วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ปฏิญญายอกยาการ์ตารมต.วธ.อาเซียนมุ่งนำวัฒนธรรมสร้างสันติภาพ

               



วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2561  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ได้เดินทางไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียน (AMCA) ระหว่างวันที่ 24-25 ต.ค.2561 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเชีย  ผลการชุมคือ 1. ได้รับรองปฏิญญายอกยาการ์ตา พร้อมขับเคลื่อนวัฒนธรรมการป้องกัน (Culture of Prevention)สร้างสันติภาพและความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม 



2. เห็นชอบข้อเสนอของไทยประกาศปี 2562 “ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน” เพื่อส่งเสริมการใช้วัฒนธรรมสร้างคน สังคม ความมั่งคั่ง และสร้างภาพลักษณ์ เกียรติภูมิอาเซียนสู่เวทีโลก  3. สนับสนุนและจะร่วมเผยแพร่กิจกรรมมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale, Krabi 2018 4. สนใจการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมโครงการ Ramayana Animation มรดกร่วมอาเซียนที่ไทยนำเสนอคลิปตัวอย่าง



นายวีระ กล่าวภายหลังร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (ASEAN Ministers Responsible for Culture and Art: AMCA) ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญายอกยาการ์ตาว่าด้วยการน้อมรับหลักการวัฒนธรรมแห่งการป้องกันเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์อาเซียน โดยปฏิญญายอกยาการ์ตา มีวัตถุประสงค์สำคัญเกี่ยวกับสนับสนุนวัฒนธรรมการป้องกัน โดยเฉพาะการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติภาพและความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมและระหว่างเสาความร่วมมือในด้านต่างๆ ในอาเซียน นอกจากนี้ ปฏิญญาดังกล่าวยังส่งเสริมความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกัน รวมทั้งส่งเสริมความตระหนักในลักษณะเฉพาะของประชากรและสังคมที่หลากหลายในอาเซียนเพื่อการเป็นสังคมแห่งสันติภาพอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
       
       

นายวีระ กล่าวว่า ได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ให้พิจารณารับรองให้ปี 2562 เป็นปีวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Year) ซึ่งที่ประชุมฯสนับสนุนและรับรองการกำหนดปีวัฒนธรรมอาเซียนในปี 2562 ตามข้อเสนอประเทศไทย เพื่อใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นสื่อในการส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีในทุกระดับ สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 ที่ประชาคมอาเซียนจะเป็นประชาคมที่มีพลวัตและปรองดอง ตระหนักและภูมิใจในอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและมรดกที่เสริมสร้างความสามารถและส่งเสริมประชาคมโลกเชิงรุกได้และเป็นการตอกย้ำว่าวัฒนธรรมเป็นรากฐานของความร่วมมือภายใต้สามเสาหลักทั้งด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม
       
       

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังหารือร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบการดำเนินกิจกรรมภายใต้ปีวัฒนธรรมอาเซียน โดยเน้นกิจกรรมวัฒนธรรมอาเซียน ภายนอกภูมิภาคอาเซียน อาทิ กิจกรรมวัฒนธรรมอาเซียนสัญจร (ASEAN Cultural Roadshow) ในประเทศคู่เจรจา อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวในทวีปยุโรป ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมอาเซียนในรูปแบบต่างๆ ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นผู้ประสานงานในการดำเนินกิจกรรมและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและระหว่างประเทศต่อไป ที่สำคัญเป็นการนำวัฒนธรรมอาเซียนสู่สากล ทั้งนี้ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ต่างตอบรับและสนับสนุนกิจกรรมปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียนปี 2562
       
        

“ตนได้นำเสนอและเชิญชวนผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) เพื่อมาเยือนประเทศไทยและเยี่ยมชมการจัดแสดงงานมหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลก ครั้งแรกในประเทศไทย (Thailand Biennale, Krabi 2018) จ.กระบี่ วันที่ 2 พฤศจิกายน-28 กุมภาพันธ์ 2562 และขอความร่วมมือในการเผยแพร่วีดีโอประชาสัมพันธ์โครงการ Thailand Biennale, Krabi 2018 ซึ่งจัดทำเป็นภาษาต่างๆ นอกจากนี้ ได้นำเสนอตัวอย่างภาพยนตร์แอนิเมชั่น “รามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร” จัดสร้างขึ้นจากภาพจิตรกรรมฝาผนังบริเวณระเบียงคดรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะและประเทศคู่เจรจาบวกสาม เนื่องจากมหากาพย์รามายณะ หรือรามเกียรติ์ เป็นวัฒนธรรมร่วมที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับอิทธิพลจากอินเดีย โดยปรับให้มีความสอดคล้องกับเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของตนเอง ที่สำคัญเป็นการแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานของประเทศไทยในการบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ” นายวีระ กล่าว



ทั้งนี้ประชุมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ คือ  ประเทศบรูไน พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะเป็นองค์กรที่เน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างที่เราได้ทราบกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว อาเซียนยังเน้นความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและศิลปะอันเป็นหนึ่งในความร่วมมือเสาหลักด้วย ซึ่งนั่นก็คือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community–ASCC) ดังนั้น จึงมีการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ หรือ AMCA ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลและกำหนดนโยบายความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและศิลปะของอาเซียน เพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ประชาชนของอาเซียนเพื่อการพัฒนาของภูมิภาคที่ยั่งยืน 



