วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

คณะสงฆ์หนเหนือสืบชะตาหลวงสมเด็จช่วงครบรอบ ๙๒ ปี

 คณะสงฆ์หนเหนือสืบชะตาหลวง บายศรีทูลขวัญ ตามโบราณล้านนาถวาย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ครบรอบ ๙๒ ปี ณ วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร


วันศุกร์ที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ พระอุโบสถวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ) รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ พร้อมคณะสงฆ์วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ คณะสงฆ์หนเหนือประกอบพิธีสืบชะตาหลวง ตามประเพณีล้านนา ถวายแด่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญฺ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เนื่องในพิธีบำเพ็ญกุศลอายุวัฒนมงคลครบ ๙๒ ปี พรรษา ๗๒ โดยมีพุทธศาสนิกชน และคณะศิษยานุศิษย์เข้าร่วมพิธีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก


จากนั้นเวลา ๑๗.๐๐ น. คณะสงฆ์วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ ประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์ ถวายพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ณ หอสังเวชนีย์มงคลเทพนิรมิต ทั้งนี้ในเวลา ๑๙.๐๐ น. พระสงฆ์ สามเณรชาวต่างประเทศ สวดมาติกา-บังสุกุล ณ ตึกวิเศษธรรมกาย สำหรับกำหนดการพิธีในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันครบรอบอายุวัฒนมงคลของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ในเวลา ๑๐.๐๐ น. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ ณ ศาลาสตมานุสรณ์ จากนั้นในเวลา ๑๗.๐๐ น คณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร เจริญพระพุทธมนต์ ถวายแด่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ณ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล ทั้งนี้คณะศิษยานุศิษย์ที่มาร่วมพิธีจะได้รับหนังสือเบญจศีล-นิจศีล ของมนุษย์ทั้งหลาย หนังสือเกร็ดคำสอนจากพรบุญ “สามจง” หนังสือมนต์พิเศษ ธัมมจักกัปวัตนสูตร ด้วย


ปัจจุบัน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) สิริอายุ ๙๒ ปี พรรษา ๗๒ ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
มีนามเดิมว่า ช่วง สุดประเสริฐ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ ส.ค.๒๔๖๘ ที่บ้านเลขที่ ๓๒ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นบุตรชายคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้อง ๔ คน ของนายมิ่งและนางสำเภา สุดประเสริฐ


ขณะที่มีอายุ ๗ ขวบ นายมิ่งผู้เป็นบิดาถึงแก่กรรมลง ญาติจึงให้บรรพชาหน้าไฟตามประเพณี หลังเสร็จสิ้นพิธีศพแล้ว พี่ชายก็ลาสิกขา แต่ท่านยังคงบรรพชาอยู่ระยะหนึ่งแล้วจึงลาสิกขาตาม


หลังจากนั้น ชีวิตเริ่มผูกพันกับวัดในละแวกใกล้บ้าน คือ วัดสังฆราชา และวัดลาดกระบัง และสำเร็จการศึกษาชั้น ป.๔ ของโรงเรียนประชาบาลวัดสังฆราชา


ครั้นอายุ ๑๔ ปี จึงบรรพชาอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑ พ.ค.๒๔๘๒ ที่วัดสังฆราชา เขตลาด กระบัง กรุงเทพฯ โดยมีพระครูศีลาภิรัต วัดลาดกระบัง เป็นพระอุปัชฌาย์


จากนั้น มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรมและสอบนักธรรมชั้นตรี-โท ระหว่างนั้น ได้ทราบกิตติคุณของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ จึงเกิดความปรารถนาจะเข้ามาศึกษาต่อภายใต้ร่มบารมีธรรม


พ.ศ.๒๔๘๔ ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปากน้ำ โดยพระแจ่ม วัดสังฆราชา เป็นผู้นำมาฝากกับหลวงพ่อวัดปากน้ำและได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๘๘ ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ มีพระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์


ด้วยความขยันและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่านจึงสอบได้มาโดยลำดับ เมื่อถึงปริยัติธรรมชั้นสูง หลวงพ่อสดจึงนำไปฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ) เพื่อให้ศึกษาในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


พ.ศ.๒๔๙๗ หลังสำเร็จการศึกษาชั้นเปรียญธรรม ๙ ประโยค จึงไปรับตัวท่านกลับมาช่วยงานที่วัดปากน้ำ เพื่อสานต่องานและโครงการต่างๆ ริเริ่มไว้


หลังการมรณภาพของหลวงพ่อสด ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สืบต่อมาจนถึงกาลปัจจุบัน


สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สร้างผลงานอันทรงคุณูปการในหลากหลายด้าน อาทิ งานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ งานด้านการศึกษา งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นต้น


ลำดับงานปกครองสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นพระอุปัชฌาย์


พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นเจ้าคณะภาค ๓ พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นเจ้าคณะภาค ๑๗


พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นเจ้าคณะภาค ๗


พ.ศ.๒๕๓๒ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม จนถึงปัจจุบัน


ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.๒๔๙๙ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีวิสุทธิโมลี


พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที


พ.ศ.๒๕๑๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวรเวที


พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวรเวที


พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ที่พระธรรมปัญญาบดี


พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

.......................

(หมายเหตุ  : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊กกลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...