วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

มส.ตั้งพระพรหมบัณฑิตเป็นประธานปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย



วันที่ ๑๙ ต.ค.๒๕๖๑ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีมติแต่งตั้ง พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙, ศ.ดร.) กรรมการมหาเถรสมาคม, เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ดำรงตำแหน่ง "ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย" 

ทั้งนี้ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๘/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้นำเรื่อง (ร่าง) ระเบียบสำนักงาน-พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าด้วยพระปริยัตินิเทศ พ.ศ. ๒๕๖๑ เสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ ในการประชุมครั้งที่ ๑๓/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ นั้น ที่ประชุมให้ถอนเรื่องออกไปก่อน เพื่อให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำไปปรับปรุงในรายละเอียดเพิ่มเติมร่วมกับนิติกรสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดังนี้

๑.บริบทหลักการและเหตุผล (อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๓.....โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม จึงออกระเบียบฯ....) ๒.เพิ่มเติมคำนิยาม ในข้อ ๕ (๖) “ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย” หมายความว่า กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งได้รับพระบัญชาแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราชให้ดำรงตำแหน่ง ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทยตามมติมหาเถรสมาคม

๓.ตรวจสอบรายละเอียดในข้ออื่น ๆ เพิ่มเติม และให้นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา บัดนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ดำเนินการแก้ไขในบริบท หลักการ และเหตุผล และเพิ่มเติมคำนิยามในข้อ ๕ (๖) ใน (ร่าง) ระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าด้วยพระปริยัตินิเทศก์ พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา รายละเอียดตาม (ร่าง) ระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าด้วยพระปริยัตินิเทศก์ พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่แนบถวายมาพร้อมนี้ ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าด้วยพระปริยัตินิเทศก์ พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ ๑๙ ธ.ค.๒๕๖๐  ที่ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) ทรงเป็นประธาน เปิดการประชุมสัมมนาพระปริยัตินิเทศก์ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๑  พร้อมทั้งประทานพระโอวาทความตอนหนึ่งว่า  ในฐานะพระสังฆาธิการ พระปริยัตินิเทศก์ และพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ย่อมมีหน้าที่วางนโยบาย บริหารจัดการ ควบคุม ดูแล ประสานงาน เสนอแนะ และสนับสนุนงานด้านการศึกษา จึงขอให้ทุกท่านตระหนักในภาระหน้าที่ว่าการทำหน้าที่ด้านพระปริยัติธรรม นอกจากเป็นการสืบอายุพระศาสนาให้ยั่งยืนนาน ยังสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐอีกด้วย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่า “ถ้าพร่ำสอนผู้อื่นฉันใด ก็ควรทำตนฉันนั้น” ทุกท่านในที่นี้เป็นนักการศึกษา ไม่ว่าเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม ล้วนมีหน้าที่อบรมสั่งสอน และที่พิเศษไปกว่านั้นคือยังมีหน้าที่ควบคุมดูแลคนที่ทำหน้าที่สอนด้วย จึงได้ชื่อว่าเป็นครูของครู จึงอย่าลืมพระวาจาของพระบรมครู คือพระพุทธเจ้า ที่ทรงเตือนเราไว้ว่า ถ้าจะสอนอะไรใครก็ต้องทำตนให้เป็นแบบให้ได้ด้วย 

ทั้งนี้จากการประชุมประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์ทั่วประเทศ ครั้งที่๑/๒๕๖๑ โดยกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ณ ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยา กรุงเทพฯ วันที่ ๙ เม.ย.๒๕๖๑)  ได้มีการหารือถึงการดำเนินงานการศึกษาคณะสงฆ์ รายงานผลการปฏิบัติงานของพระปริยัตินิเทศในแต่ละระดับ การเก็บข้อมูลสำนักศาสนศึกษาในกรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดทั่วประเทศ การจัดทำเว็บไซต์พระปริยัตินิเทศก์ รวมทั้งพิจารณาร่างระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าด้วยพระปริยัตินิเทศก์ พ.ศ.๒๕๖๑ โดยมีการแก้ไขเนื้อหาคำจำกัดความบางส่วนให้ครอบคลุมการทำงานในขณะเดียวกันตนได้เสนอแนะแนวทางให้แต่ละจังหวัดรวบรวมปัญหาการศึกษาทั้งการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี แผนกธรรม และแผนกสามัญศึกษา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดบุคลากรการศึกษา การลดลงของจำนวนนักเรียน การพัฒนาหลักสูตร เพื่อเสนอมายังภาคการปกครองคณะสงฆ์ภายในเดือนเมษายน ในการเสนอปัญหาต่อส่วนกลางภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะได้นำมาออกเป็นนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาการศึกษาคณะสงฆ์ในพื้นที่ หากให้ส่วนกลางกำหนดนโยบายและแผนงานลงไปเลย ก็จะส่งผลให้ส่วนภูมิภาคทำงานลำบาก เพราะส่วนกลางไม่รู้ปัญหาการศึกษาเท่ากับคนที่อยู่ในพื้นที่