AMCA (ASEAN Ministers Responsible for Culture and the Arts) คือ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ เป็นกลไกในการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและศิลปะของอาเซียน โดยมุ่งเน้นความเข้าใจอันดีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ประชาชนของอาเซียนเพื่อการพัฒนาของภูมิภาค โดยมีบทบาทภารกิจหลักคือ การกำหนดนโยบายแนวทางและกรอบความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและศิลปะในระดับภูมิภาค การจัดลำดับความสำคัญของสาขาความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ชี้แนะประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาวัฒนธรรมในภูมิภาคและเสนอแนะแนวทางการแก้ไข กำหนดนโยบายแนวทางความร่วมมือด้านวัฒนธรรมกับประเทศคู่เจรจา 

         

ทั้งนี้ AMCA จะเสนอรายงานการดำเนินงานต่อที่ประชุมผู้นำรัฐบาลอาเซียนโดยเสนอผ่านการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน นอกจากนั้น AMCA จะดำเนินการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมผู้นำรัฐบาลอาเซียน รวมทั้งร่วมกันแสวงหาแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนกองทุนวัฒนธรรมอาเซียน



การจัดการประชุม AMCA



การประชุม AMCA จะจัดขึ้นทุก 2 ปี เป็นอย่างน้อย หรืออาจจัดประชุมเป็นกรณีพิเศษหากมีเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณา โดยประเทศสมาชิกอาเซียนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมตามลำดับตัวอักษรชื่อประเทศ ทั้งนี้ การประชุม AMCA สลับปีกับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบงานด้านสนเทศ หรือ AMRI (ASEAN Ministers Responsible for Information) ซึ่งมีการประชุมทุก 2 ปี เช่นกัน กระทรวงวัฒนธรรม ศิลปะ และการท่องเที่ยว มาเลเซีย ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม AMCA ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 13 – 14 ตุลาคม 2546 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และ ผู้แทนระดับสูงจากประเทศคู่เจรจา+3 (ASEAN+3) คือ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี

         

ในการนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดการประชุม AMCA เป็นประจำทุก 2 ปี โดยประเทศสมาชิกหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยขอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม AMCA ครั้งที่ 2 พร้อมกับจัดเทศกาลศิลปะอาเซียน ครั้งที่ 2 (ASEAN Festival of Arts) ควบคู่กันไปด้วย




 วัตถุประสงค์ของ AMCA เพื่อเป็นเวทีสำหรับการประชุมหารือเพื่อกำหนดนโยบายด้านวัฒนธรรมของอาเซียน และเป็นเวทีการเจรจาความร่วมมือด้านวัฒนธรรมกับประเทศคู่เจรจา



วิธีการดำเนินงาน AMCA 1. กำหนดแผนงานและแนวทางการดำเนินงานจัดประชุม  2. การจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อขออนุมัติการจัดประชุมและงบประมาณ
3. ประสานงานกับประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา+3 และสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อแจ้งกำหนดการและระเบียบวาระการประชุม 4. แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการประชุม 5. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศ 6. ดำเนินการจัดการประชุม SOMCA และ AMCA 7. จัดทำรายงานสรุปผลการประชุม และประเมินผล




กิจกรรม AMCA

          

การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Official Meeting on Culture and the Arts) หรือ SOMCA เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม AMCA โดยผู้เข้าประชุมประกอบด้วย ผู้แทนระดับปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียน

          

การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน+3 (SOMCA+3) เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม AMCA+3 โดยผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนระดับปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และเลขาธิการอาเซียน

          

การประชุมระดับรัฐมนตรี (AMCA) โดยผู้เข้าประชุมประกอบด้วย ผู้แทนระดับรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียน

          

การประชุมระดับรัฐมนตรี (AMCA+3) โดยผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนระดับรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และเลขาธิการอาเซียน





 สรุปการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียนครั้งล่าสุด

         

ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (ASEAN Ministers Responsible for Culture and the Arts – AMCA) ครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2555 นอกจากจะมีรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียนเข้าประชุมแล้ว ยังพร้อมด้วยรัฐมนตรีวัฒนธรรมประเทศคู่เจรจา +3 (AMCA+3) (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) และการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียนและจีน (AMCA+China) ด้วย

         

โดยในการประชุมครั้งนั้น นางสุกุมล คุณปลื้ม ขณะดำรงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุม กล่าวว่า ในที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนได้เห็นชอบกับการส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนในด้านวัฒนธรรมและศิลปะ โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปกป้องและส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมอาเซียน ส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านวัฒนธรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ อีกทั้งมีเยาวชนเข้าร่วมประชุมเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนในงานวัฒนธรรมโดยผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคมสมัยใหม่ ได้แก่ เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ รวมทั้งงานอาสาสมัครทางวัฒนธรรม, วิสาหกิจทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน และกิจกรรมเชื่อมโยงอื่น ๆ

         

ในส่วนของประเทศไทย ได้กล่าวสนับสนุนบทบาทของวัฒนธรรมในการสร้างอาเซียนให้เป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทรและการแบ่งปัน นอกจากอาเซียนได้เน้นเยาวชนเป็นเป้าหมายหลักแล้ว ควรให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้สูงอายุในการถ่ายทอดและส่งผ่านคุณค่าทางวัฒนธรรมสู่คนรุ่นเยาว์ด้วย ทั้งนี้ ครอบครัวเป็นหน่วยเล็ก ๆ ในสังคมที่จะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันความสำเร็จของการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้นการสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมคุณค่าของครอบครัวจะช่วยสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลไทยอย่างยั่งยืน

การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต้องการแนวทางที่เป็นระบบและยั่งยืน โดยใช้หลักการพุทธสันติวิธีและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบในการดำเนินการ ทั้งนี้การ...