล่าวต่อว่า โบราณกล่าวว่าถือเป็นบุญใหญ่ ปลูกต้นไม้ร่วมต้น สร้างกุศลร่วมกัน ต้นไม้ให้ความสดชื่นให้กับโลก ต้นไม้ช่วยขยายปอด ลดมลพิษที่มากในโลกใบนี้ เราใช้โลกใบนี้จนอ่อนแอ แต่การปลูกต้นไม้ทำให้โลกใบนี้สดใส มีความสดชื่นแจ่มใส เป็นการถวายเป็นพุทธบูชา เพราะ "พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ ปรินิพพานใต้ต้นไม้" พระพุทธเจ้าจึงชอบธรรมชาติที่บริสุทธิ์งดงาม การอยู่กับต้นไม้ทำให้บรรลุธรรมได้รวดเร็วมากกว่าห้องแอร์ ในอดีตพระสงฆ์บรรลุธรรม เพราะ เห็นใบไม้ร่วงจึงเป็นการสอนอนิจจัง ทุกขัง อนิจจัง กฎของไตรลักษณ์
"การจัดการศึกษาต้องเรียนรู้กับธรรมชาติที่เอื้ออำนวย สอดคล้องกับคติทางพระพุทธศาสนา หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระองค์ทรงเพ่งต้นโพธิ์ ๗ วัน ถือว่าเป็นการกตัญญูต่อต้นโพธิ์ วิทยานานาชาติถือว่าเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการศึกษา อยากให้หน่วยงานในมหาจุฬาช่วยกันสร้างวิทยาลัยสีเขียวและหน่วยงานสีเขียว วิทยาลัยสีเขียวจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกส่วนงานในมหาจุฬาเกิดขึ้น นับว่าเป็นบุญมหาศาล เราจึงต้องฝึกตัวเองเป็นอ๊อกซิเจน ให้ความสดชื่นสดใสกับบุคคลที่อยู่รอบตัวเราและโลกใบนี้" อธิการบดี มจร กล่าวและว่า
ดังนั้น จึงขอมีความกตัญญูต่อสิ่งแวดล้อมต่อธรรมชาติ โดยยกบุคคลสำคัญ คือ พระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบบุคคลผู้ใช้ชีวิตกับธรรมชาติตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน
..................................
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก"มจร"ปลูกต้นไม้วันแม่แห่งชาติ พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น