วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

ใครรับผิดชอบ!นร.เกลียดนั่งสมาธิเหตุครูใช้เป็นเครื่องมือลงโทษ




เผยนร.เกลียดนั่งสมาธิเหตุครูใช้เป็นเครื่องมือลงโทษเด็ก ผอ.รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ศธ. ชี้จำต้องปรับกิจกรรมการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนเปลี่ยนคำจาก"สมาธิ"เป็น"สติ"

วันที่ 15 ก.ย.2561 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ที่มี ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เปิดเผยว่า "นักเรียนเกลียดสมาธิ เพราะครูใช้การนั่งสมาธิเป็นเครื่องมือลงโทษนักเรียน นักเรียนเกลียดพระพุทธศาสนา เพราะครูลงโทษให้รักเรียนนั่งคัดพุทธศาสนสุภาษิต นักเรียนเกลียดพระพุทธศาสนา เพราะอัดเนื้อหาการเรียนธรรมะ ทั้งจากสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา และธรรมศึกษาฯลฯ” เหล่านี้ คือข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับท่าทีของนักเรียนที่มีต่อการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ทั้งการให้สัมภาษณ์และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯที่ผ่านมา 

ใคร!!! ควรจะต้องออกมารับผิดชอบที่มีส่วนทำให้พระพุทธศาสนาถูกเกลียดชังจากนักเรียนในโรงเรียนที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ) การเรียนการสอนพระพุทธศาสนาควรจะเป็นมงคลสำหรับผู้เรียน ไฉนใยจึงเป็นเรื่องอัปมงคลสำหรับผู้เรียนบางกลุ่มในทุกครั้งที่จะต้องนั่งสมาธิ จนพระพุทธศาสนากลายเป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับนักเรียนบางคน หรือทำกิจกรรม และเรียนรู้ร่วมกับพระสงฆ์ที่เข้าไปทำหน้าที่

ประเด็นเหล่านี้ คือ โจทย์ที่ท้าทายผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ผู้บริหารระดับกระทรวงที่กุมนโยบาย หรือผู้บริหารสถานศึกษา ครูพระสอนศีลธรรม รวมไปถึงครูในโรงเรียนต่างๆ ที่จะต้องออกมาร่วมกันหาทางออกอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุผลนี้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนฯ โดยมี ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และมีคณะทำงานจาก สพฐ เป็นฝ่ายเลขานุการ

โรงเรียนสติ หรือ Mindful School จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้เสนอให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน (1) ขณะนี้ เด็กเกลียดและกลัวคำว่านั่งสมาธิ จนทำให้มีความคิดเชิงลบต่อสมาธิในวงกว้าง อันเป็นผลมาจากครูจำนวนหนึ่งมีความรู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้วใช้สมาธิไปลงโทษเด็กในรูปแบบต่างๆ (2) สมาธินั้น โดยเนื้อแท้ คือ ผลที่เกิดจากการใช้สติเข้าไปกำหนดและรู้เท่าทันปัจจุบัน สติจึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสมาธิ ขาดสติแล้ว สมาธิเกิดขึ้นไม่ได้

จากตัวแปรเหล่านี้ จึงช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะต้องปรับถ้อยคำในการใช้คำจากคำว่า “สมาธิ” หรือ Meditation มาสู่คำว่า “สติ” หรือ Mindfulness ซึ่งคำว่าสตินี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาให้เกิดในทุกกิจกรรมการเรียนการสอนจนกลายเป็นวิถีชีวิต ตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับนอนอีกครั้ง สติมีอยู่ในทุกวิชา ทั้งการเล่นกีฬา การกิน การเรียนรู้ทั้งในโรงเรียน และนอกโรงเรียน และที่สำคัญ ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ก็ต้องเป็นเบ้าหลอมของการพัฒนาสติของนักเรียน

พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า ประเทศในอเมริกา ยุโรป และประเทศต่างๆ จำนวนมาก ได้นำคำว่า “สติ” ไปสร้างสตินวัตกรรม (Mindful Innovation) อย่างแพร่หลายในโรงเรียน โรงแรม โรงงาน โรงพัก โรงพยาบาลฯลฯ และมีผลงานวิจัยเกี่ยวสติของนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากออกมายืนยันอานิสงส์ของสติต่อสมอง ต่อผู้ป่วยโรคต่างๆ และต่อผู้สูงอายุ ฉะนั้น สังคมไทยควรจะหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ควรให้เวลากับการปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้นแทนที่จะมองว่าเป็นเพียงพิธีกรรมทางศาสนา แล้วพากันดูเบาเรื่องการพัฒนาสติ เข้าถึงยุคดิจทัลต้องเอาสติไปใส่กำกับให้เป็น Mindful Digital หรือ Digital Mind

..........

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจาก Hansa Dhammahaso)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ อักโกสกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22

  วิเคราะห์ อักโกสกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ อั...