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์ทั่วประเทศ ชี้แจงหลักการทำงานให้พระปริยัตินิเทศก์ได้รับทราบด้วยว่า หน้าที่พระปริยัตินิเทศก์ไม่ได้มีแต่แนะแนวทางการสอนเท่านั้น แต่จะต้องทำหน้าที่สร้างความเข้าใจให้แก่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่คณะสงฆ์มีเป้าหมายที่อยากให้บรรจุการเรียนการสอนธรรมศึกษาในโรงเรียน และส่งเสริมการเรียนการสอนธรรมศึกษาในระบบการศึกษาทุกระดับ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยได้เรียนรู้ศีลธรรมตามหลักพระพุทธศาสนานำไปใช้ในชีวิตได้จริง รวมทั้งจะทำอย่างไรให้ดึงจำนวนผู้เรียนให้มีมากขึ้น รวมทั้งมอบหมายให้พศ. ดำเนินการร่างแผนแม่บทพระปริยัตินิเทศก์ จัดประชุมระดมความคิดจากระดับภาคทั้ง4ภาค เพื่อสรุปถึงสภาพปัญหาการศึกษาออกมาให้ส่วนกลางได้รับทราบในการจัดทำแผนและนโยบายให้ตรงจุดให้การทำงานไปสู่เป้าหมายของคณะสงฆ์ในการสร้างศาสนทายาทที่มีคุณภาพ และสร้างคนดีให้แก่ประเทศ
​​​​​​ชาติ

บทบาทบทบาทหน้าที่ของศูนย์พระปริยัตินิเทศก์ มีภาระกิจหน้าที่ ๔ ประการ คือ ๑) กำหนดนโยบายการปฏิบัติงานของพระปริยัตินิเทศก์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ๒) แต่งตั้งคณะกรรมการคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพระปริยัตินิเทศก์ ๓) นำเสนอโครงการหรือแนวทางการพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรมต่อมหาเถรสมาคม หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ๔ ) ลงนามแต่งตั้งถอดถอนประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศระดับหน ประธานศูนย์ปริยัตินิเทศกรุงเทพมหานคร ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์ระดับจังหวัด

พระปริยัตินิเทศก์ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ดูแลคุณภาพการศึกษาคณะสงฆ์ ซึ่งตนมองว่า จะทำอย่างไรให้พระปริยัตินิเทศก์เกิดประสิทธิภาพ โดยพศ.มีแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งประเทศไทยขึ้น ดังนั้น จึงจะต้องมีนโยบายแกนกลางหรือแผนแม่บทพระปริยัตินิเทศก์ เพื่อให้พื้นที่ได้ปฏิบัติ โดยแผนแม่บทดังกล่าวอาจจะต้องกำหนดในระยะยาว ๕ ปี ๑๐ ปี โดยมีนโยบาย วิสัยทัศน์ แผนการทำงาน แผนงบประมาณ บรรจุอยู่ซึ่งพศ.ได้รับหน้าที่ดำเนินการร่างแผนแม่บทดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หากดำเนินการได้จะทำให้การทำงานมีทิศทางและออกระเบียบรองรับการทำงาน เชื่อว่า หากมีแผนแม่บท และมีระเบียบรองรับ จะทำให้การทำงานมีเป้าหมายและการแก้ปัญหาการศึกษาคณะสงฆ์เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วธ.ประเดิมงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เปิดสารพันอาหารย่านกะดีจีน-คลองสาน”

กระทรวงวัฒนธรรมเปิด “งานวัดพัฒนาประชาคม ไหว้พระรับพรย้อนวันวาน สารพันอาหารย่านกะดีจีน-คลองสาน” ณ วัดประยุรวงศาวาส  ภายใต้งานใต้ร่มพระบารมี 2...